ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (17)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วิชาพิธีกรรมของจีนโดยเฉพาะโพ้นทะเลนั้น บางทีก็แบ่งแยกออกเป็นสองสายใหญ่ เรียกกันลำลองแบบชาวบ้านว่าพิธีทาง “พระ” หรือพิธีทาง “ผี”

พระเป็นคำลำลองใช้เรียกเทพเจ้า วิชาทางพระจึงหมายถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับเทพเจ้า เช่น อัญเชิญ ฉลองสมโภช เทวาภิเษก รวมไปถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับการทรงเจ้าในเทศกาลต่างๆ ที่จริงวิชาทางพระเองก็มีส่วนที่เกี่ยวกับผีอยู่บ้าง เช่น การเชิญ “เอี๋ย” ซึ่งหมายถึงบรรดาผีมาใช้ในลักษณะเป็นทหารเลวคอยคุ้มครองมณฑลพิธี การเลี้ยงเอี๋ยไว้ใช้งาน ฯลฯ

ส่วนพิธีทางผีนั้น ท่านหมายถึงพิธีเกี่ยวกับคนตาย เช่น พิธีบำเพ็ญกุศลศพ (ก่องเต็ก/กงเต็ก) พิธีอุลัมพนะมหากุศล (พ้อต่อ) การตั้งแท่นบูชาบรรพชน การสวดพุทธมนต์ (เหลียมเก๊ง) เพื่ออุทิศกุศล เป็นต้น

คนเรียนสวดมนต์โดยเฉพาะทางพุทธศาสนามหายานนั้น ภาษาฮกเกี้ยนเรียกว่า “ไซก๊อง” ซึ่งโดยมากมักนิยมไปทำพิธีทางผีเพราะตรงกับสิ่งที่เรียน

ส่วนพวกทำทางพระก็มักเป็นผู้ใช้ไสยเวท (ฮวดกั๊ว) สายลื่อซาน แต่บางคนก็เรียนทั้งสองอย่างคือเป็นทั้งไซก๊องและฮวดกั๊วในคนเดียวกัน

ผมเพิ่งทราบว่าเหตุใดผู้ประกอบพิธีทางไสยศาสตร์จีนจึงเรียกว่าฮวดกั๊ว เพราะคำว่าฮวดหมายถึงไสยศาสตร์ แต่กั๊ว กลับแปลว่าขุนนางหรือเจ้าพนักงาน เพราะในสมัยก่อน นักพรตเต๋า (ซึ่งบางพวกก็เรียนไสยศาสตร์) ต้องรับใช้ราชสำนัก จึงถือว่าเป็นตำแหน่งทางราชการไปในตัว ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วๆ ไป

แถมฮวดกั๊วหรือนักพรตยังมีการสอบไล่ระดับวิทยฐานะเช่นเดียวกับการสอบขุนนางด้วย

เหตุนี้ผู้ประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ซึ่งใกล้ชิดกับพวกนักพรตจึงถือว่าตัวเป็นเจ้าพนักงานเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในทางความเชื่อท่านว่าเพราะผู้ใช้ไสยเวทมีบรรดาศักดิ์นี่เอง จึงสามารถลงตราประทับยันต์หรือโองการ เช่นเดียวกับตราขุนนาง จึงมีสิทธิ์ที่จะบัญชาเทพและผีให้เชื่อฟังได้

 

ที่กล่าวเพื่อจะเชื่อมโยงมายังพิธีที่บ้านของผมว่า เมื่อทำเทพยพิธี อาจารย์ท่านก็อยู่ในสถานะฮวดกั๊วหรือฮวดซู้ (อาจารย์ทางไสยศาสตร์) มีเครื่องแต่งกายและข้าวของในพิธีแบบหนึ่ง ครั้นพอเปลี่ยนมาเป็นพิธีทางผี คือการตั้งแท่นบูชาบรรพชน ท่านก็เปลี่ยนสถานะรวมทั้งเปลี่ยนมาสวมชุด “ไห่เช็ง” หรือชุดฆราวาสสีดำของผู้ประกอบพิธีสวดมนต์ทางพุทธศาสนาแทน

ชุดไห่เช็งสีดำมักสวมในการพิธีต่างๆ ตามปกติ และหากไม่ใช่พิธีทางพุทธศาสนาแท้ๆ ก็มักไม่สวมม่านอีหรือผ้าขมาภรณ์ที่ใช้พาดทับชุดไห่เช็งอีกชั้นหนึ่ง แต่ในเมืองไทยนิยมเป็นชุดอ้อสีขาวกันมากกว่า โดยใช้นัยเรื่องความบริสุทธิ์ตามหลักคิดแบบไทยดังที่ผมได้เคยเล่ามาแล้ว

ผมเข้าใจเอาเองว่า เหตุที่ใช้ศาสนพิธีอย่างพุทธในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตายนั้น อันที่จริงฝ่ายเต๋าเขาก็มีพิธีที่คล้ายๆ กันอยู่ ทว่า คนจีนพื้นบ้านมักนับถือศาสนาผสมคือผีหรือไสยศาสตร์กับพุทธและเต๋า จะเน้นอันไหนขึ้นอยู่กับขนบครอบครัวหรือท้องถิ่น

แต่ต้องยอมรับว่าพุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายสุขาวดีมีอิทธิพลมากต่อชาวบ้าน ความคิดเรื่องโลกหน้าจึงหันเหไปทางนั้น ผู้มีชีวิตอยู่ต่างมุ่งหวังให้คนตายไปสู่วิสุทธิภูมิ พิธีที่เกี่ยวกับคนตายจึงใช้อย่างพุทธเป็นหลัก จะมีไสย หรือหยู หรือเต๋าก็เจืออยู่บางๆ

ซึ่งบางพิธีก็น่าตื่นตาตื่นใจมาก เป็นต้นว่า พิธีเข้าทรงให้เทพไปเอาวิญญาณคนตายมาสอบถามความเป็นอยู่ในปรโลก ช่วงงานศพ

ซึ่งปัจจุบันพิธีเหล่านี้แทบสูญสิ้นไปหมดแล้ว

 

ส่วนพิธีที่บ้านผมเริ่มต้นด้วยการจุดธูปเทียนและเชิญดวงวิญญาณของบรรพชนมา จากนั้นมีการเจริญพุทธมนต์บทต่างๆ ทำพิธี “อันหลอ” หรือบรรจุกระถางธูป ซึ่งมีความแตกต่างกับกระถางธูปของเทพอยู่บ้าง และพิธีเจิมป้ายวิญญาณซึ่งเป็นป้ายแบบบรรพชนรวมทุกฝ่ายทุกรุ่นในแซ่

เนื่องจากผมอยู่ในแซ่อุ๋ย (จีนกลางว่าหวง แต้จิ๋วว่าอึ๊ง) ป้ายบรรพชนจึงขึ้นต้นด้วยคำว่า “หอบรรพชนกังแฮ” กังแฮเป็นชื่อเมืองต้นสายของแซ่อุ๋ยเท่าที่จะค้นไปได้ในยุคโบราณ ไม่เกี่ยวกับว่าอากงอาม่าเราอพยพมาจากเมืองไหน เพราะเป็นเมืองบรรพชนตามความเชื่อ

คนจีนเชื่อว่าแต่ละแซ่ต่างมีเมืองต้นสายของตนทั้งสิ้น ชื่อเมืองเหล่านี้มักเขียนลงในโคมไฟหรือป้ายหน้าบ้านเรียกว่า “เต็งโห่” คนทางภูเก็ตและในหลายจังหวัดภาคใต้ยังมีธรรมเนียมติดเต็งโห่หน้าบ้านอยู่ เพื่อให้คนสัญจรทราบว่าบ้านนี้เป็นสกุลอะไร

 

ตอนเจิมป้ายวิญญาณนี่แหละครับที่ทำเอาน้ำตารื้นกันทั้งตัวผมและคนร่วมงาน เพราะอาจารย์ท่านให้ผมคุกเข่าลงหน้าที่บูชาเดิม แล้วแบกป้ายวิญญาณอันใหม่ที่จะเจิมไว้บนหลัง สองมือประคองเอาไว้ คือหากเจ้าภาพเป็นลูกชายคนโตหรือหลานชายคนโต มีศักดิ์เป็นผู้สืบสกุลเท่านั้นจึงจะทำพิธีในท่านี้ได้ แต่หากเป็นผู้มีลำดับศักดิ์อื่นในตระกูลก็ใช้วิธียืนถือป้ายแทน

ทุกคนทราบโดยไม่ต้องอธิบายเลยครับว่าท่านี้มีความหมายอะไร มันคือท่าที่เรากำลังแบกพ่อแม่หรือบรรพชนเอาไว้บนหลังของเรา ดูราวแบกพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเดินไม่ไหวบนหลัง ยิ่งอาจารย์มาอธิบายเพิ่มว่า ตัวอักษรจีนคำว่า “กตัญญู” นั้น มีตัวอักษร “แก่” วางอยู่บนตัวอักษร “ลูก” ที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งเหมือนท่าที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเต็มตื้นมากขึ้นไปอีก

แม้บนหลังของผมจะเป็นเพียงแค่แผ่นป้ายไม้เบาๆ แต่ผมรู้สึกจริงๆ ว่ากำลังแบกบรรพชนและแม่ของตัวไว้บนหลัง เสียดายที่แม่ไม่ได้มีชีวิตอยู่จนแก่เฒ่าให้ผมได้แบกจริงๆ

การแบกบรรพชนหรือก็คือวงศ์ตระกูลนั้น สำหรับคนจีนมากมายมันอาจเป็นศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาระอันหนักหน่วงบนบ่าบนไหล่ จนหลายคนไม่อยากที่จะแบกเอาไว้อีกต่อไป ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่เราเห็นแล้วว่ามีคุณค่าหรือขนบประเพณีเดิมอันใดที่กดทับผู้คนเอาไว้

ทว่า ผมอาจโชคดีที่ไม่เคยถูกพร่ำสอนให้ต้องแบกวงศ์ตระกูล ไม่ต้องแบกแม้แต่พ่อแม่ของตนด้วยซ้ำ ไม่เคยมีคำว่ากตัญญูมาเป็นภาระทางใจ แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติด้วยความรัก พ่อแม่บรรพชนของผมท่านช่างโปร่งเบาจนผมอยากจะเอาตัวเข้าไปแบกไว้เอง

และเป็นการแบกเพื่อเราจะดำรงกุลธรรม ดำรงความสัมพันธ์ย้อนทวนไปสู่ต้นน้ำ และดำรงวัฒนธรรมของบรรพชนมิให้สูญหายไปเพียงเท่านั้น

กระนั้นผมก็เคารพต่อผู้มิประสงค์จะแบกเพราะมันช่างหนักหน่วงและเจ็บปวดเหลือทนด้วยเช่นกันครับ

 

ระหว่างที่ผมคุกเข่าก้มหน้าแบกป้ายบรรพชน อาจารย์ท่านก็ใช้พู่กันแต้มชาดเจิมคำต่างๆ บนป้าย แต่ก่อนท่านจะเจิม ท่านก็ให้ผมเป่าลมหายใจยาวๆ ใส่พู่กัน ท่านว่า เพราะลมหายใจของลูกหลานคือลมหายใจเดียวกันกับบรรพชน จะเสกให้ป้ายวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ได้ ก็ต้องอาศัยพลังชีวิตที่มีสายใยเชื่อมต่อกันนี้ปลุกให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมานั่นเอง

ฟังแล้วก็ยิ่งเห็นว่าพิธีกรรมมีความลึกซึ้งมากมายเพียงใด

เมื่อเจิมป้ายเสร็จ ก็นำป้ายนั้นอัญเชิญขึ้นมายังแท่นบูชาใหม่ อ่านฎีกาอัญเชิญ แล้วปลุกเสกป้ายอีกครั้งตามแบบพุทธศาสนา เจริญพุทธมนต์ ถวายธูปเทียน อาหารและเครื่องสักการบูชาต่างๆ

มาถึงท้ายพิธีนี่ก็มีเรื่องน่าจดจำอีกครับ คือเมื่อเราได้ถวายอาหารและเครื่องสักการะต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะให้เราโยนไม้โป่ยเสี่ยงทายว่าบรรพชนพอใจการสักการะกราบไหว้ของลูกหลานแล้วหรือไม่

ผมโยนในครั้งแรก ท่านผู้ประกอบพิธีกล่าวคำเสี่ยงทายเป็นภาษาจีนตามสำนวนพิธี ปรากฏว่าออกเป็นคว่ำทั้งคู่ คือตอบว่าไม่ ครั้งที่สองก็ยังคว่ำอีก

เห็นดังนั้น ผู้ประกอบพิธีท่านมากระซิบบอกว่า ให้ผมพูดกับบรรพชนเองตามแบบที่เราพูดกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เคยพูดจากันแบบไหนก็ให้พูดแบบนั้น ตัวท่านเองเป็นเพียงผู้ประกอบพิธีไม่ใช่ลูกหลานและพูดจากสำนวนทางการ เหล่าบรรพชนจึงอาจไม่ฟัง

 

คราวนี้ ผมลองพูดตามที่คุ้นปากตัวเอง ปรากฏว่าการเสี่ยงทายออกมาเป็นคว่ำอันหงายอัน (เซ้งโปย) คือตอบว่า “ใช่” ทันทีครับ สร้างความประหลาดใจแก่ผู้เข้าร่วมงานวันนั้น

ผู้ช่วยผู้ประกอบพิธีเอ่ยกับผมว่า “เห็นมาหลายบ้านแล้วครับแบบนี้ ต้องให้ลูกหลานเขาพูดเองถึงจะขึ้นเซ้งโปย”

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงความบังเอิญก็ได้ แต่สำหรับลูกหลานอย่างผมแล้ว การที่รู้สึกว่าบรรพชนฟังและตอบรับ ช่างเป็นสิ่งที่มีความหมาย

พิธีจบลงด้วยการอุทิศกุศล ผู้ประกอบพิธีสวดอวยชัยให้พร เผากระดาษเงินกระดาษทอง จุดประทัด แล้วเลี้ยงข้าวปลาอาหารกัน

ในส่วนรายละเอียดของพิธีเท่าที่ทรงจำได้มีเพียงเท่านี้ ผมคงจะได้สรุปบทเรียนจากภาพรวมทั้งหมดในคราวหน้า

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง