ในนาทีสุดท้ายของชีวิตคนที่สำคัญ เรามีสิทธิ์ได้บอกลาคนที่เรารักแค่ไหน : ว่าด้วยการลาไปบอกลา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้สนทนากับ หมอชุ (พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร) แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม ผ่านการไลฟ์สดประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย

เราได้สนทนากันในหลายเรื่อง โดยที่มีเรื่องหนึ่งที่อาจไม่เกี่ยวพันกับหัวข้อหลักที่คุยกัน คือประสบการณ์การเป็นแพทย์อายุรกรรมหลายปีของหมอชุ

การรักษามีทั้งคนที่หายดีกลับไปใช้ชีวิต หลายคนป่วยเรื้อรัง

และเรื่องที่ยากลำบากที่สุดแม้จะเป็นอาชีพที่อยู่กับความเจ็บป่วยทุกวัน การบอกลาชีวิตของคนแต่ละคนไม่เคยง่าย หากสำหรับหมอแล้วเรื่องนี้ยังยาก สำหรับผู้คนทั่วไปที่อาจประสบพบเจอความตายของคนที่เรารักไม่กี่ครั้งในชีวิต ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่าหลายเท่านัก

หมอชุเล่าถึงเรื่องที่น่าสะเทือนใจเรื่องหนึ่งคือการที่คนไข้ที่หมดสติจากที่บ้าน ไม่รู้สึกตัวแล้วมาถึงโรงพยาบาล พยายามติดต่อลูกชายที่ทำงานต่างจังหวัดให้มาบอกลาแม่ในวันสุดท้าย

เรื่องน่าเศร้าที่ลูกชายบอกทั้งน้ำตาว่า เขายังไม่ผ่านโปร อู่รถที่ทำเถ้าแก่ไม่ให้ลา เขาเสียงานนี้อีกไม่ได้

และสุดท้ายเขาไม่ได้มาบอกลาแม่

 

เราอาจจะสรุปด้วยข้อสรุปทางศีลธรรมง่ายๆ ว่า แม่มีคนเดียว งานหาเมื่อไรก็ได้

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

รอยแผลของการไม่ได้บอกลาคนที่เรารัก ดูแลอย่างเหมาะสมในวันสำคัญของพวกเขา ส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคนไปอย่างยาวนาน

จะดีกว่าหรือไม่ หากเราสามารถออกแบบกฎหมายและสิทธิประโยชน์ให้คนสามารถใช้เวลาดูแลคนในครอบครัวได้

ปัจจุบันวันลาของไทย ประกอบด้วยลาพักผ่อน ลาป่วย และลากิจ

ซึ่งการลาทั้งสามประเภทนี้ไม่ครอบคลุมในตัวถึงการลาเพื่อดูแลคนในครอบครัว

มิจำเป็นต้องระบุว่า การลาตามเงื่อนไขทั้งสามข้างต้นมีปริมาณ และเงื่อนไขการใช้ไม่สอดคล้องกับคนในปัจจุบัน

งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันว่า การที่ผู้ปกครองสามารถลาในการดูแลเด็กที่ป่วยได้ สามารถทำให้เด็กหายป่วยได้เร็วขึ้น

เด็กที่ป่วยโรคเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดหัวใจอาจใช้ระยะเวลา 8-11 วันในการฟื้นตัว

เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งจะขาดเรียนเฉลี่ยปีละ 25-31 วัน

ขณะที่ผู้สูงอายุที่เข้าโรงพยาบาลมีเพียงร้อยละ 65 ที่สามารถฟื้นตัวสู่สภาพปกติหลังป่วย

และการเสียชีวิตสำหรับคนในสหรัฐอเมริกามีปีละ 2.5 ล้านคน ร้อยละ 45 เสียชีวิตในโรงพยาบาลโดยมีค่ากลางของช่วงเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิตคือ 17 วัน

 

จากรายงานการวิจัยในกลุ่มประเทศรายได้สูง (OECD) 28 ประเทศ พบว่า มี 19 ประเทศที่มีวันลาสำหรับการดูแลเด็กที่ป่วยหนัก มี 9 ประเทศสำหรับการลาดูแลผู้ใหญ่ที่ป่วยหนัก โดยมีวันลาตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป

จากสถิติพบว่าในประเทศที่มีวันลาเพื่อดูแลคนในครอบครัว เกินสามเดือนขึ้นไป ไม่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน หรือการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

และเมื่อพิจารณาในนิยามก็จะพบว่า หลายประเทศเลือกใช้นิยามคนในครอบครัวที่หลากหลาย ใน 11 ประเทศใช้นิยามว่า คู่ครอง ผู้อยู่อาศัยร่วมกัน คนรัก (Loved ones) เพื่อความยืดหยุ่นของการนิยามคนในครอบครัว

กฎหมายเหล่านี้ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับองค์กรขนาดเล็ก เป็นการบังคับรวมด้วย ในไอร์แลนด์และนอร์เวย์สิทธิ์นี้ขยายรวมสู่แรงงานอิสระที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการลาด้วย

แน่นอนที่สุดว่าประโยชน์ของการลาเพื่อดูแลคนในครอบครัวสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีประโยชน์ทางเศรษฐกิจประกอบด้วยการที่พนักงานที่สามารถลาดูแลคนในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะอยู่กับองค์กรยาวนานมากขึ้น เช่นเดียวกับการที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายดีและทำให้คนในครอบครัวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่เรื่องสำคัญที่สุดคือการยืนยันหลักการว่าด้วยความเป็นมนุษย์ของเรา ที่เราเป็นมากกว่าเครื่องจักรรับใช้ระบบทุนนิยม

การลาเพื่อบอกลายังเป็นเครื่องหมายสำคัญในการยืนยันความเป็นมนุษย์ของเรา

นโยบายเหล่านี้ใช้งบประมาณไม่มากมาย แต่สามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์และความคิดของเราต่อความเป็นไปของสังคมได้อีกมากมาย ว่าเรายังคงเป็นมนุษย์ที่รู้สึกกับความเจ็บปวดของผู้อื่นได้

ลาเพื่อบอกลา ลาเพื่อดูแล เป็นอีกนโยบายสำคัญที่ยังไม่เคยถูกผลักดันอย่างจริงจังไม่ว่ารัฐบาลชุดใด