‘รวมฝูง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เดือนธันวาคม

ในขณะพื้นที่ป่าทางภาคอื่นๆ ถูกสายลมหนาวเข้าครอบคลุม บนดอย ท้องฟ้าเป็นสีครามเข้ม สภาพอากาศเย็นยะเยือก คนจำนวนมากในชุดเสื้อกันหนาวหลากสี มุ่งหน้าขึ้นดอยสูง

ผมจำได้ดีว่า ป่าดิบชื้นเชิงทิวเขาบูโด เป็นฤดูกาลซึ่งท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกราวกับว่าโลกนี้มีเพียงฝน ความเปียกชื้น และรา

ม่านฝนปกคลุมยาวนาน นานจนกระทั่งแสงแดดคล้ายเป็นสิ่งที่เฝ้าคิดถึงมากกว่าสิ่งใด

รอบๆ บ้านพักมีสภาพไม่ต่างจากป่าพรุ มีลำธารสายเล็กไหลผ่าน เส้นทางเข้าบ้านโดนสายน้ำเซาะ ท่อน้ำประปาที่ต่อจากลำธารบนเขาถูกน้ำพัดขาด ในหมู่บ้านน้ำไม่ไหล เราใช้สายน้ำข้างบ้านเป็นที่อาบน้ำ ล้างจาน

ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยทาก ที่ดูเหมือนจะรื่นเริงเป็นพิเศษ

ผมไม่ได้เดินทางไปไหน สภาพอากาศไม่เอื้อกับการขึ้นเขาทำงาน

ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเขียนงาน อ่านหนังสือ ฟังข่าวคราวความเป็นไป จากคนที่แวะมาเยี่ยมเยือน

นี่อาจเป็นช่วงเวลาอันทำให้ได้พัก ทบทวนเรื่องราว

 

งานของทีมศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก นอกจากร่วมมือกับชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆ ทิวเขา เพื่อดูแลให้เหล่าลูกนกเงือกได้มีโอกาสออกมาจากโพรง เติบโต และได้ใช้ชีวิตของพวกมันอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว

งานสำคัญอีกอย่างคือ ซ่อมแซมโพรงรังที่นกเงือกใช้ เพราะต้นไม้ที่มีโพรงเหมาะสม เริ่มลดจำนวน มีผลกับการดำรงชีวิตของนก โพรงที่เหลืออยู่ หากมีโพรงใดชำรุด จึงต้องได้รับการซ่อมแซม

ว่าตามจริง โพรงที่เหมาะสมสำหรับนกเงือกส่วนใหญ่เกิดจากต้นไม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ไม้ในวงศ์ยาง มักจะติดเชื้อรา ทำให้ไส้เน่ากลายเป็นโพรง

บางโพรงข้างในเป็นโพรงใหญ่ แต่ปากโพรงแคบ ต้องรอให้มีตัวอะไรช่วยเปิดโพรงให้กว้างขึ้น

จากการศึกษาต่อเนื่อง นักวิจัยพบว่า ผึ้งมีส่วนเกี่ยงข้องบ้าง เพราะผึ้งเข้าไปทำรัง หมีขึ้นไปกินผึ้ง กัดปากโพรงให้กว้าง

นี่ดูเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นลูกโซ่แบบหนึ่ง

โพรงเหมาะสมเหลือไม่มาก การแย่งโพรงกันเป็นเรื่องธรรมดา ปกติแล้วสัตว์ป่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะ การที่นกเงือกปะทะกันเพื่อแย่งโพรง แสดงว่าพวกมันไม่มีหนทางอื่นแล้ว

การซ่อมแซมโพรง รวมทั้งติดตั้งโพรงเทียม นับเป็นภารกิจสำคัญของทีมนกเงือก

แต่ช่วงเดือนธันวาคม พวกเขาทำได้เพียงเตรียมอุปกรณ์ วางแผน รอให้ฝนหยุด สภาพอากาศเปลี่ยนฤดู

 

งานซ่อมโพรงรังนกเงือก จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน เพราะในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ลูกๆ นกเงือกเติบโต พวกมันทยอยบินออกจากโพรงหมดแล้ว

ฝนยังตกไม่มาก ในแคมป์บนระดับความสูง 300-400 เมตร เราสัมผัสกับอากาศเย็นๆ ด้วยซ้ำ

ลูกๆ ออกจากโพรง ไม่เพียงเป็นเวลาที่จะอยู่ร่วมเป็นครอบครัว แต่นี่คือช่วงเวลาที่นกเงือกแต่ละครอบครัวจำนวนมาก จะมาอยู่ร่วมกันอีกด้วย

นี่คือช่วงเวลาแห่งการรวมฝูง

 

ทุกเย็น เหล่านกเงือกชนิดเดียวกันจะมาเกาะนอนตามต้นไม้ในหุบเขา

และทุกเช้า ฝูงนกจะทยอยบินออกไปยังแหล่งอาหารในบริเวณที่มีผลไม้สุก เช่น ต้นไทร ตาเสือ ยางโอน และอื่นๆ

นกรวมกลุ่มกันไปตลอดวันจนถึงเย็นก็บินกลับมานอนร่วมกันบริเวณต้นไม้ในหุบเขาเดิม

นกเงือกนั้น กินทั้งผลไม้ รวมทั้งสัตว์ขนาดเล็ก แต่กินผลไม้ในปริมาณมากกว่า พวกมัน โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้าง บินหากินในแต่ละวันในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30 ตารางกิโลเมตร

พวกมันกินผลไม้จากต้นหนึ่ง แล้วบินไปพักอีกต้น ระหว่างพักมักจะขย้อนเมล็ดผลไม้ออก หรือขี้ออกมา เมล็ดที่ถูกขย้อนออกมามีสภาพดี จะเจริญเติบโตเป็นต้นกล้าได้ดี

ดูเหมือนว่า เป็นความจริงอันปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่านกเงือกมีส่วนช่วยรักษาโครงสร้างสภาพป่า ด้วยการกระจายเมล็ดพันธุ์

อีกทั้งการกินสัตว์เล็กๆ รวมทั้งแมลง นั่นเป็นการมีส่วนร่วมควบคุมปริมาณแมลงศัตรูพืช

นกเงือกกรามช้าง – ช่วงกลางๆ ปี หลังจากลูกนกออกจากโพรงแล้ว เหล่านกเงือกจะมารวมฝูงกันอยู่ในหุบเขา

หากเปรียบเทียบกับนก ก่อนหน้านี้ เป็นเวลาหลายปี ผมบินเคลื่อนย้ายถิ่น และบินหากินอยู่เพียงลำพัง

ช่วงเวลาในป่าดิบชื้น ป่าซึ่งไร้ทางราบๆ ให้เดิน ป่าที่ถูกห่มคลุมด้วยสายฝนจนกระทั่งโหยหาแสงแดด ทำให้ผมเริ่มรู้สึกถึงความอบอุ่นที่มีอยู่ในฝูง

ในขณะเดินทาง นกบินรวมฝูงเป็นรูปตัววี การบินลักษณะนี้ไม่เพียงช่วยให้นกประหยัดพลังงาน แต่ละตัวจะได้รับแรงฉุดจากแรงขยับปีกของนกตัวที่อยู่ข้างหน้า

 

ท่ามกลางสายฝนฉ่ำชื้น เสื้อผ้าขึ้นรา ผมไม่รู้หรอกว่า เมื่อไหร่ฝนจะหยุด เมื่อไหร่แสงแดดที่คิดถึงจะกลับมา

ในวันเวลาและค่ำคืนอันฉ่ำฝนราวกับจะชะล้างให้ทุกอย่างละลาย

ในคืนข้างขึ้น ที่ดวงจันทร์สว่างนวล จำเป็นต้องยอมรับว่า แสงจันทร์นวลยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่มองไม่เห็นก็เพราะสายฝน

เช่นนี้จะช่วยทำให้ค่ำคืนอันฉ่ำฝนจะไม่ยาวนานสักเท่าใด

 

ธันวาคม เหล่านกแยกย้ายกันไปดำเนินชีวิตไปตามวิถีแล้ว

การรวมฝูงเป็นไปแค่ระยะเวลาสั้นๆ

ประการสำคัญของการ “รวมฝูง” คือ บนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ดูคล้ายจะไม่อ้างว้างเกินไป ขณะบินอย่างอ่อนล้า

เป็นความรู้สึกที่จะเก็บไว้นึกถึง

เมื่อต้องแยกย้ายกลับไปดำเนินชีวิตเพียงลำพัง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ