นายกฯ เศรษฐาเข้ม สั่งลุยแก้ค่าไฟ รับไม่ได้ ‘ม.ค.’ เพิ่มพรวด ย้ำดูแลประชาชน-อุตสาหกรรม

ทันทีที่ทราบผลการพิจารณาข้อสรุปค่าไฟงวดใหม่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กำหนดค่าไฟฟ้า งวดแรก (มกราคม-เมษายน) ปี 2567 อยู่ที่ 4.68 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ถึงขั้นออกมากำชับว่า “ค่าไฟ 4.68 บาท โอ้ย ไม่ได้หรอก สูงเกินไป ผมในฐานะประธาน [คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)] จะต้องมีการเรียกประชุม ไม่ยอมแน่ และแม้ว่าแนวโน้มค่าไฟจะขึ้นจาก 3.99 บาท/หน่วย แต่ไม่ถึง 4.68 บาทแน่นอน ต้องทำให้ได้ ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องมีการพูดคุยกัน”

ประเด็นดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันให้กระทรวงพลังงานต้องออกมาแก้ลำปฏิเสธว่า ผลสรุป กกพ.ที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า 4.68 บาท ยังไม่ผ่านการพิจารณาของระดับ “นโยบาย”

จากนั้น “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงจะหารือร่วมกับ กกพ. และสำนักงบประมาณทบทวนอัตราค่าไฟก่อน

โดยยอมรับว่าต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ ประกอบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในอ่าวไทยยังไม่เป็นไปตามแผน อาจจะเป็นแรงส่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้างวดแรกปรับสูงขึ้นก็จริง

แต่คงไม่ถึง 4.68 บาท อาจจะขึ้นไปแค่ 4.20 บาท

 

ที่มาที่ไปของการปรับค่าไฟงวด 1 ปี 2567 เป็น 4.68 บาท นั้น เป็นผลจากที่ กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งอัตรานี้ เป็นทางเลือก 1 ใน 3 ทางเลือกที่ กกพ.ใช้เป็นแนวทางรับฟังความเห็นจากประชาชน

และนับได้ว่าทางเลือก 4.68 บาท นี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะมีการปรับขึ้นค่าไฟในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 ทางเลือกที่จะทำให้ให้อัตราค่าไฟปรับขึ้นไปเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย และ 4.93 บาทต่อหน่วย (ตามลำดับ)

นั่นเพราะทางเลือกนี้จะทำให้ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กว่า 1 แสนล้านบาทถูกยืดหนี้ออกไปถึง 6 งวด เป็นเวลา 2 ปี หากเทียบกับอีกสองทางเลือก ที่จะเป็นการจ่ายหนี้ค้างทั้งหมดทันที หรือยืดหนี้ออกไปแค่ 3 งวด หรือแค่ 1 ปีเท่านั้น

โดยทางเลือกนี้ มีกำหนดจะจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วยนั่นเอง

 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ภาคเอกชนสะท้อนว่า ค่าไฟเป็นต้นทุนสำคัญ “นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า ค่าไฟถือเป็นต้นทุนคงที่ (fix cost) การดำเนินธุรกิจ หากค่าไฟปรับสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 4-6%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสูง อาทิ เคมี เหล็ก เยื่อและกระดาษ อะลูมิเนียม หล่อโลหะ แก้ว กระจก ปูนซีเมนต์ เซรามิก อาหารและเครื่องดื่ม โรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

เพราะแน่นอนว่าหากมีขยับราคาสินค้าก็เป็นการผลักภาระให้ประชาชน และท้ายที่สุดจะส่งผลต่อเงินเฟ้อ และตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ข้อเสนอภาคเอกชนจึงขอให้รัฐบาลทบทวนค่าไฟ ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมจะปรับตัว ปรับรูปแบบการใช้ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาเสริม เช่น การติดตั้ง Solar Roof ซึ่งบางรายได้มีการติดตั้ง Solar Roof และมองถึงมาตรการประหยัดไฟ โดยการใช้เท่าที่จำเป็น ปิดในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะเอกชนเองก็มองว่าการขึ้นราคาสินค้าย่อมมีผลข้างเคียง ทำให้ลูกค้ามองว่าราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง อาจจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นแทน เช่น จีน แทน

เช่นเดียวกับ “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาสะท้อนว่าการปรับค่าไฟเป็นเรื่องที่น่าช็อก สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะก่อนนี้รัฐบาลได้ช่วยตรึงค่าไฟฟ้า 3.99 บาท/หน่วย แต่หากรอบนี้เรียกเก็บ 4.68 บาท/หน่วย เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับเกือบแตะที่ 5 บาท/หน่วย

ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระต้นทุนของประชาชน ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งผลต่อนักลงทุนที่อาจจะกำลังตัดสินใจเลือกลงทุน หากค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียก็เสี่ยงจะทำให้ไทยเสียโอกาสการดึงดูดการลงทุน ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาท พร้อมทั้งขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว

ขณะที่นายอิศเรศ รัตนดิลก รองประธาน ส.อ.ท. เสนอแนวทางการแก้ไขค่าเอฟที 2 ระยะ คือ ระยะเฉพาะหน้า ลดภาระค่าเอฟที แต่ให้แก้หนี้ กฟผ.ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 5 ปีมาช่วย และใช้กลไกตลาดดูแล กล่าวคือ ต้องไม่เพิ่มซัพพลายไฟฟ้าที่ล้นอยู่แล้ว แต่หันไปเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้า เช่น เพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติให้ใช้ราคาเดียวกัน

ส่วนระยะยาว ต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อหาวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าราคาถูก เร่งระบบโลจิสติกส์ ลดการผูกขาด และปรับกลไกการบริหารพลังงานทุกระดับ โดยผ่าน กรอ.ด้านพลังงาน

 

อย่างไรก็ตาม บทสรุป “ค่าไฟ” งวดนี้ เอกชนหลายฝ่ายมองตรงกันว่า รัฐบาลคงจะใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ “แตะเบรก” ค่าไฟฟ้าไว้ในระดับ 4.20 บาทไปก่อน

ถือเป็นการพบกันครึ่งทาง อัตรานี้ก็จะสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน เสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้

ซึ่งรัฐบาลอาจจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับ “กลุ่มเปราะบาง” อีกทางหนึ่ง เพื่อซื้อเวลาต่อไป

เหตุที่รัฐคงไม่ยอมถอยให้ตามที่เอกชนร้องขอให้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทเท่าเดิม เพราะปัจจัยในสมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้างวดนี้ ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (LNG SPOT) อยู่ที่ 17 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เทียบกับงวดก่อนหน้าซึ่งมีราคา 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกงวดนี้คำนวณที่ 93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากงวดก่อนหน้าที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าเป็น 34.20 บาท จากงวดก่อนหน้าที่ 35.80 บาท

“โอกาสที่จะทบทวนค่าไฟฟ้าให้เป็น 4.20 บาทได้ เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงเหลือประมาณ 80 ต่ำกว่าสมมุติฐานที่ 93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า และแนวทางนี้จะส่งผลให้ภาระหนี้ กฟผ.เพิ่มขึ้นมาเพียง 1.3-1.4 หมื่นล้าน บวกกับของเดิม 1.1 แสนล้าน”

เมื่อใช้แนวทางแบบนี้ ก็ต้องมาลุ้นว่า ค่าไฟงวดที่ 2 ปี 2567 จะปรับขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะสามารถฟื้นกำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามเป้าหมายปี 2567 ได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่ 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และทิศทางราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกจากปัจจัยเหนือการควบคุม จากสงครามอิสราเอล-ฮามาส หากเกิดปะทุรุนแรงมาอีกก็อาจจะทำให้ราคาแอลเอ็นจีในตลาดจรขยับขึ้นไปอีกก็เป็นได้

 

แนวทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแบบนี้ไม่ต่างจากการซื้อเวลา ซึ่งเอกชนหลายฝ่ายยังหวังว่ารัฐควรวางแนวทางที่ยั่งยืน แก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานในระยะยาว

จึงได้เสนอให้ตั้ง “กรอ.ด้านพลังงาน” คล้าย กรอ.ด้านพาณิชย์ เพื่อให้ตัวแทนเอกชนเข้าไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยนำเสนอมุมมองและข้อมูล เพื่อนำไปสู่บทสรุปในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดข้อเสนอ กรอ.พลังงาน ซึ่งเป็นกลไกที่ทำง่ายที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่เอกชนเสนอมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว

หรืออาจจะเป็นเพราะโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่มีความซับซ้อน ผูกพันผลประโยชน์มหาศาล

การมี กรอ.พลังงาน ไม่ต่างกับการหงายไพ่ให้คู่แข่งดู