จาก eCommerce ถึง BEV

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

รถยนต์ไฟฟ้า-ปรากฏการณ์ เครือข่ายธุรกิจจีน จู่โจมในสังคมไทย เป็นไปอย่างตื่นเต้นเวลานี้

ฉากสุดท้ายอันเร้าใจเกิดขึ้นในงานแสดงสินค้ายานยนต์ครั้งใหญ่ส่งท้ายปี 2566 ด้วยบทสรุปที่ว่า ปี 2566 รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric vehicle หรือ BEV) ในสังคมไทยเติบโตอย่างน่าทึ่ง จากระดับกว่าหนึ่งหมื่นคันในปีที่แล้ว เข้าใกล้แสนคัน (ภาพอย่างกว้างๆ จากยอดจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก) พิจารณาอ้างอิงตลาดรถยนต์ไทยในภาพรวม สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ราวๆ 10% แล้ว

ที่สำคัญรถยนต์แบรนด์จีนมากันเป็นขบวนการครึกโครม จนกลายเป็นผู้นำตลาดอย่างฉับพลัน พิจารณาอย่างคร่าวๆ น่าจะครองส่วนแบ่งมากกว่า 70%

ปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเคยเกิดมาแล้ว อาจเทียบเคียงธุรกิจค้าปลีกออนไลน์หรือเจ้าของแพลตฟอร์มค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (eCommerce platform) เรียกอย่างง่ายๆ ว่า Online shopping

กรณีข้างต้นเปิดฉากขึ้นในสังคมไทยไม่ถึงทศวรรษมานี้

รายแรก-Lazada เปิดตัวตั้งแต่ปี 2555 เป็นไปค่อนข้างเงียบ จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสู่ความเคลื่อนไหวอย่างจับต้องได้ เมื่อกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจแห่งจีน-Alibaba Group (ปี 2559) ในช่วงคาบเกี่ยวกัน Shopee (มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่-Tencent อยู่ข้างหลัง) มาเปิดธุรกิจในไทยด้วย (ปี 2558) จากนั้น (ปี 2560) JD.com ได้ตามมาอย่างกระชั้นด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล

ทั้ง Alibaba Tencent และ JD.com ในจีน ถือว่าเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ เป็นคู่แข่งขันขันทางธุรกิจโดยตรง มีแบบแผน และพัฒนาการธุรกิจคล้ายๆ กัน

ท่ามกลางโอกาสที่มากับช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืน “ฮ่องกง” ให้ทางการจีน (ปี 2540) ถือเป็นพวก start up เข้ากับโอกาสที่เปิดกว้างและเป็นผู้มาก่อน ในกระแสโลก เทคโนโลยีและสื่อสารยุคใหม่

 

Tencent และ JD.com ก่อตั้งในปีเดียวกัน (ปี 2541) Alibaba ตามมาอย่างกระชั้น (ปี 2542) กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่อย่างรวดเร็ว กำกับสื่อใหม่ในสังคมจีนอันกว้างใหญ่ สัมพันธ์กับแผนการธุรกิจอันก้าวกระโดด ระดมทุนผ่านตลาดทุนระดับโลก เมื่อ Alibaba เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ในปี 2557 กลายเป็นกรณีกล่าวขวัญ ในปีนั้นเอง JD.com สามารถเข้าตลาดหุ้น NASDAQ แห่งสหรัฐ ส่วนTencent เข้าตลาดหุ้นมาก่อน (ตั้งแต่ปี 2547) ที่ฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong หรือ HKEX)

ดูไปแล้ว มีแผนการทำนองเดียวกัน แข่งขันกัน ในความพยายามขยายเครือข่ายธุรกิจจากแผ่นดินใหญ่ สู่ระดับภูมิภาค ซึ่งมีความแตกต่าง แยกย่อย และหลากหลาย บทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว

ท่ามกลางโอกาสธุรกิจเปิดกว้างขึ้น โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์ COVID-19 ยิ่งเปิดกว้าง เชื่อมโยงภาพการเติบโตเป็นไปทั้งภูมิภาคในช่วงเกือบทศวรรษ จากสัดส่วนเพียง 1% ขยับขึ้นเป็นไปเกือบ 10% ของการค้าปลีกทั้งระบบ

ในอีกด้านพิจารณาเฉพาะสังคมไทย (เท่าที่มีข้อมูลพอจะเชื่อได้) ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า (2563-2565) ทั้ง Lazada และ Shopee ยังอยู่ในภาวะระยะลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้บางปีจะมีกำไร แต่โดยรวมยังมีขาดทุนสะสมจำนวนไม่น้อย (Lazada กว่า 3,000 ล้านบาท ส่วน Shopee กว่า 6,000 ล้านบาท)

ในที่สุดเมื่อต้นปีนี้ JD.com ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนจากไทย ปิดฉากความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล โดยทิ้งร่องรอยการขาดทุนไว้มากพอสมควร (ในช่วง 2562-2564 ขาดทุนรวมกันกว่า 4,000 ล้านบาท)

 

กระแสคลื่นใหญ่อีกระลอกจากจีนแผ่นดินใหญ่ตามมา ว่าด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจีน นับเป็น “ชิ้นส่วน” เล็กๆ ต่อเนื่องแห่งภาพสะท้อนการพัฒนาอย่างจริงจังนับทศวรรษในจีนแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลในปี 2561 ระบุว่า จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก รถไฟฟ้าจีนมาถึงไทยครั้งแรกราวปี 2563 จากนั้นไม่นานตามกันเป็นขบวนอย่างครึกโครม ในไม่ช้า ไทยกลายเป็นศูนย์กลาง (hub) รถไฟฟ้าจีนแห่งภูมิภาค

ความเป็นจริงมีรอยต่อที่น่าสนใจ รถยนต์จีน MG รายแรกที่มาไทย ได้เริ่มต้นชิมลางแบบสันดาป มาจากความร่วมมือกันระหว่าง SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) กับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี ) ลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยอย่างจริงจังครั้งแรก (ปี 2556) ในระยะกระชั้นได้เปิดตัว MG ในไทย (ปี 2557) เริ่มต้นด้วยรถยนต์สันดาป มียอดขาย (ปี 2557-2559) น่าพอใจมากกว่า 10,000 คัน ตามมาด้วยแผนการใหญ่ขึ้น สร้างโรงงานแห่งใหม่ (เริ่มก่อสร้างปี 2559) เป็นฐานผลิตครอบคลุมทั่วอาเซียน

อีกรายเดินตามรอย Great Wall Motors (GWM) เข้ามาเมืองไทยรายที่สอง (2563) ด้วยรถยนต์หลายรุ่น ทั้งสันดาปและผสม ก่อนจะมาเปิดตัว BEV เต็มรูปแบบ

เป็นจังหวะข้อต่อสำคัญ ทั้งสองราย “…ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต…” เข้ากับจังหวะก่อนใครๆ เมื่อรัฐบาลเปิดแพ็กเกจสนับสนุนกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้าครั้งใหญ่ในประเทศไทย (มีนาคม 2565)

 

กระแสแรงขึ้นในปลายปี 2565 เมื่อ BYD ธุรกิจรถยนต์รายสำคัญของจีนเปิดตัวพร้อมๆ กับการลงนาม MOU ไปด้วย เป็นแรงส่งสำคัญให้รถไฟฟ้าจีนเติบโตอย่างมากในปีที่กำลังผ่านพ้น

SAIC ก่อตั้งในปี 2538 โดยรัฐ เป็นตำนานต่อเนื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์จีน ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ รวมทั้งร่วมทุนกับ Volkswagen แห่งเยอรมนี และ GM แห่งสหรัฐ

ส่วนรถยนต์แบรนด์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว กิจการและแบรนด์ MG ได้ขายและกลายเป็นสินค้าจีน (ปี 2550) โดย Nanjing Automobile Group (ต่อมาปี 2551 ปรับโครงสร้างและได้ควบรวมกิจการเข้ามาอยู่ใน SAIC)

ส่วน GWM กิจการยานยนต์แห่งประเทศจีนเป็นของเอกชน ก่อตั้งปี 2527 ผู้ผลิตรถยนต์เฉพาะชนิด ที่เรียกว่า sport utility vehicle (SUV) และรถกระบะ (pick-up truck) ฐานใหญ่อยู่ที่มณฑลเหอเป่ย (Hebei) พัฒนาการเป็นไปตามกระแสธุรกิจใหญ่ ในโมเดลเดียวกัน GWM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong Limited หรือ SEHK) ในปี 2546 จากนั้นออกสู่ตลาดโลก ที่สำคัญได้ร่วมมือกับ BMW แห่งเยอรมนี (ปี 2551) ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน

สำหรับ BYD แม้มีที่มาอย่างแตกต่าง แต่ก่อตั้งในช่วง Start up เช่นกัน (2538) ธุรกิจแรกเริ่มคือแบตเตอรี่มือถือ เติบโตขึ้นตามจังหวะและโอกาส จนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับมือถือชั้นนำของโลก

BYD เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์เข้ากับจังหวะและโอกาสใหม่เช่นกัน (ปี 2545) เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า (ตั้งแต่ปี 2551)

BYD จึงเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่แบบผสม จนกระทั่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน

 

ภาพสะท้อนในสังคมไทย กับการเติบโต BEV อย่างน่าทึ่ง ควรถือเป็นคุณูปการเครือข่ายธุรกิจรถยนต์จีน ล้วนเป็นรายใหญ่ๆ และทรงอิทธิพล ในฐานะผู้มาก่อน

ขณะเดียวกันให้ภาพภาวการณ์แข่งขันกันเองอย่างดุเดือดด้วย อาจจะเป็นภาพชิ้นเล็กๆ ซ้อนอยู่ภาพใหญ่ในจีนที่เกิดขึ้นมาสักพัก

ท่ามกลางกระบวนการคัดเลือกอันเข้มข้น ให้ผู้เข้มแข็งอยู่รอด เทคโนโลลี BEV ซึ่งพัฒนาไปไม่หยุดนิ่ง และภาวะตลาดเล็กๆ ทั้งเติบโตและผันผวน

จากการนำเข้า BEV ทั้งคัน สู่กระบวนการผลิตในประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ถือได้ว่าจากขยายตลาดด้วยการผลิตส่วนเกิน จะเข้าสู่ภาวะระยะการลงทุนในวงจรใหม่ ว่าอย่างเฉพาะเจาะจง ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีน-ไทย จะยกระดับไปอีกขั้นก็ว่าได้ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com