เฮอร์ริเคน ‘โอทิส’ สอนโลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
David Guzman/EPA

ความเกรี้ยวกราดของพายุเฮอร์ริเคน “โอทิส” ระหว่างพัดถล่มเมืองอะคาปูลโกของเม็กซิโก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่แล้ว ยังเป็นที่คาใจของนักวิทยาศาสตร์

นักพยากรณ์อากาศที่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก เพราะ “โอทิส” ยกระดับเข้าสู่ขั้นรุนแรงที่สุด (category5) ในเวลาเพียง 12 ชั่วโมง และปั่นความเร็วลมได้สูงสุดถึง 266 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อะคาปูลโก (Acapulco) เมืองชายหาดริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าจะเปรียบกับบ้านเราก็คล้ายๆ หัวหิน เมืองนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมานานกว่า 80 ปีแล้ว เนื่องจากบรรดาดาราฮอลลีวู้ดและมหาเศรษฐีอเมริกันแห่ไปพักผ่อนตากอากาศ

แต่มาดังระเบิดในยุคประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ พา “แจ๊กกี้” สุภาพสตรีหมายเลข 1 ไปฮันนีมูนเมื่อปี 2496 ปีต่อมา เอลวิส เพรสลีย์ นักร้องอเมริกันดังสุดยุคนั้นไปถ่ายทำหนังเรื่อง Fun of Acapulco ออกฉายปลุกกระแสให้เมืองดังเป็นพลุยิ่งขึ้นไปอีก

มาระยะหลังๆ เมืองอะคาปูลโกเฉาเหี่ยว นักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบเพราะเป็นแหล่งซ่องสุมของแก๊งอาชญากรรม อีกทั้งเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ชาวเมืองมีอยู่เกือบ 1 ล้านคนพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา รายได้ชาวเมืองลดลง

เมืองนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากติดอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองที่รัฐบาลอเมริกัน แคนาดา อังกฤษออกคำเตือนไม่ควรมาท่องเที่ยวพักผ่อน

นอกจากเป็นแหล่งอาชญากรรม ค้ายาเสพติด ลักพาตัวนักท่องเที่ยวเรียกค่าไถ่ และปล้นขโมยแล้ว ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยเฉพาะขยะเพราะทิ้งกันชุ่ย แต่ละวันมีกองขยะโตๆ อยู่เกลื่อนเมือง

Felix Marquez/AP Photo

จุดเริ่มต้นของ “โอทิส” อยู่ในอ่าวเตฮวนเตเปค (Gulf of Tehuantepec) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก ห่างจากชายฝั่งราว 580 กิโลเมตร นักพยากรณ์เห็นหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังลมปานกลางในวันที่ 22 ตุลาคม

เมื่อพายุเคลื่อนตัวใกล้ถึงชายฝั่งในวันที่ 24 ตุลาคม ตีสามตามเวลาท้องถิ่น กระแสลมอยู่ที่ 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บ่ายสามวันเดียวกันทวีกำลังลมเป็น 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ หรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐ ยกระดับเป็นเฮอร์ริเคน “โอทิส” ใน Category ที่ 1 และเป็นเฮอร์ริเคน ใน Category 3 เมื่อเวลา 3 ทุ่ม เนื่องจากมีความเร็วลมสูงสุดวัดได้ 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“โอทิส” อยู่ห่างจากชายฝั่งอะคาปูลโกราว 90 กิโลเมตร นักพยากรณ์อากาศวัดความเร็วสูงสุดได้ถึง 257 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในเวลา 23.00 น.คืนเดียวกัน เฮอร์ริเคนเพิ่มความเร็วลมเป็น 266 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างเกิดจุดสูงสุดของเฮอร์ริเคนโอทิสพบว่ามีฟ้าผ่าฟ้าร้องเกิดขึ้นตลอด ประเมินการเกิดฟ้าผ่าในบริเวณจุดศูนย์กลางพายุมีมากถึง 26,000 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง

ตีหนึ่งเศษๆ ของวันที่ 25 ตุลาคม เมื่อโอทิสพัดถล่มทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินพังพินาศแล้วก็อ่อนกำลังลงจนสลายตัวในเวลาไม่นาน

 

พฤติกรรมของพายุโอทิสจึงเป็นเรื่องน่าค้นคว้าหาคำตอบต่อไปว่าอะไรเป็นตัวเร่งให้พายุเพิ่มพลังกลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 ในเวลา 24 ชั่วโมง

ขณะที่การพยากรณ์ที่ขาดความแม่นยำในกรณีของ “โอทิส” แสดงว่า ต่อไปนี้เทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศของโลกจะต้องปรับปรุงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ใช่หรือไม่?

นักพยากรณ์อากาศจะต้องจับความเคลื่อนไหวของกระแสลม ความชื้น ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้พายุยกระดับได้เร็วและแรงขึ้น ต้องรู้ทิศทางของพายุล่วงหน้าก่อนจะพัดถล่มในพื้นที่เหล่านี้เพื่อให้เตรียมการรับมือได้ทันท่วงที

กระแสลมจากเฮอร์ริเคน “โอทิส” ที่เกรี้ยวกราด ซัดใส่โรงแรม คอนโดมิเนียม บ้านเรือน ส่วนใหญ่ใช้กระจกเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากต้องการให้ผู้พักอาศัยได้เห็นวิวสวยๆ ริมชายหาด เศษกระจกปลิวว่อน หลังคาหลุดกระเด็น ต้นไม้ใหญ่น้อยถูกลมกระชากถอนรากถอนโคน ยังมีน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม

ฝนที่ตกอย่างหนักหน่วง เกิดมวลน้ำทำให้กระแสน้ำไหลแรงกระชากซากปรักหักพังทุกชนิดตั้งแต่รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องเป่าผม เครื่องดนตรี เศษขยะขวดพลาสติกท่อนไม้ เสาไฟฟ้าลงทะเลแล้วคลื่นทะเลซัดกลับมากองพะเนินเทินทึกริมชายหาด

David Guzman/EPA

หลังพายุผ่านไป รัฐบาลเม็กซิกันประเมินความเสียหายโรงแรมซึ่งมีอยู่ 377 แห่ง ห้องพัก 20,000 ห้อง ในจำนวนนี้มีมากถึง 80% สภาพพังยับเยิน บางโรงแรมเหลือแต่โครงเสาพื้นคอนกรีตเพราะอยู่หน้าหาดปะทะกับแนวพายุเต็มๆ

ส่วนร้านค้าริมชายหาดถูกทำลาย 95% บ้านเรือน 274,000 หลังพังเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 50 คน สูญหาย 30 คน และ 250,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย ถ้ารวมความเสียหายเบื้องต้นตกราวๆ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาฟื้นฟูอาจจะนานถึง 2 ปี

รัฐบาลเม็กซิโกต้องส่งทหารเกือบๆ 2 หมื่นนายเข้าไปคุมสถานการณ์ในเมืองอะคาปูลโก เพราะคนแห่ไปขโมยน้ำ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าและทุบตู้เอทีเอ็มในศูนย์กลางค้าที่รอดจากพายุ ขณะที่ซากขยะกองเป็นพะเนินริมหาด ต้องใช้เวลาในการเก็บกวาด แต่กลิ่นเหม็นและขยะเน่าเสียกำลังเป็นแหล่งเพาะเชื้อร้ายทำร้ายชาวเมืองอีกระลอก

ลองนึกภาพเมืองอะคาปูลโก วันที่มีแต่เศษซากปรักหักพังกระจัดกระจายทั่วเมือง มีขยะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง แมลงสาบ หนูวิ่งยั้วเยี้ยบริเวณซากอาหารเน่า เป็นแหล่งรวมของฝูงยุง

ร้านค้าที่รอดพ้นมือเฮอร์ริเคนถูกกลุ่มคนบุกแย่งชิงสินค้าภายในร้าน ผู้คนไม่มีน้ำดื่มสะอาดให้กิน ไม่มีรถเมล์วิ่ง ไฟดับทั้งเมือง การสื่อสารถูกตัดขาด โรงพยาบาล คลินิก 120 แห่งพังใช้การไม่ได้ เป็นภาพความโกลาหลอลหม่านมากขนาดไหน

หลังทหารเข้าคุมสถานการณ์ได้แล้ว ผู้คนเริ่มผ่อนคลาย แต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพเมืองอีกนาน

 

นักข่าวจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เข้าไปรายงานสถานการณ์ในอะคาปูลโกหลังเฮอร์ริเคนพัดผ่านไปแล้วว่าสภาพเมืองถ้าเปรียบกับคนเหมือนมีอาการเมาค้าง (Acapulco’s hurricane hangover)

ปกติ ปริมาณซากขยะเฉพาะเศษอาหารและขยะอื่นๆ ทางเมืองอะคาปูลโกเก็บในแต่ละวันเฉลี่ย 700-800 ตัน เมื่อพายุถล่ม ขยะในอะคาปูลโกถูกทิ้งสะสมมากถึง 666,000 ตัน 3 สัปดาห์ผ่านไป ยังไม่มีการเก็บกวาด

นายกเทศมนตรีเมืองอะคาปูลโก ประเมินว่า การฟื้นฟูและเก็บกวาดซากขยะใช้เวลาราว 1-5 เดือน แต่ชาวเมืองไม่เชื่อว่าทำได้จริง เพราะสภาพเมืองในเวลานี้เป็นซากเน่าเหม็น กลิ่นที่ฟุ้งกระจายทำให้ชาวเมืองเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และมีผู้ป่วยอีกไม่น้อยท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ เป็นไข้มาลาเรียและไวรัสซิก้า

ความพินาศย่อยยับของเมืองอะคาปูลโก เป็นฝีมือของพายุเฮอร์ริเคนล้วนๆ

“โอทิส” บอกให้ชาวโลกรู้ว่า การหาวิธีป้องกันไม่ให้พายุถล่มเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่า เส้นทางพายุไปทางไหน มีความเร็วลมเป็นอย่างไร

Felix Marquez/AP Photo

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว พายุเฮอร์ริเคน “แพรติเซีย” ที่พัดถล่มเม็กซิโกและรัฐเท็กซัสของสหรัฐ สามารถยกระดับความเร็วลมในเวลา 24 ชั่วโมงถึง 193 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในการศึกษาการก่อตัวของพายุแพรติเซีย เป็นเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกการเกิดของพายุในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหรือมหาสมุทรแอตแลนติกพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ความร้อนของผิวน้ำทะเล ความเค็มและความดันของน้ำทะเลมีผลต่อการก่อตัวและเร่งปฏิกิริยาให้พายุยกระดับความรุนแรง

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น 10 เซนติเมตรตั้งแต่ช่วงเกิดเอลนีโญ ระหว่างปี 2557-2558 ระดับความเค็มเข้มข้นของน้ำทะเลมากกว่าปกติ เป็นแรงขับสำคัญของพายุแพรติเซีย

ข้อสรุปในเบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อได้ว่า พลังแรงของเฮอร์ริเคน”แพรติเซีย” และ “โอทิส” มาจากภาวะโลกร้อนบวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]