ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (1) | เมื่อใดที่มนุษย์เราเลิกล่อนจ้อน

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

เปเปอร์ใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในวารสาร PLOS ONE โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (The University of Florida) นำเสนอไอเดียที่จะไขปริศนาการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ได้อย่างน่าสนใจ

โดยการศึกษาพันธุกรรม “เหา”…!!

ใช่แล้วครับ ทีมวิจัยจากฟลอริดา “เหา” ปรสิตตัวจิ๋วที่ชอบไข่ตามผมของเด็กน้อย (และผู้ใหญ่) ที่ไม่ระวัง… ที่ทำให้คันหัวยุบยิบๆ นั่นเลย

เดวิด รีด (David L Reed) หัวหน้าทีมวิจัยจากฟลอริดา เผยว่าเขาสนใจศึกษา “เหา” ตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนเรียนก็ทำวิจัยเหาในตัวโกเฟอร์ และพอจบก็เริ่มหันเหความสนใจมาศึกษาเหามนุษย์ดึกดำบรรพ์แทน

แต่สิ่งที่เดวิดสนใจไม่ใช่แค่เข้าใจชีววิทยาของเหาดึกดำบรรพ์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ภาพโลน และเหา (ภาพโดย Lloyd, Llewellyn ปี 1919)

เดวิดเผยว่าสายพันธุ์เหาบนโลกนี้จะมีมากมายกว่าห้าร้อยสายพันธุ์ และวิวัฒนาการติดไปทั่วในสัตว์สารพัด

แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เป็นปรสิตที่ต้องยึดติดอยู่กับโฮสต์ พวกมันจึงมีวิวัฒนาการที่ทำให้พวกมันจำเพาะเจาะจงกับโฮสต์ของมัน

นั้นหมายความว่า “เหามนุษย์” จะติดต่อได้แค่โฮสต์ที่อยู่ในเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น

และ “เหา (ที่ติดมนุษย์)” นั้นก็มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ (และวานร) มานานกว่ายี่สิบห้าล้านปี ตั้งแต่ก่อนที่จะมีมนุษย์ Homo sapiens คนแรกวิวัฒนาการขึ้นมาเสียอีก

และที่สำคัญ เหาบินไม่ได้ และโดดไม่ได้ พวกมันจะติดต่อจากโฮสต์สู่โฮสต์ หรือคนสู่คนผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเท่านั้น

และ “ถ้ามนุษย์ในชาติพันธุ์ไหนมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน” เคยติดต่อกัน เคยอยู่ร่วมกัน หรือเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน มนุษย์ในชาติพันธุ์เหล่านั้นก็น่าจะมี “เหา” ร่วมกันด้วย

และนั่นทำให้เดวิดเชื่อว่าการศึกษาวิวัฒนาการของเหา คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะช่วยเติมเต็มเรื่องราวในอดีตของมวลมนุษยชาติได้อย่างละเอียดแบบที่หลักฐานอื่นๆ ไม่สามารถจะให้ได้

และเมื่อเขาแชร์ไอเดียนี้ออกไปในแวดวงนักมานุษยวิทยา ฟีดแบ็กที่ได้กลับมากลับเป็นอะไรที่เขาไม่ได้คาดคิด “ในตอนนั้น ผมถูกขนานนามว่าเป็น ‘มนุษย์เหาเพี้ยนๆ’ อยู่พักใหญ่…” เดวิดเล่า

และเพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดของเขานั้นทำได้จริง เดวิดเริ่มทุ่มเททุกสรรพกำลังในการระดมสะสมเหาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อศึกษาและติดตามการวิวัฒนาการของเหา (และมนุษย์) อย่างจริงจัง

และในที่สุด ในปี 2004 เขาก็ตีพิมพ์เปเปอร์ที่สะท้านสะเทือนวงการออกมาในวารสาร PLOS Biology

ภาพวิธีการกำจัดเหาในเยอรมนีในปี 1491

เดวิดพบว่าสารพันธุกรรมของเหาในสายพันธุ์ที่ติดในมนุษย์ยุคปัจจุบันบางชนิดนั้นสอดคล้องกันกับที่เจอในเหาที่มาจากซากมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลและมนุษย์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

เดวิดตื่นเต้นมากเพราะนี่คือหลักฐานแรกที่บ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน หรือ Homo sapiens น่าจะเคยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลราวๆ 50,000 ถึง 100,000 ปีก่อน!

แต่แม้ว่าผังวงศ์วานว่านเครือในสายวิวัฒนาการของเหานั้นมันชี้ชัดมากว่าเหาบางสายพันธุ์ที่ติดมนุษย์มาจากนีแอนเดอร์ธัล แต่ในตอนนั้น สัมพันธ์รักใคร่ระหว่างมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลกับมนุษย์ยุคปัจจุบันนั้นยังเป็นอะไรที่ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการมานุษยวิทยา

เรื่องนี้เป็นอะไรที่เซนซิทีฟ เพราะมนุษย์คือมนุษย์ และนีแอนเดอร์ธัล แม้จะถือเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือที่เรียกว่าโฮมินิน (hominin) แต่จากความรู้สึก ยังไง ก็ยังไม่ใช่มนุษย์เต็มขั้น ไม่ใช่ Homo sapiens

แต่เรื่องราวจะหักมุมทันที ถ้านีแอนเดอร์ธัลสามารถข้ามสิ่งกีดขวางทางการสืบพันธุ์ (reproductive barrier) แล้วผสมพันธุ์กับบรรพบุรุษมนุษย์ให้ลูกหลานสืบต่อเผ่าพันธุ์ต่อมาได้ในธรรมชาติ

เพราะถ้าว่าตามแนวการจัดจำแนกสปีชีส์ทางชีวภาพ (Biological Species Concept) ที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไปในวงการชีววิทยา “สิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกัน ต้องผสมพันธุ์กันได้ และให้ลูกออกมาไม่เป็นหมัน ในธรรมชาติ” มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลจะได้รับการอัพเกรดจาก Homo neanderthalensis มาใช้สปีชีส์เดียวกับมนุษย์เซเปี้ยนส์ของยุคปัจจุบันในทันที…อุ๊บบบส์

ภาพเหาบนศีรษะ

งานวิจัยเหานีแอนเดอร์ธัลของเดวิด กับงานวิจัยอื่นๆ เช่น งานวิจัยฟอสซิลของอีริก ทรินเคาส์ (Erik Trinkaus) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (Washington University in Saint Louis) โหมกระพือความขัดแย้งเรื่องสัมพันธ์รักข้ามสายพันธุ์มนุษย์อยู่หลายปี

จนกระทั่งในปี 2010 เรื่องนี้ถึงได้ข้อสรุป เมื่อจีโนมฉบับร่างของนีแอนเดอร์ธัลถูกเผยแพร่ออกมาและระบุชัดเจนว่า 1-4 เปอร์เซ็นต์ในจีโนมมนุษย์ยุคปัจจุบัน นั้นเป็นมรดกดีเอ็นเอที่ได้มาจากมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล

“ตอนนี้เราพูดได้เลยว่าเป็นไปได้แน่นอนที่จะมีการถ่ายเทยีนเกิดขึ้นระหว่างนีแอนเดอร์ธัลกับมนุษย์สมัยใหม่” ริชาร์ด เอ็ด กรีน (Richard Ed Green) หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยจีโนมนีแอนเดอร์ธัลกล่าว

คำถามคือแล้วสรุปแล้ว นีแอนเดอร์ธัลถูกอัพเกรดหรือยัง ตอนนี้ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนในวงการ…ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตนั้น ก็คงต้องรอดูต่อไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คืองานวิจัยเหา สามารถเอามาใช้บ่งชี้ประวัติศาสตร์มนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ ย้อนไปถึงยุคนีแอนเดอร์ธัลเลยก็ยังได้

เดวิดเริ่มสนใจมองหาเรื่องราวของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่มีแต่การศึกษาเหาเท่านั้นที่จะช่วยบอกได้

 

เดวิดเผยต่อว่า “เหาในมนุษย์นั้นแท้จริงแล้ว มี 3 ประเภท ประเภทแรก ก็คือ “เหาศีรษะ (head louse)” ซึ่งจะอาศัยอยู่บนศีรษะ วางไข่แปะเอาไว้ตามเส้นผม

ประเภทที่สอง คือ “เหาร่างกาย (body louse)” ซึ่งถ้าดูหน้าตาจะเหมือนประเภทแรก แต่ที่ต่างกันคือจะอาศัยอยู่บนตัวของโฮสต์และวางไข่เอาไว้ตามเสื้อผ้า

ประเภทสุดท้ายมักพบที่บริเวณขนอวัยวะเพศ เลยมีอีกชื่อว่า “เหาที่ขนอวัยวะเพศ (pubic louse) ซึ่งหน้าตาของเหาประเภทนี้จะต่างสั้นๆ อ้วนๆ คล้ายปู ภาษาอังกฤษเลยเรียกว่า “เหาปู (Crab louse)” แต่ในไทยจะรู้จักกันในชื่อว่า “โลน”

สำหรับเดวิด เหาประเภทที่สองจุดประกายความสนใจของเขา เหาร่างกายปรับตัวให้เข้ากับสังคมมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม และสามารถแพร่กระจายขยายเผ่าพันธุ์ไปได้ทั่วแทบทุกหัวระแหงโดยการวางไข่บนเสื้อผ้า

แต่เดี๋ยวนะ ถ้าพวกมันปรับตัวได้ดีเลิศมากๆ กับการอยู่อาศัยในเสื้อผ้า แล้วถ้าเกิดทุกคนในสังคมล่อนจ้อนไม่มีใครใส่เสื้อผ้าล่ะ เหาจะอยู่ได้ยังไง…

“เรารู้ค่อนข้างชัดว่าในอดีต เหาร่างกายนั้นไม่เคยอุบัติขึ้นมา จนกระทั่งมนุษย์เริ่มที่จะหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ และหลังจากนั้น เหาร่างกายจึงได้วิวัฒน์ขึ้นมา” เดวิดกล่าว และนั่นหมายความว่าการมีอยู่ของ “เหาร่างกาย” น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่น่าสนใจที่จะ “ระบุได้ว่ามนุษย์นั้นตัดสินใจละทิ้ง วิถีชีวิตล่อนจ้อน และเริ่มลุกขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่องกันในตอนไหน”

 

ในปี 2003 เพื่อตอบโจทย์นี้ มาร์ก สโตนคิง (Mark Stoneking) นักชีววิทยาจากสถาบันมัก พลังก์ ในไลป์ซิก (Max Planck Institute Leipzig) ได้ศึกษาพันธุกรรมของเหาร่างกายและประมาณการเอาไว้ว่า มนุษย์น่าเริ่มหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ เมื่อราวๆ 107,000 ปีก่อน

แต่ช่วงเวลามันดูแปลกๆ เพราะการศึกษายีนสร้างเม็ดสีในผิวหนังที่น่าจะวิวัฒน์ขึ้นมาหลังจากการสูญเสียขนปกคลุมร่างกายไประบุว่าร่างกายมนุษย์น่าจะเริ่ม (เกือบจะ) ไร้ขนเมื่อราวๆ 1-2 ล้านปีก่อน และมันนานมาก ถ้าคิดในแง่ที่ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์จะอยู่กันมาแบบล่อนจ้อนมายาวนานเกือบล้านปี

แม้จะไม่ใช่คนแรกที่คิดถึงปัญหานี้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า และอัลกอริธึ่มในการคำนวณที่อัปเดตแล้ว เดวิดเชื่อว่าเขาน่าจะทำได้ดีกว่างานของมาร์ก

เดวิดเริ่มเก็บข้อมูลและติดตามศึกษาพันธุกรรมของเหาร่างกายอย่างละเอียด และพบว่าที่จริงแล้ว มนุษย์น่าจะเลิกอยู่ในสังคมนิยมเปลือยกายกันตั้งแต่ 170,000 ปีที่แล้ว ซึ่งน่าสนใจ เพราะแม้จะมาก่อนที่มาร์กทำนายไว้ถึง 70,000 ปี แต่ก็ยังถือว่านานมากอยู่ดี ถ้าเทียบกับเวลาที่บรรพบุรุษของมนุษย์สูญเสียขนที่ปกคลุมร่างกายไป

แต่ถ้ามองอีกแง่ ในยุคนั้น เสื้อผ้าน่าจะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่พลิกโฉมโลก ไม่แพ้การควบคุมไฟ และการใช้เครื่องมือ เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์เริ่มที่จะสร้างเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาเพื่อให้สามารถทนอยู่รอดได้ในยุคน้ำแข็งที่หนาวเหน็บ

และเป็นไปได้อีกเช่นกันว่านวัตกรรมการใส่เสื้อผ้าอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บรรพบุรุษของมนุษย์นั้นประสบความสำเร็จในการเดินทางอพยพออกจากแอฟริกาเมื่อราวๆ แสนปีก่อนและสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวแห่งการศึกษาเหานี้น่าสนใจ เพราะมันสอนให้รู้ว่าทุกอย่างนั้นจะดีหรือร้าย ขึ้นกับมุมมอง เพราะแม้แต่ “เหา” ปรสิตตัวจ้อยที่คอยสร้างความรำคาญใจ ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้เราสามารถไขปริศนาแห่งอดีตของมวลมนุษยชาติได้ก็เป็นได้

เรื่องราวของเหานั้นยังไม่จบ รอพบกันสัปดาห์หน้าครับ