สิ่งล่อใจและกับดักเป็นทาส ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

สิ่งล่อใจและกับดักเป็นทาส

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

“…ชายชาวไต้หวันอายุ 35 ปีต้องการงานที่ช่วยพ่อแม่ของเขา หลังจากพ่อล้มป่วยเนื่องจากอาการช๊อกหมดสติ…”

ชายชาวไต้หวันคนนี้ชื่อ Weibin เขาบินไปพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชา เขาพบชายหลายคน พวกเขานำตัว Weibin ไปตึกที่หน้าตาไม่อาจอธิบายได้ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่โรงแรมหรูแน่นอนแบบที่เห็นในโฆษณาจากเอเย่นต์หางาน

พาสปอร์ตของเขาถูกเก็บเอาไป เขาถูกพาตัวไปอยู่ห้องเล็กๆ ชายคนหนึ่งพูดกับเขาว่า คุณไม่สามารถออกไปจากบริเวณนี้ได้เลย

Weibin เล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า ผมรู้ว่า ผมมาผิดที่แล้ว นี่เป็นสถานการณ์อันตรายมาก

Weibin คือหนึ่งในคนงานหลายพันคนที่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาตกอยู่ในมือกลุ่มค้ามนุษย์ ที่หลอกลวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การล่อใจด้วยสัญญาทำงานง่ายๆ และผลประโยชน์แสนฟุ่มเฟื่อย ใช้เล่ห์เหลี่ยมมากมายให้พวกเขาเดินทางไปกัมพูชา เมียนมาและไทย

ครั้นเมื่อมาถึง พวกเขาถูกจับเป็น นักโทษ และถูกบังคับให้ทำงานที่ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ รู้กันว่าเป็น โรงงานการโกง (Scam factories)

 

การค้ามนุษย์และความเปลี่ยนแปลง

การค้ามนุษย์เกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นปัญหาและก่อความรำคาญให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้1 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นว่า ตอนนี้เครือข่ายอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไปได้แก่ รูปแบบของเหยื่อแตกต่าง เหยื่อเป้าหมายคือ คนหนุ่มสาว ส่วนมากเป็นเยาวชน พวกเขายังเป็นคนมีการศึกษาดี รู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์ และมักพูดภาษาภูมิภาคได้มากกว่า 1 ภาษา

กลุ่มคนค้ามนุษย์เห็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญ พวกเขาต้องการแรงงานที่มีฝีมือ ที่ใช้ในกิจกรรมอาชญากรรมออนไลน์ ขอบเขตการทำงานทำนับตั้งแต่ หลอกลวงให้หลงรักที่เรียกว่า การเชือดหมู (pig butchering)2 ฉ้อโกงคริปโตฯ ฟอกเงิน และพนันผิดกฎหมาย

ข้อมูลจากเหยื่อชาวเวียดนาม เธอต้องโพสต์เป็นผู้หญิงที่เป็นเพื่อนชาวต่างชาติทางออนไลน์

“…ฉันถูกบังคับให้เป็นเพื่อนสาวของคน 15 คนทุกวัน และชักชวนพวกเขาเล่นพนันออนไลน์ เข้าเว็บไซต์ล็อตเตอรี่ ฉันต้องโน้มน้าวให้คน 5 คนฝากเงินในบัญชีพนันของพวกเขา”

เธอเล่าให้ฟังว่า “…ผู้จัดการบอกฉันว่า ให้ทำงานอย่างเชื่อฟัง อย่าพยายามหนีหรือต่อต้าน หรือฉันอยากถูกทรมาน หลายคนบอกฉันว่า ถ้าพวกเราทำงานไม่ได้ตามเป้า พวกเราจะอดอยาก ไม่ได้กินข้าว กินน้ำ และถูกทุบตี…”

เหยื่อชาวเวียดนามอีก 2 คนถูกทุบตี ทำร้ายด้วยชอร์ตไฟฟ้าและถูกขายต่อไปให้ศูนย์หลอกลวงอื่น คนหนึ่งอายุแค่ 15 ปี ใบหน้าถูกทำให้เสียโฉม เธอลาออกจากโรงเรียน เมื่อเธอกลับบ้านไปแล้ว เพราะอับอายใบหน้าของเธอต่อเพื่อนๆ

พวกเหยื่อจะถูกบังคับให้จ่าย ‘หนี้’ ที่พวกเขาเป็นหนี้ศูนย์หลอกลวง ถ้าพวกเขาต้องการออกไปจากศูนย์หลอกลวง อาจเป็นได้ด้วยวิธีการสุ่มเลือก หรือเสี่ยงถูกขายต่อไปอีกศูนย์ สำหรับคนที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ก็พยายามหนี ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะทำสำเร็จ

ในขณะที่กัมพูชาได้กลายเป็นจุดใหญ่ของศูนย์หลอกลวง หลายๆ ศูนย์หลอกลวงยังมีอยู่ในเมืองชายแดนของไทยและเมียนมา ทั้งหมดมีเจ้าของเป็นชาวจีน หรือไม่ก็เกี่ยวข้องกับคนจีน บริษัทเหล่านี้มักมีเพื่อนทำงานให้กับองค์กรอาชญากรรม (organized crimes) ของชาวจีน

หลายๆ บริษัทมีความสลับซับซ้อน มีหลายๆ ฝ่ายแยกกันทำหน้าที่ เช่น ทำงานด้านไอที การเงิน ฟอกเงิน มีบางบริษัทใหญ่โตมาก เป็นเหมือนบรรษัท (corporation) มีการฝึกอบรมการหลอกลวง มีการทำรายงานความก้าวหน้าของบริษัท มีเป้าการขาย

พวกนี้มีฐานะเป็นบรรษัทระหว่างประเทศ (multinational corporation) ที่มักเป็นพันธมิตรกับแก๊งท้องถิ่นในหลายประเทศที่ทำการหลอกลวง หรือรับสมัครคน

ทางการไต้หวันรายงานว่า มีองค์กรอาชญากรรมท้องถิ่นมากกว่า 40 แห่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ความเปลี่ยนแปลงช่วงโควิด-19

ในขณะที่บริษัทโทรคมนาคมใหญ่จีนมีการหลอกลวงออนไลน์ พนักงานบริษัทปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน มีเหยื่อ เช่น ครู ชาวนา คนงาน นักเรียน พอเกิดโรคระบาดโควิด-19 โรคระบาดเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง นักค้ามนุษย์หลายคนยังมีเป้าหมายอยู่ที่แรงงานชาวจีน แต่รัฐบาลจีนจำกัดการเดินทาง มีการล๊อกดาวปิดเมืองและมีการทำเข้มงวดหลายระดับ มาตรการเหล่านี้ได้ตัดขาดแหล่งที่มาสำคัญของแรงงานที่นำมาใช้ทำการหลอกลวงในศูนย์ของตน นักค้ามนุษย์บางรายจึงเปลี่ยนไปทำงานในประเทศอื่น

แล้วช่างบังเอิญเหลือเกิน มีคนหางานทำในเอเชียมากมายในช่วงที่ภูมิภาคเกิดโรคระบาดใหญ่ เหยื่อที่ถูกหลอกลวงจำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาว

บางคนเรียนจบมหาวิทยาลัยและหางานทำยาก พอพวกเขาเห็นคำสัญญาในออนไลน์ว่า จะได้งานที่เหมาะสมจึงกระโดดเข้าใส่ รีบสมัครงาน แล้วก็ถูกหลอก มารู้ความจริงภายหลังก็สายเสียแล้ว

เมื่อหลายประเทศในเอเชียผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลายตัว ไม่นานนัก นักค้ามนุษย์ค้นพบว่าการทำงานของพวกเขาง่ายขึ้น สิ่งจูงใจที่นำคนเหล่านี้ไปทำงานในโรงงานหลอกลวงทำได้ไม่ยากในรัฐที่ด้อยประสิทธิภาพในการจัดการองค์กรอาชญากรรม

อีกปัจจัยหนึ่งคือ การลงทุนเพิ่มขึ้นของจีนในเอเชียส่วนใหญ่ผ่านข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)3 แล้วยังมาจากความสามารถขององค์กรอาชญากรรมที่ขยายตัวเข้ามา

 

ศูนย์หลอกลวงใหญ่แค่ไหน

ดูบ่อน Shwe Kokko

เมืองเมียวดี เมียนมา

บ่อน Shwe Kokko อยู่ที่เมืองเมียวดี รัฐ Kayin ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา หรืออยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตากของไทย ที่เมียนมาเรียกว่า Thaung Yin River อยู่ทางเหนือราว 20 กิโลเมตรของเมืองเมียวดี

เหตุที่เมืองเมียวดีเป็นฮับ เพราะรัฐบาลเมียนมาเข้าถึงได้ยากและมองว่าเป็นพื้นที่ห่างไกล โครงการมีจีนเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งโครงการ Yatai New City มีการพนันผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ทารุณกรรม และการปฏิบัติการหลอกลวงทางไซเบอร์4

ตอนรัฐบาลกัมพูชาปราบปรามการพนันผิดกฎหมายที่เมืองสีหนุวิวล์ (Sihanoukville) ปี 2019 องค์กรอาชญากรรมจีน และผู้บริหารกาสิโนพบแหล่งใหม่ที่ชายแดนห่างไกลเมียนมา พฤษภาคม 2022 มีคนจีนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายและแรงงานจีนผิดกฎหมายหลายพันคนที่ย้ายจากชนบทมาทำงานที่นี่

บ่อน Shwe Kokko เป็นแหล่งของบรรดาเหยื่อการค้ามนุษญ์จากหลายประเทศ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดียและฟิลิปปินส์ถูกบังคับให้ทำงานในบ่อน Shwe Kokko

ในปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์บริหารโดยองค์กรอาชญากรรมจีน หลอกให้เพ้อฝัน จ่ายเงินดี กันยายน 2022 มีคนอินเดีย 300 คนมาอยู่ที่นั่น

ที่บ่อน Shew Kokko ก่อสร้าง 59 villa มีโรงแรมหรู บ่อนกาสิโน ไนต์คลับ พับ บาร์ ร้านอาหาร ครบวงจร

ส่วนที่ Yatai New City ก็มีบ่อน ไนต์คลับ โรงแรมหรู ร้านอาหารครบวงจรไม่แพ้กัน

Yatai New City ร่วมกับ Chit Lin Myaning Company และ Yatai International Holding Company ทำการบริหารพนันออนไลน์ กิจการนี้เป็นของชาวจีนหนีการจับกุมชื่อ She Zhijiang

นอกจากใหญ่โต หรูหรา เป็นฮับของศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ที่หลอกลวงคนหนุ่มสาวการศึกษาดีจากเอเชีย เขาต้องการแรงงานมีฝีมือพวกนี้มาทำงานผิดกฎหมายทั้งหมด แล้วยังมีเป้าหมายแพร่ขยายการลงทุนไปทั่วโลกอีกด้วย

นับวันกับดักสำหรับทาสสมัยใหม่ซับซ้อนและทรงอิทธิพลข้ามชาติมากขึ้นทุกที

1“The massive phone scam problem vexing China and Taiwan” BBC 22 April 2022.

2Wong Shiying, “The Pig-butchering scam : Con artists who come for your heart and wallet” The Straits Times, 20 February 2022.

3แต่รัฐบาลจีนออกมาปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน

4รัฐบาลทหารเมียนมาเคยขอร้องให้รัฐบาลไทยระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้บ่อนพวกนี้ เพราะเป็นบ่อนที่สร้างรายได้ให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจไทย แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ปฏิเสธ