ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมาในสถานการณ์พิเศษ คือ หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ดังจะเห็นได้จากคำปรารภในส่วนต้นของรัฐธรรมนูญที่ว่า
“การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หา ทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนี่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล”
หากแต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา เนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลายประการกลับเป็นเรื่องการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ
กลไกในรัฐธรรมนูญที่หวังว่าจะเป็นการคลี่คลายความขัดแย้งกลับกลายเป็นการเพิ่มความขัดแย้งและไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาการทางการเมืองที่ก้าวหน้า
การซื้อเสียงยังปรากฏ การเมืองในสภายังคงไม่แตกต่างจากในอดีต
การทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารยังไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์กรอิสระต่างๆ ยังไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของประชาชน
ระบบยุติธรรมในสังคมยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นข้อเสนอในการหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรครวมถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ว่า เมื่อมีอำนาจในการบริหารประเทศ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนด้วยความล่าช้า คล้ายเป็นเรื่องยากเย็น
กี่ด่านหลักที่ต้องกังวล
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก หรือแทบจะไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไข
โดยในมาตรา 256 ได้กำหนดให้การลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม ต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
และหากผ่านด่านหนึ่ง ยังมีด่านสองของการต้องทำประชามติหากเป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับบางประเด็นสำคัญ
และมีด่านสามของศาลรัฐธรรมนูญหากมีคนร้องว่าเนื้อหาการแก้ไขนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
ยิ่งหากเป็นการจัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ว่า
“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
ในกรณีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงเพิ่มด่านของการทำประชามติขึ้นมาอีก 2 ด่านโดยปริยาย
เกือบ 3 เดือนยังไม่ได้คำตอบเรื่องประชามติ
พรรคเพื่อไทยมีนโยบายสำคัญที่หาเสียงไว้คือ จะนำเรื่องการทำประชามติเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกทันที
เมื่อมีการประชุม ครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 มติของ ครม. กลับเป็นการไปแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมาโดยมีกำหนดว่า จะให้มีความชัดเจนในเรื่องการทำประชามติภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2566
แต่ถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตอบใดๆ ชัดเจนในเรื่องประเด็นคำถาม จำนวนครั้ง และกำหนดเวลาที่จะดำเนินการ เหมือนยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อนจะมีข้อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี กลายเป็นข้อครหาว่าเป็นการพยายามยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตัวเองเป็นรัฐบาล หากแก้เสร็จเร็วอาจมีกระแสเรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ภายใต้ระบบที่ออกแบบใหม่
สิ่งที่รัฐบาลยืนยัน จึงบอกเพียงแค่ว่า สามารถแก้ไขได้ทันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปใน 4 ปีข้างหน้าเท่านั้น
รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาปากท้อง
ที่ต้องรีบเร่งแก้ไข?
อาจเป็นความคิด ความเชื่อของคนในรัฐบาล และอาจจะตรงกับความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากในประเทศที่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการในช่วงแรกเพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนโดยตรง
ความยากและสลับซับซ้อนในประเด็นกฎหมายที่ยากจะเข้าถึง
กลไกการออกแบบในรัฐธรรมนูญซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปมากี่ครั้ง ประชาชนก็ยังมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม
หรือเห็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ผู้คนยังลำบากในการดำรงชีวิต ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีให้พบเห็นมากมาย
ประชาชนจึงให้ความสำคัญยังนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้อง เช่น การลดราคาน้ำมัน การลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า การรับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และไม่เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องรีบดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ
แก้ยาก ไม่รีบแก้ ถึงเวลาอาจไม่ได้แก้
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนที่มากมายและแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เช่น การทำประชามติ ต้องใช้เวลามากกว่า 4 เดือน การพิจารณาในขั้นของรัฐสภาในแต่ละวาระต้องใช้เวลาไม่น้อย
ยิ่งหากมีกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ต้องใช้เวลาเป็นปี
และยังมีกฎหมายลูกที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับที่ต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องสืบเนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญ
การวางกำหนดการที่ยาวไกลว่า จะให้การแก้รัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก่อนครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลนั้นเป็นการประมาทที่ไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้ครบวาระ
เพราะหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่ กติกาของการเลือกตั้งที่เป็นปัญหา อาทิ
– การที่ผู้สมัครเขตและหมายเลขของพรรคเป็นคนละเบอร์ ก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนที่มาใช้สิทธิ
– ระบบการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กมีความเสียเปรียบจากการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
– การจัดการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสประกาศผลล่าช้าถึง 60 วัน และยังมีเวลาในการพิจารณาใบเหลืองใบแดงหลังการเลือกตั้งไม่จำกัด ทำให้ไม่มีการเร่งรัดเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งให้จบภายในหนึ่งปีนับจากวันเลือกตั้ง
– การที่ ส.ส.สามารถลงมติขัดกับมติพรรค ไม่กลัวการถูกขับออกเพราะสามารถหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วันเพื่อยังคงสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้
– การที่ประชาชนยังขาดอำนาจในการเข้าชื่อกันถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
– การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และองค์กรอิสระ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามถึงการทำงานที่เป็นด้านบวกต่อการปฏิรูปทางการเมืองและการปฏิรูปประเทศ
– ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติที่ยังค้างคาว่าจะเป็นประโยชน์หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการดำเนินการตามนโยบายของพรรคการเมืองที่แถลงต่อประชาชน
– การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น ยังขาดเป้าหมายและรูปธรรมของการดำเนินการอย่างแท้จริง
– หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่ยังถูกจำกัด
– ฯลฯ
พอถึงวันเลือกตั้งจริงที่มาถึงเร็วกว่าที่คาด อย่ามาเสียดายว่า วันนั้นมีอำนาจแต่ไม่รู้จักรีบเร่งแก้ไข
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022