‘ณัฐวุฒิ’ แนะ ‘พท.-กก.’ จับมือดัน ‘นิรโทษกรรม’ ย้ำจุดยืน ต้องล้าง ‘คดี 112’ ด้วย

หมายเหตุ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำคนเสื้อแดง อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “The Politics” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ในประเด็นที่พรรคก้าวไกลกำลังขอเสียงสนับสนุนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมเสนอแนะพรรคเพื่อไทยว่าควรมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว

 

คําว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สำหรับพรรคเพื่อไทยมันเป็นของแสลง เพราะว่าเคยถึงขนาดถูกรัฐประหาร แล้วก็ถูกกระทำต่างๆ นานามากมาย ดังนั้น ถ้าจะไปสังเกตดูตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ในทุกเวทีของพรรคเพื่อไทยจะไม่มีการพูดเรื่องนี้ เพราะพูดเรื่องนี้แล้วเหมือนเข้า “คิลลิ่งโซน” ถูกเอาไปขยายผล ทั้งภาพอดีต และก็ถูกไปป้ายสี ทั้งภาพในอนาคต ว่ามาแล้วก็จะทำอย่างเดิม

ทั้งๆ ที่สารตั้งต้นของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (2556) ก็คือการที่จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ผู้ต้องคดีความจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งในเวลานั้น ก็นับตั้งแต่ช่วงพันธมิตรฯ เคลื่อนไหว จนถึง พ.ร.บ. บังคับใช้ ถ้าผ่าน (สภา)

แต่เวลานี้ เหตุการณ์เดินมาร่วมสิบปี แล้วยังเกิดอะไรขึ้นอีกมาก ซับซ้อนกว่าอีกเยอะ จำนวนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ ก็มีมากขึ้น แล้วเงื่อนไขทางความคิดก็ซับซ้อนขึ้น

เพราะว่าต่อให้ตัดเอาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นออกไป ต่อให้ตัดเอาความผิดอันถึงแก่ชีวิตออกไป ความผิดหรือคดีความอันเกิดขึ้นจากแรงจูงใจหรือความขัดแย้งทางการเมือง คนหลายส่วนในสังคมก็นิยามไม่ตรงกัน เข้าใจไม่ตรงกัน

ดังนั้น ในทรรศนะส่วนตัวผม ผมเห็นด้วยในหลักการ เรื่องการนิรโทษกรรมทุกคนทุกฝ่ายทุกพรรคทางการเมือง แล้วผมพูดชัดมาตลอด บนเวทีที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อาทิตย์ที่แล้วก็พูดว่า ต้องทุกคดีความด้วย ทุกข้อกล่าวหาด้วย ยกเว้นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น แล้วก็เรื่องความผิดอันถึงแก่ชีวิต

ความเห็นผมก็คือว่า เมื่อเหตุการณ์มาถึงตรงนี้ เงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยน เกิดการจับขั้วตั้งรัฐบาล ที่ทำให้เส้นแบ่งของฝักฝ่ายในประเทศพร่าเลือนไป เวลานี้พูดยากแล้ว อันไหนแดง อันไหนเหลือง อันไหนเขียว อันไหนนกหวีด อันไหนตีนตบมือตบ เริ่มอธิบายเส้นแบ่งแบบนั้นยากขึ้น ทั้งๆ ที่ในใจของแต่ละคนยังมีอยู่

ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ก็ควรจะเดินต่อไปจนถึงขั้นปลดเปลื้องพันธนาการทางคดีความให้กับคนทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเงื่อนไขแบบนี้ไม่เคยมี เกือบยี่สิบปีที่สู้กันมา

ทีนี้ พอเกิดเงื่อนไขทางอำนาจแบบนี้ อำนาจที่เกิดเช่นนี้ควรที่จะตั้งเข็มมุ่ง ในการที่จะทำให้คนทุกฝ่ายกลับคืนสู่จุดเริ่มต้น ปลอดจากคดีความทั้งหลาย แล้วตั้งหลักกันใหม่ นำพาสังคมไทยเดินหน้ากันต่อ

ผมจึงเห็นว่าพรรครัฐบาลควรจะมีร่าง (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ประกบ ท่านจะร่างออกมาอย่างไร ใดๆ ก็ตามแหละ แต่โดยท่าทีก็คือเห็นด้วยในหลักการ ที่จะให้มีกฎหมายฉบับนี้

เนื้อหาสาระที่เห็นต่างกัน เข้าใจได้ แต่อย่าทำให้เป็นความขัดแย้งใหม่อย่างที่เขาพูดกัน ก็คุยกันดีๆ นี่แหละ คุยกันด้วยเหตุด้วยผล

ในช่วงเวลาที่สมัยประชุมยังไม่เปิด แม้ว่าอีกไม่กี่วันก็จะเปิดนี่นะ คุยกันนอกรอบ คุยกันในรอบ คุยกันได้ คนการเมือง ห่วงตรงไหน กังวลตรงไหน แล้วเปิดสมัยประชุม จับมือเดินด้วยกันให้ประชาชนแลเห็น แล้วก็มอบสิ่งนี้ให้กับประชาชนทุกฝ่าย

 

สําหรับผม ผมเห็นว่าความผิดอันเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมในคราวเดียวกันนี้เสียด้วย

หลักคิดผมก็คือถ้าเรานิรโทษกรรมความผิดฐานอื่นๆ อันเกิดจากความเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วยังคงยกเว้น (ไม่นิรโทษฯ) ความผิดตามมาตรา 112 เอาไว้เพียงมาตราเดียว คนก้อนใหญ่ที่สุดที่จะอยู่ในวงนี้ ก็คือเด็กหนุ่มเด็กสาว ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปี 2562 เรื่อยมาถึง 2563 จนถึงปัจจุบัน นั่นหมายถึงคนยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเลย

ทีนี้ ผมสู้มาสิบกว่าปี เกือบยี่สิบปี ณ เวลาปัจจุบัน ผมยังต้องสู้คดีปี 2551-2552 อยู่เลย นึกออกไหม ดังนั้น ลูกๆ หลานๆ ที่ต้องคดีตั้งแต่ปี 2562-2563 บางคน 20-30-40 คดี บางคนอาจจะเลย 50 คดี วันนี้พวกเขาอายุ 20 กลางๆ อาจจะสู้กันไปจนถึงอายุ 60 ปี

สังคมจะเกิดสภาพไหน? จะเกิดสภาพว่าปล่อยให้คนยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเผชิญหน้ากับกฎหมายบางมาตราต่อเนื่องยาวนานไป 30-40 ปีจากนี้ ผมว่าไม่เป็นผลดีกับใคร และไม่เป็นผลดีกับอะไรเลย

มิสู้ว่าเปิดโอกาสให้กับทุกคน ใช้ความเมตตาของผู้มีอำนาจนี่แหละเป็นตัวตั้ง เอาลูกเอาหลานออกจากคุก ที่ไปต่างประเทศก็เปิดประตูประเทศให้ กลับ-ไม่กลับก็ให้เป็นเสรีภาพของชีวิตเขา แต่บอกว่า เอาล่ะ เรากลับมาตั้งต้นกันใหม่

คือรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีนี่ เข้าใจนะ ผมตอนเด็กๆ โตมา แม่ก็ตีหลายหน และผมก็รักแม่ผม แต่ถามว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเอาลูกเอาหลานไปขังไปตีกี่คนกี่ครั้งกี่รอบแล้ว และเพียงพอหรือยังที่จะใช้วิธีการแบบนั้น

แล้วถ้าผมสังเกต น้องๆ ที่เขาเคลื่อนไหว 3-4 ปีที่ผ่านมา เขาก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ เขาก็เกิดประสบการณ์ เขาเห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น และพบเจอกับอะไรมากขึ้น อาจจะถึงเวลาตั้งหลักกันใหม่จริงๆ แล้วก็ได้

 

พอพูดแบบนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่า หมายความว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลยใช่ไหม? กฎหมายไม่เป็นกฎหมายสิ ต่อไปนี้ ถ้านิรโทษฯ กันหมด ใครจะทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ ใช่ไหม? ไม่ใช่สิ

ตั้งต้นกันใหม่ แล้วก็ให้มีคณะกรรมการหรือผู้รู้อะไรก็ตามเถอะ มาดูการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ให้ชอบด้วยหลักนิติธรรม อย่าให้ถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการหาประโยชน์หรือทำลายใครๆ ได้อีก ผมว่าเอากันแบบนี้ บ้านเมืองจะไปได้

ทีนี้ คนที่ได้รับโอกาสแล้ว สมมุติมี 10-20 คดี 3 คดี 5 คดีก็ตาม ถ้าจะต้องมีเงื่อนไขอะไรเพิ่ม เช่น ถ้าต่อไปเกิดถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน ผ่านกระบวนการที่เขาคัดกรองแล้วนะ มีหน่วยงานอะไรก็ตามเถอะมาดูให้ชอบด้วยหลักนิติธรรมแล้ว อาจจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนี้อย่างไร

ที่ผมพยายามพูดเพราะเข้าใจว่ามันละเอียดอ่อน เข้าใจว่าคุยกันไม่ดีอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ได้จริง แต่ผมไม่พูดไม่ได้ คือผมจะเสิร์ฟอาหารอยู่ โดยที่เรื่องแบบนี้ผมไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ผม

ผมออกมาจากเรือนจำรอบล่าสุด ผมแถลงข่าวในวันที่ผมปลดกำไลอีเอ็ม ผมก็พูดชัดว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่เรียกหาคนเสื้อแดงกลางถนน เป็นเด็กที่ทำให้คนเสื้อแดงกลับมามีภาพลักษณ์ที่แจ่มชัดต่อสายตาคนในยุคปัจจุบัน คนในยุคใหม่ ได้อีกครั้ง

พวกเขาเข้าไปในเรือนจำ ผมแบกข้าว แบกน้ำ เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยให้ ผมออกมาข้างนอก ผมก็บอกว่าอย่างไรผมก็ทิ้งคนพวกนี้ไม่ได้ แล้วสิ่งที่ผมพยายามทำ ก็ยืนยันสิ่งที่ผมพูด

คือคนที่ไม่เห็นด้วย (กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล) ไม่ได้มีแต่ฝ่ายรัฐบาลนะ พรรคฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วย คุณเห็นไหม? ซับซ้อนมาก เพราะประชาธิปัตย์เขาก็ไม่เอา

ดังนั้น ผมว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลลองคุยกันดีๆ แล้วไม่ต้องคุยกันออกทีวี ค่อยๆ เอาเหตุเอาผลมาว่ากัน รับฟังกันมากๆ เข้าใจกันมากๆ คิดถึงอนาคตของบ้านเมืองมากๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาคุยกัน อย่าปล่อยมือเด็ก อย่าปล่อยมือลูกหลานที่เขากำลังประสบชะตากรรมอยู่ในปัจจุบัน