คนด้อยทางเลือก

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้มีหนังไทย 2 เรื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่งฉายในโรงภาพยนตร์ชื่อ “Red Life” ส่วนอีกเรื่องหนึ่งดูได้ทาง Netflix ชื่อเรื่อง “Doi Boy”

ทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกันตรงที่พูดถึง “คนด้อยทางเลือก” ในขณะที่ “Red Life” พูดถึงคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร แต่ “Doi Boy” พูดถึงคนชายขอบที่มาสู้ชีวิตในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตัวละครในเรื่องล้วนถูกโครงสร้างของสังคมกระทำต่อชีวิตพวกเขาทั้งสิ้น

“Red Life” มีตัวละครหลักอยู่สองคนคือ “เต๋อ” และ “ส้ม” หนังไม่ได้เล่าถึงครอบครัวหรือที่มาของเต๋อ รู้เพียงว่าเด็กหนุ่มอย่างเขาใช้ชีวิตและหากินอยู่แถววงเวียน 22 กรกฎา และย่านหัวลำโพง

เงินที่เต๋อหามานั้นมาจากการปล้นเขามา โดยรวมกลุ่มกับคนอื่นในการทำร้ายคนและแย่งชิงทรัพย์สินมาแบ่งกัน เหยื่อก็เป็นคนที่เดินทางมาที่หัวลำโพง หรือคนที่เดินผ่านไปมาในแถบนั้น

ถามว่าเต๋อมีทางเลือกที่จะไม่ทำอย่างนั้นได้ไหม?

เขาเป็นคนประเภทปากกัดตีนถีบในสังคม เคยใช้แรงงานรับจ้างขนของซึ่งไม่ได้มีให้ทำทุกวัน และเงินก็น้อยนิด เมื่อเทียบกับการต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็แสนลำบาก เชื่อได้ว่าเขาคงไม่มีความรู้อะไรจะไปทำมาหากินดีๆ ได้เรียนถึงระดับไหนก็ยังไม่รู้

หนทางเดียวคือ “ใช้กำลัง” อยู่ที่ว่าจะใช้กำลังรับจ้างทำงาน หรือจะใช้กำลังไปปล้นเขามา

เขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ในสลัมกับแฟนสาวที่ชื่อ “มายด์” ที่ขายร่างกายหาเลี้ยงตัวเอง ได้ค่าตัวเป็นหลักร้อยต่อครั้ง แม้เต๋อจะไม่อยากให้มายด์ไปทำงานอย่างนั้น แต่เขาก็หาเลี้ยงเธอไม่ได้

สำหรับเต๋อ มายด์คือคนคนเดียวในชีวิตของเขา ซึ่งจู่ๆ มายด์ก็ลากเขาไปจดทะเบียนสมรส นั่นยิ่งทำให้ชีวิตของเขามีข้อผูกมัดที่ทำให้เขาต้องดิ้นรนมากขึ้น ในขณะที่ทางเลือกก็ไม่มีเอาเสียเลย

เรายังได้รู้จักแบ๊กกราวด์ชีวิตของมายด์อยู่บ้าง เมื่อเธอพาเต๋อไปเยี่ยมพ่อที่ติดคุก เธอรู้สึกขมขื่นที่พ่อทิ้งให้เธอต้องผจญกับโลกเพียงลำพัง เพราะโดนจับในข้อหาค้ายาเสพติด

คำหนึ่งของพ่อคือ “ถ้ากูมีทางเลือกกูก็คงไม่ทำ”

ในหนังจะได้เห็นฉากหนึ่งที่เต๋อกับส้มเดินสวนกันในซอกทางเดินแคบๆ เต๋อออกไปล่าเหยื่อ ในขณะที่ส้มกำลังไปเรียนหนังสือ ชีวิตของเด็กสาวอย่างส้มดูจะมีทางเลือกที่ดีเพราะยังได้รับการศึกษา แต่แบ๊กกราวด์ของเธอที่มีแม่เป็นโสเภณีใช้ร่างกายหาเงินมาส่งเธอเรียนกลับทำให้เธอเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้ และรู้สึกแย่ที่มีแม่อย่างนี้ จนถึงกับเอ่ยปากว่า

“ตอนถึงบ้าน ต้องคอยกลัวว่าจะเปิดประตูเข้าไปเจอแม่นอนกับใครอยู่หรือเปล่า”

เด็กเปลี่ยวเหงาอย่างส้ม เมื่อมีรุ่นพี่สาวสวยดูดีมีฐานะอย่าง “พีช” มาสนิทสนมและให้ความสำคัญด้วย ส้มจึงหลงไปกับโลกใหม่ที่ได้รับ จนเกิดทะเลาะกับแม่ถึงขั้นระเบิดคำพูดออกมาว่า

“เมื่อไหร่แม่จะออกไปจากชีวิตหนูซะที”

หนังพาตัวละครสองตัวเจอทางตันมากขึ้น หลังจากที่เต๋อต้องติดคุกอยู่สองเดือนอันเป็นผลจากการกระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบของหนุ่มเลือดร้อนอย่างเขา

เมื่อออกมาก็พบว่ามายด์มีคนใหม่ที่เป็นคนในแก๊งของเขาเอง

เขายังคิดจริงจังกับเธอและจะแย่งมายด์กลับมา จึงคิดการใหญ่ชวนเพื่อนคนนั้นไปงัดบ้านที่เป็นตึกแถวขนาดใหญ่ของเฮียคนหนึ่งในย่านนั้น เพื่อหาทองที่เฮียซ่อนไว้ แลกกับการที่เพื่อนต้องเลิกยุ่งกับมายด์อีกต่อไป

แต่เรื่องจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นเมื่อมีการตายเกิดขึ้น

ในขณะที่ส้ม สุดท้ายก็พบว่าทุกอย่างระหว่างตนกับพีชเป็นเพียงภาพลวงตาที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่เหลืออะไรให้เธอเลยนอกจากความเจ็บช้ำ จากการถูกหลอกและหักหลัง

สุดท้ายเธอก็สูญเสียทุกอย่างแม้แต่กับคนที่เธอพยายามกลับไปหาคือแม่ของตัวเอง

เราจะได้เห็นวิถีการดิ้นรนเอาตัวรอดของชีวิตในกรุงเทพฯ ที่เหมือนจะไม่เอื้อต่อคนชั้นล่างเสียเลย ที่หากินไปวันๆ เพื่อความอยู่รอด ไม่รู้อนาคตแม้แต่มื้อพรุ่งนี้ว่าจะกินอะไร สุดท้ายก็พัวพันอยู่แต่กับสิ่งเลวร้ายอย่างยาเสพติด การฉกชิงวิ่งราวไปจนถึงปล้นฆ่า และการขายร่างกายแลกกับเงินและความฟุ้งเฟ้อ

ส่วนชีวิตอย่าง “ศร” ใน “Doi Boy” ก็เป็นอีกการดิ้นรนหนึ่ง จากการเป็นคนไทใหญ่ที่เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ในพม่า และได้หนีข้ามพรมแดนมาเสี่ยงโชคในประเทศไทย

เราได้รู้จักชีวิตของศรพอประมาณ เขาบวชเป็นพระอยู่ในวัดดีๆ ก็ถูกกองทหารไทใหญ่มาหาถึงวัด บังคับให้เขาและพระรูปอื่นสึกออกไปเป็นทหารเพื่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล

ถามว่าเขามีทางเลือกไหม?…คำตอบคือไม่มี

เมื่อเป็นทหารที่ไม่รู้อนาคตตัวเอง ศรจึงคิดหนีมาตายเอาดาบหน้าในเมืองไทย เขากับเพื่อนได้หลบข้ามแดนมาที่เชียงใหม่ และจากคำบอกเล่าที่บอกต่อๆ กันมา งานที่มีรายได้ดีคือการเป็น “เด็กขายบริการ” ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะทำ

ตัวละครอย่างศรดูจะขาดทางเลือกมากกว่าเต๋อใน “Red Life” เสียอีก เพราะคนต่างด้าวที่หนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ง่ายในการหางานทำ และต้องคอยหลบตำรวจที่จ้องจะรีดไถคนอย่างพวกเขา รวมทั้งถูกเอาเปรียบจากขบวนการนายหน้าที่หากินจากแรงงานต่างด้าวอย่างศรและเพื่อน

และจากงานบริการที่บาร์ ศรก็ได้พัวพันกับตำรวจคนหนึ่งคือ “จิ” ที่โดนกระทำจากโครงสร้างของอำนาจในสายตำรวจและนายทุน บีบให้เขาทำงานที่ไม่อยากจะทำเลย คือ “การทำให้คนสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย”

และคนเหล่านั้นก็คือคนธรรมดาที่ถูกกดขี่ รังแก จนต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคม และได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่กุมความไม่ยุติธรรมนั้นจากการเดินขบวนต่อสู้

เรื่องพัวพันมาถึงตัวละครที่น่าสนใจอย่าง “วุธ” ที่เป็นชายรักชาย และเขาสูญเสียคนรักไปกับกระบวนการร้ายๆ นี้โดยฝีมือของจิ เมื่อวุธและพรรคพวกออกมาต่อสู้เพื่อทวงถามถึงการหายตัวไปของคนรักและเหยื่อคนอื่นๆ เขาก็ตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป

จิ รู้สึกไม่ดีมาตลอดกับสิ่งที่เขาทำและอยากวางมือ แต่ตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างเขามีหรือจะมีทางเลือก ในที่สุดเขาได้ตัดสินใจที่จะไม่ฆ่าวุธ แต่จะพาหลบหนีไปซ่อนตัวในฝั่งพม่า ซึ่งเขาได้ให้ศรเป็นคนนำทางไป แม้ศรจะไม่อยากกลับไปบ้านเกิดก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาประเทศไทยอีกไหม และที่นั่นจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะเขาได้หนีกองทัพมา

นี่คือการบรรจบกันของคนด้อยทางเลือกสามคน สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ได้รับคำตอบเป็นความคลุมเครือของความยุติธรรมในสังคมต่อไป

ด้วยระบอบและโครงสร้างสังคม ทำให้เสียงของพวกเขาไม่มีความหมายใดๆ คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาเหมือนไม่มีตัวตนในสังคม สะท้อนออกมาจากประโยคของวุธที่บอกว่า

“ถ้ามีชีวิตอยู่โดยไม่สามารถพูดความจริงได้จะมีประโยชน์อะไร”

หรือจากคำพูดของแฟนคนไทยของศรที่บอกกับเพื่อนว่า “จะไปแจ้งความเรื่องศรหายตัวไปทำไม คนต่างด้าวอย่างศรทางการเขาไม่เสียเวลาด้วยหรอก”

เมื่อดูหนังทั้งสองเรื่องจบลง เราจะยังคงเคว้งๆ อยู่ในหัวว่าแล้วชีวิตของพวกเขาจะดำเนินต่อไปอย่างไร ไม่ว่าเด็กหนุ่มอย่างเต๋อ หรือเด็กสาวรุ่นอย่างส้มที่ความเป็นครอบครัวอันเป็นสิ่งมีค่าสิ่งเดียวที่พวกเขามีได้พังทลายลง

เดิมทีก็ไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบและมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเขาทั้งสองก็ไม่เหลือใครอีกเลย และยังต้องผจญกับสังคมของเมืองใหญ่ที่โหดร้ายต่อไปเพียงลำพัง

ส่วนศรต้องเดินย้อนเส้นทางที่เขาเคยผ่านมาแล้ว คือข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยอีกครั้งที่ไม่รู้เหมือนกันว่า คราวนี้ชีวิตจะดีกว่าเดิมหรือไม่ และข้างหน้าจะมีอะไรที่เลวร้ายรอเขาอยู่ ส่วนวุธที่จำต้องบวชเป็นพระไทใหญ่ในพม่า ก็ไม่รู้เลยว่าเขาต้องหลบซ่อนตัวอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน และอนาคตข้างหน้าทั้งของตัวเอง และบ้านเกิดคือประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ส่วนตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างจินั้น เขาเคยพรากชีวิตคนอื่นให้เป็นผู้สูญหาย สุดท้ายเขาก็ได้ถูกอำนาจลับทำให้กลายเป็น “ผู้สูญหาย” เข้าให้แล้ว

แม้เขาจะหายไป แต่ความเหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรมของสังคมยังคงดำรงอยู่จริงต่อไป

สําหรับงานด้านการสร้างและการนำเสนอของหนังทั้งสองเรื่องนั้นต่างกันอย่างมาก “Red Life” มีงานสร้างที่ฉูดฉาด ด้วยกล้องและมุมภาพแปลกตา การตัดต่อฉับไว ประกอบกับดนตรีที่เร่งเร้าอารมณ์ตลอดเรื่อง

บวกกับการนำเสนอที่ไว มีไดนามิก ทำให้โทนของหนังร้อนแรงเป็นสีแดงเหมือนชื่อหนัง แต่แฝงไว้ด้วยความหม่นหมองในบริบทของเรื่องอยู่ในที

ส่วน “Doi Boy” นั้น เลือกที่จะเดินเรื่องอย่างนุ่มนวลกว่า ภาพไม่ได้หวือหวา หากการเดินเรื่องในหลายฉากกลับทอดนิ่งไปเรื่อยๆ เหมือนจะให้ผู้ชมได้เล่นกับอารมณ์ของตัวละคร แม้แต่ดนตรีเสริมอารมณ์ยังไม่มี รวมทั้งการตัดต่อที่บางฉากสามารถจะนำพาผู้ชมให้ลุ้นและตึงเครียดได้กว่านั้น แต่ก็ได้เพียงอารมณ์กลางๆ เท่านั้น

เข้าใจว่านี่น่าจะเป็นสไตล์ของหนังที่ผู้กำกับการแสดงเลือก

ที่น่าชื่นชมคือการแสดงจากนักแสดงทั้งสองเรื่อง ที่สวมชีวิตของตัวละครนั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจ และทำให้เราเชื่อในบทที่พวกเขาแสดง

หลายคนพลิกบทบาทไปจากที่เราเคยเห็น และก็ทำได้อย่างดี

ไม่ว่าจะเป็น “แบงค์ ธิติ” ที่ต้องรับบทดราม่าหนักๆ กับตัวละครเต๋อ เขาต้องลดน้ำหนักลงเพื่อให้ซูบผอมและดูโทรมตามแคแร็กเตอร์ตัวละคร แววตาของแบงค์ที่แสดงออกมาบ่งบอกถึงพัฒนาการในการแสดงที่มี

ส่วน “อัด อวัช” ในบทศร ก็ทำให้เชื่อว่าเขาเป็นคนไทใหญ่ได้จากการพูดภาษาไทใหญ่ที่เป็นธรรมชาติ

การเล่นกับอารมณ์ที่ซับซ้อน นิ่งๆ ไม่มากเกินไป แต่ก็ชวนให้น่าติดตาม

ที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ “เอม ภูมิภัทร” คอหนังไทยคงได้ชมฝีมือการแสดงของเขาในหลายบทบาทมาแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่เขารับบทชายรักชาย ที่เอมสามารถแสดงออกมาได้อย่างดี ในร่างผู้ชายของเขาเราเห็นถึงความอ่อนหวานแบบผู้หญิง การพูดจาและท่วงท่าที่บ่งบอกถึงรสนิยมของตัวละคร แต่ไม่โอเวอร์หรือจงใจเกินไป เอมสามารถเล่นได้แบบธรรมชาติมากๆ โดยเฉพาะการใช้น้ำเสียงของเขาที่ต้องขอชื่นชม

ส่วน “เป้ อารักษ์” ในบทจินั้นมากฝีมือด้วยประสบการณ์อยู่แล้ว ครั้งนี้เขาเล่นเป็นนายตำรวจที่เหมือนมีสองโลกคือมีภรรยาที่บ้านและมีศรในบาร์ Doi Boy เป้ใช้การแสดงที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่แข็งกร้าวแบบคนเป็นตำรวจ จะพูดจะจาก็ลุ่มลึกอยู่ในที

และที่สำคัญคือการสื่อสารด้วยดวงตาของเขาทำได้ยอดเยี่ยมมาก

สิ่งที่น่าเสียดายจากสองเรื่องนี้คือ “ความลึกของตัวละคร” ที่ไม่รู้ว่าตั้งใจให้เป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะในฐานะผู้ชมแล้วเราอยากรู้จักตัวละครเหล่านี้ให้มากกว่านี้ ลึกกว่านี้ จะได้เข้าใจเหตุผลและการกระทำของพวกเขามากขึ้น

หรือผู้กำกับฯ อยากให้เรารู้จักแบบคนนอกมองเข้ามา ไม่ต้องลึกและอินไปกับพวกเขาเกินไป ทั้งๆ ที่หากเพิ่มตรงส่วนนี้ได้อีกหน่อย จะทำให้รสชาติการติดตามชมสมบูรณ์ขึ้น มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น และจะรักตัวละครได้มากกว่านี้

นานๆ จะมีหนังไทยที่นำเสนอในโทนใหม่ๆ ด้วยประเด็นเรื่องแรงๆ อย่างนี้ จึงขอเอาใจช่วยและชื่นชมกับผู้กำกับฯ คือ “เอกลักญ กรรณสรณ์” จาก “Red Life” และ “นนทวัฒน์ นำเบญจพล” จาก “Doi Boy” ด้วย

รอชมงานดีๆ ต่อๆ ไปของทั้งสองอยู่นะครับ อย่าด้อยโอกาสในการได้รับชมของผมเลย ขอร้อง •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์