คุยกับ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ ‘ประชาธิปัตย์’ จะแตก จริงหรือ?

หมายเหตุ “เดชอิศม์ ขาวทอง” (นายกชาย) รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.สงขลา ให้สัมภาษณ์กับรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ถึงสถานการณ์ภายในพรรค ก่อนจะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่รอบที่สาม ในเดือนธันวาคม

 

: ประชุมกันมาสองรอบแล้ว ยังไม่มีหัวหน้า-เลขาธิการพรรค เกิดสถานการณ์อะไรขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์?

ต้องยอมรับว่าในพรรคประชาธิปัตย์มีสองกลุ่มแนวคิด

แนวคิดที่หนึ่งอาจจะเป็นแนวคิดของผู้อาวุโส เขามีความเชื่อว่าประชาธิปัตย์ถ้าจะไปต่อ ต้องอยู่ฝ่ายค้านเท่านั้น นั่นคือความเชื่อของเขา เขาก็เลยมีความรู้สึกระแวงว่า ถ้าอีกกลุ่มหนึ่งมาเป็นกรรมการบริหาร เกรงว่าจะไปร่วมรัฐบาล

แต่อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่คิดอยากจะร่วมรัฐบาลอย่างเดียว เป็นฝ่ายค้านก็ได้ เป็นรัฐบาลก็ได้ แต่อยากให้มันเดินตามครรลองของพรรค ภายใต้ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ อย่าไปกึ๊กอย่าไปกั๊ก ให้มันไปตามวัฏจักรของมัน

อย่าไประแวง อย่าไปสงสัย เพราะการร่วมรัฐบาลมันไม่ใช่คนใดคนหนึ่งตัดสินได้ มันก็ยังเหมือนเดิม มันเป็นเรื่องของการประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส. อยู่ดี ไม่ว่าชุดไหนจะเข้ามา ก็ต้องผ่านขั้นตอนนี้อยู่ดี

กลุ่มแรกก็เลยระแวง ทำให้องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง เป็นเจตนาที่จะให้องค์ประชุมล่ม

 

: จากข่าวที่ปรากฏ ดูเหมือนคุณเดชอิศม์อาจจะเป็นหนึ่งในขั้วความขัดแย้งตรงนั้นด้วย เห็นได้จากการมีวิวาทะกับผู้อาวุโสในพรรคผ่านหน้าสื่อ

ผมเป็นคนคิดอะไรก็พูดอย่างนั้น ตรงไปตรงมา แล้ววันนี้ผมมาอยู่บ้านหลังนี้คือประชาธิปัตย์ ผมต้องมีความซื่อสัตย์ต่อพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งไหนที่ไม่เป็นบวกกับพรรคก็ต้องตำหนิ ผมก็ไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมพูดออกไป ไม่ได้เคียดแค้นส่วนตัว หรือเกลียดชังส่วนตัว

กับผู้ใหญ่ ผมรักเคารพนับถือ แต่ความรักความเคารพกับหน้าที่ของผมต้องแยกกันให้ได้ เอามาปนกันไม่ได้ หรือผมอคติใคร แล้วอคตินั้นมาปนกับหน้าที่ของผมก็ไม่ได้อีก ผมมาจากตัวแทนของประชาชน ผมต้องมองประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้มองไปที่คนใดคนหนึ่งเป็นหลัก

ผมก็เลยแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา

 

: ฝั่งนั้นอย่างไรเสียเขาก็ไม่ยอมไปร่วมรัฐบาล แสดงว่าเขากลัวว่าถ้าฝั่งนายกชาย ขึ้นเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด เราจะไปร่วมรัฐบาล

เขากลัวไป ทั้งๆ ที่เรายังให้คำตอบตัวเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการประชุมร่วมกัน เราตัดสินใจไม่ได้ เขาระแวงไป เขาก็ประกาศว่าเขาไม่ร่วมรัฐบาล แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนมากในสมัยหน้า มันมีหลักประกันตรงไหน?

 

: ทำไมเขาถึงมองว่าเราอยากร่วมรัฐบาล?

คือเขากลัว บางคนเขาเคยต่อสู้กันมา บางคนก็เคียดแค้นชิงชังกันมาเมื่อร่วมยี่สิบปีแล้ว แต่นิสัยพวกผม เรื่องส่วนตัวเราแยกออก วันนี้เรารับภาระประชาชนมา สิ่งไหนที่เรากลับไปแก้ปัญหาประชาชนได้ เราต้องจับโอกาสนั้นไว้ แล้วไม่มีหลักประกันใดๆ เลย ที่ว่าอยู่ฝ่ายค้านแล้วจะได้คะแนนมากกว่าเป็นฝ่ายรัฐบาล

 

: มีบทวิเคราะห์ทางการเมืองมองว่า ถ้าประชาธิปัตย์จะไปต่อได้ ควรให้กลุ่มผู้อาวุโสวางมือได้แล้ว

ถ้าพูดว่าควรจะให้เขาวางมือ มันเหมือนรุกล้ำสิทธิเขามากเกินไป แต่ผมขอเปรียบเทียบเป็นตัวผมดีกว่า

ถ้าเป็นผม วันนี้ผมอายุ 59 ปีแล้ว แต่ผมขีดเส้นทางทางการเมืองของผมแล้วหลังจากเลือกตั้งคราวนี้ ด้วยเหตุที่ว่ามี ส.ส.รุ่นใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก แล้วของเรา อาวุโสที่ลงเขตตกเกือบหมด เกือบทุกพรรคการเมือง นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในประเทศไทยเวลานี้ต้องการเด็กหนุ่มสาวขึ้นมาทำงานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผมก็เลยตัดสินใจว่า ชีวิตการเมืองผมอยู่ไม่ครบ (ถึงอายุ) 70 ปีแน่แล้ว ผมต้องถอยมาเป็นพี่เลี้ยง มาเป็นครูให้น้องๆ ถ้าเรายึดมั่นยึดติดอยู่กับตำแหน่ง คิดว่าตัวเองเก่ง ไม่ยอมรับเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ผมว่าประเทศไปไม่ได้

 

: ทางเดินพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ มันจะจบไหมในวันที่ 9 ธันวาคม?

ผมว่าจบ ผมว่าองค์ประชุมสำรองที่สำรองไว้ แทบจะไม่ต้องใช้ ผมเชื่อว่าเขา (อีกฝ่าย) มา จบ เพราะตอนแรก เขากลัวเราจะไปร่วมรัฐบาล วันนี้รัฐบาลก็ไปแล้ว เราไม่ได้ร่วมรัฐบาลแน่นอนแล้ว เขาก็ไม่มีเหตุสงสัยใดๆ อีก ผมคิดว่าองค์ประชุมครบแน่นอน โดยไม่ต้องใช้องค์ประชุมสำรองอีกแล้ว คิดว่าเป็นอย่างนั้น

 

: ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตำแหน่งสำคัญของพรรคจะผสมผสานกันระหว่างสองกลุ่มที่มองต่างกัน หรือจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจพรรคทั้งหมด?

จริงๆ อีกกลุ่มหนึ่ง เขาน่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ นอกจากประธานที่ปรึกษาพรรค เช่น ท่านชวน หลีกภัย ท่านไม่รับตำแหน่งอยู่แล้ว ในกรรมการบริหาร ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านไม่รับอยู่แล้ว ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านไม่รับอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เข้าๆ ไป ก็ถือว่าเป็นพี่ๆ น้องๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ไม่น่าจะแบ่งกลุ่มกันอีกแล้ว ตำแหน่งต่างๆ ก็มาจากในพรรค ส่วนตำแหน่งไหนที่ท่านเห็นว่าไม่เหมาะสม ท่านก็สามารถชี้แจงบอกมาได้ เรายังไม่รู้เลยมีแข่งกันกี่ทีม

 

: ที่ชัดก็น่าจะมี (ทีม) คุณนราพัฒน์ แก้วทอง

ที่ชัดอยู่คนเดียวคือคุณนราพัฒน์ แต่นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว มาวันนี้ เราอาจจะต้องนั่งคุยกันอีกรอบหนึ่ง เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อาจต้องคุยกันแบบมั่นคงแน่นแฟ้นอีกสักรอบหนึ่ง เผื่อตกหล่นหรือเปลี่ยนแปลงบางตำแหน่ง หรืออาจจะมีอีกทีมหนึ่งมา ยังไม่เป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์

 

: สเป๊กหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

จริงๆ ก่อนหน้าที่จะไปเชิญคุณนราพัฒน์ เราอยากได้คนรุ่นใหม่ ตอนแรกผมให้ไปคุยกับผู้ใหญ่ ขอยกเว้นข้อบังคับพรรค ให้คนรุ่นใหม่ที่มาอยู่กับพรรค ที่เรามั่นใจว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของประชาธิปัตย์แล้ว ถึงแม้ว่าอยู่ (เป็นสมาชิก) ไม่ครบ 5 ปี ขอยกเว้น (ให้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค) ได้ไหม?

เช่น ยกเว้นให้มาดามเดียร์ (วทันยา บุนนาค) ดร.เอ้ (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) หรือยกเว้นให้ใครๆ ที่เข้ามาอยู่ประชาธิปัตย์ ที่เรามองว่าสามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่เราถูกปฏิเสธมาแล้ว เราก็เลยไปเอาคุณนราพัฒน์

แต่คุณนราพัฒน์เขาก็บอกว่า จะมาอยู่สักปี มาแก้ไขข้อบังคับ เปิดทางให้คนนอกเข้าพรรคได้ง่ายขึ้น แล้วหลังจากนั้น เขาจะลาออก แล้วถึงจะเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นั่นที่วางไว้ตอนแรก

 

: ถ้าเกิดฝั่งคุณเดชอิศม์ชนะ อนาคตของประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร?

วันนี้เราเป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องค้านทุกเรื่อง สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่ดีกับประชาชน เราก็ยกมือสนับสนุน แต่สิ่งไหนที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ค้านสุดเหวี่ยงเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมไม่เห็นด้วยที่จะค้านทุกเรื่อง

: ถ้าในอนาคต มีจังหวะที่รัฐบาลต้องการเสียงเพิ่ม และเวลานั้นกรรมการบริหารพรรคเป็นของฝั่งคุณเดชอิศม์แล้ว มีโอกาสไหมที่ประชาธิปัตย์จะขยับจากฝ่ายค้านไปเป็นรัฐบาล?

ทั้งมีโอกาสและไม่มีโอกาส เพราะว่าผมตัดสินใจเองไม่ได้ หนึ่ง ต้องมีเทียบเชิญมา พรรคก็ต้องประชุมร่วมกัน กรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส.ทั้ง 25 คน ต้องมาถกกัน ถ้ามติออกมาว่าไม่ร่วม จบ

ถ้าเกิดมติออกมาว่าเข้าร่วม เราก็ต้องมีเงื่อนไขอีก ว่าประชาธิปัตย์ต้องทำอะไรได้บ้างเพื่อประเทศชาติและประชาชน ให้เป็นดอกไม้ไปประดับแจกันอย่างเดียว ไม่เอา

แล้วก็มีเงื่อนไขว่า สิ่งไหนที่เรารับไม่ได้ เราไม่เอา