เกี่ยวกับ IKEA ในไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เส้นทางธุรกิจกว่าทศวรรษในสังคมไทย ยักษ์ใหญ่แห่งสวีเดน ขยับปรับแผนได้อย่างติดตาม

IKEA เครือข่ายร้านขายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้านแห่งสวีเดน ได้เปิดเครือข่ายสาขาใหม่ในไทย เป็นไปตามโมเดล City-Centre Store ด้วยบทเรียนอ้างอิง “หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการขยายสโตร์ใหม่ของ IKEA ทั่วโลก และประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายเมืองใหญ่ เช่น ปารีส เวียนนา และเซี่ยงไฮ้”

นั่นคือ IKEA สุขุมวิท ในศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางคมนาคมสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ (ย่านสยามสแควร์) เพียง 4 กิโลเมตร ด้วยพื้นที่ให้บริการกว่า 12,000 ตารางเมตร ถือเป็น City-Centre Store แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน และเป็นโครงการแรกของ IKANO GROUP

IKEA ในประเทศไทย ดำเนินการโดย IKANO GROUP ซึ่งเป็น Holding company ของครอบครัว Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้ง IKEA ลงทุน และดำเนินธุรกิจหลายแขนง สำนักงานใหญ่อยู่ที่ Luxemburg มีธุรกิจหนึ่งซึ่งสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ แรกๆ เรียกว่า Retail Asia ต่อมาเปลี่ยนเป็น Ikano Retail “เป็นหนึ่งใน 12 บริษัทซึ่งถือสิทธิ์ดำเนินการ (franchisee) IKEA ทั่วโลก”

ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย IKEA ในหลายประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง ไม่ว่า เกาหลีใต้ จีน และออสเตรเลีย

 

IKANO เริ่มต้นธุรกิจ Ikano Retail โดยเปิด IKEA สาขาแรกที่สิงคโปร์ (ปัจจุบันมี 3 สาขา) เมื่อราว 4 ทศวรรษ จากนั้น (2549) ขยายมายังมาเลเซีย (ปัจจุบันมี 4 สาขา) ตามมาด้วยแผนการในประเทศไทย ก่อนจะไปเปิดเครือข่ายในฟิลิปปินส์ และเม็กซิโกในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19

ปัจจุบันเครือข่าย IKEA ของ IKANO มีทั้งหมด 14 สาขา นอกจากสิงคโปร์และมาเลเซียอย่างที่ว่ามา ที่เม็กซิโกมี 2 สาขาแล้ว

ที่น่าสนใจ สาขาแรกและใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ สามารถสร้างรายได้อย่างน่าตื่นเต้น มีส่วนทำให้รายได้รวมปี 2565 ของ Ikano Retail ทะลุ 1 พันล้านยูโร เป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้ง IKANO GROUP (อ้างอิงข้อมูลจาก www.group.ikano)

ในส่วนประเทศไทย ก่อนหน้ามี 3 สาขา สร้างรายได้รวมกันราว 220 ล้านยูโร อยู่ในอันดันสาม รองลงมาจากมาเลเซีย (360 ล้านยูโร) และสิงคโปร์ (270 ล้านยูโร)

ว่าด้วยโมเดลธุรกิจของ Ikano Retail ผู้คนมักมองไปเครือข่าย IKEA แท้ที่จริง Ikano Retail มีธุรกิจศูนย์การค้า (เรียกว่า Ikano Centres) อยู่ด้วยถึง 4 แห่ง ซึ่งมี IKEA ตั้งอยู่ในนั้น โดยเฉพาะในมาเลเซีย ยึดตามโมเดลนี้ทั้ง 3 แห่ง

ดูไปแล้วธุรกิจในมาเลเซียมีความสำคัญไม่น้อยต่อ Ikano Retail ในขณะนี้ ทั้งสร้างรายได้สูงสุด และมีธุรกิจอื่นด้วย เรียกว่า Ikano Insight ศูนย์ข้อมูล เพื่อประมวลและวิเคราะห์ธุรกิจ (อีกแห่งอยู่ในอังกฤษ)

 

สําหรับโมเดลธุรกิจประเทศไทย นับว่ามีความหลากหลายกว่าที่อื่นๆ โดยมี Ikano Centre แห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น IKEA ที่นี่

IKANO กับ IKEAในไทย เปิดฉาก ณ โครงการ “เมกาบางนา” โดยบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ เปิดตัวโครงการและประกาศการร่วมทุนกับ IKEA อย่างครึกโครมในปี 2552 และเปิดบริการจริงในปี 2555 ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ พัฒนาการรูปแบบค้าปลีกขนาดใหญ่ (Super regional mall) แห่งแรกๆ ในเมืองไทย ในพื้นที่ชุมชนทางชานเมืองทิศตะวันออก

เป็นไปตามโมเดลธุรกิจในมาเลเซีย สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อสังคมไทย ไม่กี่ปีถัดมา แผนการใหญ่ถูกวางขึ้นอีก

“จากความสำเร็จโครงการเมกาบางนาเป็นไปอย่างดีและต่อเนื่อง บริษัทจึงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับอิเกีย (IKEA) เพื่อเริ่มโครงการเมกา 2 ที่ตอบสนองลูกค้าได้ครบทุกภาคในประเทศไทย…จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556…บนเนื้อที่ 250 ไร่ ย่านรังสิต…” รายงานประจำปี 2557 บริษัทสยามฟิวเจอร์ฯ ในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยระบุไว้

เป็นจังหวะเดียวกับเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ สะท้อนความยุ่งยาก ผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557) จากกระบวนการรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี IKEA กับแผนการขยายเครือข่าย ไม่ได้หยุดเสียทีเดียว แต่เปลี่ยนแผนจากชุมชนชานเมืองด้านเหนือ สู่ชานเมืองด้านตะวันตก ดูไปแล้วมีจังหวะการพัฒนาเป็นเมือง (urbanization) มากกว่าด้านเหนือ กับโครงการ “เมกาบางใหญ่” เป็นแผนการใหญ่

อาจมองได้ทั้งสองด้าน ไม่ว่าเผชิญหน้าหรือผนึกกำลังทางอ้อม กับโครงการใหญ่ของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย – Central Plaza Westgate ของกลุ่มเซ็นทรัล

 

แต่แล้วในปี 2558 ข้อตกลงสำคัญอันพลิกแผนมีขึ้น เมื่อ IKEA ตัดสินใจเปิดสาขาที่ 2 ในไทย ณ Central Plaza Westgate แทนที่แผนการเดิม “เมกาบางใหญ่” ในที่ที่ใกล้เคียงกัน

เป็นแผนการลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ “เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร” จากแผนการลงทุนใหญ่ สร้างศูนย์การค้า (Ikano centre) มาเป็น ผู้เช่าหลัก (Anchor)

ระหว่างนั้น จาก IKEA ใหญ่ เปิดตัว (ต้นปี 2561) สู่ปลายปีมีรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไป (24 มีนาคม 2562) และมีรัฐบาลใหม่ต่อเนื่องอำนาจเดิม (กรกฎาคม 2562) ปรากฏกระแสธุรกิจไทยเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ด้วยมุมมองเชิงบวก เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ และเก่าแก่ ทยอยเข้าตลาดหุ้น

ที่น่าสนใจกว่านั้น โครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ในใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏขึ้นอย่างมากมาย และกำลังเดินหน้ากันคึกคัก ค่อยๆ เปิดตัว เปิดบริการขึ้นตามลำดับ

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิด ขัดจังหวะได้เกิดขึ้น วิกฤตการณ์โรคระบาดระดับโลกกระหน่ำ ก่อให้เกิดการหยุดชะงักกิจกรรมสำคัญต่างๆ ไปช่วงหนึ่ง IKEA เรียกปรากฏการณ์อันเป็นผลกระทบใหญ่หลวงว่า “global supply chain disruption”

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ เดินหน้าต่อไป มีความเคลื่อนไหวหลากหลายมิติกว่าในอดีต

การพัฒนาพื้นที่เป็นเมืองหลวงสมัยใหม่มีอย่างกระตือรือร้น ทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานอันหลากหลาย มีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นแรงดึงดูดในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค ระบบขนส่งมวลชนระบบรางพัฒนาอย่างเต็มกำลัง คืบหน้าครอบคลุม ชุมชนตึกสูงชนชั้นกลางเติบโตขึ้นควบคู่ กระจุกตัวตามเส้นทางระบบขนส่งหลักที่ว่านั้น

คาดหมายกันอีกว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่ ผู้มาจากการเลือกตั้งอย่างตื่นเต้น (พฤษภาคม 2565) จะมีบทบาทสร้างสรรค์ชีวิตเมืองหลวงมีสีสันมากขึ้น

สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับ IKANO และ IKEA ในช่วงครึ่งหลังปี 2564 เครือข่ายธุรกิจแห่งกลุ่มเซ็นทรัล (ภายใต้ CPN) ได้ซื้อกิจการบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกในโมเดลต่างๆ มีถึง 18 แห่ง อย่างที่เรียกว่า ศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Center) และศูนย์ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Center) ที่สำคัญ มีกิจการร่วมทุนในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (Super Regional Mall) ได้แก่ “เมกาบางนา”

ในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่าง IKONO และ IKEA กับกลุ่มเซ็นทรัล ได้เปลี่ยนไป จากเป็นคู่ค้า เป็นผู้ร่วมทุนรายสำคัญในไทย

และแล้ว IKANO และ IKEA ในไทยมีถ้อยแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อราวปีครึ่ง (มิถุนายน 2565) เกี่ยวกับแผนการใหม่ – IKEA สุขุมวิท เหมือนจะตั้งใจให้เห็นภาพเกี่ยวเนื่อง จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มีขึ้นก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น มีผู้ร่วมทุนใหม่ ใน “เมกาบางนา” เกิดขึ้นมาเกือบหนึ่งปี

ความเคลื่อนไหวข้างต้น ได้ปรากฏตัวคู่ค้ารายใหม่ สายสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่กับกลุ่มเดอะมอลล์ คู่แข่งธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์รายสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล ในอีกด้าน สัมพันธ์กับบทวิเคราะห์ว่าด้วยพัฒนาการกรุงเทพฯ ฐานะเครือข่ายธุรกิจ IKANO และ IKEA ในไทยจึงดูมีพลวัตเป็นพิเศษ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com