คณะทหารหนุ่ม (67) | “ผมไม่ต้องการให้มีภาพทหารปราบปฏิวัติกันอยู่ในพระนคร”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ นครราชสีมา คืน 2-3 เมษายน พ.ศ.2524

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าถึงการกำหนดแผนการใช้กำลังในการเข้าปราบปรามผู้ก่อการปฏิวัติไว้ในหนังสือ “โลกสีขาวของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” ดังนี้

“ตอนนั้นมี ‘ตุ๋ย’ (พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี) ‘มล’ (พล.อ.วิมล วงศ์วานิช) ‘ศัลย์’ (พล.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ) ‘ยะ’ (พล.อ.อารียะ อุโฆษกิจ) เอากำลังมาทางพื้นดิน (ทั้ง 3 ท่านซึ่งล้วนเป็น จปร.5 ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมในกองทัพภาคที่ 2 ทั้งสิ้น/บัญชร) ส่วนผมคุมกำลังมาทางอากาศ 5 กองพันมาลงที่ดอนเมือง

พล.อ.อ.สุวิช จันทรประดิษฐ์ ตอนนั้นมียศเป็นนาวาอากาศเอก ทำหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อทางอากาศ

พอวางแผนกันเสร็จเรียบร้อย เราก็คลานไปบอกป๋าว่า ป๋าครับ ผมพร้อมแล้ว”

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ กล่าวเพิ่มว่า…

“ระหว่างอยู่ที่โคราช เท่าที่เราทราบ กองกำลังฝ่ายปฏิวัติทั้งหมดมี 40 กว่ากองพันนะ พี่จิ๋ววางแผนไว้ว่า แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วนคือ ฉก.สุรนารี มากับเครื่องบินลงที่ดอนเมือง แล้วอีกส่วนหนึ่งเป็น ฉก.ชลบุรี หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เคลื่อนที่มาทางพื้นดินทางตะวันออก”

 

พล.อ.อภิชัย วรุณประภา ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นี้ก็เล่าไว้ใน “โลกสีขาวของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” ว่า

“มีการประชุมกันว่าจะเอากำลังมาอย่างไร กองทัพอากาศต้องการรู้ว่าเรามีภารกิจเคลื่อนย้ายกำลังจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง หรือจากโคราชเข้าดอนเมือง มีกำลังพลเท่าไร อาวุธยุทโธปกรณ์เท่าไร มีเวลาให้เขาเท่าไร แล้วเขาจะดำเนินการให้

ทหารอากาศใช้เครื่องบิน ซี-130 ติดเครื่องตลอดเวลา ไฟลต์แรกออกจากโคราช 01.00 น. เช้า 3 เมษายน”

“พี่จำได้ พี่ปี่ (พ.อ.พิสิฐศักดิ์ นิปวณิช 1 ในกลุ่มทหารประชาธิปไตย/บัญชร) แกขับรถพานายหลง หาสนามบินโคราชไม่เจอ นายจะถีบตกรถเอา ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะอัดเอาแล้ว วันนั้นไม่ได้เมา แต่เอ็กไซส์ไปหน่อยขับรถปิกอัพ นายนั่งหน้า มีพี่ พี่หมง แล้วก็พี่จั๊ว (พ.อ.สาโรจน์ รบบำรุง/บัญชร) เป็นทหารรบพิเศษตัวใหญ่มาด้วยกัน 4 คน พี่จั๊วนี่นะปราบกบฏเสร็จ คนอื่นเขาได้นายพล พี่จั๊วยังไม่ได้เลย”

“ซี-130 เที่ยวแรกนำกำลังมาลงที่ดอนเมือง ในความรู้สึกของ เสธ.อ่อง (พล.อ.อภิชัย วรุณประภา) คิดว่าโอกาสแพ้ชนะมี 50 : 50 เท่ากัน เพราะถ้าทหารอากาศแปรพักตร์เกื้อกูลต่อฝ่ายกบฏหรือฝ่ายยึดอำนาจ ฝ่ายปราบกบฏก็เสร็จ เพราะไม่รู้สถานการณ์พัฒนาไปถึงไหน เครื่องลงที่ดอนเมือง”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าต่อไปว่า

“ระหว่างนั่งเครื่องบินมานั้น ผมก็มาปรึกษาหมงว่า เฮ้ย…กระสุนจะเอาที่ไหน เงินจะเอาที่ไหน และถ้าเกิดตายจะส่งที่ไหน”

“เราก็มาลงที่ดอนเมือง ซึ่งผมแย่แล้ว 72 ชั่วโมงไม่ได้นอนเลยก็บอกว่า หมงประชุมนะ 05.00 น. ทำงานเลย ปลุกด้วย”

 

ก่อนสว่าง 3 เมษายน พ.ศ.2524

สถานการณ์ในขณะนั้น ฝ่ายผู้ก่อการซึ่งแถลงว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 กองพันได้ควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้หมดสิ้นแล้ว ขณะที่กำลังฝ่ายรัฐบาลซึ่งกำลังเคลื่อนย้ายมาจากนครราชสีมามีเพียง 5 กองพัน จึงอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวัดด้วยจำนวนหน่วยรบ

แต่ปัญหาใหญ่ที่จะติดตามมาโดยเฉพาะหากมีการปฏิบัติที่ยืดเยื้อ คือ ปัญหาทางด้านการส่งกำลังบำรุง ทั้งกระสุน อาหาร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทั้งสิ้น หรือหากเลวร้ายคือการเสียชีวิตของกำลังพล

ซึ่งขณะนี้กำลังหลัก 5 กองพันที่เคลื่อนย้ายมานั้นล้วนมาจากกองทัพภาคที่ 2 ทั้งสิ้น ปัญหานี้จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่ในความนึกคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนแม้อยู่ระหว่างการเดินทางกลางอากาศซึ่งอีกไม่นานก็จะถึงสนามบินดอนเมืองก็ยังไม่มีคำตอบ

เช้ามืดก่อนสว่างของวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายปฏิวัติต่างไม่รู้ว่าสถานการณ์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ฝ่ายรัฐบาลซึ่งวัดด้วยกำลังอาวุธแล้วย่อมตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต้องเป็นฝ่ายเคลื่อนที่เข้าหาในลักษณะภูมิประเทศที่ทหารจากภาคอีสานส่วนใหญ่ไม่รู้จัก อีกทั้งในฝ่ายรัฐบาลก็ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า “40 กว่า” กองพันจะสู้หรือถอย

ถ้าสู้ ความรุนแรงย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา อย่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปรารภกับ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์

ง่ายๆ…พรุ่งนี้เช้าทหารทั้ง 5 กองพันจะมีอะไรกิน? ยังไม่ต้องคิดถึงหากการสู้รบต้องยืดเยื้อ

เช้า 3 เมษายน พ.ศ.2524 อนาคตของประเทศชาติแขวนอยู่บนเส้นด้าย

และยังไม่มีใครกล้าเรียกปฏิบัติการของคณะทหารหนุ่มครั้งนี้ในเชิงดูถูกว่า “เมษาหน้าโง่-APRIL FOOL”

 

เหยียบดอนเมือง

เมื่อกองกำลังสุรนารีเคลื่อนย้ายมาถึงสนามบินดอนเมืองก่อนสว่าง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เล่าว่า

“กองทัพอากาศโดยการสนับสนุนของพี่เต้ (น.อ.เกษตร โรจนนิล) พี่เต้มาคนเดียวเลย

ตอนแรกผมขอชุดผู้ควบคุมอากาศยานหน้าในการควบคุมเครื่องบินโจมตีถ้าจะต้องใช้กำลังกันจริงๆ เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเขาไม่ให้ พี่เต้ซึ่งนั่งอยู่ด้วยก็เลยบอกว่า เดี๋ยวพี่จัดการเอง จะปราบกบฏทั้งที ขอแค่นี้ไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้ แล้วผมก็ขอยานพาหนะขนกำลังจากดอนเมืองเข้ากรุงเทพฯ พี่เต้ก็จัดการให้

อาหารไม่มี พี่เต้ก็ส่งครัวการบินไทยให้กินอย่างดีเลย พวกที่นี่กินดีกว่าคนที่อยู่โคราชอีก วิทยุเราไม่มี พี่เต้ก็จัดการให้หมด”

พล.อ.อภิชัย วรุณประภา ซึ่งเดินทางติดตามเคียงข้าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอดเล่าเสริมว่า

“ก็ได้พี่เต้คอยดูแลอย่างดี แถมให้การสนับสนุนเปิดคลังเอาวิทยุ PRC- 25 PRC-77 แจกหมด ไม่ต้องมีลงชื่อรับกันละ”

เช้า 3 เมษายน ปัญหาการส่งกำลังบำรุงที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หนักใจและมอบหมายให้ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ หาทางแก้ไขจึงผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าต่อว่า

“พอตื่นขึ้นมาเขาก็บอกว่าวางแผนเสร็จเรียบร้อย เห็นเต้ที่ศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศมีคนเป็นร้อยแต่ไม่มีใคร เต้บอกมาพี่จะเอาอะไรบ้าง พล.อ.อ.เกษตร ถาม ผมก็ตอบว่าจะเอาวิทยุ เต้ก็ไปเอาวิทยุมา 40-50 ตัว จะเอาอาหาร เอารถ เต้ก็จัดให้ทั้งนั้นเลย นี่แหละคือสาเหตุที่ผมบอกป๋าว่า พวกนี้ต้องตอบแทนกัน นี่ผมพูดจริงๆ นะ เพราะตอนเราจะตายมันมาตายกับเรา”

 

“เต้” น.อ.เกษตร โรจนนิล คือแกนนำของนายทหารอากาศแห่งกลุ่ม “0143” ที่มี จปร.5 พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้นำ

ขณะที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังงานเลี้ยงที่ไม่เชิญ จปร.7 ไม่นานนัก จึงเป็นเครื่องยืนยันความเป็นปึกแผ่นและความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้กับ จปร.7 และที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ สถานการณ์หันหลังชนกัน ร่วมเป็นร่วมตายกันกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ-พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเหตุการณ์นี้

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เล่าถึงเหตุผลสำคัญของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในแผนของกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติที่จะใช้กำลังเข้าปิดล้อมกดดันในทุกทิศทางรอบกรุงเทพฯ แต่จะเปิดพื้นที่ทางด้านตะวันตกไว้โดยตั้งใจ เพื่อให้กำลังหลักของฝ่ายก่อการจากกองพลทหารราบที่ 9 กาญจนบุรี สามารถเคลื่อนกลับที่ตั้งปกติได้โดยไม่มีการขัดขวางจากฝ่ายรัฐบาล

“ที่นี่ตอนเช้าเราก็นัดกันว่า เมื่อสว่างจะเริ่มเคลื่อนที่เข้าหา แผนที่เราวางไว้นั้นเปิดด้านตะวันตกไว้หมด ด้วยเหตุผลประการเดียวเท่านั้นเอง คือต้องการให้เขาหนี ไม่ต้องการให้รบกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมไม่มีการยิงกัน พอเราเข้ามาก็เป็นไปตามอย่างที่พี่จิ๋วว่า ค่อยๆ หลบกันไปเพราะไม่มีการจนตรอกนี่ เขารู้ว่ามีทางไป”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าสถานการณ์เช้า 3 เมษายน เมื่อกำลังทั้งหมดซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพอากาศแล้วต่อไปว่า

“ทุกคนก็ออกทำงานกัน เราผ่านไปตรงไหนปืนของฝ่ายตรงกันข้ามก็ลดลงตรงนั้น

ความจริงพวกมันถามตั้งแต่คืนนั้นว่า ‘ใครเอากำลังมา’ พวกนั้นก็ตอบว่า ‘พี่จิ๋ว’ มันยังบอกว่า ‘เออดีเหมือนกัน จะได้พูดกัน’

ตอนนั้นปืนมันลดลงหมดเลยนะ ลด…ลด…ลดความสูงลง

เราก็เข้าไปที่ตั้งต่างๆ เข้าไปยึดไว้เรียบร้อย พวกมันก็มาพบเรา เข้ามายืน เราก็เตะตูดมันคนละทีแล้วไล่มันกลับบ้าน บอกว่าอย่าหนีไปไหนนะ”

ท่าทีของรัฐบาลซึ่งมีลักษณะประนีประนอมอย่างเห็นได้ชัดจากแผนการใช้กำลังซึ่งเปิดพื้นที่ทางตะวันตกให้ว่างไว้ ทำให้ไม่มีการปะทะกัน ฝ่ายผู้ก่อการต่างยอมวางอาวุธโดยดี “รัฐบุรุษชื่อเปรม” บันทึกเหตุการณ์ระหว่างนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า

“นายทหารที่เป็นแกนนำในการทำปฏิวัติครั้งนี้ถูกจับมัด ใส่กุญแจมือบ้าง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งอยู่ในคณะต่อต้านการปฏิวัติไม่ต้องการให้ปฏิบัติการรุนแรงและไม่ให้เกียรติกันเพราะเป็นนายทหารทั้งสิ้น ท่านกล่าวกับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ถอดกุญแจมือออกนะ”

ก่อนจะส่งไปควบคุมตัวที่กรมอากาศโยธิน ดอนเมือง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าอีกว่า

“ตอนบ่ายๆ ของวันนั้น ป๋าให้ เสธ.สายหยุด (พล.อ.สายหยุด เกิดผล) เอาเงินมาให้แสนหนึ่ง เอาไปแจกหน่วยต่างๆ พอ 17.00 น. ผมก็บอกว่า ‘เฮ้ย พรุ่งนี้เช้า เอ็งถอนกำลังกลับด่วนนะ’ เพราะผมไม่ต้องการให้มีภาพทหารปราบปฏิวัติกันอยู่ในพระนคร”

พอเช้าก็เงียบ

 

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

ภาพจำของเช้าวันที่ 3 เมษายน มาจนถึงบัดนี้คือ การควบคุมตัว พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร โดยมีปืนเอ็ม 16 จี้หลัง มีบันทึกจากทั้งสองฝ่ายที่น่าสนใจ และไม่เป็นที่รับทราบกันนัก ถึงชะตากรรมอันล่อแหลมหลังถูกจับกุมของ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เล่าเหตุการณ์สำคัญซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่สอดคล้องกับบันทึกของฝ่ายรัฐบาลอีกว่า “ในเช้าของวันนั้น พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ก็โดนจับที่กระทรวงการต่างประเทศ คือวันนั้นเราตกลงกันว่าเราจะไม่สู้ ก็พอดีกำลัง ร.21 กับกำลังทหารม้าก็เกิดการปะทะกันที่นั่น พ.อ.ประจักษ์ ก็เลยไปห้าม ปรากฏว่าถูกจับโดย พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิเดช เป็นผู้จับ หลังจากนั้นผมก็ได้ข่าวจากเพื่อนผมที่เป็นผู้การสารวัตรคือ น.อ.ไพบูลย์ ธารีเกษ เขาโทร.มาบอกผมว่า พ.อ.ประจักษ์ถูกจับ และตอนนี้ถูกนำตัวไปที่ดอนเมืองแล้วเพื่อที่จะเอาไป Drop ทิ้งพร้อมกับ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ”

“ผมก็สั่งถอนกำลังและเร่งรีบไปที่ดอนเมืองทันที”