ท่านสุภัทร บทบาทภัณฑารักษ์ และการปลูกฝังความรักชาติ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ท่านสุภัทร บทบาทภัณฑารักษ์

และการปลูกฝังความรักชาติ

 

ท่านสุภัทร ดิศกุล เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2490 จนถึงทศวรรษ 2520 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอิทธิพลสูงมากต่อแนวทางในการออกแบบจัดแสดงศิลปวัตถุแบบสมัยใหม่ภายในพิพิธภัณฑ์

ในช่วงดังกล่าวมีพิพิธภัณฑ์เกือบ 20 แห่งทั้งที่เป็นการตั้งขึ้นใหม่และการปรับขยายพิพิธภัณฑ์ที่มีมาแต่เดิมพร้อมทั้งออกแบบการจัดแสดงแบบสมัยใหม่

ในขณะที่ย้อนกลับไปดูในยุคก่อน พ.ศ.2490 จะพบว่ามีเพียง “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” เท่านั้นที่มีการจัดแสดงอย่างมีมาตรฐาน

ส่วนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ต่างล้วนมีลักษณะการจัดแสดงที่ใกล้เคียงกับคำว่าคลังเก็บโบราณวัตถุมากกว่าที่จะเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์

ส่วนในแง่ของจำนวน แม้หลังการปฏิวัติ 2475 งานด้านพิพิธภัณฑ์จะมีความก้าวหน้าและเป็นระบบมากขึ้น

แต่การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ก็มิได้เกิดขึ้นมากนัก มีเพียงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นที่วัดมหาธาตุ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในปี พ.ศ.2478

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2490 ก้าวกระโดดครั้งสำคัญในงานด้านพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มต้นขึ้น มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผมได้เคยสำรวจจำนวนพิพิธภัณฑ์ที่เปิดใหม่รวมถึงที่ขยายจากของเดิมด้วย พบว่ามีจำนวนมากถึง 17 แห่ง และกระจายตัวออกไปในต่างจังหวัดมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

เช่น นครราชสีมา สุโขทัย สุพรรณบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา ฯลฯ

(ดูรายละเอียดใน ชาตรี ประกิตนนทการ. การประกอบสร้างศิลปะไทยฉบับทางการ : ประวัติศาสตร์ศิลปะกับการก่อร่างสร้างชาติ พ.ศ.2408-2525)

รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในวันเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พ.ศ.2504 (ภาพซ้าย) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พ.ศ.2507 (ภาพขวา) โดยมี ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ในฐานะผู้ออกแบบการจัดแสดงหลักรับหน้าที่เป็นคนนำชม
ที่มา : วารสาร ศิลปากร ปี 6 เล่ม 1 (พฤษภาคม 2505) และศิลปากร ปี 7 เล่ม 5 (มกราคม 2507)

แนวคิดขยายพิพิธภัณฑ์สู่ท้องถิ่นได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากท่านสุภัทร ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2497 โดยท่านได้เขียนบทความลงในวารสารศิลปากร พูดถึงการสร้างพิพิธภัณฑสถานตามท้องถิ่นต่างๆ ว่าสำคัญเพราะจะทำให้ประชาชนภาคภูมิใจในชาติและรักชาติ (อ้างถึงใน วารสารศิลปากร เดือนพฤศจิกายน 2497 หน้า 63-64)

“…สำหรับพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นนั้นถ้าเป็นไปได้เห็นสมควรจัดตั้งตามหัวเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน และหัวเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งที่สำคัญในสมัยก่อน…ถ้าจัดได้ดีจะน่าชมมาก ดังพิพิธภัณฑ์เล็กๆ หลายแห่งในทวีปยุโรป…การจัดพิพิธภัณฑ์ในท้องที่เหล่านี้มีประโยชน์มากในการทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิรักชาติยิ่งขึ้น และยังอาจช่วยนำให้พากันดูแลเอาใจใส่รักษาโบราณวัตถุสถานในท้องถิ่นของตนเอง…”

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า นโยบายการสร้างพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการกระจายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไปตามภูมิภาคต่างๆ ในยุคนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัชกาลที่ 9 ดังปรากฏในพระราชดำรัสเมื่อคราวเสด็จฯ ไปทรงเปิด “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พ.ศ.2504 (อ้างถึงใน วารสารศิลปากร เดือนพฤษภาคม 2505 หน้า 70) ความตอนหนึ่งว่า

“…โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้า…เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดง ให้นักศึกษาและประชาชนได้ชมและศึกษาหาความรู้ให้มาก…ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรเห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้…”1

ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา การสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในต่างจังหวัดก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยถือพระราชดำรัสในครั้งนั้นเป็นเสมือนนโยบายที่สำคัญ

ดังเช่นเมื่อคราวทำพิธีเปิด “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง” จ.สุโขทัย กรมศิลปากรก็ได้อ้างถึงมูลเหตุที่มาในการก่อสร้างย้อนกลับไปหาพระราชดำรัสดังกล่าว

 

นอกจากการเพิ่มจำนวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแล้ว ท่านสุภัทรยังให้ความสำคัญกับวิธีการจัดแสดงมาก โดยเสนอว่าจะต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้าชม การจัดแสดงที่เข้าใจง่าย เส้นทางเดินที่ไม่สับสน และไม่เป็นการจัดแสดงที่ดูเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุเช่นในอดีต

ที่สำคัญคือ โครงเรื่องในการจัดแสดง ท่านสุภัทรแสดงทัศนะที่ชัดเจนว่า ควรจัดแสดงโดยแบ่งศิลปวัตถุออกเป็นยุคสมัยทางศิลปะตามหลักวิชาการ ดังเช่นเมื่อคราวการปรับปรุงการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านสุภัทรแสดงความเห็นเอาไว้ว่า

“…พิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่นี้อาจเรียกชื่อได้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยและศิลปะปลายบุรพทิศ (Thai and Far Eastern Art Museum)…ชั้นล่างนั้นสมควรแบ่งเป็น 12 ห้อง หรือจะให้น้อยกว่านั้นแต่ห้องใหญ่ขึ้นก็ได้ เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุยุคต่างๆ ในประเทศไทย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของต่างประเทศที่พบในเมืองไทย สมัยก่อนขอม สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์…”

หรือในคราวจัดพิพิธภัณฑ์ที่ไชยาซึ่งท่านรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการจัดแสดงด้วยตนเองก็มีหลักฐานบันทึกวิธีคิดในการจัดแสดง (อ้างถึงใน วารสารศิลปากร เดือน กันยายน 2500 หน้า 62-63) เอาไว้ว่า

“…การวางวัตถุเราใช้ระดับสายตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะไม่เกิดขัดนัยน์ตาแก่ผู้ชม สิ่งของที่จัดตั้งวางอย่างได้ระเบียบ…การเดินเข้าชมหลังที่สองนี้มีทางเข้าทางหนึ่งและทางออกทางหนึ่ง ผู้ชมจะไม่เกิดงงในการเดินชมสิ่งของ หรือไม่เกิดเดินหลงไปหลงมา…และนอกจากนี้ ผู้ชมจะไม่รู้สึกเบื่อในการเดินชม ผู้ชมจะเข้าใจลำดับสมัยศิลปวัตถุในประเทศไทยได้เอง ท่านอาจารย์ (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ-ผู้เขียน) ได้ทรงจัดพระพุทธรูปไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ตามสมัยเรียงตามลำดับ คือสมัยคันธารราฐ, ปาละเสนะ, ศรีวิชัย, ลพบุรี, สุโขทัย, อู่ทองสมัยที่ 1, 2 และ 3, อยุธยา และรัตนโกสินทร์…”

นอกจากทั้ง 2 แห่งข้างต้น ท่านสุภัทรยังเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญต่อการออกแบบการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำคัญอีกมากมาย อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ฯลฯ

เราจะเห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจศิลปวัตถุได้สะดวก และเข้าใจ “ความหมาย” ตามที่ท่านต้องการจะสื่อสารได้อย่างชัดเจนผ่านศิลปวัตถุ

ซึ่งความหมายนั้นก็คือ ลำดับสมัยของศิลปวัตถุที่ไล่เรียงต่อเนื่องกันมาโดยอ้างอิงและโยงเข้าหาความเปลี่ยนแปลงของรัฐและอาณาจักรที่แฝงความคิดชาตินิยมตามกรอบโครงสร้างงานเขียนที่พระองค์ได้สืบทอดและพัฒนาต่อมาจาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(ประเด็นเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะโดยยึดโยงเข้ากับรัฐและอาณาจักรเพื่อสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมไทยนั้นมีผู้ศึกษาไว้มากแล้ว ดังนั้นจะไม่ขอกล่าวละเอียดในที่นี้)

 

หากพิจารณาพิพิธภัณฑ์ที่ท่านสุภัทรได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดแสดง เราจะพบโครงเรื่องการจัดแสดงไปในทิศทางแบบเดียวกันนี้ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าการเข้ามามีบทบาทด้านนี้ของท่านมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยในวงกว้าง เพราะพิพิธภัณฑ์คือพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง

ยิ่งหากมีการจัดแสดงที่น่าสนใจก็จะยิ่งดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมชม ซึ่งการเยี่ยมชมนั้นจะทำให้ผู้ชม (หากตั้งใจชมมากเพียงพอ) ได้รับ “สาร” ที่ภัณฑารักษ์ต้องการจะสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบางกรณีอาจมีพลังมากกว่าการอ่านหนังสือตำราประวัติศาสตร์หลายเท่าตัว

ตัวเลขผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นมาตรวัดหนึ่งที่ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น แต่จากการตามค้นข้อมูล พบว่า ตัวเลขการเข้าชมตามต่างจังหวัดมิได้มีระบบการจัดเก็บและเผยแพร่ที่ชัดเจน ทำให้เราไม่สามารถทราบถึงตัวเลขการเข้าชมได้

อย่างไรก็ตาม หากเอาเฉพาะตัวเลขของ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เพียงแห่งเดียวก็น่าจะเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายความรู้ตามแนวทางของท่านสุภัทรออกสู่มวลชนได้พอสมควร

โดยตัวเลขผู้เข้าชมเฉพาะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2505-2507 รวมกันมีจำนวนทั้งสิ้นมากถึง 842,116 คน

ซึ่งแม้จะไม่มากนักหากเทียบกับในหลายประเทศ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนการจัดพิมพ์หนังสือวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ได้รับการตีพิมพ์หลายสิบเท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านสุภัทรคือภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิก ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางรูปแบบและเนื้อหาการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามระบบสมัยใหม่ของไทย และเป็นผู้นำ (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ในการใช้สื่อสมัยใหม่ (พิพิธภัณฑ์) ในการปลูกฝังความคิดชาตินิยมไทยให้เกิดขึ้นกับมวลชนวงกว้าง

ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานทางความคิดที่สำคัญประการหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยในปัจจุบัน

1 “พระราชดำรัสในการทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”, ศิลปากร ปี 6 เล่ม 1 (พฤษภาคม 2505) : 70.