กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สูตรไหนดี | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

นโยบายกู้เงินแจกกระตุ้นให้สังคมไทยกลับมาอยู่ในความสนใจทางการเมืองอย่างคึกคัก ท่ามกลางความเบื่อหน่ายที่พุ่งแรงจนคนเมินหน้าหนีข่าวสารบ้านเมืองทันทีที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ข่าวกู้เงินแจกคือข่าวที่ทำให้คนหันกลับมาคุยกันเรื่องบ้านเมืองและนโยบายสาธารณะอย่างไม่เคยเห็นมาแล้วเกือบ 3 เดือน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นโยบายสาธารณะจะมีคนเห็นตรงกันทั้งบ้านทั้งเมือง ยิ่งนโยบายใหญ่ที่มีผลกระทบกับประชาชนกว้างขวาง โอกาสที่คนจะเห็นต่างกันย่อมมีมากกว่าเห็นตรงกันทั้งสิ้น

ความไม่เห็นพ้อง (Disagreement) ต่อนโยบายจึงเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับความเห็นต่างกันในหมู่ประชาชน

ถ้าถือว่าความเห็นต่างต่อนโยบายเป็นเรื่องธรรมดา ความไม่ลงรอยต่อเรื่องนี้ย่อมเป็นเรื่องปกติขั้นถือว่าเป็นกระบวนการขัดเกลานโยบายสาธารณะโดยสังคม

แต่ถ้าความเห็นต่างโยงกับการเลือกข้างทางการเมือง ความไม่ลงรอยอาจจบด้วยความเห็นแบบเลือกข้างและการยกพวกตีกันทางการเมือง

 

“กู้เงินแจก” เป็นนโยบายสาธารณะ (Policy) หรือไม่คงเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันอีกยาว

เพราะคำว่า “นโยบายสาธารณะ” ในแง่หลักวิชาหมายถึงหลักการที่นำไปสู่การสร้างกฎหมาย, มาตรการ, การดำเนินการ ฯลฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและนำสังคมไปสู่จุดหมายที่ต้องการในระยะยาวจริงๆ

พรรคเพื่อไทยมักอ้างว่าตัวเองโดดเด่นด้านเรื่องออกนโยบายที่ได้ผลเร็วจนชนะใจประชาชนแบบที่เรียกว่า Quick Win อย่างลดค่าไฟ, ลดค่าน้ำมัน หรือปล่อยฟรีวีซ่าจีน

แต่ที่จริงทั้งหมดนี้เป็น “มาตรการ” ที่มีเพื่อแก้ปํญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะของสังคมระยะยาว

ในแง่นี้ “กู้เงินแจก” เป็น “มาตรการ” เหมือนมาตรการลดแหลกแจกแถมอื่นๆ ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นแบบมาเร็วไปเร็วจนไม่กี่เดือนจบ เพียงแต่ “กู้เงินแจก” ใช้เม็ดเงินมหาศาลรวดเดียว 5 แสนล้านจนดูเหมือนเป็นนโยบายแก้ปัญหาระยะยาวทั้งที่จริงๆ เป็นมาตรการบรรเทาทุกข์เฉพาะกิจของรัฐบาล

ต้องย้ำอีกครั้งว่าปัญหาของการ “กู้เงินแจก” แตกต่างกับปัญหาของการ “แจกเงิน” เพราะขณะที่การ “แจกเงิน” เป็นมาตรการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงจนประชาชนรับรู้ล่วงหน้าว่าจะทำเรื่องนี้

การ “กู้เงินแจก” กลับเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยประกาศจนประชาชนไม่เคยรับรู้เรื่องนี้ด้วยเลย

นอกจากพรรคเพื่อไทยจะไม่เคยประกาศว่าจะ “กู้เงินแจก” คุณเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยยังแถลงต่อสภาและชี้แจงนอกสภาว่าการ “แจกเงิน” จะไม่มีการ “กู้เงิน”

ซึ่งเท่ากับการ “กู้เงินแจก” นำไปสู่การสร้างหนี้กับประชาชน 5 แสนล้านโดยไม่มีคนไทยคนไหนรับรู้และตกลงด้วยเลย

 

หนึ่งในข้อถกเถียงเรื่องกู้เงินแจกคือเศรษฐกิจ “วิกฤต” ขั้นต้องสร้างหนี้ 5 แสนล้านเพื่อแจกแล้วหรือยัง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อถกเถียงถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ต้องระบุอีกครั้งว่าประเด็นเศรษฐกิจ “วิกฤต” หรือไม่เกิดจากกฎหมายกำหนดว่าการกู้จะทำได้ในกรณี “วิกฤต” เท่านั้นเอง

ปัญหาของการถกเถียงว่าเศรษฐกิจ “วิกฤต” หรือไม่คือมันเป็นการถกเถียงที่ไม่มีบรรทัดฐานเลย รัฐบาลที่ประกาศว่าไม่กู้จึงบอกว่าเศรษฐกิจ “วิกฤต” ทันทีที่ต้องการกู้

และยิ่งบอกมากขึ้นว่า “วิกฤต” ทันทีที่สภาพัฒน์แถลงว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 โต 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกัน

ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าเศรษฐกิจโตต่ำจนต้องกู้เงินแจก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้ก็ตอบโต้ว่าสภาพัฒน์ระบุว่าเศรษฐกิจโตต่ำเพราะการส่งออกและการลงทุนภาครัฐหดตัว

การกู้เงินแจกเป็นการเพิ่มกำลังซื้อซึ่งโตถึง 8% จนไม่จำเป็นต้องช่วย แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องส่งออกหรือการลงทุนภาครัฐตรงไหนเลย

ด้วยการมองคำแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจชุดเดียวกันผ่านตัวเลขที่ต่างกัน ความเห็นของฝ่ายหนุนกู้เงินแจกกับฝ่ายที่ไม่อยากให้กู้จึงเห็นต่างกันจนวุ่นวายไปหมด เพราะตัวเลข GDP โตต่ำกว่าที่คาดจนต้องถือว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แต่ตัวเลขการบริโภคที่พุ่งขึ้น 8% ก็สะท้อนว่าผู้บริโภคไม่มีปัญหาเลย

สำหรับคนที่ประเมินเศรษฐกิจไทยจาก Demand หรือการจับจ่ายใช้สอยและบริโภคของประชาชน เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีมากๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เลวร้ายเท่ารัฐบาลพูด

แต่หากประเมินเศรษฐกิจไทยจาก Supply หรือการลงทุน เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีแต่สัญญาณที่น่ากังวล

มองในแง่นี้ การถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจไทย “วิกฤต” หรือไม่จึงเป็นการถกเถียงที่ไม่มีทางมีข้อสรุป เพราะตัวเลขส่งออกที่ลดลงกับตัวเลขบริโภคที่เพิ่มขึ้นย่อมนำไปสู่การประเมินเศรษฐกิจซึ่งแตกต่างกันสิ้นเชิง บทสรุปว่าเศรษฐกิจ “วิกฤต” หรือไม่จึงเป็นเรื่องต้องเถียงกันจนอาจไม่มีข้อยุติเลย

 

นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ สะท้อนภาพที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไม่ไปทิศทางเดียวกัน การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าของหน่วยงานรัฐปีนี้ยังต่างกันด้วย

นั่นก็คือสภาพัฒน์ประเมินว่าจะโตแค่ 2.7-3.7% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตขึ้น 4.4%

ภายใต้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งไม่ค่อยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจไทย “วิกฤต” หรือไม่จึงยากไปหมด และพูดตรงๆ คือไม่ควรมีการถกเถียงด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีการ “กู้เงินแจก” ซึ่งกฎหมายวินัยการเงินมีเงื่อนไขว่าจะทำได้ต้องมี “วิกฤต” จริงๆ

ข้อดีของการถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจไทย “วิกฤต” หรือไม่คือการปรากฏของฉันทานุมัติว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ติดหล่มจนต้องมีการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าประเทศอยู่ต่อไปแบบนี้ไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องมีการ “ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” เพื่อทำให้ประเทศ “เติบโตเต็มศักยภาพ” จริงๆ

 

น่าสนใจว่าขณะที่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองทำให้ข้อถกเถียงว่าเศรษฐกิจ “วิกฤต” หรือไม่กลายเป็นการตอบโต้ทางการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยเนื้อแท้แล้วสิ่งที่ทุกฝ่ายเถียงกันคือเราจะใช้วิธีไหนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยดี

ตรงข้ามกับข้อกล่าวหาที่ฝ่ายรัฐบาลโจมตีพรรคก้าวไกลว่าไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย คุณศิริกัญญา ตันสกุล และพรรคก้าวไกลย้ำหลายครั้งว่าเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการกระตุ้นอย่างยิ่ง เพียงแต่จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนด้านงบประมาณเลย

ขณะที่แนวทางพรรคเพื่อไทยเรื่อง “กู้มาแจก” เน้นที่การเพิ่มกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน แนวทางของพรรคก้าวไกล (และรวมทั้งคุณธนาธร) กลับเน้นกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลและคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเน้นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากกว่าของพรรคเพื่อไทย

พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ขณะที่คุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยเน้นการกู้มาแจก 5 แสนล้าน และอาจลามไปถึงการยกระดับภาคบริการในเวลาที่นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ถูกขับเคลื่อนจริงๆ มากกว่าหมายถึงความรักอย่างที่ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พูด สิ่งที่ธนาธรและก้าวไกลคิดคือการยกระดับอุตสาหกรรมไทยขึ้นมา

มีนโยบายสาธารณะหลายเรื่องที่ไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง หนึ่งในนั้นคือข้อถกเถียงเรื่องควรหรือไม่ที่รัฐบาลนี้จะสร้างหนี้ให้ประชาชนทันที 5 แสนล้านโดยวิธีกู้ไปแจก เพราะข้อถกเถียงที่ควรเป็นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจสูตรไหนที่ดีกับประเทศที่ดีที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่รัฐบาลทุกชุดต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ ทั้งแบบกู้และไม่กู้เงิน เมื่อใดที่ประเทศหนึ่งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจนานขนาดนี้ เมื่อนั้นประเทศนั้นย่อมเผชิญ “ปัญหาทางโครงสร้าง” ที่วิกฤตอย่างที่สุดเหมือนคนป่วยที่ต้องใช้ยากระตุ้นพยุงชีวิตตลอดเวลา

ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลจะกู้เงินมาแจก 5 แสนล้านได้สำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้ได้คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังมากกว่าการกู้แจกเงิน