นายกฯ หลุดปมผู้กำกับใหม่-ฝ่ายค้านบี้ ถึงคิว ‘รอง ผบก.-สว.’ จัดโผย้าย จับตาอิทธิฤทธิ์ ‘ก.พ.ค.ตร.’ ปลดเปลื้องทุกข์ตำรวจ?

ต้องยืนกระต่ายขาเดียว หลังคลิปที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อเย็นวันที่ 21 พฤศจิกายน หลุดออกมา

ปรากฏคำพูดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการแก้หนี้นอกระบบต้องอาศัยมือไม้กระทรวงมหาดไทย คือนายอำเภอ และผู้กำกับ ผู้บังคับการจังหวัด ภายใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยขจัดปัญหาหมักหมมนี้ให้หมดไป ได้กำหนดวันที่ 8 ธันวาคม ประชุมร่วมกับผู้กำกับใหม่กับนายอำเภอเป็นครั้งแรก ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

ช่วงหนึ่งนายเศรษฐาย้ำคำว่า “ผู้กำกับใหม่” โดยบอกว่า “ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคงจะมีผู้ผิดหวังมากกว่าสมหวังในห้องนี้ ที่ขอตำแหน่งไป เพราะมีเยอะเหลือเกิน แต่ก็มีไม่น้อยที่สมหวัง…”

แต่เมื่อหลุดมากลายเป็นประเด็นใหญ่ เข้าทาง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทันที ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ, จริยธรรมนักการเมือง และ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 แสดงให้เห็นว่าระหว่างพูดมี ส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมขอตำแหน่งผู้กำกับมา

เช้าวันรุ่งขึ้น นายกฯ จึงต้องออกมายืนยันว่า “ผมไม่มีอำนาจ และไม่เคยแทรกแซง ไม่เคยก้าวก่ายในการแต่งตั้งข้าราชการ และข้าราชการตำรวจเลย เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะพิจารณาตามผลงาน…และการแต่งตั้งผู้กำกับ ความจริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของผมด้วย”

แต่ดูเหมือนยิ่งบานปลาย นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร จะเชิญนายกฯ มาชี้แจงเรื่องนี้ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ กลายเป็นประเด็นการเมืองลากโยงไปถึง ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วย

อย่าลืมว่าหมวกอีกใบหนึ่งของนายกรัฐมนตรี คือ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วย

 

ขณะนี้การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายมาถึง “รอง ผบก.-สว.” แล้ว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) หรือตำแหน่งเทียบเท่าผู้บังคับการ (ผบก.) ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 พฤศจิกายนนี้

โดยยึด พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2566 อย่างเคร่งครัด

สำหรับ “กติกา” ของการโยกย้ายระดับรอง ผบก. ลงมาเรียงอาวุโสจำนวนร้อยละ 33

การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้พิจารณาแต่งตั้งได้เฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งภายในส่วนราชการนั้น

การย้ายได้นั้นต้องดำรงตำแหน่ง 2 ปีขึ้นไป เว้นแต่มีเหตุตามที่กำหนดไว้ ย้ายออกนอกหน่วยต้องเป็นไปโดยสมัครใจ

หากผู้มีอำนาจแต่งตั้งไม่เป็นไปข้อกฎหมายที่กำหนด สามารถร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร.ได้

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้ง

ช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีคณะกรรมการชุดนี้ ให้ ก.ตร.ทำหน้าที่แทนไปพลางก่อน

ดังนั้น ถ้ามีข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการโยกย้ายแต่งตั้งหรือการเรียงอาวุโส ร้องเรียน ก.ตร.ได้

แต่หลัง ก.พ.ค.ตร.มีผลตามกฎหมาย ก.ตร.จะโอนเรื่องร้องเรียนทั้งหมดให้ ก.พ.ค.ตร.ดำเนินการ

 

สําหรับ “7 อรหันต์ ก.พ.ค.ตร.” ประกอบด้วย 1.นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม 2.พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน อดีตผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) 3.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงค์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร 4.นายวันชาติ สันติกุญชร อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ 5.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. 6.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตน์งาม อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 7.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด

“ก.พ.ค.ตร.” นั้นคลอดตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ มาจากคณะกรรมการสรรหา ที่มีนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน, นายชัยเจริญ ดุษฎีพร รองประธานศาลฎีกา, ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกจาก ก.ตร.คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกฯ และนายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นกรรมการ ทำหน้าที่เลขานุการ

เจตนารมณ์สำคัญ ก.พ.ค.ตร. คือให้การบริหารงานบุคคลของตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดมาใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ และเป็นที่พึ่งให้ข้าราชการตำรวจสามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ในการแต่งตั้งโยกย้ายได้ตามกฎหมาย

 

ว่ากันว่า เสมือนการยก “ศาลปกครอง” มาไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลย ผลวินิจฉัยเทียบเท่าศาลปกครองกลาง ในส่วนผู้ถูกร้องถือว่าเป็นที่สุด แต่ผู้ร้องสามารถอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดได้

หากผลวินิจฉัยว่าผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่ากระทำผิดวินัย ลงโทษภายใน 30 วัน หาก ก.ตร.พิจารณาจงใจช่วยเหลือหรือเพื่อให้เกิดความเสียหาย ให้ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ส่วนผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

เพราะฉะนั้น ถ้าการแต่งตั้งโยกย้ายมีการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง มีตั๋วเด็กฝาก ถ้ามีข้าราชการตำรวจร้อง การโยกย้ายจะถูกตรวจสอบทานโดยคณะกรรมการชุดนี้

ถึงขนาด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้ง ที่ถือเป็น “กูรูเอชอาร์สีกากี” ประกาศว่า การปฏิรูปตำรวจได้เกิดขึ้นแล้ว ก.พ.ค.ตร.สามารถปลดเปลื้องทุกข์ของตำรวจได้

ส่วนจะแผลงฤทธิ์ตามอำนาจหน้าที่ได้แค่ไหนต้องติดตาม