ถอดรหัสเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3/2566 | ดาวพลูโต

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5

ส่งผลให้เมื่อรวมทั้ง 9 เดือน ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.8 ถึงครึ่งหนึ่ง

เมื่อเปรียบเทียบ GDP ประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของฟิลิปปินส์ เติบโตในอัตราร้อยละ 5.9 ตามมาด้วยเวียดนาม เติบโตในอัตราร้อยละ 5.33 ส่วนไทยอยู่อันดับ 2 จากท้าย ดีกว่าสิงคโปร์เพียงประเทศเดียว ที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.7

ถ้าใครพูดว่าเศรษฐกิจไทยโตตามภูมิภาค คงเป็นการพูดติดตลกมากกว่าความจริง เพราะเศรษฐกิจของเราเติบโตต่ำกว่าภูมิภาค

ขอถอดรหัสแต่ละตัวเลขใน GDP โดยเริ่มต้นด้วย ดุลการค้าและบริการในไตรมาสที่ 3

 

ดุลการค้าและบริการของไทย ไตรมาสที่ 3 เกินดุล 1.29 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ดูแล้วสวยงาม

แต่ช้าก่อน! เมื่อพิจารณาตัวเลขสถิติการส่งออกสินค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี พบว่า ติดลบ 1.3% แต่ตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ ลดลงมากกว่า ซึ่งลดลงถึง ติดลบ 13.0%

หากตัดบริการออก พบว่าการส่งออกสินค้ามูลค่าแท้จริง ติดลบ 3.1% และการนำเข้าสินค้ามูลค่าแท้จริง ติดลบ 11.8%

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดุลการค้าและบริการยังคงเกินดุลอยู่ทั้งที่การส่งออกติดลบ

การส่งออกตก แต่เศรษฐกิจบ้านเรามันไม่ดีมากๆ การนำเข้าจึงตกมากกว่า จึงเป็นเหตุให้เกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

เหตุการณ์นี้คล้ายกับช่วงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นอย่างมาก

ย้อนกลับกลับไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาสู่ระดับ 33.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เดือนกรกฎาคม มูลค่าการค้าสุทธิ (ส่งออก-นำเข้า) ติดลบมากถึง 7.8 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ค่าเงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงในเดือนสิงหาคมและกันยายน

รวมทั้ง 3 ไตรมาส ปี 2566 มูลค่าการค้าสุทธิยังคงติดลบอยู่ 2.89 แสนล้านบาท ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เข้าแทรกแซงตลาดเท่าที่ควรจนทำให้เงินบาทแข็งค่า เมื่อเงินบาทแข็งค่าก็ทำให้การส่งออกชะลอตัว

การส่งออกมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60-70 ของรายได้ประชาชาติ

เศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก เมื่อการส่งออกหดตัวในไตรมาสนี้ ไตรมาสถัดไปการผลิตก็จะหดตัวลงตาม เมื่อการผลิตหดตัวลงตาม หมายความว่า โรงงานต่างๆ ผลิตที่กำลังการผลิตที่ลดลง หรือเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าไม่เต็มอัตราการผลิตนั่นเอง

เมื่อเครื่องจักรเดินการผลิตไม่เต็มกำลังการผลิต ก็จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมเพราะของเดิมยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่นั่นเอง ยังผลิตได้ไม่เต็มประสิทธิภาพที่สามารถผลิตได้

 

ตัวเลขสถิติถัดไป คือ ตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวถึงร้อยละ 8.1 ตัวเลขดูดีมาก

แต่ 8.1% เป็นการเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 หากเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2566 พบว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอตัวลง

การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50-60 ของ GDP สาเหตุที่ขยายตัวอย่างมากเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ทั้งหมวดอาหารสด และหมวดพลังงาน จึงทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าคงทนยังคงชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2

จากตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน จึงสรุปได้ว่าเป็นการเติบโตในระยะสั้น ไม่ใช้การเติบโตในระยะยาว

หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การอุปโภคบริโภคอาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน

 

ด้านตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 4.9 ซึ่งน่าจะมาจากการสิ้นสุดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ จึงรอความชัดเจนของนโยบายจากรัฐบาล

ด้านการลงทุนนั้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.1 เร่งตัวมากขึ้นจากไตรมาสที่ 2 แต่หากการส่งออกยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาติดลบอย่างแน่นอน

การลงทุนภาครัฐ ลดลงร้อยละ 2.6 โดยแบ่งเป็น การลงทุนของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 3.4 และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ลดลงร้อยละ 1.4

เหตุผลคงเป็นเช่นเดียวกันกับตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล คือ หน่วยงานต่างรอคอยความชัดเจนจากรัฐบาล

 

จากตัวเลขสถิติทั้ง 3 ด้านนี้ ส่งผลให้ GDP ไทย มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 3/2566

แม้ว่ารายจ่ายภาครัฐ ทั้งการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ รวมกันแล้วมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15-18 ของ GDP แต่หากติดลบมากๆ ก็อาจส่งผลให้ GDP เติบโตน้อยลง ร้อยละ 0.5-1.0 ได้เช่นกัน

ในทางกลับกัน หากมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ก็สามารถเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน หากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ GDP เติมโตถึงร้อยละ 5 ต่อปี ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ส่วนหนึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ อย่างน้อย 5 แสนล้านบาทต่อปี อีกส่วนหนึ่งจากการเพิ่มการส่งออกและการใช้จ่ายของภาคเอกชน

ไตรมาสที่ 4 ของไทยจะเป็นเช่นไร ไม่มีใครรู้ แต่หากค่าเงินบาทมีทิศทางกลับมาแข็งค่าอีกครั้งจาก 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจได้เห็นมูลค่าการส่งออกติดลบอีกไตรมาสหนึ่ง ต้องระวังให้ดี

เมื่อส่งออกติดลบก็ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ขายไม่หมด ทำให้ราคาสินค้าตก เมื่อราคาสินค้าตก รายได้ของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องตกหมด สุดท้ายรายได้ครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเหล่านี้ก็จะตกหมด

เมื่อรายได้ประชาชนตกลง การบริโภคก็จะลดลงหรือถ้าการบริโภคไม่ลดลงหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้น คอยบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะยาว

“ขอเตือนด้วยความหวังดี”