ศึกษาบาลีมาอย่างไร : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

ยิ่งหากอ่านจากที่ “คณะกรรมการนักศึกษา ม.ม.ร.” เขียนเล่า ยิ่งจะมองเห็นจุดเด่นเป็นอย่างมากของ เสถียร โพธินันทะ อันสร้างความประทับใจเป็นอย่างสูง

เริ่มจากหัวข้อที่ว่า “ผิวพรรณผุดผ่อง”

ใบหน้าของท่านผู้นี้เอิบอิ่ม เราไม่เคยเห็นรอยบึ้งสักครั้งเดียว ยิ่งคราวใดที่พวกเราต้อนด้วยปัญหาหนักๆ ท่านกลับหัวเราะลงลูกคอเอิ๊กๆ เสียอีก

ตอนหนึ่งเราถามว่า “ขออภัย อาจารย์ นิพพานเป็นอย่างไร”

อาจารย์ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ของเราตอบเร็วปรื๊อ “สิ่งใดมีในนิพพาน สิ่งนั้นไม่มีในโลก สิ่งใดมีในโลก สิ่งนั้นไม่มีในนิพพาน”

ทำเอาพวกเราทึ่งในความเปรื่องปราชญ์ของท่านไปตามๆ กัน

คุณลักษณะข้อนี้เรามิได้หลับตานึกเขียนออกมาเอง หากแต่ว่าทุกๆ วันเสาร์ของสัปดาห์เราได้สดับวาทะที่น่าฟังของท่านที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลอลังการไปด้วยปรัชญาเล็กๆ น้อยๆ

ในเสาร์วันหนึ่งเราถามท่านว่า “ทำไมอาจารย์จึงเปรื่องปราชญ์นัก อ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษ จีน บาลี ญี่ปุ่นและสันสกฤต”

อาจารย์ยิ้มละไมพร้อมกับพูดออกมา “ฉันทะตัวเดียวแหละครับ”

“คณะกรรมการนักศึกษา ม.ม.ร.” จึงสรุปออกมาว่า ถูกละฉันทะตัวเดียว แต่ว่าเมื่อคิดดูแล้วมันเป็น “อิทธิบาท” ที่ทำให้ท่านผู้นี้กลายเป็นปรัชญาเมธีไปเสียแล้ว

พวกเราอยากจะเรียกท่านว่า “เอ็นไซโคลพีเดียเคลื่อนที่” มากกว่า

เพราะท่านผู้นี้ไม่ใช่รู้เฉพาะเรื่องราวของศาสนา หากแต่รู้ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา ฯลฯ ด้วย

ใครจะมาโต้ในเหลี่ยมไหน มุมไหน เป็นต้องจำนนต่อเหตุผลและได้ความกระจ่างกลับไป

เข้าในหลักที่ว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด” นั่นเอง

คราวหนึ่งพระลังกามาเมืองไทย ท่านได้เป็นล่ามพาไปชมพระปฐมเจดีย์ เราซักว่า “อาจารย์อธิบายให้พระลังกาฟังอย่างไรบ้าง”

ท่านถ่อมตัวอย่างนักปราชญ์ว่า

“ใช้ภาษาบาลีและอย่ามาเอาไวยากรณ์กับผมเลย พูดกันรู้เรื่องเป็นใช้ได้ คือ พอไปถึงองค์พระปฐมเจดีย์ก็บอกว่า “อตีเต อิมานิ วนานิ พหู พยัคฆา”

ทำเอาพวกเราหัวเรากันครืนใหญ่

ตัวท่านเองก็หัวเราะลงลูกคอเอิ๊กๆ ชอบใจไปด้วย

เรื่องเดียวกันนี้ต่อมา เสฐียรพงษ์ วรรณปก นำมาปาฐกถาในงานสวดพระอภิธรรมศพ สุชีพ ปุญญานุภาพ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส อย่างค่อนข้างมีชีวิตชีวา

ต้องอ่าน

สมัยต่อมา เสถียร โพธินันทะ ได้เป็นอาจารย์สอนพระนิสิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านพาพระพม่า พระลังกา เที่ยวชมวัดต่างๆ

บางโอกาสท่านพูดภาษาบาลีกับพระเหล่านั้นคล่องแคล่วจนพระนิสิตถามว่า

“อาจารย์มิได้เรียนบาลีแต่ทำไมพูดบาลีได้”

เสถียร โพธินันทะ ตอบว่า “ผมจำศัพท์แล้วเอาศัพท์มาต่อๆ กัน ก็เห็นพระพม่า พระลังกาท่านเข้าใจนี่ครับ”

ว่าแล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างให้ฟัง

ท่านจะบอกพระพม่า พระลังกาว่า “ที่นครปฐมนี้แต่ก่อนเป็นป่ามีเสือเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” ท่านก็พูดเป็นบาลีว่า “อตีเต อิทัง ฐานัง อรัญญานิ พหู พยัคฆา อิทานิ นัตถิ นัตถิ”

พระนิสิตฮากันตรึม เพราะบาลีของอาจารย์เป็น “บาลีเถื่อน” มิมีไวยากรณ์ แต่ก็ฟังรู้เรื่อง

ความรู้ภาษาบาลีของ เสถียร โพธินันทะ ได้มาอย่างไร ในคราวเดียวกันนี้ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ก็ไขให้ได้รับรู้อย่างน่าสนใจ

เสถียร โพธินันทะ อ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยแล้วอยากทราบว่าตรงนันๆ ต้นฉบับภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็ไปถามท่านสุชีโวผู้เป็นอาจารย์

ท่านก็เปิดพระไตรปิฎกให้ดูและบอกวิธีค้นด้วย ต้องดูข้อให้ตรงกัน

ส่วนหนึ่งนั้นฉบับภาษาไทยกับบาลีอาจคลาดเคลื่อนได้ เสถียร โพธินันทะ ไปเปิดตามอาจารย์บอก อ่านกลับไปกลับมา 2-3 เที่ยวก็จำได้หมด

เวลาไปพูดที่ไหนก็อ้างภาษาบาลีเป็นหน้าๆ เป็นที่อัศจรรย์