‘เศรษฐา’ เปิดใจ มุ่งทำการเมืองเพื่อประชาชน เตรียมปลด-พักหนี้ ครั้งใหญ่

หลังจากทำงานในฐานะรัฐบาลผ่านมาแล้วร่วม 2 เดือน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ถือฤกษ์วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 แถลงผลงานรัฐบาล ที่ได้ทำนโยบายเร่งด่วนเน้นดูแลปากท้องประชาชน (quick win) ทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร รักษาเสถียรภาพข้าว จ่ายค่าเก็บเกี่ยว 20,000 บาท

จากนั้นถัดมาในวันรุ่งขึ้น ก็แถลงเดินหน้าโครงการ “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” อันเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล

หลังแถลงรายละเอียดโครงการที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เครือมติชน-ประชาชาติธุรกิจ ถึงความมุ่งมั่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้แจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท ให้ประชาชน 50 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากรวมทุกบัญชีน้อยกว่า 5 แสนบาท

ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับว่า การเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน มีความเสี่ยง โดยขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ถือเป็นความเสี่ยงแรกว่าจะตีความออกมาอย่างไร แต่ตนมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง

หากอะไรไม่ถูก ก็ให้บอกมา

 

“ผมไม่มีการล็อบบี้ โทร.หาคณะกรรมการใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างว่าไปตามเนื้อผ้าหมด ถ้าผ่านกฤษฎีกาก็เอาเข้าสภา ก็ต้องมีเสียงข้างมากแน่นอน สภาล่างผ่าน ก็ไปสภาบน ถ้าสภาบนไม่ผ่านก็ตีตกไปอยู่สภาล่าง สภาล่างผ่านก็คือผ่าน สภาบนผ่านก็คือผ่าน ก็เดินหน้าได้ แต่ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่าน ก็ถือว่าเป็นความซวยของประเทศ ผมไม่รู้ว่าผมพูดอย่างนี้ได้หรือเปล่า เพราะยังไงผมก็ไม่อยากให้โดนเขี่ยตก”

กรณีฝ่ายค้านบอกเป็นแผนหาทางลง เพราะรู้อยู่แล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนเข้ามาวันนี้ไม่ได้อยากเป็นนายกฯ แต่มาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนดีขึ้น ถ้านโยบายหลักไม่ถูกผลักดันออกไป ตนก็เหนื่อย ถ้าตนไม่สามารถกระตุกเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ตนก็ไม่สมควรต้องอยู่ตรงนี้

“ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน บรรทัดฐานของเขา ของผม มันต่างกัน จุดมุ่งหมายบางคนที่อยากเป็นนายกฯ แล้วก็ต้องมีอะไรมาอธิบายให้ฟัง ที่ทำไม่ได้ แล้วก็หล่อๆ พอทำไม่ได้ ไม่เป็นไรก็อยู่ต่อไป แต่สำหรับผม ถ้านโยบายนี้ผลักดันไปไม่ได้ ก็ต้องหาอย่างอื่นมาทำต่อ แต่ผมมั่นใจว่านโยบายนี้ มันต้องดี”

“จริงๆ แล้วผมมั่นใจว่านโยบายนี้สามารถจัมพ์สตาร์ตชีพจรเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาได้”

 

ขณะที่นโยบายต่อไปที่เตรียมผลักดันต่อ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นต้นตอของอาชญากรรมด้วย โดยจะเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะแถลงข่าวใหญ่เรื่องนี้ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“มติชนทำโพลมาชัดเจนที่สุดแล้ว คือ เรื่องหนี้ เพราะเป็นปัญหา เป็นต้นต่อของอาชญากรรม เป็นต้นตอของยาเสพติด ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องกำกับดูแลอย่างจริงๆ จังๆ”

สำหรับเรื่องแก้หนี้ในระบบ อย่างหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ปัญหา ขณะที่หนี้นอกระบบก็เป็นปัญหาใหญ่ ดอกเบี้ยเดือนละ 10-15% ซึ่งไม่ถึงปี ดอกเบี้ยก็ทบต้นไปแล้ว ดังนั้น ต้องใช้กลไกระดับอำเภอเข้าไปจัดการ คือ ผู้กำกับการตำรวจในแต่ละพื้นที่ และนายอำเภอ ซึ่งจะต้องมีการเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่กับลูกหนี้มาเคลียร์กัน และต้องมี KPI วัดผลการทำงานด้วย โดยตนจะดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

“ต้องเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่กับลูกหนี้มาเคลียร์กัน อย่างเช่น เป็นหนี้อยู่ 1 แสนบาท 3 ปีจ่ายไปแล้ว 4 แสนบาท รวมดอกด้วย ดูแล้วก็ไม่ควรที่จะต้องจ่ายถึง 4 แสนบาท เพราะดอกเบี้ยตามกฎหมายมันไม่ถึง ยังไม่ถึงจำนวนนั้น แสดงชัดเจนว่า มีการคิดดอกเบี้ยแพงเกินไป ก็เลิกไปเถอะ ให้จบๆ ไป ไม่งั้นผมจับคุณ โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้เลย ในการให้ผู้กำกับฯ กับนายอำเภอลงไปจัดการ”

ขณะที่หนี้ของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขึ้นมา เพื่อจะบริหารจัดการหนี้รหัส 21 (หนี้เสียที่เกิดขึ้นจากช่วงสถานการณ์โควิด-19) ซึ่งเรื่องนี้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะครอบคลุมหนี้ของธนาคารพาณิชย์ด้วยหรือไม่ แต่เฉพาะหนี้ของธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ก็มีพอสมควร

“หนี้ครูก็กำลังคิดหาวิธีจัดการอยู่ คือ ดูทุกๆ ภาคส่วน อย่างเช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ก็ต้องตั้ง AMC ขึ้นมารับหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ รัฐมนตรีช่วยกฤษฎาทำอยู่”

นายกฤษฎากล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบเรื่องการแก้ปัญหาหนี้รหัส 21 ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด ตั้งแต่ 2563 ซึ่งอาจจะต้องตั้ง AMC ขึ้นมารับหนี้ไปบริหาร

 

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องแก้ปัญหาหนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยจะมีหลายส่วนรับผิดชอบ สำหรับตนรับผิดชอบในส่วนที่เป็นการพักหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการพักหนี้เกษตรกรไปแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายขอบเขตเกษตรกรที่จะได้รับการพักหนี้ รวมถึงกำลังดำเนินการเรื่องพักหนี้ให้กับเอสเอ็มอี โดยโจทย์ที่ได้มาก็คือ การแก้ปัญหาให้ลูกหนี้รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

“ผมจะดูเรื่องพักหนี้ ซึ่งในส่วนของเกษตรกร กำลังพิจารณาว่าจะขยายให้กับเกษตรกรที่มีหนี้เกิน 3 แสนบาทเพิ่มเติมด้วย”

จากรายงานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) อัปเดตจนถึง ณ เดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ภาพรวมบัญชีบุคคลธรรมดา ที่มีรหัสสถานะบัญชี 21 (ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ซึ่งเป็นสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี ปรับเพิ่มขึ้น 5 แสนบัญชี จากเดือนมีนาคม 2566 โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ราว 2 แสนบัญชี

ขณะที่จำนวนเม็ดเงิน พบว่า ณ เดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 6 หมื่นล้านบาท จากเดือนมีนาคม 2566 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจราว 3.6 หมื่นล้านบาท และจำนวนลูกหนี้ปรับเพิ่มขึ้นราว 3 แสนราย จาก 3.1 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน

 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับเกิน 90% ของ GDP สร้างความกังวลให้นักลงทุน เพราะมีสัดส่วนที่สูงและสะสมมานาน ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ ทั้งหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ตำรวจ หนี้ครู รวมถึงหนี้ข้าราชการอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาดำเนินการภายใต้กฎหมายที่กำหนด

“ในส่วนการแก้หนี้ กยศ. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกองทุน กยศ.ฉบับใหม่ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งมีการกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และคำนวณภาระหนี้สินย้อนหลังด้วย จะทำให้ลูกหนี้หลายคนหมดหนี้ หรือแม้แต่คนที่ชำระไปแล้ว บางคนอาจจะได้เงินคืนด้วย”

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กยศ.กล่าวว่า เมื่อคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่ จะมีกลุ่มที่ยอดหนี้ลดลงอย่างชัดเจน และอาจมีบางกลุ่มที่ยังผ่อนอยู่ และยังผ่อนไม่หมด แต่พอคำนวณใหม่ อาจจะปิดยอดได้เลย ส่วนลูกหนี้ที่ได้ปิดยอดไปแล้ว กยศ.จะไปคำนวณให้ใหม่ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

“กลุ่มลูกหนี้ที่เร่งด่วน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ในชั้นของกรมบังคับคดี จำนวน 4.6 หมื่นคน จะทำให้เสร็จในเดือนธันวาคม 2566 นี้ กลุ่มที่สอง คือลูกหนี้ที่จะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2567 ประมาณ 4 หมื่นคน จะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นข่าวดีและเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้ กยศ.ทั้งหมด”

ภาพทั้งหมดนี้เป็นการเร่งเครื่องทำงานอย่างเต็มที่ของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นั่นเอง