อคติทางการเมือง ของบุคลากรยุติธรรม

เหยี่ยวถลาลม

 

อคติทางการเมือง

ของบุคลากรยุติธรรม

 

ธรรมชาติสุดประหลาดที่สุดของมนุษย์เราคือ พอพูดถึงศีลธรรม จริยธรรม ความดีงามแล้วเคลิบเคลิ้ม จนในที่สุดก็จะพลัดหล่นลงไปใน “หลุมลึก”

นั่นคือ เมื่อรัก ชอบ หรือพึงพอใจไม่ตรงกันก็ทะเลาะกัน ความมีศีลธรรมซึ่งควรจะดี ควรจะงดงามและนำความผาสุกมาสู่มนุษยชาติกลับก่อให้เกิด “วิกฤต”

มีประวัติศาสตร์บันทึกชัดว่า บ่อยครั้งมนุษย์เราถึงกับแบ่งฝ่ายแล้วยกพวกฆ่ากัน

ช่างเป็นไปได้ ความยึดมั่นถือมั่นนำไปสู่ “สงครามศาสนา” รบกันเป็นสิบปีร้อยปี เป็นมาแบบนี้ตั้งแต่ยุคโบราณจวบจนปัจจุบัน เกิดขึ้นทั้งในซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก

หรือว่ามนุษย์เป็นเจ้าแห่งความลุ่มหลง โน้มเอียง อคติ!

อย่าว่าแต่นับถือถือศาสนาต่างกันเลย แม้ศาสนาเดียวกัน แต่คนละนิกายก็ก่อสงครามได้

 

“ศีลธรรม” จึงไม่ใช่หลักประกันของความดี เช่น “เมืองพุทธ” อย่างไทยที่มีจารีตประเพณีวัฒนธรรมงดงาม เคยอยู่ร่วมกันร่มเย็นเป็นสุข

ทำไมจึงเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และพฤษภาอำมหิต 2553!?

ภายใต้ข้ออ้างต่างๆ สารพัด ทุกครั้ง “เจ้าหน้าที่รัฐ” ใช้อาวุธสงครามล้อมฆ่าหรือส่องยิงด้วยไรเฟิลจนเป็น “บัญชีอาชญากรรม” ที่กระบวนการยุติธรรมไทยปิดไม่ลง

มีคำถามว่า ทำไมต้อง “ฆ่า” และเหตุใด “ผู้ฆ่า” จึงไม่เคยถูกนำตัวเข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา”!?

 

ถ้าพิจารณาจาก”ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 เป็นต้นมา “อำนาจรัฐ” อยู่ในมือทหารมากกว่าพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งชนิดเทียบกันไม่ติด

หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายควง อภัยวงศ์ ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่กี่วัน คณะรัฐประหารก็จี้ให้ลาออก แล้วจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรียาวนานถึง 9 ปี 5 เดือน 8 วัน

กระทั่ง “16 กันยายน 2500” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจ

“สฤษดิ์” ตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกฯ นอมินี ได้ร้อยวันก็เอาอำนาจคืน ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นลูกน้องนั่งขัดตาทัพ ระยะหนึ่ง “สฤษดิ์” ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองจนถึงแก่อสัญกรรมในเดือนธันวาคม 2506

นับจากนั้น “ถนอม” ก็ครองอำนาจสืบมาจนถึงวันวิปโยค “14 ตุลาคม 2516” จึงสิ้นอำนาจ

ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516-15 กุมภาพันธ์ 2518 มีนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์

รวมเวลาที่ “อำนาจรัฐ” อยู่ในมือของทหารและตัวแทน รอบแรกนี้ 28 ปี!!

 

ถัดมาได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี “พลเรือน” ที่มาจากการเลือกตั้ง นั่งคั่นสั้นๆ แค่ 1 ปี กับ 200 กว่าวัน

เกิดเหตุ “สังหารหมู่” 6 ตุลาคม 2519!!

หลัง 6 ตุลาคม 2519 รัฐประหารกันเป็นว่าเล่น จาก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ สู่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บริหารจัดการอำนาจ ส่งไม้ต่อให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่จนถึง “สิงหาคม 2531”

นับจาก 6 ตุลาคม 2519-4 สิงหาคม 2531 อำนาจรัฐอยู่ในมือทหารอีก 12 ปี

ต่อมามีการเลือกตั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่อยู่ได้แค่ 2 ปีกับ 200 กว่าวันเท่านั้น

“23 กุมภาพันธ์ 2534” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ “ยึดอำนาจ”

ต่อมา พล.อ.สุจินดา คราประยูร พยายาม “สืบทอดอำนาจ” จนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535”

 

นักการเมืองพลเรือนได้เริ่มต้นกันอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีไล่ตามลำดับ นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายทักษิณ ชินวัตร

ตั้งแต่ 23 กันยายน 2435-19 กันยายน 2549 รวมเวลา 14 ปี

ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารทำรัฐประหารอีก ใช้เวลายึดครอง ล้างไพ่ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติการาวปีกว่าๆ ก็จัดให้เลือกตั้ง

วันที่ 29 มกราคม 2551 ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” ฝ่าเกมการเมืองไปได้แค่ 200 กว่าวัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นแทนก็นั่งได้ไม่ถึง 100 วัน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง!

เปลี่ยนไปให้อีกฝั่งหรืออีกขั้วการเมืองบ้าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ เจอแค่เสียงโหวกเหวกเรียกร้องให้ “ยุบสภา” น่ารำคาญ แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ 99 ศพ ยังคงเพรียกหาความยุติธรรม!

การเมืองของพลเรือนดำเนินมาตั้งแต่ 29 มกราคม 2551 สิ้นสุดลงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แค่ 6 ปีกว่า คณะรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ผบ.ทบ.” ก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนด้วยข้ออ้างเก่าๆ เดิมๆ

จากนั้น “ประยุทธ์” ก็อยู่ยาวมาจนถึงเลือกตั้ง 2566

รวมเวลา 9 ปี 3 เดือน

 

วันนี้ประเทศไทยเพิ่งจะมี “นายกรัฐมนตรี” ที่มาจากพลเรือนผ่านกระบวนการเลือกตั้งอีกครั้ง ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้สักกี่น้ำ

สรุปความว่าตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2490 ถึงพฤศจิกายน 2566 เป็นเวลา 76 ปี “ทหาร” ยึดอำนาจ ครองอำนาจ หรือให้ผู้แทนครองอำนาจรวมกันแล้ว 54 ปี

ส่วนนักการเมืองพลเรือนจากการเลือกตั้ง ได้บริหารประเทศแค่ 22 ปี

การเมืองไทยกลายเป็น “แม่บท” ของการฉีกทำลาย “กฎ”!

แม้ว่าระบบการเมืองการปกครองที่ดีได้สถาปนาขึ้นแล้ว ทั้งศีลธรรมที่คลุมเครือก็ได้รับการพัฒนาขึ้นจนเป็น “กฎ” เพื่อที่จะได้เรียกตัวเองว่าเป็น “นิติรัฐ” แล้ว แต่ในความเป็นจริงด้วยบริบททางการเมืองที่ถูกครอบงำจาก “อำนาจรัฐ” ได้มาโดยมิชอบอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ทำให้คนใน “กระบวนการยุติธรรม” คุ้นชินกับการจำนนและลำเอียง

ก็ชั่วชีวิตที่เรียนรู้ซึมซับและเจริญเติบโตมาในระบบก่อให้เกิดความเชื่อว่า “กระบอกปืน” สำคัญและควรรับฟังยิ่งกว่า “กระบอกเสียง”!

ความถูกผิดทั้งหลายจึงเพี้ยนไป

ผิดเป็นเรื่องผู้น้อย ถูกเป็นเรื่องผู้ใหญ่

ผู้มีอำนาจหรือตำแหน่งใหญ่เป็นสิ่งเดียวกับ “ความถูกต้อง”

สำหรับ “ผู้น้อย” เจ้าหน้าที่ระดับล่าง หรือชนชั้นล่าง หากผิด ต้องรับผิด มีโทษ

“ผู้ใหญ่” หากพลาด มีทางออก สามารถผ่อนหนักเป็นเบา หรือเป่าให้หายไปในสายลม

บังคับใช้กฎหมายตาม “การบังคับบัญชา” มากกว่าบังคับใช้กฎหมายตาม “จิตวิญญาณ” ที่มุ่งผดุงความยุติธรรม ความอยุติธรรมจึงยังคงเกิดขึ้นให้เห็นเป็นปกติ!?!!