‘เห็น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

สําหรับผม ข้อดีข้อหนึ่งของการทำงานในป่า คือ ได้ฟัง มากกว่าพูด

รวมทั้งได้เห็น มากกว่าการมองด้วยสายตาธรรมดา

อยู่ในป่า หลายวันในแคมป์ มีเพื่อนร่วมทางที่ผมเรียกว่า คู่หู หนึ่งคน เรื่องที่จะคุยกันหมดไปตั้งแต่สองวันแรก วันหลังๆ เราทำเพียงนั่งคนละด้านกองไฟ ดูเปลวไฟร่ายรำ

เช้ามืด คู่หูตื่นก่อน เขาหุงข้าว ย่างกุนเชียงใส่กล่องเป็นอาหารให้ผมกินได้สองมื้อ ตอนสายและบ่ายๆ

เขาช่วยแบกอุปกรณ์ เดินไปส่งถึงซุ้มบังไพร และมารับตอนพลบค่ำ

หลายครั้งที่ผมรับรู้การมาถึงของเขา แต่เขาจะนั่งซุ่มเงียบ เพราะรู้ว่ามีตัวอะไรอยู่ในโป่ง ถ้าหากลมไม่เปลี่ยนทิศทาง กระทิง แม้แต่ช้าง จะอ้อยอิ่งอยู่ที่นั่น การเผยตัวย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ในกรณีนี้ผมจะค่อยๆ ออกจากซุ้มบังไพรมาพบกับคู่หูที่รออยู่

เขารับอุปกรณ์ไปช่วยถือ ไม่ถามว่าวันนี้เป็นอย่างไร ผมเดินตามเขากลับแคมป์เงียบๆ ถ้าเป็นคืนข้างขึ้น เราไม่ต้องพึ่งไฟฉาย หากเป็นคืนข้างแรม เขาจะเปิดไฟฉายเป็นระยะๆ

ในป่าไม่มืดมิดนักหรอก สายตาปรับให้ชินกับความมืดได้

ถึงแคมป์ ผมไปอาบน้ำ คู่หูจะเตรียมอุ่นกับข้าว ถ้าเราอยู่กันมากว่าสัปดาห์ น้ำพริกปลากระป๋องจะเป็นอาหารหลัก

ในหน้าแล้ง คืนข้างขึ้น ผมมักอ้อยอิ่งกับการแช่น้ำ

กินข้าวเสร็จ เรานั่งคนละฟากกองไฟ สักพักจึงแยกไปขึ้นเปลนอน ไม่พูด ไม่ส่งเสียง เราจึงได้ยินเสียงรอบๆ เขียดส่งเสียงแข่งกับแมลง นกเค้าแมวร้องเป็นจังหวะ

เก้งส่งเสียงกระชั้นๆ คล้ายเสียงหมาเห่า บางคืนเสียงเสือคำราม

สิ่งเหล่านี้ ผมฟังได้ยินและเห็น โดยไม่ต้องใช้สายตา

 

วันหนึ่ง เราออกจากแคมป์ตั้งแต่ตีห้า ตั้งใจว่าจะเข้าซุ้มบังไพรตั้งแต่ฟ้าเริ่มสว่าง

อากาศยามใกล้รุ่งเย็นสบาย เราเดินไปเงียบๆ ผมหันกลับไปมองคู่หูที่เดินตามมา เราไม่ค่อยได้พูดกันนักหรอก

แต่ยิ่งนับวัน ผมรู้ว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้น คือสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพ

ผมไม่รู้หรอกว่า เขาคิดอะไร ในเวลาที่สมควรนอนสบายๆ อยู่บนเปล

งานหลักของเขา คือ การปกป้องดูแลสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมัน

ผมไม่รู้เลยว่า คนทั่วไปจะคิดเช่นไร เมื่อได้ข่าวช้าง หรือกระทิง ถูกฆ่าในป่า

ผมรู้แต่เพียงว่า คู่หู รวมทั้งคนทำงานในป่าต่างก็เอาจริงกับงานของพวกเขา

กวางป่า – กวางสบายตัวขึ้นเมื่อนกขุนแผนช่วยกำจัดแมลงที่ตอมแผลที่คอให้

ซุ้มบังไพรหันหลังให้ทิศตะวันออก ดังนั้น ช่วงเวลาบ่าย จึงเป็นช่วงที่ซุ้มร้อนอบอ้าวราวกับเตาอบ

วันนี้ตั้งแต่เช้า กระทิงค่อนข้างผอมตัวหนึ่งวนเวียนอยู่กับแอ่งน้ำที่มีสภาพเป็นหลุมเล็กหลายหลุม

กวางตัวผู้ที่คอเป็นแผลกว้าง หรือที่เรียกว่า เรื้อนกวาง เดินเข้ามาร่วมวง

แผลที่คอกวาง เต็มไปด้วยแมลงหวี่ เห็นเป็นจุดดำๆ

“เมื่อก่อนกวางไม่มีแผลอย่างนี้หรอก” คืนหนึ่ง ผมคุยกับคู่หู เรื่องเรื้อนกวาง และผมถามคู่หู ผมตั้งใจฟังที่เขาตอบ

“แต่มีอยู่วันหนึ่ง กวางกับเก้ง ซึ่งเป็นเพื่อนรักเกิดเถียงกันใหญ่” คู่หูเริ่มนิทานอีกบท ผมยิ้ม

“เก้งมันชอบกินมะขามป้อมก็บอกว่า มะขามป้อมหวาน กวางไม่เชื่อ บอกมะขามป้อมขม ทั้งคู่เลยท้ากัน เก้งว่า ถ้ากวางกินแล้วหวานก็ขอให้กวางคอแตกแล้วกัน กวางตกลงไปกินมะขามป้อมกับเก้ง กินเข้าไปตอนแรกมีรสฝาด กวางดีใจใหญ่คิดว่าตัวเองถูก จากนั้นก็ไปกินน้ำ พอกินน้ำรสฝาดของมะขามป้อมหวานขึ้นมา กวางติดใจกลับไปกินมะขามป้อมอีก คอเลยแตก อย่างที่เห็นนี่แหละ”

คู่หูเล่าหน้าตาเฉย

นิทานมีส่วนจริงอยู่บ้าง คือ มะขามป้อมรสฝาดๆ นั่นจะมีรสหวานปะแล่มๆ ทันทีเมื่อเราดื่มน้ำ

ข้างกองไฟ เราไม่พูดกันนัก นิทานเรื่องนี้ ผมก็ฟังมาหลายครั้ง ผมไม่รู้ว่า นิทานเรื่องนี้เล่ากันมานานเพียงไร และถูกเสริมเติมอย่างไร

แต่ฟังอย่างตั้งใจ เมื่อคนอื่นพูดสำคัญ

 

อีกวัน กวางเข้ามาในโป่งตั้งแต่เช้า ผมมองกวางตัวนั้นก้มกินน้ำ สลับการเงยหน้าดูรอบๆ

แม้ว่าดวงตาของสัตว์กินพืชจะอยู่ในตำแหน่งค่อนมาทางหูมากทำให้ไม่ต้องเงยหน้าก็สามารถมองเห็นรอบๆ ได้ แต่การเงยหน้าหันมองรอบๆ เป็นระยะก็เป็นสิ่งที่มันทำ

ดวงตาดำขลับกลมโต ขนตายาวสลวย

ผมนั่งมองอยู่นาน มองด้วยสายตาเปล่า ไม่ได้ผ่านช่องมองภาพ

มองด้วยสายตาที่ไม่มีอะไรขวางกั้น

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ละมัง จึงทำให้ผม “เห็น” พวกมัน

และผมก็รู้ว่า สิ่งที่ทำให้ผมเห็น นั่นเพราะเป็นการมองด้วยสายตาที่ผ่านหัวใจ •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ