สงครามในกาซา กับ ‘ปรากฏการณ์ของสปิริต’ (Phenomenology of Spirit)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

สงครามในกาซา

กับ ‘ปรากฏการณ์ของสปิริต’

(Phenomenology of Spirit)

 

สงคราม (ที่ไม่ค่อยตรงความหมายนัก) ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ดำเนินมาเดือนกว่าแล้ว (จากวันที่ 7 ตุลาคมถึงปัจจุบัน)

ให้ภาพและเรื่องที่บอกเล่าถึงความโหดร้ายและความดำมืดในความเป็นมนุษย์อย่างที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้มาก่อน

แน่นอนความรุนแรงและโหดเหี้ยมของสงครามในอดีตไม่ว่ามุมไหนของโลกย่อมสะท้อนถึงความล้มละลายของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น

แต่ที่ต่างกันในสงครามกาซาคือความเร็ว ลึก กว้าง และหลากมิติของรายงานข่าวที่ออกมาจากสนามรบเข้ามายังเครื่องรับสารในบ้านและในมือของผู้เสพข่าว มีผลทำให้สงครามในกาซาเป็นสงครามที่เหมือนกับเกิดขึ้นในบ้านของคนส่วนใหญ่ในโลก

ไม่แปลกใจที่อารมณ์ความรู้สึกของมหาประชาชนที่คัดค้านสงครามและความรุนแรงทุกรูปแบบเกิดขึ้นและขยายไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ได้เคยเกิดขึ้นในสงครามใหญ่ระดับโลกเช่นสงครามเวียดนามหรืออินโดจีนที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างแรงสะเทือนที่มีผลต่อการเปลี่ยนนโยบายสงครามของรัฐบาลอเมริกันลงได้

The Confessions of Nat Turner โดย William Styron

ข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจในสงครามนี้คือพลเรือนที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร้มนุษยธรรมและขอบเขตเมื่อเปรียบกับสงครามและความรุนแรงในการต่อสู้ที่ผ่านมาคือคนปาเลสไตน์ผู้หญิง และเด็ก ลองดูจากสถิติที่องค์กรสตรีสหประชาชาติ (UNWomen.org) รวบรวมขึ้นมาดังนี้

7,330 จำนวนสตรีและเด็กที่ถูกฆ่าตาย

788,800 จำนวนสตรีและเด็กหญิงที่ถูกพรากจากบ้านของพวกเขา

2,023 จำนวนสตรีที่กลายเป็นม่าย เป็นหัวหน้าครอบครัวเพราะผู้ชายที่เป็นหัวหน้าหรือสามีเสียชีวิต

7,282 จำนวนเด็กที่สูญเสียพ่อ

50,000 ผู้หญิงในฉนวนกาซาที่ตั้งครรภ์ และจำนวน 5,522 กำหนดคลอดในเดือนหน้า

นอกจากสงครามที่ต่อสู้ห้ำหั่นกันด้วยอาวุธแล้ว ขณะนี้สงครามอีกแนวรบกำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งเสียงกระแทกกระทั้นไปยังโสตประสาทของผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนอย่างหนักหน่วง นั่นคือปฏิกิริยาจากนักหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ที่แสดงความเห็นว่า การเสนอข่าวสงครามระหว่างสองฝ่ายในกาซานั้นไม่เป็นกลาง

มีการใช้ศัพท์ว่า “สองมาตรฐาน” กล่าวคือ สำนักข่าวใหญ่ๆ ทั่วโลกพากันรายงานข่าวตามความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น มีการถล่มระเบิด ยิงจรวดไปที่ไหน มีการสังหารกันที่ไหน พอเห็นภาพว่าข่าวรายงานความจริง

แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้มีการนำเสนอข่าวในสนามรบใหม่ อ้างว่ามีการใช้ศัพท์และข้อความที่สื่อความหมายให้ผู้อ่านอย่างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

เช่น ฝ่ายอิสราเอลและสหรัฐบรรยายเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมไม่ใช่เพียงแค่มีการสังหารคนอิสราเอลไปหลายคน หากแต่เขาเน้นว่าต้องระบุด้วยคุณศัพท์ว่า “โหดเหี้ยม” (brutal) “ป่าเถื่อน” (barbaric) “เป็นมนุษย์เหมือนสัตว์” (human animals)

บรรดาคุณศัพท์ที่ระบุความป่าเถื่อนของนักรบฮามาสเป็นสิ่งที่สำนักข่าวอิสราเอลและกระแสหลักของอเมริกาต้องใส่ทุกครั้งที่เอ่ยถึง รวมไปถึงการระบุถึง “ฮามาส” ก็ต้องระบุด้วยว่า “คือองค์การก่อการร้าย” (terrorist organization) อันหลังนี้ผมจับได้เมื่อฟังสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน ในขณะที่บีบีซีของอังกฤษไม่ทำ

ตรงนี้คือปมเงื่อนของปัญหาขัดแย้งกันระหว่างผู้สื่อข่าวสำนักต่างๆ ทั่วโลก ความเป็นจริงที่ว่านี้มันหมายความและกินความถึงอะไร

โดยทั่วไปนักข่าวและผู้เกี่ยวข้องตามวิชาชีพมักถือเอาสภาพที่เป็นจริงในเวลานั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปหาว่ากำเนิดหรือที่มาของความขัดแย้งในเหตุการณ์นี้มาจากอะไร ใครเป็นคนก่อเรื่อง ที่ทำให้เรื่องมันยาวและยุ่งยากมาถึงปัจจุบัน

กรณีการใช้ความรุนแรงวันที่ 7 ตุลาคม ก็เริ่มจากเหตุการณ์วันนั้นวันเดียว และจากนั้นก็เป็นการตอบโต้ของกองทัพอิสราเอลอย่างดุเดือดเลือดพล่านทุกวันจนเป็นเดือน ในขณะที่ฝ่ายฮามาสและพันธมิตร เช่น ฮิซบอลละห์และกลุ่มจีฮาด ทำการโจมตีประปรายจากเลบานอน

จุดที่เดือดและกำลังพุ่งไปทั่วโลกคือความหายนะและการทำลายล้างขนาดใหญ่ในกาซาตอนเหนือ รวมไปถึงทางใต้ด้วย

และที่เป็นประเด็นโต้แย้งร้อนแรงคือการโจมตีต่อโรงพยาบาลและการตัดไฟและเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้การรักษาพยาบาลด้วยเครื่องมือจำเป็นต่างๆ ไม่อาจใช้ได้ เป็นการฆ่าอย่างเลือดเย็นในสายตาของคนที่มองจากภายนอกอย่างมีจิตใจ

การหยุดคิดและถามว่าการกระทำอย่างรุนแรงของกองทัพอิสราเอลนั้นเหมาะสมชอบธรรมหรือไม่ ถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนการก่อการร้ายของฮามาส มองว่าเป็นการไม่ยืนหยัดใน “สิทธิในการป้องกันตนเอง” ของอิสราเอล หลังจากถูกทำร้ายอย่างทารุณ มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตไปถึง 1,400 คน

แต่ขณะนี้ทางการอิสราเอลแก้ไขตัวเลขใหม่แล้วว่าคือ 1,200

ทั้งหมดนี้เป็นสงครามข้อมูลข่าวสารที่ทุกฝ่ายต้องการให้ชาวโลกได้เห็นและรับรู้ ว่านี่คือความจริง

 

อาทิตย์แรกหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม สำนักข่าวเศรษฐกิจการเงินในกรุงเทพฯ ติดต่อขอสัมภาษณ์ผมถึงเหตุผลว่าทำไมฮามาสถึงตัดสินใจกระทำการอันน่าหวาดกลัวและรุนแรงสุดสุดต่อคนอิสราเอล

พวกนั้นไม่คิดหรือว่าอิสราเอลจะต้องตอบโต้แก้แค้นอย่างรุนแรงไม่น้อยกว่าที่ถูกกระทำแน่นอน เพราะตัวอย่างมันเกิดมาก่อนแล้วในหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ท้าทายมาก ผมเองก็ถามตัวเองแบบนี้เหมือนกันทันทีที่ดูข่าวสังหารโหดวันที่ 7 ตุลาคมเสร็จ

แปลกที่ผมหาคำตอบให้ตัวเองได้ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ผมบอกตัวเองว่ากลุ่มฮามาสได้กระทำในสิ่งที่พวกทาสในอดีตเคยกระทำมาก่อนแล้ว นั่นคือการลุกขึ้นทำการกบฏต่อนายทาส

มันเป็นสิ่งที่นักปรัชญาใหญ่เฮเกลเรียกว่า “วิภาษวิธีนายทาสกับทาส” (the master and slave dialectic) ดังนั้น ผมจึงพอรู้ว่าจะตอบสำนักข่าวเศรษฐกิจการเงินนั้นอย่างไร

แต่วันที่ผู้จัดรายการโทร.มาถามผม ผมลังเลใจและบอกไปว่าไม่มีความรู้ในภูมิภาคนี้ดีพอจะตอบได้ละเอียด เขายืนยันว่าตอบในมุมของการเมืองโลกอย่างกว้างๆ ก็ได้ เพราะเคยเห็นผมพูดในหลายเวที

แต่วันแรกนั้นผมยังปฏิเสธไม่รับออกรายการ และขอเวลาคิดก่อน จนผมปรึกษากับภรรยาแล้ว ซึ่งพอได้ฟังแนวคำตอบของผมว่าเหตุการณ์นี้คือการกบฏของทาส เขาก็ตกใจบอกว่ามันเป็นการพูดที่มากเกินไป และจะทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยเกิดความไม่พอใจ

พูดสั้นๆ คือการตอบในโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงคนจำนวนมากและรวดเร็ว ออกจะเป็นการสุ่มเสี่ยง นำไปสู่การมีทัวร์ลงที่ผมก็ได้ เพราะเหมือนมีธงอยู่ในใจ

ในที่สุดผมโทร.กลับไปหาผู้จัดรายการเศรษฐกิจการเงินนั้นและบอกว่ายินดีจะให้สัมภาษณ์ รายการดำเนินไปราวหนึ่งชั่วโมง แต่คำถามที่หนักหน่วงคืออันแรกว่าทำไมฮามาสถึงกล้าทำอะไรที่เป็นเหมือนการฆ่าตัวตาย

(ฮามาสปลดแอกทาส ปลุก ‘รัสเซีย-อิหร่าน-เกาหลีเหนือ’ จัดระเบียบโลก – Money Chat Thailand – YouTube)

 

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้คิดคำตอบด้วยตัวเองหรือด้วยสติปัญญาของตนเองแต่อย่างไร

หากผมนำมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดในมลรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อทาสผิวดำชื่อแนธาเนียล หรือ “แนต” เทอร์เนอร์ นำพวกทาส 6 คนลุกฮือกบฏในวันที่ 21 สิงหาคม 1831 สังหารนายทาสและครอบครัวทั้งหมดรวมทั้งลูกสาวนายทาสที่เป็นเพื่อนสนิทของเขาด้วย ซึ่งเติบโตและเล่นด้วยกันมาแต่เด็กๆ

จากนั้นแนตรวบรวมพรรคพวกทาสผิวดำได้ 75 คนบุกเข้ายึดอาวุธในคลังและได้ม้าไปด้วย การกบฏสังหารคนผิวขาวไป 55 คน ก่อนที่ฝ่ายกบฏทาสจะถูกปิดล้อมแล้วจับได้หมด

แนตและพวกอีก 16 ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่เมืองเยรูซาเลม เวอร์จิเนีย

เหตุการณ์นี้สั่นสะเทือนความรับรู้เรื่องทาสของคนอเมริกาผิวขาวอย่างมาก นำไปสู่การออกกฎหมายทาสที่เข้มงวดและกดขี่มากขึ้นอีก

รวมถึงการปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออกของคนผิวขาวในภาคใต้ต่อเรื่องทาส ไม่อาจวิจารณ์หรือคัดค้านการปฏิบัติในระบบทาสผิวดำได้เลย เป็นการปิดตายทางความคิดอย่างเสรีนิยมในภาคใต้

ผลระยะยาวคือการแก้ปัญหาระบบทาสจึงต้องไประเบิดในสงครามกลางเมืองอีก 3 ทศวรรษต่อมา

 

ประวัติศาสตร์การกบฏของทาสต่อนายทาสมีความหมายต่อคนรุ่นหลังมากขึ้นเมื่อนักปรัชญาเยอรมันนามเฮเกล นำมาวิเคราะห์ในหนังสือสำคัญเรื่อง “ปรากฏการณ์ทางจิตหรือความคิด” (Phenomenology of Spirit) ที่มองว่าความเป็นตัวตน (selfhood) ของมนุษย์ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้โดยอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียว หรือไม่อาจสามารถเกิดขึ้นมาได้โดยเป็นอิสระจากโลกทางวัตถุที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของมัน

มนุษยชาติและความเป็นตัวตนของมนุษย์ต้องกำเนิดมาจากการผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านการต่อสู้ และสถานะของพวกเขานั้นได้มาจากการที่มีคนอื่นรับรอง (recognition) อัตลักษณ์ของมนุษย์และสำนึกโดยธรรมชาติเป็นภาวะสังคม (social) และเป็นสิ่งประวัติศาสตร์ (historical)

แต่ที่ปรัชญาเฮเกลมีอิทธิพลต่อการตีความของคนรุ่นหลังต่อมา อยู่ที่การเสนอว่าภาวะสองอย่างที่ตรงข้ามขัดแย้งกันอย่าสิ้นเชิงนี้ ไม่ได้อยู่ตายตัว หากแต่มันเป็นวิภาษวิธี ที่จะเกิดการผลักดันด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาวะระหว่างนายทาสกับทาส

นักศึกษาปรัชญารุ่นหลังบางคนบอกว่าน้ำหนักที่เฮเกลให้อยู่ที่ด้านเป็นปฏิปักษ์หรือการปฏิเสธ (negation) นั่นคือภาวะที่ทาสต้องทำการปฏิเสธการดำรงอยู่อย่างทาสของตน อันนำไปสู่การเกิดขึ้นของเสรีภาพ

อธิบายอย่างง่ายๆ เจ้าทาสมีอำนาจและทุกอย่างเหนือทาส จะฆ่าเมื่อไรก็ได้ จะให้กิน ให้ทำงานเมื่อไรก็ได้ สรุปจึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือทาสโดยสิ้นเชิง

แต่ในโลกความจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงจุดหนึ่ง ทาสไม่มีอะไรที่ต้องสูญเสีย เมื่อไรที่เขาเกิดจิตสำนึกในความเป็นคนของเขาขึ้นมา เขาต้องลุกขึ้นปลดปล่อยตนเองออกจากห่วงโซ่ที่พันธนาการเขาไว้ นั่นคือการกบฏ ลุกฮือของทาส

และเป้าหมายของการทำลาย คือนายทาสและทุกคนในครอบครัวนายทาส

 

นักประวัติศาสตร์อเมริกันนำเอาปรัชญาวิภาษวิธีนายทาสกับทาสมาใช้ แต่ไม่ได้ใช้กับกรณีแนต เทอร์เนอร์ หากแต่ใช้กับอดีตทาสที่กลายมาเป็นผู้นำต่อต้านระบบทาสคือเฟรเดอริก ดักลาสส์

ทำไมเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคมทำให้ผมถึงคิดถึงแนต เทอร์เนอร์ มากกว่าเฟรเดอริก ดักลาสส์

อาจเป็นเพราะมีการสังหารชาวบ้านพลเรือนรวมถึงสตรีและเด็กที่เป็นตัวประกัน ที่รวมๆ แล้วเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงทั้งนั้น

จุดนี้เองที่ทำให้ผมนึกถึงประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาอันตรายของแนต เทอร์เนอร์ กับครอบครัวนายทาสของเขาที่คนผิวขาวก็คิดไม่ถึงเช่นกัน