ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (4) 67 ปีท่องเที่ยว ลาว ไทย ฮักแพง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (4)

67 ปีท่องเที่ยว ลาว ไทย ฮักแพง

 

“สวัสดีอีกครั้งนะคะ เชิญทุกท่านตามสบายเลยค่ะ”

ท่านทูตมรกต พร้อมทีมงาน น.ส.จิรัสยา พีรานนท์ อัครราชทูต น.ส.ณัฏฐาพร พรหมเลิศ เลขานุการเอก ยืนยิ้มรอต้อนรับคณะกรรมการมูลนิธิ ในห้องรับรองสถานทูตไทยบ่ายวันนั้น

การเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตเป็นอีกภารกิจหนึ่งของการเดินทางไปพบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทุกประเทศ เพื่อแนะนำครูและกิจกรรมของมูลนิธิ เชิญชวนส่งเสริมครู นักเรียน และโรงเรียน ประสานนักธุรกิจและสื่อมวลชนในประเทศ ช่วยเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้

สถานทูตจึงเป็นโซ่ข้อกลางที่มีผลต่อความสำเร็จของการดำเนินงานมอบรางวัลแก่ครูผู้เสียสละเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์และระบบการศึกษาของทุกประเทศเป็นอย่างยิ่ง

เธอผ่านชีวิตนักการทูตมากว่า 35 ปี จบปริญญาตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ) University of Sussex สหราชอาณาจักร ปริญญาโท การพัฒนาศึกษา สถาบันสังคมศาสตร์ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

ก่อนเข้ารับราชการเริ่มอาชีพผู้สื่อข่าวการเมืองและการต่างประเทศ สำนักข่าวไทย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 ปีต่อมาสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ เริ่มจากกรมอาเซียน ไต่เต้ามาตามลำดับ กรมสารนิเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

พ.ศ.2558 เป็นรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ พ.ศ.2562 เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสาธารณรัฐออสเตรีย สาธารณรัฐสโลวัก และสาธารณรัฐสโลวีเนีย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ณ กรุงเวียนนา

ตุลาคม 2565-ปัจจุบัน เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทูตหญิงไทยประจำลาวคนแรก

ภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง กรุงเวียงจันทน์ กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อ่านเส้นทางนักการทูตจบ นักการศึกษาขี้สงสัย เอ่ยถาม “ประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ มีธรรมเนียมการรับตำแหน่งอย่างไรคะ”

ทูตมรกตยิ้มสดชื่น ก่อนตอบ “การเป็นเอกอัครราชทูตถือว่าเท่าเทียมกันหมดทุกที่ค่ะ ในความรู้สึกส่วนตัว เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรเลยค่ะ อยู่ที่ออสเตรียเป็นประเทศในยุโรปมีลักษณะพิเศษคือ นอกจากเป็นทูตทวิภาคีแล้ว (3 ประเทศ คือ ออสเตรีย สโลวีเนีย และสโลวะเกีย) ยังเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสำนักงานสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เวียนนาด้วย คือเป็นทั้งทูตทวิภาคีและพหุภาคี ในแง่ของงานทั้งสนุกและท้าทายที่ได้ทำทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน”

“ที่ลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ สำหรับเหมี่ยว เห็นว่าลาวคือครอบครัว งานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำคัญมากเท่าๆ กับงานด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มิติของงานก็หลากหลายและมีอะไรให้ทำเยอะมาก ชอบมากค่ะ สถานทูตที่นี่ก็มีข้าราชการเท่ากันกับที่เวียนนา สำนักงานอื่นๆ ที่เวียงจันทน์มากกว่าที่เวียนนาค่ะ”

บทสนทนาดำเนินต่อไปอย่างเป็นกันเอง

“เมื่อวานมีประชุมหารือกิจกรรมงานกฐินพระราชทาน นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพจะเป็นประธานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2566 ที่แขวงหลวงน้ำทา เลยไม่ได้ติดตามคณะท่านไปเซกองด้วย แต่มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียน ไปเยี่ยมโรงเรียนประถมที่แขวงเซกองและได้พบคุณครูกิมเฟืองแล้วก่อนหน้านี้ ครูเล่ากิจกรรมให้ฟัง แต่ละชั้นมีครู 1 คนสอนทุกวิชาคนเดียว ชมเชยคุณครูที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เด็กมาตลอด”

“ขอบใจหลายๆ เด้อ” หันไปมองครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาวทั้ง 4 คน ยิ้มรับเป็นคำตอบ “เป็นโอกาสดีที่ได้ไปเยี่ยมยามกันเด้อ”

แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศลาวเตรียมตัวรับปีการท่องเที่ยวลาว 2024

“เมื่อครั้งไปแขวงทางใต้ มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน อยู่ใกล้น้ำตกคอนพะเพ็ง ลงทุนร่วมโดยนักธุรกิจลาวและจีนฮ่องกง มีทั้งภาคการผลิต ศูนย์การค้า และภาคบริการที่เป็นโรงแรมที่พักขนาดใหญ่ สนามกอล์ฟ สวนสนุก และกาสิโนรูปดอกจำปา”

“เขตเศรษฐกิจพิเศษในลาววันนี้มีกี่แห่งครับ ที่บึงทาดหลวง เวียงจันทน์เห็นรูปภาพตึกสูงเต็มไปหมด ไม่กำหนดความสูงหรือครับ” ผมตั้งประเด็นต่อ

“เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 11 แห่ง เมืองหลวงชั้นในห้ามสูงเกินกว่าประตูไซ พื้นที่รอบนอกสร้างตึกสูงได้ค่ะ”

“ขนาดการลงทุนแต่ละประเทศเป็นอย่างไร” คำถามใหม่ตามมา

“จีนมาเป็นอันดับหนึ่งค่ะ ทั้งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ลงทุนเหมืองแร่ โพแทส ทองคำ การเกษตร เช่น กล้วย ทุเรียน รวมมูลค่ามหาศาล การลงทุนของไทยรวมโครงการพลังงานต่างๆ ที่รับสัปทานแล้วยังน้อยกว่าเท่าตัวค่ะ ด้านเกษตรมีสวนส้มธนาธร สวนดอกไม้ตัดดอกและกาแฟอยู่ที่ปากซอง แขวงจำปาสัก และมีการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยค่ะ เวียดนามมาอันดับสามและน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาเลเซียอันดับสี่ เกาหลีกำลังเพิ่มขึ้น”

“นักท่องเที่ยวล่ะครับ”

“ไทยมาเป็นอันดับหนึ่งค่ะ จากต้นปีนักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวแล้วกว่าหกแสนคน เกาหลีกำลังเพิ่มเพราะมีเที่ยวบินตรงจากกรุงโซลและเจจูวันละ 3 เที่ยว รถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ปี 2567 รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีท่องเที่ยวลาว ตรงกับวาระที่ลาวจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนด้วย จะทำให้บรรยากาศภายในประเทศคึกคักขึ้นอีก”

หัวหน้าคณะฝ่ายไทยได้ฟังคำถาม กดโทรศัพท์หาตัวเลขนักท่องเที่ยวส่งเข้ามือถือสื่อกระดาษยุคอะนาล็อก ให้ทันที

“ข่าวจากหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ สังคม สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ อ้างรายงานของกรมพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว สปป.ลาว ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา สปป.ลาว ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 รวม 1,674,436 คน จาก 5 ประเทศหลัก

ประกอบด้วย (1) ไทย 668,595 คน ร้อยละ 39.9 (2) เวียดนาม 398,937 คน (3) จีน 317,604 คน (4) เกาหลีใต้ 72,958 คน และ (5) สหรัฐ 30,455 คน

 

“การขายไฟฟ้าให้ไทยตอนนี้เป็นอย่างไรครับ”

“ลาวประกาศเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ผลิตไฟฟ้าออกจำหน่ายต่างประเทศ ส่งไปขายถึงมาเลเซียและสิงคโปร์เลยนะคะ ไทยทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากลาว 10,500 เมกะวัตต์ ซื้อจริง 6,000 เมกะวัตต์ ยังไปต่อได้อีกค่ะ ราคาไฟฟ้าในลาวที่ไม่ใช่ครัวเรือนประมาณ 850 กีบต่อหน่วย (kwh) เทียบเงินไทยบาทกว่าๆ ถ้าใช้เกิน 100 กิโลวัตต์ ราคาจะเพิ่มขึ้น”

ท่านทูตเอ่ยตอบจบ ข่าวล่าสุดจากท่านประธานมูลนิธิปรากฏในมือถือผู้สนใจการค้าขายไทย ลาวทุกคน

“สถานีวิทยุซาวหนุ่มลาว (Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz) รายงานว่า ปี 2565 ลาวมีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ จีน และพม่า 1,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 และคาดว่าปี 2566 ลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกได้ 51,143 กิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 71.77%

ปัจจุบัน ทั่วประเทศลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้า 90 แห่ง กำลังการผลิตรวม 11,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 77 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง

 

ครบเครื่องเรื่องเศรษฐกิจ คำถามใหม่ดังขึ้น ถามครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ลาวที่นั่งร่วมวงอยู่ “ทัศนคติของพี่น้องลาวต่อจีน เวียดนาม และไทย เป็นอย่างไร”

ครูคุนวิไล ฉลาดตอบ “คนไทย ฮักแพง รักมาก ลาวกับไทยใกล้ชิดกัน”

สมาชิกในคณะคนหนึ่งเสริม “คนลาวรู้ข่าวปฏิวัติในเมืองไทยเร็วกว่า ดูจากข่าวรถติดในกรุงเทพฯ”

เวทีฮับต้อนระหว่างคณะเอกอัครราชทูตไทยฯ กับกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จบลงด้วยความสดชื่น

ทูตหญิงขอตัวไปเตรียมรับคณะนักธุรกิจไทยในลาวและสื่อมวลชนลาว ที่มารอสัมภาษณ์เปิดใจครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ต่อจากนั้น

บริษัทธุรกิจอะไร เสนอให้ความช่วยเหลือโรงเรียนไหน เรื่องอะไร ตอนหน้า เว้ากันต่อเด้อ