14 ตุลาฯ กับทหาร (7) นายทหารระดับกลางกับการเมือง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (7)

นายทหารระดับกลางกับการเมือง

 

“ทหารในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้มีบทบาทในการสร้างความเป็นสมัยใหม่แต่อย่างใด”

Volker Berghahn (1984)

 

การล่มสลายของระบอบทหาร ที่มิได้มีความหมายเพียงการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เท่านั้น เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญกับการเมืองไทยในยุคต่อมาอย่างมาก

ในด้านหนึ่ง การล่มสลายดังกล่าวบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร ที่ดำเนินสืบทอดต่อกันมาหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหาร 2490 กล่าวคือ เป็นการเดินบนเส้นทางแห่งอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม สู่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และส่งต่อมายังจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร ภาวะเช่นนี้จึงเป็นดังการสิ้นสุดของ “ยุคจอมพล” ในทางการเมือง เพราะหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว การใช้อัตราชั้นยศ “จอมพล” ในกองทัพก็เป็นอันสิ้นสุดตามไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการแต่งตั้งยศจอมพลให้แก่ พล.อ.ประภาสในวันที่ 1 มิถุนายน 2516 แล้ว ก็ไม่มีใครได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยศในชั้นนี้อีกเลย

ในอีกด้านหนึ่ง การสิ้นยุคจอมพลจึงเป็นสัญญาณของ “การรีเซ็ต” กองทัพในทางการเมือง เนื่องจากตัวบุคคลที่เป็นนายทหารระดับบนถูกขยับออกไปจากโครงสร้างอำนาจเดิม และตามมาด้วยการจัดใหม่ในกองทัพ และเป็นการจัดใหม่อย่างแท้จริง

เพราะกลุ่มอำนาจเก่าที่ยึดกุมกองทัพไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น ถูกทำลายลงด้วยชัยชนะของประชาชนบนถนนราชดำเนิน

 

ศูนย์บัญชาการแตก!

การสิ้นสุดของยุคจอมพลมีนัยถึงการล่มสลายของศูนย์อำนาจทางการเมือง เพราะอำนาจในการควบคุมการเมืองของ “กลุ่มถนอม-ประภาส” ได้ถูกทำลายลง และในทางทหารนั้น นัยสำคัญคือการสลายของ “ศูนย์บัญชาการและควบคุม” ของกองทัพ (Command and Control Center) ซึ่งมีผลให้การควบคุมและสั่งการของกองทัพที่อยู่ภายใต้อำนาจของสายการบังคับบัญชาของกลุ่มนี้ได้สิ้นสุด ดังจะเห็นได้ว่า ความพยายามที่จะให้ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่นำกำลังออกมาสนับสนุนการปราบปรามบนถนนราชดำเนิน ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้ความรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ขยายตัวมากเกินกว่าที่ปรากฏ

การสลายอำนาจทางทหารของกลุ่มถนอม-ประภาสในกองทัพ กลายเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญในทางการเมือง เพราะเท่ากับเกิด “สุญญากาศแห่งอำนาจ” ของการควบคุมกองทัพ เนื่องจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 1 ตุลาคม 2516 เท่านั้นเอง และจอมพลทั้งสองได้เข้ายึดกุมอำนาจในกองทัพมาตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม (หลังจากการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ในปลายปี 2506) และจอมพลถนอมยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนจอมพลประภาสเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก

อีกทั้งหลังจากการเกษียณอายุราชการของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ แล้ว พล.อ.ประภาสยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจอีกด้วย การเข้ารับตำแหน่งต่างๆ เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจในกองทัพ (centralization) ที่อยู่กับกลุ่มถนอม-ประภาสอย่างเหนียวแน่น ซึ่งการรวมอำนาจเช่นนี้ย่อมสะท้อนถึงการเข้ากุมอำนาจทางการเมืองของกลุ่มนี้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าศูนย์อำนาจนี้ต้องล่มสลายลงแล้ว ก็จะกลายเป็น “ช่องโหว่” ของอำนาจในกองทัพทันที

นอกจากนี้ มีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมถึง 3 ครั้งคือ จากเดือนสิงหาคม 2514-สิงหาคม 2517 และต่ออายุราชการพลเอก/จอมพลประภาส 2 ครั้งคือ จากเดือนธันวาคม 2515-ธันวาคม 2517 อีกทั้งจอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะที่ พล.อ.ประภาสเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย

การกุมอำนาจทางการเมือง-การทหารอย่างรวมศูนย์เช่นนี้ท้าทายอย่างมากกับข้อเสนอทาง “ทฤษฎีการสร้างความเป็นสมัยใหม่” (The Modernization Theory) ในวิชารัฐศาสตร์ ที่มีสมมุติฐานว่า ทหารคือ “เอเย่นต์ของความเปลี่ยนแปลง” สำหรับการเมืองในประเทศกำลังพัฒนานั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพกลับเป็น “เอเย่นต์ที่เหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง” มากกว่า ดังจะเห็นได้จากบทบาทในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา จนทำให้การเมืองไทยเป็น “การเมืองของทหาร”…

ถ้าจะเน้นให้ชัดเจนก็คือ การเมืองของผู้นำทหารในระดับบน ที่พวกเขายึดกุมและรวบอำนาจมาไว้ในมือ ฉะนั้น ความหวังในทางทฤษฎีว่า ผู้นำทหารเหล่านี้จะเป็นปัจจัยของการสร้างความเป็นสมัยใหม่ให้แก่สังคม ดูจะเป็นจะเป็นไปได้ยาก จนอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎี “ทหารนักพัฒนา” (modernizer) นั้น ไม่น่าจะใช้ได้กับสังคมไทย

 

การเมืองใหม่ในกองทัพ

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในความหมายทางทหารจึงเป็นภาวะแบบ “กองบัญชาการใหญ่” ของฝ่ายทหารถูกสลายจากอำนาจของฝ่ายตรงข้าม… เปรียบเทียบเล่นๆ เสมือนข้าศึกใช้อาวุธปล่อยที่มีความแม่นยำสูง “ล็อกเป้า” ยิงถล่ม บก. แบบในสงครามยูเครน แล้วการบังคับบัญชาที่มีอยู่ก็สิ้นสภาพไปทันที!

สภาวะ “บก.แตก” ในทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองในกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังได้กล่าวแล้วว่า ผบ.ทบ.คนใหม่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2516 และอีก 14 วันต่อมา เขาปฏิเสธที่จะส่งกำลังเข้าร่วมการ “ล้อมปราบ” นักศึกษา ประชาชนบนถนนราชดำเนิน อีก 1 วันถัดมา ระบอบเก่าที่ควบคุมกองทัพมาอย่างยาวนานก็หมดสภาพไปอย่างคาดไม่ถึง…

หากเปรียบเทียบเป็นหมากรุก ก็เสมือนกับ “ม้า โคน ขุน” ส่วนหนึ่งหายออกไปจากกระดานทันที

ในเงื่อนไข “ความใหม่” ของสถานการณ์เช่นนี้จึงเกิดคำถามสำคัญว่า แล้วผู้นำทหารที่เหลืออยู่จะควบคุมกองทัพอย่างไร เนื่องจากในยุคก่อน 14 ตุลาฯ นั้น อำนาจทางการเมือง-การทหารวนเวียนอยู่ในมือของผู้นำทหารระดับสูงไม่กี่คน และพวกเขายังใช้วิธีการ “ใส่หมวกหลายใบ” คราวเดียวกัน กล่าวคือ ผู้นำทหารคนหนึ่งจะรับหลายตำแหน่งพร้อมกัน เช่น เมื่อ พล.อ.ถนอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2506 (ยศในขณะนั้น) ก็จะควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.ประภาสในช่วงเวลาดังกล่าว ควบตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ต่อมาในปี 2507 พล.อ.ถนอมได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งจอมพลทั้ง 3 เหล่าทัพ พล.อ.ประภาสจึงขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (โดยจอมพลถนอมสละตำแหน่งให้) ต่อมาเขายอมที่จะลงจากตำแหน่งนี้ในวันที่ 30 กันยายน 2516 อันเป็นโอกาสให้ พล.อ.กฤษณ์ก้าวเข้ามาแทนดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่การเมืองจะพลิกผัน แต่ก็สะท้อนถึงความพยายามที่จะประนีประนอมระหว่างกลุ่มการเมืองของผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย หรืออาจมีนัยถึงการ “ซื้อใจ” พล.อ.กฤษณ์ก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าผู้นำทหารสายถนอม-ประภาสประเมินสถานการณ์ข่าวกรองถึงแนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดในช่วงข้างหน้าเพียงใด… ถ้ามีแนวโน้มว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลอาจทวีความตึงเครียดมากขึ้นแล้ว สองจอมพลจะยอมให้ พล.อ.กฤษณ์ก้าวขึ้นมากุมอำนาจของกองทัพบกหรือไม่ แต่การที่ พล.อ.กฤษณ์ขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของกองทัพบก แม้จะเป็นเพียงระยะเวลา 14 วันก่อนการปะทะบนถนนราชดำเนิน ต้องถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของอำนาจ และมีส่วนอย่างมากต่อการปิดการเมืองในแบบ “ยุคจอมพล” ที่อำนาจทั้งหมดจะรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้นำทหารในระดับบนเท่านั้น

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ใครจะเข้ามาแทนที่ในช่องว่างแห่งอำนาจที่เกิดขึ้น เมื่อผู้นำทหารเก่าสิ้นสภาพและลี้ภัย ส่วนผู้นำทหารใหม่เพิ่งก้าวสู่อำนาจ และยังไม่มี “อำนาจ+บารมี” มากพอที่จะคุมการเมืองและกองทัพได้เช่นในยุคก่อน 14 ตุลาฯ แต่อย่างน้อยสภาวะของการเมืองใหม่ในกองทัพก็ชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่จะมีผู้นำทหารในระดับบนที่จะมีสถานะและบารมีมากในการเป็น “จอมพลคนใหม่” เช่นในยุคจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม จะไม่หวนคืน

หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า การเมืองในแบบ “ยุคจอมพล” ได้ผ่านเลยไป และปิดฉากลงแล้ว แต่ก็มิได้มีนัยถึงการสิ้นสุดของบทบาท “ทหารไทยกับการเมือง” แต่อย่างใด และไม่มีหลักประกันแต่อย่างใดว่า การสิ้นสุดเช่นนี้จะไม่เกิดรัฐประหาร

 

ผู้เล่นใหม่

เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีบทบาทในฐานะของการเป็น “ผู้เปิดประตู” ของช่องว่างแห่งอำนาจที่เป็นผลจากอำนาจที่รวมศูนย์ภายในกองทัพได้ถูกทำลายลง… ถ้าเช่นนั้นแล้ว คณะนายทหารแบบใดที่จะเป็นผู้ก้าวผ่านประตูแห่งอำนาจนี้ก่อน เนื่องจากโอกาสทางการเมืองได้เปิดให้แล้ว

เมื่ออำนาจรวมศูนย์ในระดับบนล่มสลายลงแล้ว คณะนายทหารในระดับกลางดูจะเป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งในกรณีนี้ เราอาจจำแนกนายทหารออกเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ “นายทหารระดับกลาง” นี้หมายถึง นายทหารที่มีชั้นยศจากระดับพันตรีถึงพันเอก นายทหารที่ยศต่ำกว่าพันตรีลงมา (ร้อยตรี-ร้อยเอก) จะถูกแยกเป็น “นายทหารระดับล่าง” ที่มิได้มีความหมายเป็น “ทหารชั้นประทวน” ส่วนนายทหารที่ยศสูงกว่าพันเอกขึ้นไป (พลตรี-พลเอก) จะถือว่าเป็น “นายทหารระดับสูง” หรือเป็นนายทหารในระดับบนที่อยู่ในศูนย์อำนาจทั้งทางการเมือง-การทหารมาโดยตลอด

หากพิจารณาจากชั้นยศแล้ว นายทหารระดับกลางจะเป็นในระดับของผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการกรม ซึ่งในโครงสร้างของอำนาจกำลังรบของกองทัพแล้ว กรมและกองพันเป็นฐานอำนาจที่สำคัญ (และอาจจะที่สุด) ของการใช้เครื่องมือทางทหารในระดับยุทธวิธี เพราะการใช้กำลังรบในระดับของกองพล กองทัพน้อย กองทัพภาคนั้น เป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ และอาจไม่อยู่ในสภาวะของการใช้จริงในเงื่อนไขความมั่นคงทางทหาร

ในสภาพเช่นนี้ อำนาจกำลังรบที่แท้จริงจึงอยู่ในการควบคุมของ ผบ.พัน และ ผบ.กรม และอาจจะไม่ใช่อยู่ในมือของ ผบ.พล ที่อยู่ในระดับบน ฉะนั้น เมื่อบานประตูของศูนย์อำนาจเปิดออกจากแรงกระแทกของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว บรรดานายทหารระดับกลางที่ตระหนักถึงศักยภาพของอำนาจทางการเมือง-การทหารที่ตนมี จึงเริ่มด้วยการสนทนาทางการเมืองในกลุ่ม และนำไปสู่ “การจัดตั้ง” ทางการเมือง เช่นที่ประวัติศาสตร์ของนายทหารระดับกลางเคยเริ่มมาแล้วในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 แต่การจัดตั้งของนายทหารระดับกลางในครั้งนั้น จบลงด้วยการถูกกวาดจับในข้อหา “กบฏ ร.ศ.130″… กบฏนายทหารระดับกลางซึ่งเป็นผู้มาก่อนกาลเวลา เกิดก่อนความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในปี 2475 ถึง 21 ปี

ถ้าเช่นนี้แล้ว นายทหารระดับกลางของยุคหลัง 14 ตุลาฯ จะจัดวางบทบาทของกลุ่มตนอย่างไรในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของการเมืองไทย!