ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
ศึกอิสราเอล-ฮามาส
ยิ่งนับวันยิ่งอำมหิต
สงคราม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด สั้นหรือยาวนานอย่างไร ล้วนแล้วแต่รุนแรง โหดเหี้ยมโดยธรรมชาติ
กระนั้น นับตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ศึกฉนวนกาซาระหว่างกองทัพอิสราเอล (ไอดีเอฟ) กับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาส ยังนับว่าโหดเหี้ยมรุนแรงยิ่งกว่า ยกระดับความเหี้ยมโหดของสงครามขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงระดับอำมหิต
ใน 48 ชั่วโมงแรกเริ่มของสงคราม นักรบฮามาสบุกข้ามแดนเข้ามา เข่นฆ่า “ทุกอย่างที่ขวางหน้า” ให้ได้ “มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” ในดินแดนยิว จับพลเรือนหลายร้อยเป็นตัวประกัน เพื่อสร้างเงื่อนไขของสงครามที่เหนือกว่าในอนาคต โดยปราศจากการคำนึงถึงจริยะแห่งสนามรบใดๆ
ตลอดระยะเวลาอีกเกือบเดือนที่เหลือเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ อิสราเอลเลือกที่จะเป็น “ผู้กระทำ” บ้าง กองกำลังไอดีเอฟโจมตีดินแดนกาซาทั้งทางอากาศ ตามด้วยกองกำลังทางบก บุกตะลุยฝ่าเข้ามาจากตอนเหนือของฉนวนกาซา
ทิ้งซากปรักหักพัง กองอิฐหินดินทราย ที่เคยเป็นอาคารบ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียน มัสยิด ฯลฯ ไว้เกลื่อนกล่นมากมายตามรายทาง
ข้อเท็จจริงที่ชวนสลดใจมากที่สุด น่าเศร้าที่สุด ก็คือ ยอดผู้เสียชีวิตจากการสู้รบครั้งนี้ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว นับรวมทั้งสองฝ่ายน่าจะทะลุเกิน 20,000 รายไปแล้ว กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือนปาเลสไตน์หรือไม่ก็ยิว จำนวนไม่น้อยเป็นสตรีและเด็ก ที่ไม่ควรลงเอยด้วยชะตากรรมอนาถนี้อย่างยิ่ง
นี่ยังไม่นับความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ความโดดเดี่ยวอ้างว้างมืดมนของกำพร้าสงครามอีกมหาศาล ที่กลายเป็น “ภาพรายวัน” ของสงครามครั้งนี้
ทั้งหมดฉายให้เห็นภาพอำมหิตของสงครามนี้ได้อย่างชัดเจนเหนือคำบรรยายใดๆ
ภาพที่ได้เห็นกันทุกเมื่อเชื่อวัน ชวนสลดจนทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องขมวดคิ้วนิ่วหน้าเป็นอย่างน้อย
โรงเรียน มัสยิด บ้านเรือน หรือแม้แต่ค่ายผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ถูกโจมตี เกิดการสูญเสียชนิดที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นยัง “รับไม่ได้”
ภาพเหล่านั้นอำมหิตอย่างยิ่ง แต่อีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ข้างหลังภาพ ยิ่งเลือดเย็น ยิ่งอำมหิตกว่าหลายเท่าตัว
ขณะที่กระแสต่อต้านยิวทั่วโลกถูกกระพือขึ้นสู่ระดับสูง เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลถูกแปลงสภาพเป็นปิศาจ ไอดีเอฟกลายเป็นมฤตยูกระหายเลือด
ขณะที่ทุกคนลืมไปชั่วขณะว่า ศึกใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลกลใด พลเรือจัตวา แดเนียล ฮาการี โฆษกไอดีเอฟ เปิดเผยเรื่องราวจากอีกมุมมอง ในการแถลงข่าวออนไลน์ต่อเนื่องกัน 2 วัน 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ไอดีเอฟไม่ได้ปฏิเสธการโจมตีโรงพยาบาล สถานศึกษา หรือค่ายผู้ลี้ภัยใดๆ แต่นำเสนอหลักฐานส่วนหนึ่งที่กองกำลังภาคพื้นดินยิวค้นพบในการบุกตะลุยจากทางเหนือลงมา ระบุว่า สถานที่เหล่านี้ถูกนักรบฮามาสใช้เป็นกองบัญชาการ ใช้เป็นสถานที่เก็บกักอาวุธ ใช้เป็นจุดซุ่มเพื่อโจมตี
และที่เลือดเย็นที่สุดก็คือ ใช้เป็นเกราะกำบังเพื่อไม่ให้ฮามาสบาดเจ็บล้มตาย หรือสูญเสียจากการศึก
ฮาการีระบุว่า ในการปิดล้อมกาซาซิตี้ เพื่อถอนรากถอนโคนฮามาส ไอดีเอฟไม่เพียงถูกนักรบฮามาสที่ซ่อนตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลยิงเข้าใส่จากโรงพยาบาลเหล่านั้นเท่านั้น กระทั่งยังพบด้วยว่า ฮามาสใช้โรงพยาบาลเป็นเกราะกำบังปกปิดพฤติกรรมของตนเอง
หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลระบุว่า ฮามาสใช้โรงพยาบาลอย่างน้อย 3 แห่งเป็นกองบัญชาการ ออกคำสั่งและวางยุทธศาสตร์เพื่อทำศึกครั้งนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ชีฟา โรงพยาบาลในกาซาซิตี้
ในขณะที่ไอดีเอฟพบ “ทางออกอุโมงค์” ในโรงพยาบาลชีค ฮาหมัด ซึ่งถูกใช้เพื่อเอื้อต่อ “การก่อการร้าย”
ส่วนอีกแห่งที่เหลือ เป็นโรงพยาบาลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดการก่อสร้างโครงข่ายใต้ดินเพื่อการปฏิบัติการของฮามาสโดยเฉพาะ
ไอดีเอฟยังเผยแพร่คลิป แสดงให้เห็นการค้นพบ “ฐานยิงจรวด” ซึ่งค้นพบก่อนหน้านี้ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเด็กเล่นและสนามกีฬากับสระว่ายน้ำ ซึ่งเหล่าเด็กๆ เข้ามาใช้เป็นประจำ
ฐานยิงจรวดอีกแห่ง ซึ่งทิศทางมุ่งตรงไปทางเหนือ เห็นชัดว่าสำหรับใช้โจมตีเมืองแอชเคลอน ทางใต้ของอิสราเอล ถูกพบซ่อนอยู่ในอาคาร ซึ่งสำนักงานกิจการลูกเสือเป็นเจ้าของ
ที่ตั้งฐานยิงจรวดหลายหัวรบอีกแห่ง ถูกพบกลายเป็นซากอยู่ในมัสยิดที่ถูกถล่มทางอากาศ สภาพของฐานใช้ยิงไปแล้วทั้งหมด เป้ายังคงมุ่งสู่ตอนเหนือ สู่อิสราเอล
คลังอาวุธขนาดใหญ่ของฮามาสถูกพบอยู่ในโครงข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ที่ปากปล่องทางเข้าออกด้านหนึ่งซ่อนอยู่ในพื้นที่สวนสนุก
ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ฮามาสกำลังใช้พลเรือนเป็นเกราะกำบัง ไอดีเอฟระบุไว้อย่างนั้น
การโจมตีสถานที่อย่างมัสยิด สถานศึกษา หรือโรงพยาบาล เข้าข่ายการกระทำที่เป็นอาชญากรสงคราม เป็นการกระทำอำมหิต
แต่การใช้สถานที่เช่นนี้เพื่อเก็บสะสมอาวุธ วางกลยุทธ์ บัญชาการการรบ และโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ก็เป็นอาชญากรรมสงครามเช่นเดียวกัน และอำมหิตเลือดเย็นยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป
เหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้ศึกระหว่างยิวกับฮามาสหนนี้สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนซ่อนปมเอาไว้มากมาย หากปราศจากการพินิจพิเคราะห์อย่างถ่องแท้ ทำให้ง่ายมากที่จะตกเป็นเครื่องมือในนามของมนุษยธรรมและความยุติธรรม
ซีกัล อิทซาฮัค พลเรือนอิสราเอลบอกกับซีเอ็นเอ็นไว้ว่า โลกเห็นอกเห็นใจอิสราเอลเมื่อตกเป็นเหยื่อ เมื่อถูกเข่นฆ่า
แต่เมื่อเหยื่ออย่างอิสราเอลลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำ เพื่อป้องกันตัวเองเพื่อความมั่นคง ปลอดภัยในอนาคต โลกกลับก่นด่าประณาม
“หรือเป็นเพราะการเป็นคนยิว ทำให้ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศหนึ่งๆ ได้โดยสันติหรืออย่างไร? นี่คือสิ่งที่ยิวต้องการ แต่ทั้งโลกไม่มีใครเข้าใจ”
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนอิสราเอลถึงได้ต่อต้านเนทันยาฮู แต่กลับให้การสนับสนุนสงครามกาซาอย่างมั่นคง
แม้แต่ครอบครัวของเหยื่อที่ถูกลักพาตัวไปเป็นตัวประกัน ยังยืนกรานว่า ฮามาสต้องถูกถอนรากถอนโคนเสียที ไม่เช่นนั้นอิสราเอลทั้งประเทศไม่มีวันอยู่อย่างสงบ
ส่วนตัวประกันที่เป็นญาติพี่น้องของตน ถือเป็นเรื่องรอง สำคัญน้อยกว่าการกวาดล้างฮามาสด้วยซ้ำไป บทเรียนที่ผ่านๆ มาแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงนี้อย่างชัดแจ้ง หลายครั้งที่เนทันยาฮูปล่อยให้ฮามาสรอดเงื้อมมือไปได้แล้วกลับมาแว้งกัดใหม่อีกครั้ง
ชาวยิวทุกคนคาดหวังว่าครั้งนี้คงไม่เป็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022