แผนการคลังระยะปานกลาง : มืออาชีพหรือหลอกชาวบ้านไปวันๆ

การมีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่รัฐบาลต้องจะจัดทำแผนบริหารการคลังระยะปานกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนแม่บทในการวางแผนดำเนินงานทางการเงินการคลัง การทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการบริหารหนี้สาธารณะ

แผนการคลังระยะปานกลาง มีกรอบเวลาที่ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องดำเนินการใหม่ภายใน 3 เดือนหลังสิ้นปีงบประมาณทุกปี

การกำหนดในลักษณะดังกล่าวจึงทำให้แผนการคลังระยะปานกลางมีสถานะทั้งเป็นแผนแม่บท (Master Plan) และเป็นแผนที่ปรับตัวได้ (Rolling Plan) ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นับแต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางมาแล้วหลายฉบับ

นับแต่ฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2561 (แผนการคลังระยะปานกลาง พ.ศ.2562-2564) จนถึงฉบับล่าสุด (แผนการคลังระยะปานกลาง พ.ศ.2567-2570) สมัย ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย ครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2565

แต่พอเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 ก็ได้มีการเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ฉบับทบทวนขึ้นมาใหม่

เพียงไม่ถึงหนึ่งปี จากการเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ.2565 จนถึงวันที่เสนอทบทวน 13 กันยายน พ.ศ.2566 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการคาดการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นการวิเคราะห์แบบมืออาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการสร้างตัวเลขเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ ลองมาวิเคราะห์กันดูจากการเปรียบเทียบรายละเอียดของแผนสองฉบับนี้

ตารางที่ 1 : สถานะและประมาณการการคลัง แผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2565

ความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ

ตัวเลขที่แตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน คือตัวเลขในช่องปีงบประมาณ 2567 ที่ขยับเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในทุกรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ที่เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท จากเดิม 2.757 ล้านล้านบาท เป็น 2.787 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มจากเดิมร้อยละ 10.7 เป็นร้อยละ 11.9

ในด้านงบประมาณรายจ่าย ของปีงบประมาณ 2567 ขยับเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มจากเดิมร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 9.3

เห็นได้ชัดว่า จุดมุ่งหมายของการทบทวนแผน คือ ความต้องการให้รัฐบาลมีขีดความสามารถในการใช้งบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้นอีก 130,000 ล้านบาท ในขณะที่มีการประมาณการรายได้เพิ่มเพียง 30,000 ล้านบาท นั่นคือ ต้องมีการกู้เพื่อนำมาเป็นรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท

ตัวเลขจึงปรากฏในช่องดุลการคลังที่ติดลบ จาก 593,000 ล้าน เป็น 693,000 ล้านบาท เพิ่มจากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.63 ของ GDP และหนี้สาธารณะคงค้าง ที่ปรับจากเดิม 11.879 ล้านล้านบาท เป็น 12.089 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP จากร้อยละ 61.35 ถูกดันขึ้นไปถึง ร้อยละ 64.0

ตารางที่ 2 : สถานะและประมาณการการคลัง แผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ฉบับทบทวน ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566

เหตุผลความจำเป็นที่ต้องทบทวน

แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏในเอกสารแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 จะระบุถึงความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล อย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง โดยจะดำเนินการมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

แต่ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และการแสดงตัวเลขดุลการคลังที่ยังติดลบในหลัก 6-7 แสนล้านบาทต่อเนื่องทุกปีไปจนถึงปี พ.ศ.2570 ที่เพิ่มเป็น 751,000 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถส่อวี่แววของการสร้างงบประมาณสมดุลตามที่ระบุไว้ได้แต่อย่างใด

คำตอบของการทบทวน จึงอยู่ที่ รัฐบาลต้องการเม็ดเงินเพิ่มอีก 130,000 ล้านบาท เพื่อไปดำเนินนโยบายประชานิยมที่รับปากประชาชนไว้

โดย 30,000 ล้านบาท มาจากการประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 และ 100,000 ล้านบาท มาจากการกู้เพิ่ม

ตารางที่ 3 : การเปรียบเทียบตัวเลข GDP ประเทศไทยและการพยากรณ์โดยแผนการคลังระยะปานกลางแต่ละฉบับ
ที่มา : ธนาคารโลก และ กระทรวงการคลัง

การทำแผนการคลังระยะกลาง
มีความเป็นมืออาชีพเพียงไร

แผนการคลังระยะปานกลาง จัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นเลขานุการ

จึงหมายความว่า เจ้าภาพหลักในงานคือ กระทรวงการคลัง โดยมีสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ร่วมในการวิเคราะห์

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแต่มีระยะห่างในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากท้ายตารางข้อมูลที่นำเสนอในแผน จะระบุที่มาจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเท่านั้น

ความเป็นหน่วยราชการ แม้จะมีความเป็นมืออาชีพแต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมือง ดังนั้น การประมาณการหลายอย่างจึงอาจเป็นการนำเสนอข้อมูลในทิศทางที่ตามความต้องการของฝ่ายการเมือง

เป็นผลให้ขาดความแม่นตรงในการพยากรณ์และกลายเป็นปัญหาในการวางแผนด้านการคลังของประเทศที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น การคาดการณ์เกี่ยวกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ปรากฏในแผนการคลังระยะปานกลางแต่ละฉบับ กับตัวเลข GDP ที่เกิดขึ้นจริงที่สรุปโดยธนาคารโลก (World Bank) ได้ตามตารางที่ 3

จากการเปรียบเทียบ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การพยากรณ์ของไทยนั้นคลาดเคลื่อนจากตัวเลขที่เป็นจริงค่อนข้างมาก

เป็นคำถามถึงความเป็นมืออาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ใช้ความสามารถในเชิงวิชาชีพ หรือต้องการปั้นแต่งตัวเลขให้เป็นผลงานล่วงหน้าที่เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลแต่ละชุด และสร้างความชอบธรรมในการตั้งงบประมาณรายจ่ายจำนวนมากหรือไม่

ยิ่งราคาคุยของนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มค่า GDP ของประเทศเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เป็นรัฐบาล ยิ่งต้องดูว่าจะเป็นจริง หรือเป็นความฝัน หรือเป็นคำโกหกเพื่อปลอบใจตัวเองไปวันๆ