‘ซอฟต์เพาเวอร์’ รักษาทุกโรค

แม้จะได้ชื่อประกาศตัวต่อสากลโลกว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2475 ซึ่งถึงวันนี้ปาเข้าไปกว่า 90 ปี แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่าการบริหารจัดการประเทศไทยเรามีเวลาเป็นประชาธิปไตยในหลักการแบบสากลน้อยนิดยิ่ง

ไม่ใช่การปกครองประเทศสลับสู่อำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหารเป็นห้วงๆ อยู่บ่อยครั้งและยืดยาวเท่านั้น ยังต้องจมอยู่ในห้วงที่พยายามเรียกให้ดูดีว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งแท้ที่จริงคือเจือด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จที่ควบคุมโดยอำนาจผูกขาดแทบจะเรียกว่าตลอดมา

ในสภาพเช่นนี้จึงเป็นที่รับรู้กันว่า ข้าราชการที่นำโดยกองทัพมีบทบาทนำในการจัดการประเทศต่อเนื่องมากที่สุด

จนสรุปกันได้ว่า “ประเทศไทยเราปกครองด้วยพรรคราชการ”

 

และข้อสรุปนี้เอง เมื่อมีการพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งต่อยอดนิยมว่าเป็น “รัฐสวัสดิการข้าราชการ” อันหมายถึงประเทศที่ให้สวัสดิการกับข้าราชการอย่างล้นเหลือ ไม่ใช่ความหมายของ “รัฐสวัสดิการที่มีประชาชนผู้ได้รับการดูแล”

อาจจะเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำในสวัสดิการแห่งรัฐระหว่าง “ข้าราชการ” กับ “ประชาชน” ทำให้เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ประสบความสำเร็จในนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ในนาม “รัฐบาลพรรคไทยรักไทย” อันเป็น “สวัสดิการแห่งรัฐที่ให้การดูแลประชาชน” จึงสร้างศรัทธาส่งผลต่อความนิยมสูงยิ่ง

มาถึงวันนี้ “รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ วางแผนสร้างศรัทธาด้วย 2 นโยบายคือ “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” กับ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์”

เหมือนจะส่ง “สวัสดิการแห่งรัฐ” ไปให้ถึงหัวใจประชาชนเหมือนที่ “30 บาทรักษาทุกโรค” ทำได้

เพียงแต่ความแตกต่างอยู่ที่ “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นการใช้อำนาจรัฐบาลเข้าไปจัดการ ควบคุมกลไกรัฐเพื่อส่ง “สวัสดิการให้ประชาชน” และเป็น “สวัสดิการถาวร” หมายถึงเจ็บป่วยเมื่อไรก็ได้ใช้เมื่อนั้น ได้ชื่อว่าตอบสนอง “รัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง”

เมื่อหันกลับมาดู “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ประชาชนจะได้โดยตรง แต่ไม่ใช่ “สวัสดิการถาวร” ได้แล้ว ใช้ไปก็เลิกกัน ขณะที่ “ซอฟต์เพาเวอร์” ไม่ใช่การให้ของภาครัฐ แต่เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนสร้างผลงานของตัวขึ้นมาเอง จะให้นิยามว่างอกมาจาก “รัฐสวัสดิการ” ดูไม่ตรงนัก ด้วยแปรเปลี่ยนไปตามได้ตลอดเวลา

คำถามจึงน่าจะอยู่ที่ว่า ประชาชนคาดหวังอะไรกับ “นโยบายเรือธง” นี้

“ซอฟต์เพาเวอร์” ยังอยู่ในขั้นถกเถียงหานิยามว่า “คืออะไรกันแน่”

ขณะ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ดูจะมีคำตอบแล้วว่าประชาชนคาดหวังอะไร

 

ล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต”

ร้อยละ 50.08 ระบุว่า จ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด

ร้อยละ 26.64 ให้จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ร้อยละ 14.66 ให้ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท

ร้อยละ 8.01 ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท

และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ร้อยละ 69.85 ระบุว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด ที่เหลือให้จำกัดพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน

ร้อยละ 14.50 ให้ใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด

ร้อยละ 13.59 ให้ใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ

ร้อยละ 2.06 ระบุว่า ให้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร

ร้อยละ 62.ให้ใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน, ร้อยละ 37.09 ให้ใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี และร้อยละ 0.31 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

ประเมินจากคำตอบดังกล่าวนี้ สรุปความคิดคนส่วนใหญ่ต้องการเงิน แต่จะจดจำจนแปรเป็นคะแนนนิยมเหมือน “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือไม่ เป็นคำถามที่ยากจะตอบได้

และสำหรับ “ซอฟต์เพาเวอร์” ด้วยแล้ว การสร้างให้เป็นความประทับใจน่าจะยังต้องมีขั้นตอนทุ่มเทความพยายามอีกเยอะ หากมองผ่านอุปสรรคที่ขวางอยู่

ด้วย “ซอฟต์เพาเวอร์” คือการแปรวัฒนธรรมมาสร้างสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ “อุปสรรค” กลับเป็นวัฒนธรรมในอีกมิติหนึ่ง

วัฒนธรรม “รัฐสวัสดิการข้าราชการ”