ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
“ยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก” ม้าเขาเดียวสองขา หน้าตาพิเรนทร์ คือซากฟอสซิลในตำนาน
แม้ว่าจะดูหน้าตาพิกลพิการ มีแค่สองขา หน้าตาผิดรูป เขาก็อยู่ผิดที่ผิดทาง แต่ชื่อเสียงของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กก็ยังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเตอร์เน็ต ในแทบทุกครั้งที่มีใครโพสต์พาดพิง โพสต์นั้นก็จะกลายเป็นไวรัลสุดฮอตในโลกออนไลน์แทบจะทันที
อย่างในปี 2018 แค่โพสต์อำขำๆ ฉลองวันเมษาหน้าโง่ (April Fools’ Day) ก็เป็นเรื่องฮือฮา เพราะมีข่าวว่ามีคนเอากระดูกน้อนนนนไปสกัดสารพันธุกรรมแล้วเจอดีเอ็นเอของม้าประหลาดเขาเดียว Monoceros mendaciloquus…
เล่นเอานักวิทย์หลายคนถึงกับว้าวุ่นเพราะนึกว่ามีใครไปเจอกับซากยูนิคอร์นตัวเป็นๆ ดันจริงๆ ก็เล่นกันแบบจัดหนัก ถึงขนาดอุปโลกชื่อวิทยาศาสตร์ปลอมขึ้นมาหลอกกันเลยทีเดียว
จนในตอนหลัง ถึงเฉลยออกมาว่าเรื่องหยอกขำๆ อำกันเล่นวันเอพริลฟูลส์นะจ๊ะ… ข่าวลือก็เลยค่อยๆ เงียบไป
ต่อมาในช่วงกลางปี 2022 ภาพถ่ายของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กก็โด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่มีคนโพสต์และแชร์ในทวิตเตอร์ (Twitter) และเรดดิต (Reddit) ไปแค่ไม่กี่วัน ก็มีคนมากดไลก์ กดแชร์ไปกว่า 200,000 ครั้ง
สำหรับชาวแมกเดบอร์ก กระแสความนิยมของน้อนนนนถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยเรียกทัวร์ที่เป็นทัวร์จริงๆ มาลงที่เมืองแมกเดบอร์กและพื้นที่ใกล้เคียงช่วยเพิ่มความครึกครื้นและเม็ดเงินที่สะพัดในท้องถิ่นได้อย่างมากมาย
และเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็เลยเริ่มมีรูปจำลองของน้อนนน เป็นเวอร์ชั่นสอง เวอร์ชั่นสาม กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่…ทั้งในสวนสัตว์ สวนสาธารณะและบางทีก็ในตัวเมือง
แน่นอนว่าสถานที่หนึ่งที่มีร่างน้อนนนนเวอร์ชั่นจำลองขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มวางประดับประดาไว้เป็นเกียรติเป็นศรีอยู่ที่ด้านหน้าแบบขาดไม่ได้ก็คือสวนภูมิศาสตร์แห่งชาติ ฮาร์ซ-บรันสวิกแลนด์-อีสต์ฟาเลีย (Harz – Brunswick Land – Eastphalia National Geopark)
เพราะสวนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “ถ้ำยูนิคอร์น (Unicorn cave)” ต้นกำเนิดของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก
ถํ้ายูนิคอร์นนี้ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร เส้นทางภายในยาวกว่า 600 เมตร เลี้ยวลดคดเคี้ยว มีซอกมีหลืบมากมาย และแม้ว่าในตอนนี้จะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชมได้แล้วในบางส่วน ราวๆ เกือบ 300 เมตร ทว่า ข้างในจริงๆ ก็ยังมีอะไรให้ศึกษาอีกมาก
ถ้ำแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นแหล่งซากกระดูกสัตว์ยักษ์ดึกดำบรรพ์ชั้นดีที่มักจะมีมือดีไปแอบขุดออกมาขายตีตราเป็นซากยูนิคอร์น ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมียมแห่งอดีตของเยอรมนี
และด้วยความเชื่อในตำนานที่มีมาเนิ่นนานในสังคมเวลานั้น ผนวกกับชื่อเสียงอันโด่งดังของถ้ำแห่งยูนิคอร์น สองนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ออตโต วอน เกฮิเกอร์ (Otto von Guericke) และกอตต์ฟรีด์ วิลเฮล์ม ลิบนิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz) จึงปักใจเชื่ออย่างสนิทใจว่าซากที่พวกเขาได้มานั้นน่าจะเป็นซากฟอสซิลที่หลงเหลืออยู่ของยูนิคอร์น ไม่ผิดฝา ผิดตัว
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเชื่อเหมือนกันหมด เพราะพอได้ยินชื่อถ้ำยูนิคอร์น รูดอล์ฟ เวอร์ชอว์ (Rudolf Virchow) แพทย์และนักชีววิทยาชื่อดังหนึ่งในผู้ก่อตั้งทฤษฎีเซลล์ร่วมกับธีโอดอร์ ชวานน์ (Theodor Schwann) และเมตเธียส ชไลเดน (Matthias Schleiden) ก็ตื่นเต้นมาก แต่เขากลับไม่เชื่อเรื่องราวของถ้ำแห่งยูนิคอร์นเลยแม้แต่น้อย และตัดสินใจมาตะลุยสำรวจถ้ำอย่างละเอียดด้วยตัวเองในปี 1872
ทว่า การสำรวจที่รัดกุมของรูดอล์ฟกลับให้ผลออกมาขัดแย้ง นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เริ่มตงิดใจว่าซากฟอสซิลที่เจอนั้นอาจจะไม่ใช่กระดูกของยูนิคอร์นอย่างที่โฆษณากันไว้
เพราะผลการค้นพบของรูดอล์ฟชี้ให้เห็นชัดเจนว่าถ้ำนี้ไม่น่าจะใช่บ้านของยูนิคอร์นแต่เป็นสุสานสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดย่อม
ซากยูนิคอร์นจริงๆ ก็ไม่มี แต่มีสารพัดซากตัวประหลาด ทั้งแรดขนยาว ช้างแมมมอธ สิงโตถ้ำ หรือแม้แต่สุนัขป่า จากการประมาณการคร่าวๆ ของรูดอล์ฟและทีม อย่างน้อยในถ้ำนี้น่าจะมีซากสัตว์แปลกๆ อยู่ไม่ต่ำกว่า 70 ชนิด
และนั่นอาจจะอธิบายได้ว่าทำไมยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กถึงได้ถูกประกอบออกมาได้หน้าตาสุดแสนพิลึก
เหตุผลง่ายๆ ก็คือเพราะยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก เป็นเลโก้ที่ต่อผิด เป็นเหมือนฟอสซิลจับฉ่ายที่มีผสมปนเปมั่วกันไปหมด เพราะตอนขุดได้กระดูกมาก็มาแบบเป็นกองๆ ไม่ได้มาแบบเป็นตัวๆ เลยไม่มีใครรู้ว่าเป็นตัวอะไร
ประกอบกับในเวลานั้น ยังไม่มีใครรู้จักไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ เจอซากตัวอะไรที่ไม่รู้จัก ก็ตีเป็นสัตว์ในตำนานไปก่อน และในกรณีนี้ ที่ผู้คนในท้องถิ่นเชื่อกันอย่างเป็นตุเป็นตะว่าเป็นยูนิคอร์น
ช่างประกอบก็เลยทำได้แค่ mix and (ไม่ค่อยจะ) match ออกมาให้ใกล้เคียงกับหน้าตาของยูนิคอร์นตามจินตนาการให้มากที่สุด
จับแพะชนแกะไปเรื่อย เอาชิ้นนั้นมาต่อชิ้นนี้ เอาชิ้นนี้ มาต่อชิ้นนู้น จนท้ายที่สุด ก็ได้ผลออกมารูปเป็นร่างตัวยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก
แม้ว่าจะออกมาดูพิกลพิการ ขัดใจคนดู แต่ถ้ามองเผินๆ พอจะมีเค้ารางของความเป็นยูนิคอร์น (ผสมวาฬ) อยู่บ้าง อย่างน้อยก็พอให้นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างกอตต์ฟรีดเชื่อจนเอาไปลงในหนังสือโปรโตไกอา (Protogaia) ผลงานชิ้นโบแดงของเขา
แต่การศึกษาของรูดอล์ฟกลับกระทุ้งให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มย้อนกลับมาคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเงื่อนงำของเรื่องนี้ แท้จริงแล้วมันอยู่ที่ตรงไหน
ธีจส์ แวน คอล์ฟโชเทน (Thijs van Kolfschoten) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์จากมหาวิทยาลัยเลเดน (Leiden University) เชื่อผลของรูดอล์ฟสนิทใจ ว่ายูนิคอร์นของแมกเดบอร์กคือซากฟอสซิลลูกผสม
“ส่วนเขานั้นน่าจะมาจาก ‘งา’ ของนาร์เวล (Narwhale) วาฬขนาดกลางที่อาศัยอยู่ในน้ำในแถบอาร์กติกรอบๆ กรีนแลนด์ แคนาดา และรัสเซีย ฟันเขี้ยวซี่บนซ้ายของนาร์เวลตัวผู้นั้นจะบิดเป็นเกลียวกลายเป็นงาที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ส่วนกะโหลกของยูนิคอร์นนั้นก็ดูเหมือนกับฟอสซิลกะโหลกของแรดขนยาว (woolly rhinoceros)ในขณะที่กระดูกส่วนสะบักและขาหน้าที่ใหญ่โตมหึมาทั้งสองข้างนั้นน่าจะมาจากแมมมอธขนยาว (Woolly mammoth) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว”
ถ้าเป็นเช่นนั้น ถ้ำยูนิคอร์นก็อาจจะไม่ใช่ที่อยู่ของยูนิคอร์น แต่เป็นสุสานของเหล่าสรรพสัตว์แห่งยุคดึกดำบรรพ์
คำถามก็คือ แล้วตัวอะไรกันแน่ที่เป็นตัวการเบื้องหลังสุสานขนาดมหึมาที่ซ่อนตัวอยู่ข้างในถ้ำ?
คำตอบอาจจะเป็นอะไรที่เราไม่คาดคิดมาก่อน เพราะหลักฐานใหม่ๆ ที่ได้จากการสำรวจถ้ำยูนิคอร์นระบุชี้ชัดว่าถ้ำนี้อาจจะไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์ แต่เป็น “มนุษย์”
แต่มนุษย์ที่ว่าไม่ใช่มนุษย์ Homo sapiens แบบที่พบในปัจจุบันนะครับ แต่เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ทที่เรียกว่า “มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (Homo neanderthalensis)” ที่ดำรงอยู่บนโลกนี้ในช่วงราวๆ 40,000-400,000 ปีก่อน
ไอเดียนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะจากการสำรวจของทีมวิจัยนำโดยโธมัส เทอร์เบอร์เกอร์ (Thomas Terberger) จากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Georg-August-University G?ttingen) ชัดเจนว่านีแอนเดอร์ธัลเคยอยู่ในถ้ำนี้ และด้วยสกิลการล่าที่เชี่ยวชาญ และคงไม่แปลกถ้าสุสานสัตว์ดึกดำบรรพ์จะเป็นฝีมือของพวกเขา
ที่สำคัญ นีแอนเดอร์ธัลกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ล่าเก่งอย่างเดียวแต่ยังมีความสุนทรีย์ด้วย เพราะโธมัสและทีมค้นพบศิลปะโบราณวัตถุที่บ่งชี้อารยธรรมในถ้ำแห่งยูนิคอร์น เป็นลวดลายสลักที่บั้งเป็นสัญลักษณ์รูปลูกศร (Chevron) บนกระดูกข้อนิ้ว (phalanx) ของกวางยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วที่มีอายุกว่า 51,000 ปี
“ในทางปฏิบัติ ของชิ้นนี้ไม่มีประโยชน์” เดิร์ก เลเดอร์ (Dirk Leder) หนึ่งในทีมวิจัยนีแอนเดอร์ธัลกล่าว “แต่มันคือหนึ่งในการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนที่สุดของนีแอนเดอร์ธัลที่มนุษย์เคยค้นพบ”
และนั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับความเชื่อในอดีต จริงหรือที่มนุษย์ Homo sapiens คือหนึ่งเดียวที่มีความคิดสร้างสรรค์และซับซ้อน และจริงหรือที่เราคือผู้ถ่ายทอดความเฉลียวฉลาดและวัฒนธรรมให้กับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในกลุ่มอื่น
เพราะถ้าดูจากอายุ กระดูกชิ้นนี้น่าถูกสลักขึ้นมาเป็นหมื่นปีก่อนที่มนุษย์ Homo sapiens มาเริ่มเข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ซึ่งหมายความว่ากระดูกสลักชิ้นนี้น่าจะเป็นผลงานของนีแอนเดอร์ธัลล้วนๆ ไม่น่าได้รับอิทธิพลมาจากมนุษย์ปัจจุบัน
เขาเชื่อว่าชิ้นกระดูกสลักนี้น่าจะมีนัยที่สื่ออะไรบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์ซ่อนอยู่ “แบบแผนทางเรขาคณิตที่สลักเสลาลงไปน่าจะมีความสำคัญ” เดิร์กกล่าว
และนั่นอาจจะหมายความว่านีแอนเดอร์ธัลมีความสลับซับซ้อนทางความคิดมากกว่าที่เราเชื่อกันในอดีต
เขารายงานการค้นพบนี้ในวารสาร Nature Ecology and Evolution ในปี 2021
และเมื่อวิเคราะห์ซากฟอสซิลจากถ้ำยูนิคอร์นเพิ่มเติม ทีมวิจัยของโธมัส ก็ค้นพบหลักฐานอื่นที่น่าสนใจอีกเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของนีแอนเดอร์ธัล สิ่งที่พวกเขาเจอคือกระดูกปลายนิ้วของสิงโตถ้ำในถ้ำยูนิคอร์น!!
“มันเจ๋งมาก เพราะเรารู้ว่านีแอนเดอร์ธัลนั้นนุ่งห่มหนังสัตว์ พวกเขาน่าจะใช้หนังเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของพวกเขา” เกบริเอล รูซโซ (Gabriele Russo) หนึ่งในทีมวิจัยของโธมัสกล่าว และชุดนี้ของนีแอนเดอร์ธัลทำมาจากหนังสิงโตถ้ำ
และสาเหตุที่มีกระดูกปลายนิ้วติดอยู่ในชุดที่พวกเขาสวมใส่นั้น ก็เป็นเพราะชุดของพวกเขานั้นถูกออกแบบให้มีกรงเล็บเหลือไว้เป็นพรอพในชุดด้วย
“การที่พวกเขาเก็บเอากรงเล็บไว้นั้น เป็นอะไรที่แปลก” เกบริเอลตั้งข้อสังเกต ซึ่งถ้าลองคิดดูก็แปลกจริงๆ เพราะชุดที่มีกรงเล็บที่แหลมคมติดอยู่ด้วย ใส่ยังไงก็ไม่น่าสบาย นั่งไม่ดีก็อาจข่วนนู่นขูดนี่ หรือว่าบาดเอาได้
สําหรับเกบริเอล ชุดหนังสิงโตติดเล็บไม่น่าเป็นชุดที่ใช้ประจำวัน แต่น่าจะเป็นชุดสำหรับโอกาสพิเศษ เอาไว้ใส่เพื่อโชว์เหนือให้โดดเด่น บ่งบอกฐานะผู้ใส่ น่าจะคล้ายๆ กับประเพณีของชนเผ่ามาไซ (Maasai) ในทวีปแอฟริกาที่ในอดีตนักรบหนุ่มเมื่อถึงวัยจะต้องออกไปล่าสิงโต โธมัสเดาว่าในกรณีของนีแอนเดอร์ธัลก็คงทำนองเดียวกัน
แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป นีแอนเดอร์ธัลสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือทิ้งไว้แค่เศษซากแห่งอารยธรรมมาเป็นปริศนาให้เราเซอร์ไพรส์อยู่เป็นระยะ ส่วนมาไซจากนักล่า ก็กลายเป็นผู้พิทักษ์ผู้ปกปักสิงโตให้อยู่รอดปลอดภัยจากพวกพรานนักล่าผิดกฎหมาย
ใครจะรู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร ผู้อยู่เบื้องหลังยูนิคอร์นในตำนานจะกลายเป็นมนุษย์ถ้ำโบราณอย่างนีแอนเดอร์ธัลไปซะได้…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022