วิรัตน์ แสงทองคำ : ทีมสมคิด (2) 

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
????????????????????????????????????

ความเคลื่อนไหวว่าด้วยผู้นำ ผู้กำกับนโยบายเศรษฐกิจ ในฐานะแรงขับเคลื่อนสังคมธุรกิจไทย “ทีมสมคิด” จึงถูกจับตามากที่สุด

แม้ว่าเรื่องราว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำเสนอมามากพอสมควรแล้ว ทว่าดูเหมือนต้องมีการ “ทบทวน” และ “ปรับปรุง” ให้เรื่องราวเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ซึ่งมีพัฒนาการอย่างน่าสนใจยิ่ง

ถือเป็นเรื่องราวสำคัญเรื่องหนึ่งของปีที่กำลังจะผ่านพ้น และจะมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในปีหน้าด้วย

 

คลื่นสังคมธุรกิจ
–MBA และตลาดหุ้น

จากการศึกษาระดับปริญญาเอกของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาพร้อมหนังสือเล่ม ผลงานร่วมกับ Philip Kotler อาจารย์ด้านตลาดระดับโลกในฐานะอาจารย์ของเขาที่ Kellogg Graduate School of Management ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญ

ในช่วงเวลาสังคมธุรกิจไทยพลิกโฉมครั้งสำคัญ โดยเฉพาะ

หนึ่ง-การปรับตัวของธุรกิจเก่า เช่นกรณี ธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มต้นยุคผู้บริหารรุ่นใหม่ (ปี 2527) ในช่วงเดียวกับ เอสซีจี ใช้ธุรกิจเชิงรุกเริ่มขึ้นแบบสมัยใหม่ด้วย Merger &acquisition

สอง-การมาของหน้าใหม่โดยเฉพาะ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นกิจการค้าคอมพิวเตอร์ (ปี 2527) และหลังจากนั้น 5-6 ปี ค้นพบและคว้าสัมปทานแบบใหม่ โดยเฉพาะระบบโทรศัพท์มือถือ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสายสัมพันธ์ที่จะเข้าสู่ “วงใน” สังคมธุรกิจไทย ที่เป็นไปได้ เป็นไปตามกระแสสังคมอย่างที่ควร และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คือ เป็นอาจารย์สอน MBA โดยเฉพาะหลักสูตรสำหรับผู้บริหารในช่วงเวลา MBA กำลังเฟื่องฟูในสังคมไทย (ธรรมศาสตร์เปิดสอนหลักสูตร Executive MBA ปี 2530) ทั้งหลักสูตรที่เปิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งประตูองค์กรธุรกิจใหญ่เปิดกว้างรับผู้จบ MBA

เป็นช่วงเวลาตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จากประสบการณ์ในห้องเรียน สู่ความสัมพันธ์กับผู้บริหารซึ่งต้องการแต่งเติมตัวเองและความรู้ด้วย MBA ประจวบเหมาะกับผู้บริหารหลักสูตร Executive MBA ธรรมศาสตร์ มีบทบาทมีอิทธิพลในหน่วยงานกำกับตลาดหุ้นไทย

โดยเฉพาะในบทบาทการพิจารณาตัดสินให้กิจการใหม่ๆ เข้าตลาดหุ้น กิจการใหม่ซึ่งกำลังเข้าแถวกันยาวเหยียด ถือเป็นช่วงเวลา “นาทีทอง” เลยก็ว่าได้

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงได้เข้าไปสัมผัสกับโอกาส ประสบการณ์ และสายสัมพันธ์ใหม่ๆ

 

–พวกหน้าใหม่

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สอนวิชา Business policy มีโอกาสสัมผัสสังคมธุรกิจที่เป็นจริงเป็นจัง เริ่มจากหน่วยงานวิจัยหลักทรัพย์ บวกกับประสบการณ์บางๆ กับ “วงใน” สังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะบทบาทที่ปรึกษาพี่ชาย-สม จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งผันตัวเองจากนักการเงินของบริษัทการตลาด มาเป็นผู้จัดการธนาคารขนาดค่อนข้างเล็ก (กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย ช่วงปี 2530-2540) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงเป็นคนมองเห็นภาพรวม ภาพยุทธศาสตร์สังคมธุรกิจไทย

บางคนบอกว่า แม้เขาเพิ่งมองไปยังธุรกิจใหญ่ เก่าและทรงอิทธิพลอยู่เสมอ แต่โอกาสที่เป็นไปได้ ควรเริ่มต้นกับกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ ซึ่งวิเคราะห์แล้วว่าที่มีอนาคต

เริ่มต้นด้วยการเข้าสู่ธุรกิจสื่อ ซึ่งกำลังเติบโตและทรงอิทธิพลมากขึ้นหลังจากพาเหรดกันเข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 2530 นับจากนั้นถือเป็นช่วงทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์ ด้วยปรากฏโฉมหน้าผู้ประกอบการผู้ร่ำรวยหน้าใหม่ ที่น่าเกรงขาม ก่อนจะเข้าสู่ทศวรรษต่อมา สู่ยุคตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

ในช่วงเวลานั้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เริ่มต้นบทบาทช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญป็นกรรมการ บริษัทผู้จัดการ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล (ต่อมาคือแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป ก่อนจะล้มละลายในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540) ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้น พร้อมกับบทบาทซึ่งทำงานหนักพอสมควร ในฐานะคอลัมนิสต์สื่อสิ่งพิมพ์ และผู้เขียนตำราธุรกิจสมัยใหม่หลายเล่ม

เป็นช่วงเดียวกับบทบาทที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจของ ทักษิณ ชินวัตร

“เขาคือคนที่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารยุคใหม่ ตั้งแต่ปี 2533-2534 มีสัมปทานทั้งสิ้น 8 โครงการ สร้างกระแสให้ทั้งรายเก่ารายใหม่เดินตาม…ในฐานะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ไม่มีฐานการเงินมั่นคงเช่นธุรกิจเก่า แผนการสร้างเครือข่ายสื่อสารทั่วประเทศ จำเป็นต้องลงทุนอย่างมากอย่างต่อเนื่อง ทางออกของเขามาในช่วงที่เหมาะสม การเติบโตของตลาดหุ้น การระดมจากที่นั่น ถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ มีกิจการเข้าตลาดหุ้นในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4 บริษัท”

(จากหนังสือ “ลอกคราบธุรกิจไทย หลังวิกฤตการณ์ปี 2540” โดย วิรัตน์ แสงทองคำ สำนักพิมพ์มติชน 2556)

 

วังวนการเมือง
–ชิมลาง

เมื่อบทบาท ทักษิณ ชินวัตร ปรับเปลี่ยนพลิกผันอย่างรวดเร็วช่วงทศวรรษเดียว จากผู้รับสัมปทานจากรัฐ จากเจ้าของกิจการในตลาดหุ้น สู่บทบาทใหม่ข้ามช็อต สู่ตำแหน่งทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมไทย กับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาได้นำพา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาด้วยในฐานะที่ปรึกษา

ถือเป็นการชิมลางบทบาททางการเมืองที่น่าสนใจ

ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (25 ตุลาคม 2537-10 กุมภาพันธ์ 2538) ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย เว้นช่วงสั้นๆ ก่อนมาเป็น รองนายกรัฐมนตรี (13 กรกฎาคม 2538-8 พฤศจิกายน 2540) ในรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ดูไปแล้วบทบาทของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ค่อนข้างสับสนและสลับซับซ้อนพอสมควร ในฐานะที่ปรึกษาของ ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (21 มิถุนายน 2540-24 ตุลาคม 2540) ผู้ดำรงตำแหน่งช่วงสำคัญมากๆ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ค่าเงินบาท

รวมทั้ง สม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของเขาด้วย ซึ่งออกจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงสั้นๆ (24 ตุลาคม-8 พฤศจิกายน 2540)

 

–ตั้งหลัก

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนักกลยุทธ์ด้วยมุมมองใหม่ ว่าด้วย “สายสัมพันธ์” ขณะเดียวกันเขายังเหลือ “ร่องรอย” ในยุคคลาสสิค “ชาวจีนโพ้นทะเล”

เป็นไปได้ว่า “ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ผ่านประสบการณ์สังคมช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งกรณี 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มุมมองของเขาอาจเชื่อมโยงสังคมในภาพกว้าง ด้วยบทวิเคราะห์ มีความเชื่อมั่นว่าสังคมไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การมุ่งสู่เส้นทางสายหลักสายดั้งเดิมอันมั่นคงยังมีความจำเป็น ดูไปแล้วสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไป” (อ้างจากแนวคิดที่ผมเคยเสนอไว้ในข้อเขียน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เมื่อต้นปี 2559)

ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี (โปรดกลับไปดู–ข้อมูลประกอบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับตำแหน่งทางการเมือง ในข้อเขียนตอนก่อนหน้า) ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางโอกาสที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองมีบทบาทอย่างต่อเนื่องมั่นคง ขณะเดียวกันอยู่ในสถานการณ์ความผันแปร ความสับสนและวุ่นวายทางการเมืองของสังคมไทยครั้งใหญ่ด้วย

เมื่อพิจารณา “ทีมที่ปรึกษา” และบทบาท สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ในช่วงท้ายๆ สะท้อนภาพ ปรากฏ “ทางแยก” การก้าวข้ามสายสัมพันธ์จากที่เคยอยู่กับ “พวกหน้าใหม่” ของสังคมธุรกิจไทย ได้ขยับปรับเปลี่ยน สร้างสายสัมพันธ์ใหม่ กับ “พวกหน้าเดิม” อย่างชัดเจน

 

–ย้อนลึก

เรื่องราวเมื่อ 19 สิงหาคม 2558 กรณี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย

เมื่อพิจารณาการรัฐประหาร 3 ครั้งล่าสุด ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ที่ว่าการรัฐประหารครั้งหลังๆ เป็นกระบวนการปรับสมดุลทางอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจ เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจดั้งเดิม รากฐานและทรงอิทธิพลในสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะผู้มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลังแล้ว

เขามีโปรไฟล์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (8 ตุลาคม 2549-28 กุมภาพันธ์ 2550) ในรัฐบาลคณะรัฐประหารครั้งก่อนหน้า (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2549-29 มกราคม 2551) และรองนายกรัฐมตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (31 สิงหาคม 2557-20 สิงหาคม 2558) ช่วงต้นๆ ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถือว่าได้เข้ามายืนในตำแหน่งใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง

บทบาท สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับบทบาททางการในบริบทเก่า มีภาพชัดเจนเชื่อมโยงกับบางสิ่งที่เรียกว่า “สานประชารัฐ” องค์กรจัดตั้งขึ้นใหม่ ดูไปแล้วเป็นไปอย่างหลวมๆ ตามแนวคิด “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกัน”

บุคคลที่ผู้นำธุรกิจเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ล้วนเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในคณะทำงานซึ่งมีหลายชุด

โดยเฉพาะ ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้นำกลุ่มเซ็นทรัล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารคนสำคัญของไทยเบฟเวอเรจ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารซีพีคนใหม่ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

ภาพต่อเนื่อง เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง มาถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยปรากฏว่า มีทั้ง “ทีมสมคิด” และ “ทีมสานประชารัฐ” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

และแล้วในที่สุดก็มาถึงบทบาทในมหากาพย์ใหม่ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่มีอำนาจอย่างครอบคลุม