พิบูลสวัสดี

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้มีสารคดี 3 ตอนจบที่หาดูได้ทาง YouTube มีชื่อว่า “พิบูลสวัสดี”

เป็นสารคดีว่าด้วยเรื่องของ “จอมพลแปลก พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีของไทยลำดับที่ 3 ท่านได้เป็นผู้นำประเทศไทยในหลายวาระ รวมระยะเวลาที่ครองอำนาจยาวถึง 15 ปีกับอีก 25 วัน ถือว่ายาวนานที่สุดในบรรดานายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงที่ จอมพล ป.มีอำนาจนั้น เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญของสยาม คือ เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจอมพล ป.เป็นหนึ่งใน “คณะราษฎร” ที่เป็นผู้ล้มล้างการปกครองแบบเดิม โดยให้มี “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดใช้ในการบริหารประเทศ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนี้

เมื่อเห็นหน้าหนังอย่างนี้ หลายคนคงจะนึกว่าเป็นสารคดีที่โปรจอมพล ป.กระมัง แต่เมื่อได้ชมแล้ว พบว่าไม่ใช่ ซ้ำข้อมูลที่นำเสนอออกจะเป็นเรื่องติดลบของจอมพล ป.ด้วยซ้ำ ประกอบกับวิธีในการนำเสนอที่เป็นแบบประชดประชันนั่นด้วย

เรื่องราวของคณะราษฎร และแผ่นดินสยามช่วงนั้น มีให้ผู้สนใจได้ติดตามค้นคว้าไม่น้อย ซึ่งแน่นอนที่ผู้เสพต้องวิเคราะห์เองว่า ชุดข้อมูลไหนน่าเชื่อถือเพียงใด หรือต้องทำความเข้าใจว่าคนสร้างชุดข้อมูลนั้นๆ มีจุดประสงค์อันใด

ก่อนอื่นต้องขอชมทีมงานที่จัดทำสารคดีชุดนี้ ที่ได้พาเราไปพบกับข้อมูลลึกๆ อันเกี่ยวกับจอมพล ป.ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มีการค้นคว้าหลักฐานต่างๆ และนำมาปะติดปะต่อเล่าเรื่องออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ รับรองดูได้เพลินแน่นอน

โดยมีวงเล็บไว้ว่า ไม่นับว่าอันไหนจริงหรือเท็จแค่ไหนนะครับ

 

ขออนุญาตนำบางประเด็นมาถ่ายทอดให้อ่าน พร้อมข้อสังเกตบางประการจากชุดข้อมูลในสารคดีนี้

ประเด็นของ “พิบูลสวัสดี” นี้ เล่นที่ “ความฝันอันสูงสุดของจอมพล ป.” แน่นอนที่คนทำคงไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับจอมพล ป.โดยตรง แต่ได้รวบรวมหลักฐานมาวิเคราะห์คู่ไปกับการกระทำของท่านในการปกครองประเทศไทยช่วงนั้น

ความตั้งใจของคณะราษฎร คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างที่ทราบกัน ซึ่งก็ถือว่าบรรลุจุดประสงค์แล้ว

หาก จอมพล ป.มีจุดประสงค์ที่มากไปกว่านั้น โดยมี “ความฝัน” เป็นตัวขับเคลื่อน สารคดีชุดนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ความฝันของจอมพล ป. คือการเป็นผู้นำสูงสุดที่เป็น “สัญลักษณ์ใหม่” ของแผ่นดินนี้ แน่นอนที่ต้องไปเกี่ยวพันกับ “สัญลักษณ์สูงสุดเดิม” โดยตรง

โดยจอมพล ป.ได้ออกแบบ “สัญลักษณ์” หลายอย่างที่สะท้อนความเป็นผู้นำสูงสุดของตนเองออกมาเป็นรูปธรรมที่เรียกว่า “รัฐนิยม” ให้ประชาชนคนไทยรับรู้ และ ทำตามแบบแกมบังคับ

“เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” เป็นวลีเชิง Propaganda ที่เราเคยได้ยินได้รู้กันมาแล้ว ได้มีการสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญในยุคของท่านผู้นำนี้ขึ้นมากมาย เช่น การห้ามกินหมาก ให้เลิกนุ่งโจงกระเบนหันมานุ่งผ้าซิ่น หรือกระโปรงแทน ผู้ชายห้ามถอดเสื้อในที่สาธารณะ และให้สวมเสื้อแขนยาว ใส่รองเท้าหุ้มส้น ทั้งหญิงและชายให้สวมหมวกเวลาออกไปข้างนอก

หรือมีการบัญญัติคำว่า “พิบูลสวัสดี” ขึ้นมา เพื่อใช้ในการทักทายเวลาเจอกัน หรือตอนจากลา

นี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปถึงภาพใหญ่ก็มาก เช่น ให้เลิกเล่นเครื่องดนตรีไทย หันมาเล่นเครื่องดนตรีสากลแทน ให้เลิกราชประเพณีหลายอย่าง เช่น พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีพยุหยาตราทางสถลมารค และทางชลมารค

เรื่องสัญลักษณ์ที่ว่านี้ ท่านผู้นำได้มีการใช้กับสิ่งสูงสุดในการปกครองประเทศด้วย นั่นคือ “รัฐธรรมนูญ”

แน่นอนที่รัฐธรรมนูญเป็นของใหม่สำหรับราษฎรทั้งประเทศ ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร จึงได้สถาปนาขึ้นมากันเอิกเกริกเช่นนี้ ดังนั้น จอมพล ป.จึงอยากให้ราษฎรตระหนักในรัฐธรรมนูญว่าเป็นของสำคัญ แต่เป็นของสำคัญในแง่ “ของศักดิ์สิทธิ์” เป็นของขลังที่ควรเคารพบูชา เช่นเดียวกับพระพุทธรูปอย่างนั้น

ได้มีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นรูปธรรมดังที่เราเห็นกัน คือ “พานทองสองชั้นที่เรียกว่าพานแว่นฟ้า มีสมุดไทเป็นแผ่นพับวางอยู่ข้างบน” นี่คือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่ทุกคนต้องเคารพ โดยให้สร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น 70 ชุด ทำพิธีปลุกเสก แล้วมีคำสั่งให้ทุกจังหวัดจัดกระบวนแห่ให้คนสักการะรอบเมืองก่อนนำไปตั้งไว้ที่ศาลากลาง พร้อมทั้งจัดงาน “ฉลองรัฐธรรมนูญ” กันอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่สมเกียรติยศในฐานะที่เป็นของสูงสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนใช้งบประมาณของประเทศอย่างมากมาย และประชาชนก็รับรู้ได้เพียงแค่ “พานใส่รัฐธรรมนูญ” เท่านั้น โดยหารู้แก่นที่แท้จริงของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่

น่าเสียดายที่ท่านผู้นำไม่คิดจะ “ให้ความรู้” กับผู้คน เพื่อให้พวกเขามีพื้นฐานที่ถูกต้องมั่นคงต่อระบอบประชาธิปไตยว่า “ใจความสำคัญของระบอบนี้คืออะไร” อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั้นคืออย่างไร มีสิทธิและเสรีภาพอะไรบ้าง และมีกระบวนการในการมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ได้กลับคือ ความสนุกสนาน ครื้นเครง กับการเฉลิมฉลองด้วยมหรสพที่เป็นภาพเปลือกทั้งนั้น หรือนี่เป็นการสะท้อนว่า คนไทยรักแต่ความสนุกสนาน อะไรที่เป็นแก่นเป็นสาระมักจะปฏิเสธ ซึ่งท่านผู้นำก็ได้ใช้จุดอ่อนของคนไทยนี้เป็นเครื่องมือในการสร้าง “สัญลักษณ์ใหม่” ขึ้นมาอย่างที่ท่านต้องการ

รวมทั้งมีของใหม่ๆ ที่ตามมาอีกมาก เช่น วันชาติใหม่ ให้ตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 24 มิถุนายน, เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ จาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย”, มี “เพลงชาติ” ขึ้นมาให้เราได้ยืนเคารพกันทุก 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น

สร้างการรวมใจด้วย “เพลงปลุกใจ” และสร้างวัฒนธรรมการรำวงขึ้นมาในชื่อ “รำวงมาตรฐาน” ที่บังคับให้มีการสอนทั้งการร้องและการรำกันในโรงเรียน

มีการแต่งเพลงเพื่อสรรเสริญท่านผู้นำเป็นการเฉพาะชื่อว่าเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” และจัดให้มีการฉายภาพของจอมพล ป. ประกอบเพลงนี้ในโรงหนังก่อนจะชมภาพยนตร์ทุกครั้ง ซึ่งคนต้องยืนเพื่อแสดงความเคารพ หากใครไม่ยืนจะผิดกฎหมาย…คุ้นๆ ยังไงไม่รู้

เท่านั้นไม่พอ มีการออกคำสั่งให้ทุกบ้านต้องติดรูปของท่านผู้นำ โดยเขียนในคำประกาศด้วยว่า “…ถ้าบ้านใดไม่มีละก็ ควรละอายใจเป็นอย่างยิ่งทีเดียว”

มีการสร้างสัญลักษณ์เฉพาะตัวของจอมพล ป. ขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาพจำ และใช้ในการพิธีต่างๆ สัญลักษณ์ที่ว่านี้เป็นรูปพญาไก่ มาจากปีเกิดของท่านคือปีระกา พญาไก่ที่ว่านี้กางปีกสองข้างอย่างแข็งแรงคล้ายนกอินทรีในตราสวัสดิกะของนาซี และที่จะงอยเท้าทั้งสองจะเหยียบ “คทาครุฑ” เอาไว้ ซึ่งคทาครุฑนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

ผู้สร้างสารคดีให้ข้อสังเกตว่า หรือนี่จะหมายความถึงการกุมอำนาจเหนือสถาบัน ซึ่งอันนี้ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า จุดประสงค์จริงๆ คือดังนี้หรือไม่

 

นอกจากนั้น จอมพล ป. ยังได้สถาปนาจังหวัดขึ้นมาใหม่ ให้มีชื่อว่า “จังหวัดพิบูลสงคราม” อย่างเป็นทางการอีกด้วย

แน่นอนที่คนกุมอำนาจย่อมมีทั้งคนที่รักและคนที่ชัง ซึ่งก็มีกลุ่มบุคคลที่ต้องการล้มล้างจอมพล ป. ปรากฏว่าได้มีการลอบสังหารท่านผู้นำถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง นับว่าดวงแข็งจริงๆ

ในสารคดีได้พาเราเจาะลึกถึงบ้านพำนักของจอมพล ป. ที่สร้างขึ้นใหม่ มีการออกแบบดุจดังป้อมปราการ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยหากมีใครคิดประทุษร้าย ในบ้านมีหลายอาคารที่เชื่อมถึงกันได้ซึ่งเข้าออกได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต มีห้องลับที่อยู่ใต้ดิน และมีช่องทางลับซุกซ่อนอยู่ใช้เพื่อหลบหนีในกรณีจำเป็น

มีการใช้ “สายมู” ที่เลียนแบบมาจากพิธีของกษัตริย์กับบ้านพักหลังนี้ด้วย เรียกว่าเอาทุกทางเพื่อความปลอดภัย บ่งบอกถึงความไม่ไว้ใจคนรอบข้าง อันเกิดจากการถูกลอบสังหารนั่นเอง

และเพื่อความฝันที่ต้องไปให้สุด จำต้องกำจัดศัตรูให้พ้นทาง โดยเฉพาะศัตรูทางการเมืองที่ต้องปิดบัญชีโดยเร็ว ได้มีการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดกับคนต้องสงสัยมากมาย ทั้งที่เป็นนายทหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป รวมทั้งคนในรั้วในวังด้วย

เครื่องมือสำคัญที่ใช้คือการตั้ง “ศาลพิเศษ” ขึ้นมาเพื่อทำการพิจารณาคดีกรณีนี้โดยเฉพาะ และเป็นศาลพิเศษจริงๆ คือ ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีทนาย ไม่สามารถแก้ต่างใดๆ ได้ ตัดสินอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ ซึ่งที่ว่านี้ช่างขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพโดยพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่ท่านผู้นำเชิดชูยิ่งนัก

ผลคือใน 9 เดือนที่ใช้เครื่องมือนี้ มีผู้ที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต 25 คน ถูกยิงเป้า 18 คน และถูกขังทรมานในคุกที่ทุรกันดารต่างๆ อีกมาก

 

มีขึ้นก็ต้องมีลง สารคดีได้เล่าถึงช่วงอำนาจเสื่อมถอยของจอมพล ป. โดยเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ซึ่งในช่วงนั้นท่านผู้นำได้ออกตัวแรงในการให้การสนับสนุนกองทัพจักรพรรดิของญี่ปุ่น และเมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จอมพล ป. ก็ได้ถูกข้อหาอาชญากรสงคราม

แม้จอมพล ป.จะรอดจนกลับมามีอำนาจอีกได้ โดยก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และชนะการเลือกตั้งที่กล่าวกันว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด แต่ในช่วงต่อมาก็มีการก่อรัฐประหารเพื่อล้มล้างอำนาจโดยฝีมือของคนใกล้ชิด คือ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นั่นเอง จนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้จบชีวิตลงที่นั่นด้วยวัย 66 ปี 10 เดือน 11 วัน

หากจะว่าไปแล้ว ในช่วงที่จอมพล ป.ครองอำนาจอยู่นั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีสีสันอย่างมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ที่หลายอย่างในปัจจุบันก็เป็นผลพวงมาจากสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น แล้วแต่ใครจะมองในแง่ดีหรือไม่ดี

หากใครสนใจ และมีเวลา ลองหาชมดูได้ ตอนหนึ่งไม่ยาวเลยเพียง 30 นาทีก็จบ จะดูเพลินๆ เอาความบันเทิงก็ได้ หรือจะดูเอาสาระความรู้ก็มีเต็มเปี่ยม

แนะนำให้ดูด้วยสายตาเป็นกลาง อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นและชมทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องขอบคุณที่มีคนตั้งใจทำสารคดีความรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาให้ชมกัน

วันนี้ต้องขอ “พิบูลสวัสดี” แต่เพียงเท่านี้นะครับ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์