‘Digital Twin’ ขั้นสุดของร่างอวตารทุกสรรพสิ่ง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การที่เราจะคลอดออกมาจากท้องแม่แบบโชว์เดี่ยวหรือมาพร้อมคู่แฝดด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ตัวเราเองกำหนดก่อนล่วงหน้าไม่ได้ แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะทำให้เราทุกคนสามารถสร้าง ‘แฝดดิจิทัล’ ของตัวเราเองได้สักวัน

แฝดดิจิทัลที่เราสร้างขึ้นจะไม่ได้แค่มีหน้าตาเหมือนเราเท่านั้น แต่จะมีรายละเอียดทุกอย่างที่ลงลึกไปถึงพันธุกรรมแบบเดียวกับเราไม่ผิดเพี้ยน และแฝดคนนี้อาจจะช่วยให้เรายืดอายุอยู่ดูโลกใบนี้ได้นานขึ้นก็ได้

ฉันเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า Digital Avatar หรืออวตารดิจิทัลกันมาหลายครั้งแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงราว 3 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้เกิดจากการที่เราใช้คอมพิวเตอร์สร้างร่างอวตารแทนตัวเราขึ้นมาแล้วส่งให้ร่างอวตารนั้นไปโลดแล่นแทนตัวจริงอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต

เช่น ใช้เพื่อประชุมออนไลน์ ใช้เล่นเกม ใช้ช้อปปิ้งบนร้านค้าเสมือนจริง หรือใช้ในการให้บริการลูกค้าในธุรกิจต่างๆ ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์มีความสมจริงมากขึ้น ใกล้เคียงกับการพบหน้าพูดคุยกันในชีวิตจริงมากขึ้นกว่าเดิม

ในขณะที่ Digital Twin หรือ ฝาแฝดดิจิทัล เป็นสิ่งที่เหนือไปกว่านั้น

แค่ชื่อของมันก็พอจะบ่งชี้ได้แล้วว่านี่ไม่ใช่แค่ร่างอวตารที่สร้างขึ้นแบบหยาบๆ ด้วยกราฟิคแอนิเมชั่น แต่เราสร้างมันขึ้นมาให้มีความเหมือนต้นฉบับจนแยกไม่ออก เหมือนทั้งภายนอกและภายใน

Digital Twin ไม่ได้ใช้ได้กับการสร้างตัวตนที่เลียนแบบมนุษย์เท่านั้น แต่นี่คือโมเดลจำลองทางดิจิทัลที่สร้างให้เหมือนกับอะไรก็ได้ที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่การเขียนแบบสามมิติขึ้นมาให้ดูเหมือนของจริงเฉยๆ แต่สามารถใส่ข้อมูลอย่างละเอียดลงไปที่ฝาแฝดดิจิทัลเพื่อจำลองสถานการณ์ได้ว่าอะไรจะส่งผลกระทบต่อตัวจริงแบบไหน

คล้ายๆ กับการพรีวิวดูผลลัพธ์ด้วยการทดลองกับตัวปลอมโดยที่ไม่ต้องแตะต้องตัวจริงเลย

สิ่งที่ถูกสร้างให้มีฝาแฝดดิจิทัลได้ก็มีตั้งแต่โรงงานไปจนถึงเครื่องบินเลยค่ะ เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ กล้อง สแกนเนอร์ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ อีกหลายอย่างที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ช่วยให้เราสามารถเก็บ ตรวจจับ และส่งข้อมูลแบบตามเวลาจริงไปยังฝาแฝดดิจิทัลได้เลย

Fast Company ยกตัวอย่างการใช้ Digital Twin กับระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในนครนิวยอร์ก

เทคโนโลยีฝาแฝดดิจิทัลจะช่วยให้นักวางผังเมืองรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในสถานีที่มีคนใช้งานมากที่สุด 5 สถานีจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการจราจรทั้งการเดินรถและการเดินเท้า โดยที่ไม่ต้องรอให้น้ำท่วมจริงๆ ก่อน

หรืออีกตัวอย่าง วิศวกรของ Boeing จะสามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าหากเครื่องบิน 777 เกิดบินใกล้เฮอร์ริเคนมากเกินไป

หลายๆ เหตุการณ์ที่เราสามารถพรีวิวกับ Digital Twin ได้ ไม่สามารถจำลองขึ้นมาเองได้ในชีวิตจริง บางสถานการณ์อาจจะมีต้นทุนในการจำลองสูงมาก ในขณะที่บางสถานการณ์ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะจำลองขึ้นมา

 

ทุกวันนี้มี Digital Twin บางอย่างที่ถูกใช้จริงแล้ว อย่างเช่น BWM ที่สร้างฝาแฝดดิจิทัลของโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้นมาเพื่อทดสอบสถานการณ์ต่างๆ อย่างการพรีวิวดูก่อนว่าหากนำหุ่นยนต์ขนาดใหญ่มาไว้ในโรงงานและแขนกลเคลื่อนไหวไปมาจะชนเข้ากับทางเดินที่อยู่ข้างบนหรือไม่โดยที่ BMW ไม่ต้องเสียเวลาลองขยับหุ่นยนต์ไปมาเลย แถมยังสามารถรู้ผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

หรือการใช้ Digital Twin กับการวางผังเมืองแล้วทดสอบดูว่าถนนแบบใหม่จะส่งผลอย่างไรต่อการจราจร ความสูงของตึกใหม่จะส่งผลต่อแสงธรรมชาติของละแวกใกล้เคียงหรือไม่

ตอนนี้เราน่าจะพอมองเห็นภาพใหญ่ๆ แล้วว่าการสร้าง Digital Twin ก็คือการสร้างฝาแฝดทางดิจิทัลให้มีรายละเอียดเหมือนต้นฉบับทุกอย่างแล้วใช้มันเพื่อจำลองดูว่าจะมีปฏิกิริยาตอบรับกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร เพื่อให้เราตัดสินใจในโลกความเป็นจริงได้ด้วยข้อมูลที่ครบพร้อมที่สุด

แล้วฝาแฝดทางดิจิทัลของมนุษย์ล่ะ

 

ฝาแฝดทางดิจิทัลของมนุษย์ไม่ใช่แค่การสร้างโมเดลที่หน้าตารูปร่างเหมือนเราทุกประการ แต่มันได้รับข้อมูลของร่างกายเราทั้งหมดอย่างละเอียดลงลึกไปจนถึงส่วนประกอบทางพันธุกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของเราเลย

อาจจะเรียกว่าเป็นขั้นสุดของการสร้างอวตารก็คงไม่ผิด

สร้างแล้วเอามาทำอะไรได้บ้าง ก็แบบเดียวกับ Digital Twin อื่นๆ เลยค่ะ เอาไว้จำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งร้ายๆ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเรา

ฝาแฝดทางดิจิทัลของเราอาจจะช่วยให้เรามองเห็นภาพในอนาคตได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเลือกจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเราอย่างไรบ้าง เช่น ร่างกายเราจะเป็นอย่างไรถ้าเราเลือกกินมังสวิรัติต่อเนื่องกันสัก 20 ปี หรือหากเราใช้เวลานั่งทำงานที่โต๊ะนานๆ โดยไม่ออกกำลังกายเลย กระดูกสันหลังของเราจะเปลี่ยนรูปไปแบบไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า

ในกรณีที่เรามีปัญหาทางสุขภาพและจะต้องเลือกการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เลือกระหว่างการกินยากับการผ่าตัด Digital Twin สามารถแสดงให้เราเห็นว่าร่างกายของเราจะตอบสนองต่อการรักษาแต่ละรูปแบบอย่างไร

ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลของร่างกายเราจริงๆ เป็นการพรีวิวให้เห็นอนาคตของตัวเราเอง ไม่ใช่การใช้สถิติเพื่อคาดการณ์เหมือนที่ผ่านๆ มา

 

ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้นอกจอภาพยนตร์แต่นี่เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่สามารถสร้างฝาแฝดดิจิทัลของแต่ละคนได้

แต่ก็กำลังมีการพัฒนาฝาแฝดดิจิทัลของอวัยวะบางอย่าง อย่างเช่น หัวใจ แล้วในตอนนี้

หลังจากนี้ไปเราจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ Digital Twin กันอีกมากมายในหลากหลายอุตสาหกรรม อาจจะได้เห็นกรณีการใช้งานที่คาดไม่ถึงอีกเยอะ เชื่อกันว่านี่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคนี้

และมันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว