ความไม่รู้ของนักวิชาการ

ปริญญา ตรีน้อยใส

อ่านข่าวเรื่อง แขกอินโดนีเซียเริ่มเดินรถไฟไฮสปีดเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งผู้เขียนเคยไปนั่งรถไฟไฮสปีดที่ลาว จากเวียงจันทน์ ไปหลวงพระบางมาแล้ว

ทำให้นึกเสียดาย ถ้าไม่มีตุลาการไร้เดียงสาหลอกให้ไปราดยางมะตอยถนนให้ทั่วประเทศ

ป่านนี้คนไทยคงมีรถไฟไฮสปีดนั่งก่อนใครเขา

เหมือนกับที่คนสยามเมื่อร้อยปีก่อนได้นั่งรถไฟไปปากน้ำเป็นประเทศแรกในเอเชีย

 

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ขอขยายความต่อว่าเส้นทางรถไฟสายปากน้ำนั้นไปทางไหน ผ่านทางไหน

เมื่อที่มาของทางรถไฟสายปากน้ำนี้มาจากโครงการท่าเรือกรุงเทพที่ปากน้ำ และการขุดคลองตรง คลองลัดจากปากคลองพระโขนง มาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม เส้นทางรถไฟในช่วงแรกจึงอาศัยแนวคลองตรง โดยรางรถไฟจะอยู่ริมฝั่งคลองด้านทิศเหนือไปจนถึงปากคลองพระโขนง แล้วจึงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงปากน้ำ

สำหรับสถานีนั้น สถานีรถไฟบางกอกหรือกรุงเทพฯ จะอยู่ริมคลองถนนตรง ใกล้จุดเชื่อมต่อกับคลองผดุงกรุงเกษมและคลองช่องนนทรี ซึ่งเมื่อแรกให้บริการมีสถานีหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพียง 10 สถานี

ต่อมา ในแผนที่ Paknam Railway พ.ศ.2480 แสดงรายละเอียดเส้นทางรถไฟและป้ายหยุด ดังนี้ สถานีต้นทางชื่อใหม่เป็น สถานีหัวลำโพง ไปสถานีสะพานสว่าง

สะพานเหลือง สามย่าน สถานเสาวภา ศาลาแดง วิทยุ คลองเตย บ้านกล้วย กล้วยน้ำไท พระโขนง บางจาก สำโรง ศีรษะจระเข้ บางนางเกรง (บางนางเกร็ง) มหาวงศ์ ไปสิ้นสุดที่

สถานีปากน้ำ สมุทรปราการ (ปัจจุบันกลายเป็นถนนหน้าทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์)

ทั้งนี้ ผู้เดินทางต้องจ่ายค่าโดยสาร ถ้าเดินทางตลอดสายไป-กลับ 1 บาท หากเดินทางสั้นๆ จะคิดเป็นรายสถานี สถานีละ 1 เฟื้อง แต่ละขบวนประกอบด้วยผู้โดยสาร 4 ตู้

การเดินทางตลอดสายใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

Paknam Railway พ.ศ.2480

อยากให้มองว่านามสถานีและป้ายหยุดตามเส้นทางรถไฟสายปากน้ำนั้นสะท้อนสภาพบ้านเมืองในเวลานั้นอย่างชัดเจน เช่น มีการสร้างสะพานข้ามคลองถนนตรง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานสว่าง และสะพานเหลือง ที่ทุกวันนี้สะพานไม่มีอีกแล้ว แต่ผู้คนยังเรียกขานนามเดิมอยู่

รวมทั้งสามย่าน หรืออย่างคลองเตย ที่หมายถึงคลองเตยจริงๆ ไม่ใช่ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตยในปัจจุบัน คล้ายกับสถานีอื่นๆ ที่มีชื่อตามคลองที่ทางรถไฟตัดผ่าน ไม่ว่าจะเป็นสถานีพระโขนง บางจาก สำโรง เป็นต้น

เคยพาไปมองมาแล้วว่านอกจากการสัญจรทางบกด้วยรถไฟจะเป็นของใหม่ ในขณะที่การสัญจรทางถนนก็เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้น ตัวสถานีจึงเป็นจุดเปลี่ยนจากรถไฟไปต่อเรือเป็นสำคัญ

ทั้งคลองถนนตรงและทางรถไฟสายปากน้ำ ปัจจุบันล้วนมลายหายไป คงเหลือเพียงชื่อหรือนามที่เรียกขานย่านต่างๆ เท่านั้น

นักวิชาการจบนอก หรือเรียนในประเทศแต่อ่านตำราฝรั่งเป็นประจำ เลยไม่เข้าใจที่มา ปัญหา และสภาพบ้านเมือง

ยิ่งใช้วิธีวิเคราะห์แก้ปัญหาตามทฤษฎีแบบเขา ทุกอย่างเลยผิดเพี้ยนไป •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส