ผลของ ‘ความอ่อนไหว’

เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักการเมืองย่อมปรารถนาให้ประชาชนสนใจในบทบาท เพื่อเป็นหนทางสร้างความเชื่อถือศรัทธา และนำมาซึ่งความนิยมชมชอบอันเป็นฐานเสียงสนับสนุน

การได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเป็นความสำคัญยิ่งของนักการเมือง โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่การขึ้นสู่อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ความคิดว่าผู้คนจะให้ความสนใจในแต่ละบทบาทของตัวเอง เป็นเรื่องที่นักการเมืองจะมีอยู่เสมอ และย่อมต้องการความใส่ใจด้วยความคิดที่เป็นมุมบวก

และเป็นธรรมดาของนักการเมืองที่จะไม่ชอบใจนักกับการถูกมองในมุมลบ โดยเฉพาะ “ผู้ที่วิญญาณนักการเมืองยังไม่เข้าที่” มักจะอ่อนไหวง่ายต่อการถูกพูดถึงในมุมที่ไม่น่าพึงพอใจ

เราจึงเห็นนักการเมืองหน้าใหม่ออกอาการหงุดหงิดกับการถูกวิจารณ์ ไม่เหมือนกับผู้ที่คร่ำหวอดกับความเป็นนักการเมืองจนรู้สึกปกติกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์

ยิ่งเป็นผู้ประสบความสำเร็จมาจากวงการอื่น เคยชินกับการถูกยกยอปอปั้น ยิ่งทำให้ปรับตัวได้ยากกับความคิดที่ตัวเองเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยไม่ได้นึกว่าแท้จริงแล้วความถูกต้องเป็นแค่ทัศนะที่แตกต่างด้วยเช่นกัน

ยิ่งผู้มีตำแหน่งใหญ่ย่อมต้องเผชิญแรงเสียดทานของการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า จะตอบรับด้วยท่าทีแบบไหน ขึ้นอยู่กับ “อ่อนพรรษาทางการเมือง” แค่ไหน

บางครั้งก็เป็นแค่ความคิดว่าเป็น “ศูนย์กลางความสนใจของประชาชน” ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “สนใจเรื่องนายกฯ เศรษฐาเยือนต่างประเทศหรือไม่” ร้อยละ 39.01 ตอบว่าไม่ได้ติดตามข่าวเลย, ร้อยละ 24.43 ติดตามการเข้าพบผู้นำหรือบุคคลสำคัญในต่างประเทศ, ร้อยละ 24.35 ติดตามบทบาทและผลการเยือน, ร้อยละ 21.83 สนใจการแต่งกาย/เสื้อผ้าของนายกฯ, ร้อยละ 19.08 สนใจการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ, ร้อยละ 19.08 สนใจลักษณะท่าทาง และ/หรือภาษากายของนายกฯ, ร้อยละ 10.31 สนใจการจัดการต้อนรับของประเทศเจ้าภาพ, ร้อยละ 1.98 ไม่ตอบ

จากผลสำรวจนี้จะพบว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความสนใจของประชาชนต่อบทบาทของนักการเมือง มีน้อยมาก แม้จะเป็นระดับผู้นำประเทศ ยิ่งความสนใจในเนื้อหาสาระของเนื้องานยิ่งน้อย

เป็นไปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะปล่อยให้เป็นแบบ ต่างคนต่างทำหน้าที่กันไป หากไม่มีอะไรเสียหายก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล หรือรู้สึกอ่อนไหวอะไร

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พยายามนำเสนอประเด็นให้ประชาชนสนใจ ถูกมองเป็นความเห็นต่างธรรมดา

ต่างคนต่างทำมาหากินและทำหน้าที่กันไป ไม่ได้มีเวลาจะมาใส่ใจกับงานของคนมากนัก

แต่กระนั้นก็ตาม เพราะนักการเมืองคืออาชีพที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ให้ดูดี ย่อมไม่ปรารถนาให้เกิดการพูดถึงในทางที่คิดว่าสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะจากนั้นที่รู้สึกว่ามุ่งทำลายภาพที่ดีงาม และนำเสนอภาพที่เลวร้าย

คนที่ไม่เชี่ยวชาญการวางตัวทางการเมือง มักคิดว่าการตอบโต้อย่างถึงลูกถึงคนเป็นการแก้การถูกโจมตี

แต่หากเป็นผู้มีประสบการณ์จะรู้ว่า “การตอบโต้ใช้ได้กับบางคนเท่านั้น”

สำหรับคนส่วนใหญ่การตอบโต้ยิ่งกระตุ้นการวิจารณ์ขยายมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งเป็นผลเสียมากกว่า