33 ปี ชีวิตสีกากี (44) | การสืบสวนโดยทางลับ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ภายในตอนเรียนของนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 วิชาที่เรียนในวันนั้น ยังเป็นการบรรยายวิชาการสืบสวนโดยทางลับ โดยอาจารย์ พ.ต.อ.เกษม แสงมิตร รอง ผบก.สันติบาล

*กฎของการปฏิบัติงานลับ* ไม่เฉพาะตำรวจเท่านั้น แต่รวมถึงองค์การต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานลับ คือ

1. การย้ำการเตือน การบอกให้ทราบว่า แต่ละคนจะต้องรู้ว่า ตนปฏิบัติอย่างไรบ้าง เท่าที่แต่ละคนควรจะรู้ ควรจะทราบเท่านั้น

2. แต่ละคนจะต้องไม่หาทางที่จะทราบเรื่อง หรือไปรู้เรื่องที่ตัวเองไม่ทราบ

3. ทุกคนจะต้องไม่ไว้ใจคนใกล้ชิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยเด็ดขาด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นน้อง ภรรยา เป็นพ่อ เป็นแม่

4. ต้องไม่ใช้ตำแหน่ง หน้าที่หรืออำนาจหน้าที่มาละเมิดความลับ

5. ในระหว่างที่ปฏิบัติงานต้องไม่พูด ต้องไม่พบ ต้องไม่ติดต่อใดๆ ทั้งสิ้นโดยไม่จำเป็น

6. ต้องไม่ทำงานนอกสั่ง

7. ต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลาที่ทำงาน ทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ

8. ต้องไม่จดหรือบันทึกโดยไม่จำเป็น

9. ต้องถอดชีวิตเดิมทิ้ง ใส่ชีวิตใหม่เข้าไปแทน

10. ต้องเป็นคนช่างสังเกต

11. ต้องไม่ประมาทฝ่ายตรงข้าม และต้องถือว่าฝ่ายตรงข้ามมีฝีมือ

12. ต้องไม่พยายามทำตนเป็นวีรชนแต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นพระเอกคนเดียว

13. ต้องหัดให้ทำงานเป็นทีม (ส่วนใหญ่งานลับจะทำเป็นทีม)

14. ต้องเชื่อฟังคำสั่ง ผู้บังคับบัญชา ผู้สั่งการโดยเคร่งครัด (มีวินัยเด็ดขาด)

15. มีความอดทนและเสียสละ สูงกว่าปกติ

16. ต้องยอมรับความผิดพลาดและบกพร่อง

17. ต้องไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น

18. ต้องทำความเข้าใจถึงภารกิจ หน้าที่ เป้าหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างแจ่มชัดที่สุด ก่อนปฏิบัติการ

 

หลักการหรือเงื่อนไขที่จะทำให้การปฏิบัติงานลับได้ผลดีมีประสิทธิภาพ คือ

1. จะต้องมีวิธีการที่จะสามารถเข้าไปทำการสืบสวนในบริเวณเป้าหมายได้โดยเป้าหมาย หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเป้าหมาย ไหวตัวหรือสงสัย

2. จะต้องหาวิธีเข้าไปให้ใกล้ชิดที่สุด โดยที่จะต้องไม่ให้เขาไหวตัว รู้ตัว

3. ต้องหาวิธีเข้าไปทำการสืบสวนให้ได้นานที่สุด เท่าที่เราต้องการ

การสืบสวนในราชการลับ โดยการเฝ้าจุดสะกดรอย

– ติดตามบุคคลที่จะเป็นภัยต่อประเทศชาติ ป้องกันการก่อวินาศกรรม

– บุคคลที่ฝักใฝ่หรือองค์การ แนวร่วม Unitedfront ในลัทธิคอมมิวนิสต์

การติดตาม หมายถึง การที่ไปทำการเพ่งเล็ง สังเกตบุคคล สถานที่หรือเป้าหมายอันใด เพื่อให้ได้ความรู้มาประกอบการเขียนรายงานในด้านการสืบสวน ซึ่งจะได้รวบรวมพฤติการณ์ต่างๆ ใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

Agent มี 2 อย่าง คือ

Penetration การแทรกซึม ซึ่งจะเอาฝ่ายตรงข้ามหรือโดยหาทางเอาบุคคลนั้นมาเป็นพวก เป็นคนของเรา อาจโดยการซื้อ

Infiltration การส่งคนของฝ่ายเราเข้าไปอยู่ในพรรคพวกของฝ่ายตรงข้าม

ประเภทของการติดตามสังเกต มีหลายวิธี แต่สรุปประเภทใหญ่ๆ มี 2 ประเภท คือ

1. การติดตามแบบระมัดระวัง เรียกว่า การปกปิดซ่อนเร้น แอบแฝงทำโดยแนบเนียน เพื่อมิให้ผู้ที่ถูกติดตามรู้ตัว ถ้าผู้ถูกติดตามเกิดรู้ตัวว่าถูกติดตาม ให้หยุดเลิกการติดตามทันที หรือเปลี่ยนตัวผู้ติดตามทันที ถ้าเป็นกรณีที่จำเป็น

2. การติดตามแบบกระชั้นชิด หรือประกบตัว เรียกว่า การติดตามเหมือนประเภทที่ 1 แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า การติดตามแบบนี้ ทำมานานพอสมควร จนได้หลักฐานบางอย่าง ได้รายละเอียด รอการจับกุมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

พ.ต.ท.สำเริง โกมลเสน ได้เข้าสอนในชั้นเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 หัวข้อ

การสะกดรอยติดตาม surveillance มีดังนี้

การติดตามอยู่กับที่ fixed surveillance ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกติดตาม (suspect or subject or target)

คนที่ทำการสะกดรอยติดตามหรือสายลับ เอเย่นต์ (surveillance or agent)

Agent เป็นพวกตัวแทน สายลับ

– Informer

– Informant

– ลข (source) หรือ แหล่งข่าว ตามภาษาการข่าว

Unitedfront (แนวร่วม) อยู่ในการเคลื่อนไหวโดยไม่รู้ตัว เราหมายถึงการที่เราไปเพ่งเล็ง หรือสังเกต บุคคล สถานที่ หรือเป้าหมายอันใด การที่เราไปกระทำอย่างนั้น เพื่อให้ได้ความรู้

การเฝ้าจุดและสะกดรอยติดตาม นอกจากใช้ในการสืบสวนคดีอาญาแล้ว ยังใช้ในการสืบสวนในราชการลับ โดยใช้เฝ้าดู ติดตาม บุคคลที่มีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยทางการเมือง เป็นภัยต่อประเทศชาติ ในต่างประเทศเรียกว่า การติดตามสังเกต Surveillance ส่วนการเฝ้าจุด เรียกว่า fixed surveillance

ความมุ่งหมายของการเฝ้าจุดสะกดรอยติดตาม

ต้องการได้รับรายงานต่างๆ ที่แน่นอน และเป็นความจริง คือ รายงานที่เกี่ยวกับลักษณะและพฤติการณ์หรือกิจกรรมของจุดหรือผู้ถูกติดตามโดยถูกต้อง

หัวข้อของจุดมุ่งหมาย

1. เพื่อให้ทราบสถานที่ไปของจุด และผู้ที่เขาติดต่อด้วย

2. เพื่อให้ทราบถึงบุคคลทั้งหมดที่ร่วมกระทำการ

3. เพื่อให้ทราบรายละเอียดหรือขอบเขตหรือลักษณะของกลุ่มในกิจการ

4. เพื่อตรวจสอบให้รู้ว่ารายงานข่าวของเราควรเชื่อถือได้หรือไม่

5. เพื่อค้นหาแหล่งซุกซ่อนสิ่งของ แหล่งหลบซ่อน แหล่งเก็บหรือผลิตเอกสาร แหล่งผลัดเปลี่ยน แหล่งข่าววิทยุ งานจารกรรมอุปกรณ์การวินาศกรรม อาวุธและของต้องห้ามผิดกฎหมายต่างๆ

6. เพื่อให้ได้พยานหลักฐานบางประการ ประกอบการออกหมายจับ

7. เพื่อป้องกันการกระทำการของบุคคลหรือเพื่อทำการจับกุม

8. เพื่อทราบรายงานความรู้เป็นพื้นฐานในการสอบสวนผู้ต้องหา หรือบุคคลอื่น

9. เพื่อคลี่คลายเงื่อนไขให้ชัดเจนขึ้น

10. ช่วยรู้ถึงสถานที่อยู่ และสถานที่ที่จะไปของบุคคล

11. ค้นหาแหล่งบัญชาการและแหล่งประชุม

12. เพื่อทราบแนวทางสื่อสารของคน ที่ทำผิดกฎหมาย

 

ผู้ไปสะกดรอยต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการนี้

1. มีรูปร่างลักษณะอย่างบุคคลธรรมดา (ไม่เด่นผิดปกติ เช่น สูงเกินไป แผลเป็นสะดุดตา หรืออ้วน หรือผอมเกินไป รอยสักที่เห็นชัด)

2. สามารถทำตนในลักษณะการปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในวิกฤติการณ์ใดก็ไม่หวั่นไหว สามารถควบคุมสำรวมอารมณ์ไว้ได้

3. ตามปกติมีอิริยาบถที่ไม่เด่น คือ เหมือนบุคคลธรรมดา

4. มีเชาวน์ไว ไหวพริบดี ตัดสินใจถูกต้อง

5. มีความสังเกต จดจำดี ความรู้ดี ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะทำอย่างไรต่อไป

6. อดทนเป็นพิเศษ เพราะว่าบางทีต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

7. มีร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรง

8. ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่

9. มีนิสัยเหมาะกับการบริหารงาน เข้าใจจิตใจของผู้อื่น รักหมู่ รักคณะ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร

10. ได้รับการฝึกฝนถึงการติดตามสังเกต

ความสามารถพิเศษของผู้สะกดรอยติดตาม

1. มีความรู้ทางด้านถ่ายรูป

2. ขับขี่ยานพาหนะ

3. พูดภาษาท้องถิ่นได้

อำนาจหน้าที่ของผู้ติดตามสังเกต ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา หรือเมื่อต้องรับความช่วยเหลือ ผู้บังคับบัญชาจะได้ติดต่อให้ได้ โดยเฉพาะงานนั้นต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

มีการตรวจแฟ้มบันทึกต่างๆ พอเพียงหรือยัง มีหน่วยงานใดทำอยู่บ้างเพื่อจะได้ข่าวในการปฏิบัติของเรา