10,000 บาท อยากแจกต้องได้แจก

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

10,000 บาท อยากแจกต้องได้แจก

 

ฝ่ายหนึ่งอยากแจก อีกฝ่ายก็อยากได้ แต่ทำไมมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ไม่สามารถแจก

ผมกำลังพูดถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่คนไทย 56 ล้านคน ซึ่งเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) ที่สำคัญซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอต่อประชาชน โดยมุ่งหวังผลในการเลือกตั้งและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากก็รอคอยเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม นับแต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและเริ่มผลักดันนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ปัญหาอุปสรรคและข้อทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชน ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน วิธีการแจก การคาดการณ์ถึงผลที่ตามมาทางเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของรัฐ ตลอดจนข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้รัฐบาลต้องมีความรอบคอบในการดำเนินการและยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดของโครงการได้อย่างชัดเจนแม้เวลาจะผ่านมาเป็นเดือน

เมื่อเป็นนโยบายเรือธงและประชาชนล้วนให้ความคาดหวัง จะมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวต้องเดินหน้า แต่การดำเนินนโยบายให้เกิดผลดีที่สุดแก่ประเทศควรต้องคำนึงถึงเรื่องใด เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ

 

ใช้งบประมาณแผ่นดินดีกว่าการกู้ยืมเงิน

ประเด็นแหล่งที่มาของประมาณ 560,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณแผ่นดินประจำปีเป็นเรื่องที่ต้องคิดใคร่ครวญให้มาก

เพราะหากใช้เงินร้อยละ 15 ของงบประมาณแผ่นดินเพื่อแจกให้ประชาชนโดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเป็นการเบียดบังงบรายการรายจ่ายประจำของแต่ละส่วนราชการและจำกัดการใช้รายการลงทุนในรายการที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ หรือแทนที่จะนำไปใช้หนี้เงินกู้จำนวนมากแต่กลับเป็นรายการที่จ่ายออกโดยไม่ใช่การลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบว่าเงินจำนวนดังกล่าวควรจะมาจากงบประมาณแผ่นดินหรือมาจากการกู้ใหม่

การใช้จากงบประมาณแผ่นดินด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การประหยัดงบประมาณ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โยกย้ายเปลี่ยนแปลงรายการที่ไม่เหมาะสม น่าจะเป็นทางออกที่สวยงามกว่าการกู้เงิน

เพราะการกู้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายกึ่งการคลังให้รัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารของรัฐออกเงินไปก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยภายหลัง หรือจะใช้วิธีการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นทั้งในและนอกประเทศล้วนเป็นทางออกที่ไม่เหมาะสม

เพราะการใช้นโยบายกึ่งการคลังนั้น รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการดังกล่าวจนเต็มกรอบวงเงินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้ว กล่าวคือ ในปัจจุบันมียอดหนี้ที่รัฐบาลต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

การจะกู้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม ต้องขยายกรอบวงเงินและยังมีข้อจำกัดตามกฎหมายของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ง่ายดายนัก

ส่วนการกู้จากแหล่งภายนอกทั้งในและนอกประเทศ แม้ว่าขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 61.78 (ข้อมูลล่าสุด จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อสิงหาคม 2566) ยังห่างจากเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 70 ของ GDP ก็ตาม

แต่การกู้เพื่อแจก กับการกู้เพื่อการลงทุนนั้นแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้เป็นรัฐบาลต้องตัดสินใจให้ดี

 

แจกเต็มเฉพาะกลุ่ม

หรือแบ่งแจกให้ทุกคน

ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ จึงเกิดโจทย์ใหม่ว่า จะแจกครั้งเดียวเต็ม 10,000 บาท หรือจะแบ่งจ่ายเป็นงวดแต่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเดิมทั้งหมด

เพราะจับจากน้ำเสียงของผู้รับผิดชอบโครงการ คือ รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เริ่มมีทางเลือกสองแบบ คือ แนวทางการแจกเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นโดยเลือกจากเงินเดือน เงินฝากในธนาคาร หรือการแสดงสถานะเป็นผู้ยากไร้ที่ได้ลงทะเบียนกับรัฐ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือยังคงให้ทุกคนตามเป้าหมายเดิมแต่การทยอยแจกโดยเป็นการตั้งเป็นงบผูกพัน 4 ปี

ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด ผลสะเทือนที่ต้องการให้เกิดต่อเศรษฐกิจของประเทศแบบรุนแรงที่ใช้คำว่าต้องการ “กระตุก” ไม่ใช่ “กระตุ้น” ย่อมได้ผลน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมทั้งสิ้น

คิดง่ายๆ หากแจกเฉพาะกลุ่มน้อยลงครึ่งหนึ่ง ผลสะเทือนก็หายไปครึ่งหนึ่ง หากจ่ายทุกคนแต่แบ่งจ่าย 4 ปี ผลสะเทือนก็ลดลง 4 เท่า

แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว การจ่ายงวดเดียวแต่คัดกรองเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็น มีความต้องการที่แท้จริง น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะยิ่งแบ่งจ่ายหลายงวด จำนวนเงินที่ให้แทบจะไม่มีความหมายสำหรับผู้ได้รับ และเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหายไปโดยไม่เกิดผลใดๆ

 

ร้านค้ารายย่อย

คือองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ

ความต้องการในการสร้างตัวทวีคูณ (Multiplier) ทางเศรษฐกิจนั้นมีปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ (Key success factors) อยู่ที่การมีร้านค้ารายย่อยอยู่ในโครงการที่ประชาชนซึ่งถือเงินดิจิทัลสามารถตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยได้โดยง่าย

เพราะหากประชาชนซื้อจากร้านค้าย่อย ร้านค้าย่อยไปซื้อจากร้านค้าส่ง ร้านค้าส่งไปซื้อจากผู้ผลิต อย่างน้อยเราจะเห็นเงินหมุนถึง 3 รอบ

ในทางตรงข้าม หากประชาชนผู้ถือเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ มุ่งจับจ่ายใช้สอยผ่านธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เรียกว่า Modern Trade เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อต่างๆ การหมุนของเงินอาจเป็นแค่รอบเดียวหรือแค่รอบครึ่ง เพราะธุรกิจเหล่านี้มีทั้งที่มีแหล่งผลิตสินค้าเองและจำนวนหนึ่งก็เป็นสินค้าต่างประเทศ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเทศเท่าที่ควร

เงื่อนไขที่ให้ร้านค้ารายย่อยต้องเป็นร้านในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงื่อนไขที่ต้องถือเงินดิจิทัลก่อนไปซื้อสินค้าต่อซึ่งอาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกรายการที่ต้องการให้ซื้อเงินสด หรือเงื่อนไขการแลกคืนจากรัฐที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจเป็นสิ่งที่เจ้าของร้านค้ารายย่อยจำนวนมากที่มีสายป่านทางการเงินไม่ยาวพอปฏิเสธที่จะร่วมโครงการ หรือลงทะเบียนร่วมโครงการในระยะแรกแต่พอดำเนินการไประยะหนึ่งต้องถอนตัว

การซื้อทั้งหมดก็จะวิ่งเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์ต่างๆ ที่พร้อมจะรับเงินดิจิทัล

การกระจายรายได้ไม่เกิดขึ้น การหมุนของเงินก็น้อยรอบ และผลประโยชน์จากนโยบายนี้ก็ตกอยู่กับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ดีๆ ประชาชนก็มีเงินกระเป๋ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม

 

ครั้งเดียวจบ

หรือจะกลายเป็นประเพณีหาเสียง

สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุด คือ ต้องอย่าให้การแจกเงินดิจิทัลที่อ้างเหตุผลว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลายเป็นนโยบายประชานิยมที่แข่งขันกันในการหาเสียงครั้งต่อๆ ไป

เพราะหากครั้งนี้ พรรคนี้ 10,000 บาท ครั้งหน้า พรรคอื่น อาจกลายเป็น 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท

ครั้งนี้ กู้มาแจกได้ ไม่ผิด ครั้งหน้าก็กู้มาแจกได้อีก ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ทะลุเพดานวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือแม้จะทะลุ ก็ขยายเพดานต่อไปได้อีกเพราะประธานคณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐคือตัวนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

560,000 ล้านที่เป็นร้อยละ 15 ของงบประมาณแผ่นดิน อาจกลายขยายตัวเป็นล้านล้านบาทได้ ตราบใดที่ประชาชนยังอ้าแขนรับของฟรีและนักการเมืองพร้อมจ่ายโดยไม่มีความรับผิดชอบใดๆ เพียงเพื่อต้องการคะแนนเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง

หวังว่า คำว่า สิ้นชาติ หรือ การล้มลายทางเศรษฐกิจของประเทศ คงไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพราะแข่งกันเสนอนโยบายประชานิยม