วัดร้างใน ‘เวียงควก’ กับปริศนา ‘พระเจ้าทองทิพย์’ วัดพระธาตุหริภุญชัย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เรื่องราวเกี่ยวกับ “เวียงควก” หรือ “ข่วงชุมแก้ว” แห่งบ้านหนองหนาม รอยต่อระหว่างตำบลบ้านแป้น กับ อบต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน ฉบับนี้จักได้กล่าวถึงเป็นตอนสุดท้ายแล้ว ขอเท้าความให้เห็นว่า ตอนแรกเป็นการเปิดประเด็นด้วยมุมมองของตัวดิฉันเอง ตอนที่สองเป็นความเห็นของอาจารย์ภูเดช แสนสา

และตอนที่สามนี้ อยากเชิญชวนมารับฟังข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้คนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่บ้านหนองหนามนี้ดูบ้าง ว่าพวกเขามีการรับรู้เกี่ยวกับ “เวียงควก” ในแง่มุมใดกันบ้าง เหมือนหรือต่างกับองค์ความรู้ที่นักวิชาการได้นำเสนอในสองฉบับที่ผ่านมา

โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายที่เรายังไม่ได้พูดถึงกันเลย นั่นคือที่มาของ “พระเจ้าทองทิพย์” องค์งาม องค์เดียวกันกับที่ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถของวัดพระธาตุหริภุญชัย ตามความเข้าใจเดิมที่บอกต่อๆ กันว่าพระปฏิมาองค์นี้ได้มาจากวัดหนองหนาม ตำบลบ้านแป้นนั้น แท้จริงแล้วเป็นสมบัติดั้งเดิมของวัดหนองหนามเลยจรองหรือ ฤๅมีการโยกย้ายมาจากที่อื่นอีกทอดหนึ่งก่อนจะมาอยู่วัดหนองหนาม?

บทความฉบับนี้จะพาไปดูแหล่งแรกเริ่มที่พระเจ้าทองทิพย์เคยประดิษฐาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดอันซีนของลำพูน

พระเจ้าทองทิพย์ ในพระอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัย ย้ายมาจากวัดร้างสันขวาง และวัดหนองหนาม ตามลำดับ
พระเจ้าทองทิพย์ ประดิษฐานในมณฑปโขงพระเจ้า ซึ่งมีพระพุทธรูปอีกองค์บดบังส่วนฐานไว้ ซ้ำมีโต๊ะหมู่บูชาวาง ทำให้ไม่มีใครสามารถเห็นได้ว่าที่ฐานพระเจ้าทองทิพย์มีจารึกระบุศักราชหรือไม่ จากรูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานได้ว่ามีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันกับพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพานิชสิทธิการาม ป่าซาง

เวียงควกก็มีวัดสี่มุมเมือง?

ช่วงที่คณะของดิฉัน (ในนามสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดลำพูน) ลงพื้นที่สำรวจค้นหา “เวียงควก” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่หลายท่านว่า เวียงแห่งนี้ประกอบด้วยวัดร้างอยู่ 4 แจ่ง (4 มุม) ในทำนองวัดสี่มุมเมืองของนครหริภุญไชย

นั่นคือ ด้านทิศเหนือสุด เคยมีวัด “บ้านถ้ำ” บ้างเรียก “บ่อถ้ำ” วัดนี้ถูกรื้อทิ้งไปแล้วเหลือเพียงแต่บ่อน้ำ 1 บ่อ ตั้งอยู่ริมถนน มีเรื่องเล่าว่าบ่อน้ำแห่งนี้ไม่ใช่บ่อธรรมดา แต่มีลักษณะเป็นโพรงหรืออุโมงค์ทะลุไปไกล

ทิศใต้มีวัดร้างที่ชื่อ “ฮ้อยซ้า” (ฮ้อย หมายถึงการร้อยสิ่งของเพื่อแขวน มิได้หมายถึงจำนวนเลขหลักร้อย ส่วนคำว่า ซ้า หมายถึงตะกร้า) ชื่อนี้กล่าวกันว่า น่าจะเป็นชื่อที่เรียกในยุคพระเจ้ากาวิละสมัยมาฟื้นเมืองลำพูนไชย โดยมีการอพยพชาวยองจากรัฐฉานเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จำนวนมาก และความที่ใช้เป็นจุดพักเหนื่อย ต่างคนต่างเอากระบุงปุ้งกี๋ตะกร้า (ซ้า) ที่หาบคอนกันมาอย่างอิดโรย แขวนพักไว้

ถือว่าจุดนี้มีโบราณสถานหลงเหลืออยู่ให้พอเห็นซากฐานได้มากพอสมควร ทั้งส่วนที่เป็นฐานวิหารกับองค์พระเจดีย์ ถือว่าเป็นจุดที่พบร่องรอยทางโบราณคดีมากรองเป็นอันดับสองต่อจากจุดที่เรียกว่า “วัดร้างผ้าขาว”

ด้านในของวัดร้างหนองผ้าขาว มีร่องรอยการก่ออิฐอย่างเป็นระเบียบ แม้จะโดนขุดเจาะจนพรุนพร่างแทบไม่เห็นรูปทรง

จาก “หนองหาม” กลายเป็น “หนองหนาม”

ส่วนวัดร้างแห่งที่สาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็คือ “วัดร้างผ้าขาว” ที่ดิฉันภิเปรยว่าดูน่าตื่นตาตื่นใจประหนึ่ง “ปราสาทตาพรหมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” นั่นเทียว ในแง่ที่มีรากไม้ใหญ่ปกคลุม อุ้มโอบตัวซากกองอิฐไว้เป็นหนึ่งเดียว

จุดนี้ ตามเรื่องเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า เป็นที่มาของคำว่า “บ้านหนองหนาม” กล่าวคือ บริเวณนี้มีหนองขนาดใหญ่จำนวนมากรายรอบตัววัดร้างผ้าขาว แต่ละหนองก็ค่อนข้างลึกแม้แต่ช้างยังเอาตัวไม่รอด ตกไปในหนอง คนต้องช่วยกันหามขึ้นมา

จากคำว่า “หนองหาม” เรียกไปเรียกมาเพี้ยนเป็น “หนองหนาม” จวบจนปัจจุบัน ทั้งที่ในความจริง บริเวณนี้ หาได้มีพรรณไม้ประเภท “หนาม” ขึ้นชุกชุมแต่อย่างใดไม่ หนองหามทั้ง 3-4 แห่งนี้ บางแห่งก็แห้งเหือดไปแล้ว กลายเป็นทุ่งนาเลนโคลน

และหนองน้ำบางแห่งก็ยังเรียกว่า “หนองผ้าขาว” อีกด้วย ซึ่งที่มาเกี่ยวกับชื่อ “ผ้าขาว” นี้ทางชุมชนได้ยินได้ฟังมาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการนุ่งห่มผ้าขาวเพื่อมาปฏิบัติธรรมของพระนางจามเทวี แต่จะจริงเท็จอย่างไรไม่มีใครทราบ นอกจากนี้ ในอดีตมักมีคนเห็น “พระธาตุเสด็จ” เป็นแสงสีเขียวระหว่างกู่ร้างหนองผ้าขาวไปยังเจดีย์วัดกอข่อยอีกด้วย

จากการลงพื้นที่สำรวจของคณะเรา พบว่าตัวองค์พระเจดีย์ถูกลักลอบขุดคุ้ยกระจุยกระจาย จนไม่เหลือแม้แต่ซากปูนปั้นลวดลายประดับใดๆ มีที่พอพบกลีบบัวเล็กๆ อยู่บ้างก็ร่วงหล่นมีแค่ 1-2 ชิ้น ซึ่งเชื่อว่าหากมีการขุดค้นขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี น่าจะพบคำตอบในเชิงโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่แน่ชัดกว่านี้

ซ้าย เศษชิ้นส่วนปูนเผาแผ่นค่อนข้างหนาสำหรับฉาบผนังอาคาร ขวา ปูนปั้นรูปกลีบบัวสมัยล้านนาที่ร่วงจมฝังดินรอบกู่ร้างหนองผ้าขาว

พระเจ้าทองทิพย์พบที่วัดร้างสันขวาง

แจ่งสุดท้ายที่ชาวบ้านพาพวกเราไปดู อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงควก ตั้งอยู่ในเขต อบต.หนองหนามแล้ว มีวัดร้างชื่อ “สันขวาง” เหตุที่ชื่อเช่นนี้ก็เพราะเป็นพื้นที่ดอนที่มีลักษณะขวางทางไหลของน้ำไว้ ซึ่งปกติแล้วลำน้ำสายย่อยๆ ทั้งหมดบริเวณนี้จะไหลเทไปลงแม่น้ำกวงทางทิศตะวันตกเกือบทุกสาย ยกเว้นจุดนี้ที่กั้นขวางทางน้ำไว้

จุดนี้ ครั้งหนึ่งมีแนวคิดจะจัดสร้างที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองหนาม และสุดท้ายได้ยายไปที่อื่น ปัจจุบันมีป้ายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาปักไว้ว่าเป็นวัดร้างที่สำนักพุทธขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

เมื่อเรานั่งรถผ่านหรือจอดรถมองแบบเผินๆ จะพบเพียงเนินต้นไม้ใหญ่น้อยที่มีศาลสีแดงตั้งอยู่ด้านหน้า มีรั้วล้อมรอบไว้พอให้เห็นเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ครั้นเมื่อลอดสุมทุมพุ่มเข้าไปดูแล้วกลับพบซากกองอิฐกระจายเกลื่อนอีกเช่นกัน

ความสำคัญของวัดร้างสันขวางคือเป็นจุดที่มีการค้นพบ “พระเจ้าทองทิพย์” องค์งามนั่นเอง

จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดหนองหนาม และพระเจ้าทองทิพย์ก็ประทับอยู่ ณ วัดหนองหนามอยู่ช่วงระยะหนึ่ง

กระทั่งเมื่อเกือบ 100 ปีแล้ว พลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย เมื่อทราบข่าวถึงกิตติศัพท์ความงามงดอย่างหาที่ติมิได้ของพระเจ้าทองทิพย์ ทำให้ท่านได้เดินทางมายังวัดหนองหนามด้วยตนเอง เพื่อมาขอพระเจ้าทองทิพย์ไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัย ในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำลังบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งเดิมก็เคยมีพระประธานเป็นพระสิงห์แบบล้านนาอยู่แล้วองค์หนึ่ง

ทำให้ปัจจุบันนี้ พระเจ้าทองทิพย์ องค์ที่ได้มาจากวัดร้างสันขวางและย้ายไปอยู่วัดหนองหนามในช่วงเวลาหนึ่ง ได้กลายมาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งเวลาเรามองพระเจ้าทองทิพย์ผ่านมณฑปโขงพระเจ้าในระยะไกล

เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าที่ฐานพระเจ้าทองทิพย์องค์นี้จะมีอักษรจารึกระบุปีศักราชที่สร้างด้วยหรือไม่ และศักราชจักสอดคล้องกับจารึกวัดข่วงชุมแก้วด้วยหรือไม่ คือตรงกับสมัยพระยอดเชียงรายตอนต้นหรือช่วงปลายของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา

รายรอบวัดร้างหนองผ้าขาว มีหนองน้ำขนาดย่อมๆ กระจายตัวอยู่จำนวนมาก ทั้งหนองหาม (ต่อมาเพี้ยนเป็นหนองหนาม) และหนองผ้าขาว
วัดร้าง “ฮ้อยซ้า” ยังพอเหลือซากเนินสถูปอยู่บ้าง

ซากวัดร้างอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ในเวียงควก

การสันนิษฐานว่าเวียงควกอาจมีสี่แจ่ง หรือมีวัดสี่มุมเมืองนี้ เป็นเพียงความเห็นของปราชญ์บางท่านเท่านั้น เนื่องจากซากโบราณสถานที่เห็นอย่างเป็นรูปหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และได้มีการตีการตีความชื่อ “เวียงควก” ว่า มาจากภาษาล้านนาโบราณที่หมายถึง การเอากากบาทไขว้กันไว้ 4 มุม ทำให้ตอนกลางกลายเป็นแอ่งหรือหลุมที่เรียกว่า การควัก หรือการควกกัน

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว พบว่ายังมีวัดร้าง ประเภทวัดเล็กวัดน้อยกระจายตัวอีกเป็นจำนวนมาก ตามทิศต่างๆ ตามมุมต่างๆ ของเวียงควก ไม่ใช่เพียงแค่สี่แจ่งนี้เท่านั้น ดังเช่นคำบอกเล่าของพ่อครูสุวิช ศรีวิราช ปราชญ์ชาวยองคนสำคัญกล่าวว่า ในเวียงควกนี้ สมัยที่ตนยังรับราชการสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูนก่อนที่จะแยกมาเป็นสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูนนั้น ตนได้รับมอบหมายให้มาสำรวจวัดร้างทั่วลำพูน

พบว่าบริเวณบ้านหนองหนามมีวัดร้างหลายแห่ง นอกจากวัดร้างหนองผ้าขาวแล้ว ยังมีวัดบ้านถ้ำ วัดป่าขาม วัดคึกคัก (ชื่อวัดนี้หมายถึง เวลาทหารจะออกศึกต้องมาทำพิธีตัดไม้ข่มนามให้เกิดความฮึกเหิมที่วัดแห่งนี้) วัดสันเกาะเกร็ด เป็นต้น

คณะผู้ร่วมสำรวจเวียงควก ถ่ายภาพที่วัดร้างสันขวาง จุดที่พบพระเจ้าทองทิพย์เป็นครั้งแรก สภาพของวัดสันขวางมีแต่ต้นไม้ปกคลุมกับการตั้งศาลขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์

นายณัฐวุฒิ อุประโจง นายก อบต.หนองหนาม ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าภาพที่ร่วมต้อนรับคณะของ สสทน.ลำพูน ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อบ้านนามเมืองในบริเวณเวียงควกเต็มไปด้วยคำว่า “บ่อ” กับคำว่า “หนอง” มากมายไปหมด สะท้อนว่าบริเวณนี้ครั้งหนึ่งน่าจะเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาครั้งใหญ่

เช่นเดียวกับการที่ พระครูสมุห์สุปรีชา ธมฺมสุนฺทโร, ดร. ท่านเจ้าอาวาสวัดหนองหนามได้แลกเปลี่ยนความเห็น ว่าที่นี่ยังมีการพบเศษมีดเศษดาบที่ทำจากเหล็กบริเวณด้านทิศตะวันตกของวัดหนองหนามใกล้ที่นาเอกชน ชวนให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้อาจเป็น “โรงตีมีด” เก่าแก่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะอาชีพช่างตีมีดยังคงทำสืบต่อมายังคนในหมู่บ้านต้นตันจวบจนทุกวันนี้ด้วย

กล่าวโดยสรุป การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี “เวียงควก” หรือเดิมชื่อ “วัดข่วงชุมแก้ว” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ เป็นเพียงไม้ขีดไฟก้านแรกที่ช่วยจุดประกายความคิดแก่ดิฉัน และคนในชุมชนบ้านหนองหนามให้หันมาช่วยกันสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกัน

คณะเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้มีโอกาสจับมือกับเทศบาลตำบลบ้านแป้น และ อบต.หนองหนาม ร่วมลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานและนั่งล้อมวงพูดคุยกันอีกสักครั้ง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ