แพทองธาร… ขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปักหมุดยุทธศาสตร์ ทั้งสนามเลือกตั้ง

มุกดา สุวรรณชาติ

แพทองธาร… ขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปักหมุดยุทธศาสตร์ ทั้งสนามเลือกตั้ง
แพทองธาร เป็นหัวหน้าตัวจริง…ชี้สถานะทางการเมืองของเพื่อไทย

 

นี่เป็นการแสดงว่าครอบครัวชินวัตรยังจะอยู่ในการเมืองไทยไปอีกหลายปี วันนี้ทักษิณ ชินวัตร อายุประมาณ 74 ปี การเตรียมถอยออกมาของผู้อาวุโสเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะเข้ามารับการนำพรรคการเมืองต่อ ไม่ใช่หาง่าย ครอบครัวก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากผลการเมืองมาหลายปี การตัดสินใจให้แพทองธาร ชินวัตร เข้ารับงานต่อเกิดขึ้นได้เพราะความชอบการเมืองของแพทองธารเอง

แต่การลงเล่นการเมืองโดยเป็นผู้นำพรรคขนาดใหญ่ ที่จะต้องสร้างพรรคให้คนยอมรับจนได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การสนับสนุนของครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเลือกตั้งปี 2566 อยู่ในสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทย จะต้องเลือกทางเดินว่าจะยอมประนีประนอมหรือไม่ และจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ การชนะเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะมีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะมีบทเรียนในการชนะเลือกตั้งปี 2550 แล้วก็ถูกตุลาการภิวัฒน์โค่นลงไป ชัยชนะของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 ก็ถูกตุลาการภิวัฒน์และรัฐประหารปี 2557

เหล่านี้เป็นบทเรียน ปี 2562 ยังเห็นบทเรียนของพรรคอนาคตใหม่ที่ชนะเลือกตั้งได้เพียง 80 เสียงก็ยังต้องถูกยุบพรรค

การที่แพทองธารเข้ามาในจังหวะนั้น ทำเพื่อผลในการเลือกตั้ง และหวังให้เกิดสถานการณ์ปรองดอง ซึ่งจะได้ประโยชน์ให้คงอยู่นานที่สุด

การขึ้นสู่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันที่พรรคเป็นแกนนำรัฐบาล จึงทำให้แพทองธารมีอำนาจมากที่สุดในพรรค

และเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ของพรรคในระยะยาวว่าจะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไป

การลงสู่การเมืองของแพทองธาร
ผ่านการวางแผนและตัดสินใจมานานแล้ว

แพทองธารเปิดตัว ว่าจะลงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว

แต่การเปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2566 ถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

พอผ่านการหาเสียงมาได้ระยะหนึ่งถึงช่วงท้ายหลายคนก็พอรู้ว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งได้ที่ 1 ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือเศรษฐา ทวีสิน ไม่ใช่แพทองธาร นี่คือจังหวะก้าวที่กำหนดไว้ในแผน

ช่วงเวลาของแพทองธาร ที่อายุ 35-36 ปี เล่นการเมืองได้พอดีไม่มีปัญหา แต่การเมืองมีลำดับขั้น เหมือนการท้าชิงแชมป์ นายกฯ ทักษิณเองเมื่อก่อนเข้าการเมืองครั้งแรกก็เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว

ดังนั้น แม้เวลามาถึงแล้วแต่จังหวะที่จะก้าวเท้าลงไป จะเป็นเมื่อไรและก้าวลงไปตรงไหนดี ทั้งตัวเอง ครอบครัว และที่ปรึกษาก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าคิดจะก้าวหน้าอย่างมั่นคงก็ต้องมีฐานที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์ที่ดีพอ และต้องดูสถานการณ์การเมืองด้วยว่าเป็นอย่างไร เหมาะกับบทบาทตัวเองแค่ไหน และจะป้องกันการทำลายอย่างไร

ดังนั้น ถึงแม้มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ก็เป็นตัวสำรองได้ ถ้าในครั้งนั้นจะให้แพทองธารเป็นตัวจริงก็ทำได้ และก็คงได้รับคะแนนโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับนายกฯ เศรษฐา

แต่แผนที่รัดกุมกำหนด ตัวนายกฯ ไว้ 2 คนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว โดยอยู่บนสมมุติฐานว่าเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 ดังนั้น เมื่อได้ที่ 2 ก็ยิ่งต้องทำตามแผนเดิม

 

ข้อดีที่แพทองธารเป็นหัวหน้าพรรคในวันนี้

1. เป็นการแบ่งหน้าที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และลดภาระลง การเป็นหัวหน้าพรรคคือภาระหน้าที่ของแพทองธาร การเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็นหน้าที่ของนายกฯ เศรษฐา ทำให้ตัวนายกฯ เศรษฐาเองบริหารงานภาครัฐบาลได้เต็มที่ ส่วนปัญหาต่างๆ ภายในพรรคแพทองธาร จะดูแลและสร้างเสริมขยายพรรคให้เข้มแข็งขึ้น

2. ถือเป็นช่วงเวลาที่ใช้สร้างความสัมพันธ์กับสมาชิก พรรค กรรมการพรรค ส.ส. และรัฐมนตรี เพื่อจะได้รู้กำลังความสามารถ และอุปนิสัยของแต่ละคน เพราะความสำคัญในการบริหารพรรคการเมืองต่อให้วางเป้าหมายในระดับประเทศชาติอย่างไร ก็ยังมีผลประโยชน์ของคน ของกลุ่ม ผู้บริหารพรรคจะต้องจัดการเพื่อให้การดำเนินงานทางการเมืองไม่มีอุปสรรค

3. นี่เป็นจังหวะที่ดีเพราะขณะนี้การเมืองไทยกำลังมีการเปลี่ยนถ่ายบุคลากรทางการเมือง ซึ่งคนรุ่นเก่าอายุมากแล้วจะต้องออกไปเป็นกองเชียร์ ให้คนรุ่นใหม่ที่อายุ 30-40 เข้ามาเพื่อสานต่อ บางคนอาจจะเป็นคนในครอบครัว บางคนอาจจะไม่ใช่ บางคนมาจากนักการเมืองท้องถิ่น จากนักวิชาการ

นี่คือช่วงเวลาที่ผู้นำต้องปูพื้นฐานให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำพรรค ทั้งในเชิงความรู้ความสามารถและการประสานคนทุกกลุ่ม

 

การสร้างประสบการณ์
และการมีที่ปรึกษา เป็นเรื่องจำเป็น

เวลานี้เงาของนายกฯ ทักษิณยังคงทาบอยู่ในพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น แพทองธารยังถูกมองว่ายังอยู่ใต้เงานี้ด้วย จนกว่าเธอจะแสดงฝีมือที่โดดเด่นออกมา

แต่เสถียรภาพของพรรคที่มั่นคงได้ต้องอาศัยอำนาจและบารมีมาช่วย เวลานี้คนที่มาแทนนายกฯ ทักษิณได้ มีคนเดียวคือแพทองธาร

การมีตำแหน่งในพรรคและในรัฐบาลคือการลงสนามจริงที่จะได้รู้ว่าผู้คนที่เห็นหน้ายิ้มและพูดอ่อนหวาน แท้จริงแล้วคิดและทำอะไร ทำเพื่อใครกันแน่ และต่อหน้าความขัดแย้งต่างๆ จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร

ส่วนการมีประสบการณ์ในการบริหารงานภาครัฐก็ต้องใช้เวลาเข้าไปหาประสบการณ์เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาหรือมีตำแหน่งในรัฐบาลก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ควรทำ

มีบางคนบอกว่าถ้าจะเป็นผู้นำต้องโตมาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีพี่เลี้ยง แต่ในความเป็นจริงการต่อสู้ทางการเมืองและการบริหารประเทศในภาวะที่ยากลำบากแบบนี้ ไม่ว่าใคร แน่มาจากไหน ล้วนแต่ต้องใช้พี่เลี้ยง ใช้ที่ปรึกษาและต้องทำงานอย่างรอบคอบ รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมทั้งคนภายในพรรค ภายนอกพรรค และประเมินการเมืองระหว่างประเทศให้แม่นยำ

สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบันจึงต้องการผู้นำและทีมงานที่เก่งมากๆ เพื่อจะสามารถนำพาประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เติบโตขึ้นมาได้ มิฉะนั้น ประชาชนจะยากลำบากไปอีกนาน

 

การเข้าสู่หัวหน้าพรรค…
กำหนดยุทธศาสตร์การเมืองในครั้งหน้า

นายกฯ เศรษฐาอาจมีโอกาสบริหารประเทศได้ 3-4 ปี ถ้านายกฯ เศรษฐามีผลงานดีก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้มีโอกาสเป็นนายกฯ อีกสมัย

แต่ถ้าผลงานไม่มีอะไร ดีเด่นเป็นพิเศษ โอกาสเปลี่ยนสูง ซึ่งยังไม่แน่ว่าประชาชนจะเลือกใคร? หรือพรรคไหน?

แต่วิเคราะห์การแข่งขันทางการเมืองในครั้งหน้าได้ว่า พรรคการเมืองใหญ่ที่จะแข่งกันก็คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย นอกนั้นจะเป็นพรรคเล็ก

ในครั้งต่อไป ส.ว.มาลงคะแนนเลือกนายกฯ ไม่ได้แล้ว ใครรวมเสียงให้ได้เกินครึ่งสภาจะได้จัดตั้งรัฐบาล

พรรคก้าวไกลในสมัยหน้า จะยังมีคะแนนนิยมที่ดีอยู่ แต่ถ้ายังยืนแลกหมัดอย่างโดดเดี่ยว โอกาสเป็นรัฐบาลคือต้องได้ ส.ส.เกินครึ่ง ถ้าไม่ได้ เป็นฝ่ายค้านอีกสมัย

และถ้าพรรคร่วมรัฐบาลนี้ยังร่วมกันดี โอกาสของพรรคเพื่อไทยในการเป็นนายกฯ ในสมัยหน้าก็มีสูง วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลมองเห็นแล้วว่า เพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งหน้า แต่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ไม่ถึงครึ่งสภา ดังนั้น พวกเขาก็มีโอกาสร่วมรัฐบาลง่ายยิ่งขึ้น แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลที่สลายไป เช่น พลังประชารัฐ แต่ ส.ส.ก็คงไหลวนไปอยู่ในพรรคร่วมนั่นแหละ

ดังนั้น พรรคร่วมทั้งหลาย จึงภาวนาว่าขอให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส.ในครั้งหน้าพรรคละ 150-180 คน การจัดรัฐบาลผสมก็จะง่ายเพราะไม่มี ส.ว.มายุ่งเกี่ยว พวกเขาขอได้ ส.ส.เท่าเดิม หรือมากกว่าเล็กน้อยก็ร่วมรัฐบาลได้แล้ว

การขึ้นมานำพรรคของแพทองธาร จึงกลายเป็นการตอกหมุดยุทธศาสตร์ของพรรคร่วมรัฐบาลให้เตรียมการล่วงหน้า โดยรักษาการปรองดองแบบวันนี้ไว้ เพื่อเป็นรัฐบาลผสมในครั้งต่อไป