ใครอยู่เบื้องหลัง ‘ยูนิคอร์น’ ดังแห่งเมืองแมกเดบอร์ก (1) | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

คุณเชื่อในเรื่องยูนิคอร์นมั้ย และรู้หรือไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ในประเทศเยอรมนีนั้นมีโชว์ “กระดูกยูนิคอร์น”!!!

เปิดตัวทีไรก็โด่งดังเป็นไวรัลแทบทุกรอบ กับโครงกระดูกหน้าตาพิลึกพิลั่นแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแมกเดบอร์ก (Museum of Natural History Magdeburg)

ซากโครงกระดูกนี้ ถูกพบในปี 1663 ในเหมืองยิปซั่มในถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในแถบตอนกลางของประเทศเยอรมนีบริเวณใกล้ๆ กับเมืองแมกเดบอร์ก หลังจากถูกกองสุมเอาไว้อยู่พักใหญ่

ซากกระดูกสัตว์หน้าตาพิลึกนี้ก็ได้มีโอกาสฟื้นชีพขึ้นมาเฉิดฉายอีกครั้ง เมื่อวิศวกรชื่อดัง ผู้ประดิษฐ์ปั๊มสุญญากาศ ออตโต วอน เกฮิเกอร์ (Otto von Guericke) รับตำแหน่งผู้ว่าของเมืองเริ่มสนใจที่จะศึกษาซากดึกดำบรรพ์หน้าตาพิลึกพิลั่นนี้

จากบทความของออตโต ซากฟอสซิลของสัตว์ประหลาดนี้เสียหายไปมาก เพราะถูกขุดขึ้นมาอย่างไม่ระมัดระวัง ชิ้นส่วนกระดูกจำนวนมากก็เลยแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บอกได้ยากมากว่าน่าจะเป็นกระดูกของสัตว์อะไร

แต่โชคยังดีที่แม่ชีท้องถิ่นได้เก็บชิ้นส่วนบางส่วนที่ดูยังค่อนข้างสมบูรณ์เอาไว้ เช่น สันหลัง ขา ซี่โครง กะโหลก

และที่น่าสนในที่สุด เขาชิ้นงามหนึ่งชิ้น

ตัดสินจากรูปร่างหน้าตาของกะโหลก ขา และเขาที่มีอยู่เพียงแค่หนึ่งเขา ออตโตสรุปเอาเลยว่านี่คือซากฟอสซิลของม้าเขาเดียวในตำนานที่เรียกว่า “ยูนิคอร์น”

ภาพวาดไดโนเสาร์อิกัวโนดอนโดยศิลปินท้องถิ่นในปี 1859

แม้จะฟังดูประหลาดที่นักวิทยาศาสตร์จะเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างยูนิคอร์น แต่ในความเป็นจริง ในช่วงยุคศตวรรษที่ 16-17 นั้น การศึกษาบรรพชีวินวิทยานั้นยังไม่เกิด เวลาเจอซากอะไรประหลาดๆ ที่ไม่รู้จักส่วนใหญ่ตีขลุมคาดเดาเอาว่าเป็นซากของสัตว์ในตำนาน อย่าง มังกร เงือก หรือแม้แต่ยูนิคอร์น

และด้วยในพื้นที่แถบนี้ มีตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงยูนิคอร์นที่มาช่วยปกป้องแม่มดชราจอมขมังเวทที่ถูกขับไล่โดยกลุ่มนักรบชาวแฟรงก์ ทำให้หลายๆ คนเชื่อว่านี่คือเขตของยูนิคอร์น

ซึ่งทำให้ในตอนนั้น ซากฟอสซิลทั้งหลายแหล่ที่ไม่สามารถระบุตัวได้ที่ขุดค้นพบจากถ้ำในแถบนี้ มักจะถูกตีตราว่าเป็น “อลิคอร์น” หรือ “เขาของยูนิคอร์น” ซึ่งมีราคาสูงทั้งหมด

ในประเทศเยอรมนี ในช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 16 และ 17 เขายูนิคอร์นถือเป็นสินค้าพรีเมียมเบอร์หนึ่งที่มีการซื้อขายกันอยู่ทั่วไปในหมู่ชนชั้นสูง

เพราะเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นยาต้านพิษและมีฤทธิ์ในการรักษาโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์

แม้จะมีกระดูกมากมายพอจะประกอบขึ้นมาเป็นตัวใหม่ได้ แต่ด้วยสภาพโครงกระดูกที่ร้าวรานแยกแตกเป็นชิ้นๆ จากการขุดและขนส่ง การประกอบโครงกระดูกขึ้นมาเป็นตัวจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ต่างไปจากการต่อเลโก้เวอร์ชั่นยากมหาหิน ตามบันทึกโบราณ ออตโตมั่นใจมากว่าโครงกระดูกนี้คือซากของยูนิคอร์น

จนถึงขนาดที่สามารถเขียนบรรยายได้เป็นตุเป็นตะในบทความของเขาที่ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ว่า “นี่คือกระดูกของยูนิคอร์น”

ภาพวาดไดโนเสาร์อิกัวโนดอนโดยศิลปินไฮน์ริช ฮาร์เดอร์ (Heinrich Harder) ในราวๆ ปี 1916

แมกเดบอร์กกลายเป็นเมืองที่โด่งดังในเรื่องของยูนิคอร์น และซากฟอสซิลยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กก็เริ่มถูกประกอบขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่าง แม้จะไม่มีบันทึกให้สืบสาวราวเรื่องได้ว่าออตโต หรือใครที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการต่อกระดูกประกอบร่างยูนิคอร์นที่แสนท้าทายนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมาก ก็คือ เขาผู้นั้นจะต้องเป็นศิลปินผู้ที่มีจินตนาการอย่างล้นเหลือ เพราะแม้ซากที่มีอยู่จะแตกหัก ปะปน หล่นหายไปมากมายในระหว่างทาง ก็ยังคงสามารถต่อออกมาเป็นรูปเป็นร่างม้า (หรือตัวอะไรซักอย่าง) เขาเดียวได้อย่างวิจิตรพิสดารจนทุกคนที่มาได้เห็น ก็ต้องร้อง “อิหยังวะ”

แต่จะไปโทษคนต่อก็คงไม่ได้ เพราะในบรรดากระดูกที่มีหลงเหลืออยู่ นี่อาจจะเป็นอะไรที่ดูลงตัวที่สุดแล้ว

ที่จริง ในวงการบรรพชีวินวิทยา การต่อฟอสซิลโครงกระดูกที่มีแบบขาดๆ เกินๆ ให้ออกมาถูกต้องถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างที่สุด

เพราะแต่ละฟอสซิลอยู่มาเนิ่นนานผ่านฤดูกาลมาอย่างโชกโชน บางที การแตกหักสึกหรอก็มีไม่น้อย ยิ่งถูกขุดขึ้นมาแบบไม่ใยดี บางทีมีหัว ไม่มีตัว บางทีมีตัว ไม่มีหัว ก็ต้องจำทนต่อๆ ไปให้เสร็จ

และที่ยากที่สุดคือไม่มีใครเคยเห็นตัวจริงของเจ้าของร่าง จะมีอวัยวะอะไรบ้างก็ยังไม่รู้ ศิลปินก็เลยต้องจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการของตัวเองเข้าไปผสมโรงเพื่อกะเกณฑ์ว่าซากกระดูกหน้าตาประมาณนี้ น่าจะมาจากชิ้นส่วนอะไรจากสัตว์ประเภทไหน

ซึ่งท้ายที่สุด ถ้ามีฟอสซิลอย่างจำกัด โดยมาก ผลลัพธ์ที่ได้มักจะออกมาดูไม่จืด…

ภาพจากหนังสือ Protogaea ของ กอตต์ฟรีด์ วิลเฮล์ม ลิบนิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz)

เคสคลาสสิคที่เป็นที่กล่าวถึงกันมาก ก็คือซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ “อิกวาโนดอน (Iguanodon)” ที่ในตอนแรก ก็ถูกคาดเดาเหมาเอาว่าน่าจะเป็นโครงกระดูกของจิ้งเหลนยักษ์รูปร่างกำยำล่ำสัน มีสี่ขา มีนอ

แต่พอเวลาผันผ่านไป พอมีการค้นพบซากฟอสซิลมากยิ่งขึ้น ก็เริ่มชัดว่าภาพจำของอิกัวโนดอนที่เคยรู้จักกันมาในอดีตนั้น ที่แท้แล้ว ผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มากโข

กระดูกที่เคยคิดว่าเป็นนอนั้น จริงแล้ว ไม่ใช่นอ แต่เป็นนิ้วโป้ง และโครงสร้างร่างกายของอิกัวโนดอนที่จริงก็ไม่ได้ดูเหมือนจิ้งเหลน แต่น่าจะเป็นไดโนเสาร์กินพืชเดินสองขา มองเผินๆ หน้าตาก็น่าจะดูละม้ายคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์พวกทีเร็กซ์หรือแร็ปเตอร์ แต่มีแขนใหญ่กว่า

แถมมีนิ้วโป้งไว้คอยจิ้มนู่นจิ้มนี่ (หรือขุดนู่นขุดนี่) อีกด้วย

รู้ตัวอีกที เวลาก็ผ่านไปแล้วนานถึงครึ่งศตวรรษ กว่าที่อิกัวโนดอนเวอร์ชั่นจิ้งเหลนมีนอจะถูกพัฒนายกเครื่องเสียใหม่จนดูไฉไลกลายเป็นอิกัวโนดอนเวอร์ชั่นปัจจุบัน

ซากฟอสซิลจำลองของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแมกเดบอร์กในประเทศเยอรมัน (image courtesy Sven Sachs via Twitter)

แต่เคสของยูนิคอร์นแห่งเมืองแมกเดบอร์กนี้ เอ็กซ์ตรีมยิ่งกว่าอิกัวโนดอน เพราะไม่ใช่หาซากไม่เจอ โครงกระดูกมีเยอะแยะเหลือเฟือ

แต่ปัญหาคือยิ่งต่อ ก็ยิ่งงง เพราะชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากจะแตกหักจนแทบไม่มีชิ้นดีแล้ว ยังมีบางส่วนที่ขาดไป และอีกหลายส่วนที่ได้เกินมา

อย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่าถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าปราชญ์หรือศิลปินคนไหนอยู่เบื้องหลังการประกอบร่างยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก แต่ภาพโครงกระดูกของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก ที่ถูกบรรจงวาดออกมาอย่างปราณีตในหนังสือ “โปรโตไกอา (Protogaia)” ตำราภูมิศาสตร์ธรรมชาติ ผลงานชิ้นเอกของนักคิดแห่งศตวรรษที่ 17 อย่าง “กอตต์ฟรีด์ วิลเฮล์ม ลิบนิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz)” นักปรัชญาผู้คิดค้นศาสตร์แห่งแคลคูลัส คู่แข่งเบอร์หนึ่งของเซอร์ไอแซ็ก นิวตัน (Sir Isaac Newton) กลับดูวิจิตรพิสดารราวกับเป็นสัตว์จากโลกหิมพานต์ มีหัวเหมือนม้า มีขาเหมือนช้าง มีท่อนหางคล้ายวาฬ แถมมีเขายาวเหยียดอีกหนึ่งเขา

ด้วยรูปลักษณ์ที่แสนพิสดาร ยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก [ที่ในหนังสือจะเรียกว่ายูนิคอร์นแห่งควิดลินบอร์ก (Unicorn of Quedlinburg)] กลายเป็นเรื่องน่าขบขันในวงการบรรพชีวินวิทยา

แม้ว่าโครงสร้างของตัวยูนิคอร์นที่ได้ออกมาจะหน้าตาอัปลักษณ์ผิดรูป แต่สำหรับยุคศตวรรษที่ 16 ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครรู้ว่าไดโนเสาร์หน้าตาเป็นอย่างไร หรือถ้าจะว่ากันตามจริง ในยุคนั้น คำว่าไดโนเสาร์ยังไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาใช้เลยด้วยซ้ำ

จากซากกระดูกแตกๆ หักๆ ประกอบร่างต่อออกมาเป็นตัวได้อลังการขนาดนี้ก็ถือว่าดูดีมากแล้ว

 

สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เชื่อมั่นในแนวคิดของออตโต กอตต์ฟรีด์ นำเสนอเรื่องราวของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กในหนังสือของเขา และนั่นยังเป็นความพลาดของกอตต์ฟรีดที่หลายคนยังเก็บมาเหน็บแนมจนถึงปัจจุบัน

จนถึงทุกวันนี้ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองแมกเดบอร์กยังมีนิทรรศการซากโครงกระดูกยูนิคอร์นแห่งแมกแดบอร์กโชว์เด่นเป็นสง่าบอกเรื่องราวจากอดีต แม้จะเป็นเพียงฟอสซิลเลียนแบบที่ทำจำลองขึ้นมาจากพลาสติก แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้คนที่สนใจหลั่งไหลกันเข้ามาเยี่ยมชม

เรื่องราวของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่ตลอดในเยอรมนี ในวันเมษาหน้าโง่ ปี 2018 สำนักงานอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณคดีของรัฐแซกโซนี-อันฮัลต์ (the State Office for the Preservation of Monuments and Archeology Saxony-Anhalt) แถลงข่าวโกหกออกมาให้ขำขันว่ามีนักวิทยาศาสตร์เอากระดูกของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กไปศึกษาด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา

ผลการตรวจดีเอ็นเอพบว่ากระดูกนี้เป็นของ Monoceros mendaciloquus ม้าเขาเดียวหายากที่สูญพันธุ์ไปตอนช่วงปลายยุคกลาง ซึ่งน่าตกใจ ที่มีคนเชื่อด้วย… (Monoceros mendaciloquus เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่อุปโลกขึ้นมาสำหรับยูนิคอร์น คำว่า Monoceros มาจากภาษากรีก แปลว่ามีเขาเดียว)

สำหรับโลกออนไลน์ ด้วยหน้าตาที่แสนประหลาด และโครงสร้างตัวที่ดูตลกผิดธรรมชาติของยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์ก เมื่อไรที่มีใครสักคนโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับตัวมันในโซเชียล ก็มักจะแพร่กระจายกลายเป็นไวรัลในอินเตอร์เน็ต

ภาพของซากฟอสซิลยูนิคอร์นแห่งแมกเดบอร์กที่ถูกถ่ายมาจากในพิพิธภัณฑ์ที่แชร์อยู่ในทวิตเตอร์และเรดดิต (Reddit) ในช่วงซัมเมอร์ ปี 2022 มีคนกดไลก์ไปมากกว่าสองแสนครั้งในเวลาไม่กี่วัน

แต่ฟอสซิลพวกนั้นเป็นซากของยูนิคอร์นจริงหรือ? อยากรู้ต้องติดตามตอนต่อไป