วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง – โหมโรง (จบ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ภาษาจีนกับจักรวรรดิ (ต่อ)

การรับใช้ชนชั้นปกครองเป็นหลักดังกล่าว ส่งผลให้ภาษาจีนถูกทำให้ซับซ้อนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกทำให้เป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับสถาบันจักรพรรดิ ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของอำนาจทั้งปวงภายใต้หลักคิดเรื่องโอรสแห่งสวรรค์

เมื่อมีฐานะสูงส่งเช่นนี้ภาษาจีนจึงรับใช้จักรวรรดิไปด้วย

และเพื่อให้เห็นถึงความซับซ้อนและลึกซึ้งของภาษาจีน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างสำคัญตัวอย่างหนึ่งมาอธิบาย ด้วยเป็นตัวอย่างที่จะมีผลให้งานศึกษานี้ต้องปฏิบัติในบทต่อๆ ไปข้างหน้า

ตัวอย่างที่ว่านี้คือ การเรียกขานนามของจักรพรรดิ

 

กล่าวคือ ในยุคต้นประวัติศาสตร์ จีนมีราชวงศ์อยู่สามราชวงศ์คือ เซี่ย ซาง และโจว เฉพาะสองราชวงศ์แรกเราทราบแต่พระนามของกษัตริย์เท่านั้น ไม่ทราบปีที่ทรงครองราชย์ แต่พอถึงปลายราชวงศ์ซางจึงได้มีการระบุปีที่ว่า แต่ก็เพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้น

ครั้นถึงสมัยโจวจึงเริ่มมีการระบุปีที่ขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ทุกพระองค์ แต่ที่ต่างออกไปก็คือ มีการระบุพระนามเดิมก่อนเป็นกษัตริย์อีกด้วย

ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้เราอาจสรุปได้ว่ากษัตริย์จะมีพระนามอยู่อย่างน้อยสองพระนาม คือพระนามเดิมก่อนเป็นกษัตริย์กับพระนามใหม่หลังเป็นกษัตริย์ไปแล้ว

การเรียกขานพระนามเช่นนี้ดำรงเรื่อยมาแม้เมื่อจีนเป็นจักรวรรดิในสมัยราชวงศ์ฉินไปแล้ว และอยู่มาจนถึงต้นราชวงศ์ฮั่นที่สืบต่อการเป็นจักรวรรดิจากฉิน การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอีก

นั่นคือ ได้มีการระบุพระนามรัชสมัยหรือรัชศกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งพระนาม

 

พระนามรัชศกนี้ชวนให้สับสนพอสมควร สาเหตุสำคัญที่พึงกล่าวในเบื้องต้นก็คือ พระนามรัชศกก็เช่นเดียวกับสองพระนามแรกที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ที่มิได้ถูกตั้งขึ้นมาอย่างลอยๆ โดยไร้ที่มาที่ไป หากแต่โดยทั่วไปแล้วจะตั้งโดยมีการตรวจดวงชะตาขององค์จักรพรรดิหรือเชื้อพระวงศ์แต่ละพระองค์ แล้วจึงตั้งพระนามผ่านตัวอักษรที่มีความหมายดีเพื่อเป็นสิริมงคล1 พระนามรัชศกก็ตั้งตามนัยนี้เช่นกัน

แต่ที่ต่างออกไปก็คือ พระนามรัชศกนี้จะตรวจดวงชะตาควบคู่ไปกับปีศักราชที่ขึ้นครองราชย์หรือระหว่างการครองราชย์ด้วย ปีศักราชนี้คือปีศักราชจีน ถึงตอนนี้เราก็ทราบต่อมาอีกว่า จนถึงสมัยฮั่น จักรพรรดิจีนจะมีสามพระนาม คือพระนามเดิม พระนามเมื่อเป็นจักรพรรดิ และพระนามรัชศก

และที่ว่าชวนสับสนก็คือพระนามรัชศกนี้เอง

กล่าวคือว่า นับแต่ราชวงศ์ฮั่นเรื่อยมาปรากฏว่า จักรพรรดิมักมีพระนามรัชศกมากกว่าหนึ่งพระนามโดยส่วนใหญ่

บางพระองค์มีมากกว่าสิบพระนาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจักรพรรดิจะมีปุโรหิตคอยถวายการตรวจดวงชะตาให้ทุกปี หากปีใดตรวจแล้วเห็นควรให้เปลี่ยนพระนามรัชศกใหม่ จักรพรรดิก็จะทรงเปลี่ยนตาม

และเช่นเดียวกันที่พระนามรัชศกที่ตั้งขึ้นในแต่ละครั้งย่อมมีความหมายที่เป็นมงคล เพื่อให้การครองราชย์ของจักรพรรดิเป็นไปด้วยดี

ที่สำคัญ การมีพระนามรัชศกขึ้นในแต่ละครั้งนี้ย่อมทำให้เชื้อพระวงศ์ เสนามาตย์ และราษฎรทั่วไปต้องขานพระนามรัชศกใหม่แทนพระนามรัชศกเก่าไปด้วย

ดังนั้น หากจักรพรรดิองค์ใดมีพระนามรัชศกมากเป็นสิบพระนามแล้วก็ย่อมหมายความว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องจักต้องเรียกขานพระนามรัชศกตามจำนวนที่เปลี่ยนไปโดยตลอดเช่นกัน

 

ปัญหาที่ชวนให้สับสนก็เกิดขึ้นตรงนี้เอง ที่ว่าตามประเพณีการปกครองแล้วมักจะเรียกขานพระนามจักรพรรดิตามพระนามรัชศก มากกว่าพระนามประจำพระองค์ที่ทรงได้มาเมื่อแรกที่ขึ้นครองราชย์

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คนในชั้นหลังต่อมาหากได้อ่านบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์แล้ว ก็พึงต้องจำพระนามรัชศกให้ได้โดยตลอด ว่าที่ระบุไว้แต่ละพระนามนั้นยังคงหมายถึงจักรพรรดิองค์เดิมหรือองค์ใหม่ และคงด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังจึงเลือกที่จะเรียกขานพระนามตามสะดวก

กล่าวอีกอย่างก็คือว่า เรียกเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าตนกำลังหมายถึงจักรพรรดิองค์ใด เพื่อป้องกันความสับสนทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจักรพรรดิที่มีชื่อเสียงพระองค์หนึ่งคือ ไท่จงแห่งราชวงศ์ถังหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าถังไท่จง จักรพรรดิพระองค์นี้ให้บังเอิญว่ามีพระนามรัชศกอยู่เพียงหนึ่งพระนามคือ เจิ้งกวาน

ดังนั้น หากจะเรียกขานพระองค์ว่าเจิ้งกวาน ก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความสับสนแต่อย่างใด แต่นั่นย่อมหมายความว่าจะต้องเรียกขานพระนามรัชศกของจักรพรรดิองค์ต่อๆ ไปด้วย ปัญหามาเกิดขึ้นตรงที่ว่า จักรพรรดิองค์ต่อๆ ไปหลังจากถังไท่จงแล้วกลับมีพระนามรัชศกมากกว่าหนึ่งพระนาม

เช่น ถังเกาจง ซึ่งเป็นจักรพรรดิต่อจากถังไท่จงนั้น มีพระนามรัชศกถึง 14 พระนาม หากจะเรียกขานตามประเพณีแล้วก็อาจทำให้สับสนยุ่งยากขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์จึงเลือกที่จะเรียกขานจักรพรรดิด้วยพระนามประจำพระองค์ นั่นคือไท่จง เหตุดังนั้น พอเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาก็จะเรียกขานว่าเกาจง ซึ่งเป็นพระนามประจำพระองค์เช่นกัน

 

การมีพระนามรัชศกมากกว่าหนึ่งพระนามนี้ดำรงมาจนถึงราชวงศ์หมิง พระนามรัชศกจึงเหลือเพียงหนึ่งพระนามเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิง เช่นนี้แล้วหากจะเรียกขานพระนามรัชศกก็จะไม่ติดขัดสับสน

ดังนั้น นักประวัติศาสตร์จึงเรียกขานจักรพรรดิด้วยพระนามรัชศกตามประเพณีการปกครองได้สะดวก ดังจะเห็นได้จากการเรียกขานจักรพรรดิสมัยหมิงพระองค์หนึ่งที่ทรงมีชื่อเสียงด้วยพระนามรัชศกว่ หย่งเล่อ หรือในสมัยชิงอีกพระองค์หนึ่งว่าเฉียนหลง เป็นต้น โดยเฉพาะสมัยชิงนั้นมักเรียกขานด้วยพระนามรัชศกเป็นหลัก

เฉพาะตัวอย่างพระนามจักรพรรดิที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ภาษาจีนถูกใช้เป็นภาษาที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงยิ่ง ตัวอักษรที่ถูกเลือกมาตั้งเป็นพระนามของจักรพรรดิจะมีความหมายดีและลึกซึ้ง

หากสมัยใดจักรพรรดิมีพระนามว่าอย่างไร แล้วให้บังเอิญมีชื่อบุคคลใดตรงกับจักรพรรดิไม่ว่าจะเป็นตัวเขียนหรือเป็นคำพ้องเสียงแล้ว บุคคลนั้นจักต้องเปลี่ยนชื่อของตนเสียใหม่ หาไม่แล้วจะมีความผิดในทำนองตีตนเสมอจักรพรรดิ

ฐานะของภาษาจีนเช่นนี้จึงอยู่เคียงคู่กับจักรวรรดิจีนมาโดยตลอด จนเมื่อลุล่วงสู่ยุคสมัยใหม่นั้นเอง ความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าของภาษาจีนจึงถูกท้าทาย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในศตวรรษที่ 20 และพอขึ้นศตวรรษที่ 21 ที่ฐานะความเป็นจักรวรรดิของจีนมีความชัดเจนและสูงเด่นแล้วนั้น ภาษาจีนก็เริ่มมีบทบาทใหม่อีกครั้งหนึ่ง

โดยในครั้งนี้จะมิได้จำกัดเฉพาะเขตแดนของจักรวรรดิดังอดีตอีกต่อไป หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงความพยายามในอันที่จะให้ภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาของระบบระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ความลงท้าย

แม้จะเป็นความจริงที่ว่า จีนสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อป้องกันจักรวรรดิของตนจากภัยที่มาจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความจริงด้วยว่าจีนเองก็ได้ดินแดนมาจากชนชาติที่มิใช่ฮั่นด้วย ในกรณีหลังนี้ทำให้เห็นว่า กำแพงที่จีนสร้างขึ้นนั้น ในด้านหนึ่งยังเท่ากับจีนเองก็เป็นภัยของชนชาติอื่นด้วยเช่นกัน

จากเหตุนี้ งานศึกษานี้จะชี้ให้เห็นต่อไปว่า จักรวรรดิจีนเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ก็เพราะการขยายดินแดนด้วยการรุกรานชนชาติอื่นฉันใด จักรวรรดิจีนจะเกิดและตั้งต่อไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะตั้งรับการรุกรานจากชนชาติอื่นได้หรือไม่ด้วยเช่นกัน

จากภาวะดังกล่าวทำให้เห็นว่า จักรวรรดิจีนหากจะเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้แล้ว สิ่งสำคัญยิ่งยังอยู่ที่ที่การศึกษาในที่นี้เรียกว่า “จักรวรรตินาภิวัตน์” หรือกระบวนการการสร้างจักรวรรดิในแต่ละราชวงศ์ด้วย ว่าสร้างจักรวรรดิโดยผ่านการจัดระเบียบการปกครองอย่างไร และมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติอื่นอย่างไร

ครั้นจักรวรรดิอ่อนแอลงจนราชวงศ์ล่มสลายในที่สุด อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนั้นขึ้นมา

ที่สำคัญ ในยามที่ล่มสลายจนเกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองผ่านเวลาที่ยาวหลายสิบหรือนับร้อยปีนั้น ภาวะนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดและอย่างไรบ้าง จนกว่าจะมีราชวงศ์ใหม่เกิดขึ้นและตั้งจักรวรรดิได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปเป็น “วัฏจักรวรรดิ”

ปรากฏการณ์จักรวรรตินาภิวัตน์และวัฏจักรวรรดินี้ดำรงอยู่จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับจีน ไม่ว่าจีนจะยินดีหรือไม่ยินดีกับปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็ตาม

การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่ว่านี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะมันจะกลายเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำความเข้าใจจีนในปัจจุบัน ที่กำลังฉายแววจักรวรรดิผ่านจักรวรรตินาภิวัตน์มากขึ้นทุกขณะ

แต่ในเวลาเดียวกันก็พยายามที่จะมิให้เกิดภาวะวัฏจักรวรรดิขึ้นมาผ่านนโยบายภายในต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่อต้านและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นปัญหาสำคัญที่เคยบ่นอเซาะความมั่นคงของจักรวรรดิจีนมาแล้วแทบทุกราชวงศ์ ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมหมายความว่า หากนโยบายภายในเหล่านี้ล้มเหลวด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม จีนที่เราเห็นในปัจจุบันก็อาจถึงกาลล่มสลายไปก็ได้

ที่สำคัญ ไม่ว่าจักวรรตินาภิวัตน์และวัฏจักรวรรดิจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น สิ่งอันแตกต่างไปจากอดีตก็คือว่า จีนในปัจจุบันมิได้เป็นราชวงศ์สวรรค์ที่ตั้งตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นจีนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจอื่น

และท่ามกลางโลกสันนิวาสที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าอดีตจนเทียบกันไม่ได้

——————————————————————————————
(1) ควรกล่าวด้วยว่า มีจักรพรรดิบางพระองค์ที่มีภูมิหลังเป็นสามัญชนและมีชื่อกับชื่อสกุล (แซ่) เป็นของตนมาแต่เดิม ชื่อตอนที่เป็นสามัญชนอาจจะถูกตั้งโดยมีหรือไม่มีการตรวจดวงชะตาก็ได้ ต่อเมื่อเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์นั้นๆ แล้ว ประวัติศาสตร์จะยังคงอ้างอิงชื่อเดิมตามความจำเป็นในการบันทึก ส่วนจักรพรรดิองค์ต่อๆ มาที่เป็นองค์รัชทายาทมาก่อนย่อมมีชื่อเดิมที่เป็นชื่อตัวดังจักรพรรดิองค์แรก แต่คราวนี้มักจะมีการตรวจดวงชะตาก่อนตั้งพระนามค่อนข้างแน่นอน