กำเนิดกองทหารปลดแอก ประชาชนมุสลิมไทย | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ค่ายแรกนั้นภูมิประเทศสวยงามและสะดวกต่อการเดินทางขึ้นลง ตรงตีนค่ายเป็นลำห้วยเล็กๆ น้ำไหลจากเขาใสสะอาดตลอดวัน ผู้ชายอาบเหนือน้ำ ส่วนผู้หญิงอาบใต้น้ำ

เคยมีคนตั้งคำถามนี้เหมือนกัน ว่ามันไม่เป็นการดูถูกหรือเอาเปรียบผู้หญิงหรือ ที่ต้องอาบน้ำใต้ผู้ชายเสมอไป ทำเหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่า “กินน้ำใต้ศอก” หรือ “เป็นช้างเท้าหลัง”

ในที่สุดมีสหายหญิงคือคุณนา (ภรรยาคุณนิกร) ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพลาธิการ ให้เหตุผลสนับสนุนว่า มาจากการที่สหายสตรีต้องซักล้างผ้านุ่งรวมทั้งผ้าชำระประจำเดือนด้วย เนื่องจากการหาผ้าอนามัยแบบสมัยใหม่จากตลาดเป็นเรื่องยาก ในป่าจึงต้องทำผ้าซับประจำเดือนกันเอง และซักล้างให้สะอาดจะได้ใช้ต่อๆ ไปเป็นการประหยัดด้วย

โชคดีที่นักเฟมินิสต์จากเมืองมีน้อย ประเด็นเรื่องที่อาบน้ำจากห้วยสายเดียวจึงยังไม่ถูกทำให้เป็นปัญหาระดับชาติ แต่ก็มีการนำมาอภิปรายกันในเวลาประชุมศึกษาเหมือนกัน

ปัญหาเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยเฉพาะทางเพศนั้น มีการนำมาพูดถึงตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเข้ามาอยู่ด้วยกัน เพราะในทางการเมือง พคท.ยึดในหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทุกคน ดังแสดงออกในการเรียกคำนำหน้าชื่อว่าคุณเหมือนกันทุกคน และเรียกตัวเองว่าฉันกับผมเท่านั้น เรื่องนี้ทำได้ดีไม่มีปัญหา

ในการทำงานก็ไม่มีการแบ่งงานตามเพศ ดังนั้น งานครัวทุกวัน ซึ่งจะเปลี่ยนเวรทุกวัน ก็มีทั้งหญิงและชาย ไม่ใช่แต่สหายหญิงเท่านั้นที่อยู่เฝ้าครัว

เช่นเดียวกับงานมวลชน ก็มีทั้งหญิงและชาย ไปถึงงานขนส่งและกองทหารซึ่งหนักและกินแรงและเสี่ยงอันตรายมาก ก็มีทั้งหญิงและชาย

กระนั้นก็มีบางงานที่ให้ไปทำเท่าๆ กันไม่ได้ เช่น การตัดไม้ในป่า และการปลูกบ้านพัก การขึ้นมุงหลังคา งานเหล่านี้สหายจากในเมืองทำแทบไม่ได้เลยไม่ว่าชายหรือหญิง นอกจากเป็นลูกมือ เพราะดูต้นไม้ไม่ออกว่าต้นอะไร ตัดอย่างไรถึงจะไม่เป็นอันตราย

ผมยืนดูสหายเพียงซึ่งเป็นผู้หญิง ขณะนั้นเริ่มท้องอ่อนๆ ด้วย ปีนขึ้นไปมุงหลังคาด้วยใบจากที่ตัดจากต้นสาคูซึ่งมีมากในป่าแถวนั้นอย่างคล่องแคล่ว

ดูคุณสังข์และคุณทิ้ง สหายจากสะบ้าย้อย โค่นต้นไม้ใหญ่ๆ นับสิบเพื่อบุกเบิกเป็นไร่สำหรับปลูกข้าว เขาฟันเฉาะโคนต้นไม้กะให้เป็นแล่งแนวเดียวกัน พอต้นหนึ่งโค่นล้มลงมาก็ฟาดโดนต้นถัดไปให้โค่นล้มตามๆ กันลงมา อย่างน่าอัศจรรย์

นั่นคือทฤษฎีโดมิโนที่เป็นจริงในกลางป่าภาคใต้

 

ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและปัญญาชนจากในเมืองกับสหายเก่าในกองทัพนั้น ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น หากพิจารณาจากองค์ประกอบและภูมิหลังที่มาทางสังคมของบรรดากลุ่มคนทั้งหลายที่เข้ามาร่วมกันใช้ชีวิตอย่างรวมหมู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และอุดมการณ์ใหญ่ของการปลดปล่อยแบบสังคมนิยม

ประการแรก คนจากเมืองที่เข้ามาไม่ได้เลือกและตั้งใจแต่แรกว่าจะเข้ามาใช้ชีวิตและการต่อสู้บนหนทางปืนและยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองภายใต้การนำของ พคท.

หากแต่พวกเขาจำต้องตัดสินใจภายในเวลาอันกระชั้นชิดและจากแรงผลักดันของรัฐประหาร 6 ตุลา และการขึ้นมาของรัฐบาลเผด็จการยุคหอยครองเมือง

โดยที่จริงแล้วหลังจากเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ควรให้คนเหล่านั้นเลือกว่าจะอยู่หรือจะกลับเข้าไปในเมือง

อันที่จริงก็มีการพูดทำนองนี้บ้าง หลังจากเริ่มมีสัญญานของความอึดอัดและยากลำบากในการปรับตัวของบางคน

ทว่า สภาพการณ์และความตื่นเต้นที่ได้เข้ามาอยู่ในกองทหารประชาชน เป็นประสบการณ์และสิ่งใหม่ที่หลายคนไม่เคยคิดและฝันว่าจะได้เข้ามาเห็นและอยู่

ยามที่ทุกคนยังมีขวัญกำลังใจและร่างกายไม่มีปัญหา ชีวิตประจำวันก็เปรียบเสมือนการไปตากอากาศ ผู้คนล้วนมีน้ำจิตน้ำใจ

เวลากินข้าวไม่มีใครแย่งตักข้าวหรือกับมากกว่าคนอื่น มีแต่การให้คนอื่นกินก่อน

เวลาทำงานก็แย่งกันอาสาไปทำ เวลาพักผ่อนเล่นกีฬาก็ออกมาเล่นกันมากมาย ใครป่วยเจ็บก็มีสหายมารักษาดูแลหาอาหารพิเศษให้กิน

คืนแรกที่คณะของเราเดินเข้าเขตป่าเขา ต้องพักระหว่างทางบริเวณที่สูงชันและพื้นดินเป็นโคลนเพราะฝนตก จะเดินไปอาบน้ำก็ลื่นและโคลนเต็มตีนทำให้นอนในเปลไม่ได้ ผมจนปัญญาไม่อาจไปชำระร่างกายได้

ขณะที่ช่วยตัวเองไม่ได้ สหายเพียงซึ่งเป็นภรรยาสหายนพผู้มีวาทศิลป์ในการพูดอย่างยิ่ง ทั้งสองเป็นสมาชิกพรรคและแกนนำของค่าย เธอเอาน้ำใส่ภาชนะมาให้ผมล้างเท้าในเปล

ผมตื้นตันใจจนพูดไม่ออก เพราะไม่เคยได้รับการประคบประหงมอย่างมากขนาดนี้เมื่อโตแล้ว

 

สภาพการณ์ในค่ายเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านเกือบ 3 เดือน โดยเฉพาะกลางเดือนธันวาคม 2519

รัฐบาลไทยกับมาเลเซียมียุทธการร่วมกันในการปราบคอมมิวนิสต์ภาคใต้แถวชายแดน เริ่มยุทธการปราบปราม มีชื่อรหัสว่า “ดาวใหญ่มุสนาห์” เป้าหมายคือกองกำลัง ทปท.สงขลาทั้งสองเขต และ พคม.ด้วย โดยเริ่มที่เขต 1 ก่อนใช้ชื่อว่า “ยุทธการมุสนาห์ 1” หลังจากนั้นจึงไปทางเขต 2 ใช้ชื่อว่า “ยุทธการมุสนาห์ 2”

กำลังฝ่ายปราบปรามส่วนใหญ่ขึ้นทาง อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ เนื่องจากเป้าที่ชัดเจนของการโจมตีคือไร่ข้าว ซึ่งอยู่ในเขต อ.สะเดา

อาวุธของทางการมีครบทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด โอวี 10 เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่ ปืนครก รถถัง กำลังร่วมไทย-มาเลเซียอีกกว่า 3 กองพัน

การปราบครั้งนั้นฝ่ายสงขลาเขต 1 ถูกปราบอย่างหนัก ถึงกับต้องทิ้งค่ายพัก ออกเดินทัพทางไกลไปหาที่ปลอดภัยถึงเขตพัทลุง ตรัง สตูล

ส่วนเขต 2 ของเรานั้นได้ยินเสียงเครื่องบินโอวี 10 หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ลูกระเบิดตกบริเวณป่าปลูกข้าว ส่วนค่ายใหญ่ไม่ถูกระเบิด ทำให้ทุกคนลืมปัญหาความขัดแย้งและยากลำบากอื่นๆ ไปได้พักหนึ่ง

ผลที่ตามมาคือพวกเราต้องรีบขุดคูรอบค่ายสำหรับลงไปหลบลูกระเบิด

และที่หนักหน่วงที่สุดคือการขุดอุโมงค์ สหายที่เคยไปเยี่ยมค่ายใหญ่ของ พคม. ที่เขาน้ำค้างจะเห็นอุโมงค์ของเขาที่ขุดอย่างดี ข้างในใช้หลับนอนและทำงานได้ งานขุดอุโมงค์เป็นงานหนักจริงๆ กว่าจะได้แต่ละเมตร พวกเราแต่ละคนล้วนเหงื่อไหลไคลย้อย

ยิ่งขุดและแบกดินออกมาเวลากลางวัน ยิ่งเหนื่อยและล้ามาก ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าวและสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่

ผมเข้าใจอย่างกระจ่างว่าทำไมอาณาจักรใหญ่ๆ ที่มีการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มหึมาจึงต้องมีระบบทาสรองรับ หรือไม่ก็ต้องมีระบบความเชื่อที่มหัศจรรย์ยิ่งที่บังคับคนอื่นๆ จำนวนมากให้ยอมทำตามความปรารถนาของชนชั้นที่เหนือกว่าได้

ลำพังแส้และการจองจำในคุกไม่มีทางบังคับคนให้ทำงานที่ยากลำบากอย่างนั้นได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จได้

หากจะทำก็คงได้ แต่ก็จะมาพร้อมกับการพังทลายลงของผู้ปกครองและอาณาจักรนั้นในเวลาต่อมานั่นเอง

อีกข้อคือทำไมชุมชนมักอยู่ริมแม่น้ำหรือสายน้ำ ทุกครั้งที่เราเดินทางในป่าข้ามเขา จุดที่พักแรมก็ต้องหาบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำเป็นอันดับแรก ยามเหนื่อยและหิว ก็ต้องกินน้ำก่อนอย่างอื่น

ในยามขาดแคลนและหิวอย่างแรง น้ำในปลักควายเราก็ยังยอมกินเลย

 

วันหนึ่งคุณชาติบอกกลุ่มของเราว่าศูนย์กลางที่อยู่ภาคเหนือเรียกให้ส่งพวกเราขึ้นไปทำงานสำคัญในศูนย์กลาง ระยะนั้นเริ่มมีคำชี้แนะให้ทำการศึกษาลัทธิมาร์กซ์เลนินและสภาพเป็นจริงในท้องถิ่น เป็นคำชี้แนะเชิงนโยบายที่สำคัญและจะมีผลต่อการทำงานของหน่วยงาน พคท.อย่างมาก

นี่เองเป็นเหตุให้บรรดาผู้นำและบุคคลมีชื่อทางการเมืองทยอยออกจากเขตงานเล็กๆ ที่ไม่อาจรองรับบทบาทและฐานะของคนเหล่านั้นได้ ด้วยการให้ไปรวมกันทำงานและจัดตั้งองค์กรแนวร่วมที่ภาคเหนือ

ถึงวันเดินทางคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปจากเขต 2 สงขลาคือคุณดาว คุณอาทิตย์และภรรยา

อีกกลุ่มคือคุณยุค ศรีอาริยะ หลังจากเดินทางขึ้นภาคเหนือแล้วลงมาเขียนบันทึกที่สั่นคลอนขบวนการ พคท.ในระยะหน้าสิ่วหน้าขวาน นั่นคือ “บันทึกกบฏ” ในปี 2523

ผมก็คิดว่าตัวเองก็คงจะได้ไปภาคเหนือกับเขาด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อวันเดินทางมาถึงไม่มีชื่อผมอยู่ด้วย

แรกๆ ก็เสียกำลังใจเหมือนกัน นึกว่าพรรคคงไม่รู้จักเราเลยไม่ยอมส่งให้ขึ้นไป

มาทราบภายหลังจากคุณชาติเองว่า เขาขอกับทางพรรคว่าให้ผมอยู่ช่วยงานที่นี่ เพราะผมสามารถใช้ชีวิตและทำงานเข้ากับทั้งสหายเก่าและใหม่จากเมืองได้ เขตงานก็จะพอมีคนช่วยรักษาสถานการณ์ไว้ไม่ให้ทรุดลงไปมากกว่านี้

เมื่อฟังเหตุผลและความต้องการของสหายที่นี่ก็ทำให้ผมยอมรับการตัดสินใจของสหายนำได้

งานสำคัญชิ้นต่อมาของเขต 2 สงขลาคือการก่อตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมแห่งประเทศไทย

 

เนื่องจากมวลชนส่วนมากในเขตนี้เป็นคนมลายูมุสลิม หมู่บ้านที่ค่ายของเราพึ่งพาอาศัยในการจัดหาเสบียงอาหารและเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ ก็มาจากหมู่บ้านมุสลิมแถวๆ นี้

ในค่ายนี้นับแต่วันแรกๆ ที่พวกเราเข้ามาก็ได้พบกับสหายอาวุโสคนหนึ่งชื่อสหายจุฬา แต่พวกเราเรียกว่าโต๊ะ (ครู) จริงๆ แล้วแกไม่ได้เป็นโต๊ะครูจริงๆ เขาเป็นมุสลิมจากภาคกลาง ชีวิตวัยเด็กเคยอยู่แถวอยุธยา ครอบครัวยากจน เล่าว่าเคยถูกขายไปเหมือนกับเป็นทาส จากนั้นเข้ามาทำงานกรรมกรในกรุงเทพฯ และเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ พคท.ตั้งแต่ยังไม่รู้จักพรรค เป็นคอมมิวนิสต์รุ่นแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากถูกจับและทำงานในเมืองไม่ได้แล้ว ในที่สุดพรรคต้องส่งเข้ามาในเขตป่าเขา ในที่สุดก็มาอยู่ในเขตงานที่มีคนมุสลิมอยู่

โต๊ะเป็นคนให้ความรู้เกี่ยวกับมุสลิมแก่พวกเรา เขาอ่านพูดภาษามลายูได้บ้าง จึงเปิดสอนภาษาและอักษรยาวีกันขึ้น ผมได้เรียนกับพวกเขาด้วย

หลังจากเคลื่อนไหวทำงานมวลชนมาระยะหนึ่ง ในที่สุดเขตเราก็ได้สหายใหม่ที่เป็นคนมุสลิมในเขตนั้นขึ้นมาอยู่ในกองทัพด้วย เป็นก้าวแรกของการเตรียมการจัดตั้งกองทหารปลดแอกมุสลิมเอง

รุ่นแรกเท่าที่จำได้มี สหายมะยาเต็ง สหายซูดิง สหายยูโซะ สหายหญิงเมาะ กลุ่มนี้มีสหายโรจน์ ซึ่งเป็นคนไทยเป็นหัวหน้า

คุณโรจน์พูดภาษามลายูกับชาวบ้านได้ เขาทำงานฝังตัวในหมู่บ้านมุสลิมมานานก่อนจะตั้งเขตงานนี้ขึ้นมาเสียอีก เป็นคนที่ยืนหยัดและซื่อสัตย์ในอุดมการณ์ เรียบง่ายพูดน้อย เข้ากับคนได้สบาย

จากนั้นเรามีการศึกษาพูดคุยกันถึงประวัติการต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิม เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องราวของหะยีสุหรงจากคุณชาติ เรื่องของครูเปาะสู วาแมดีซา ซึ่งถูกรัฐบาลไทยจับข้อหาส้องสุมเป็นอันธพาล หลังจากปล่อยตัวออกมา จึงไปร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของคนมลายูมุสลิมต่อสู้กับรัฐไทย

ในปี 2515 พคท.พยายามติดต่อกับเปาะสูแต่ไม่สามารถร่วมมือกันได้

 

ระหว่างที่เคลื่อนไหวในเขตสะบ้าย้อย หน่วยงานที่ทำงานข้างล่างใกล้หมู่บ้านรายงานว่าคนจากกลุ่มพูโล ติดต่อเจรจาด้วย

ผมขอร่วมไปสังเกตุการณ์ด้วย เขาศึกษานโยบายและระเบียบการของ พคท.

ผลการเจรจาเบื้องต้นคือแบ่งเขตทำงานและปฏิบัติการไม่ให้ก้าวก่ายกัน ฝ่าย ทปท.ไม่ยอมให้มีการปล้นและปิดถนนแล้วปล้นรถ ดังที่ได้กระทำมาก่อนหน้านี้ เพราะเป็นการเชื้อเชิญให้กำลังตำรวจและทหารเข้ามาปราบปรามในเขตที่พวกเราอยู่ด้วย

มีวันหนึ่งพวกเราต้องวิ่งหลบหนีกันจ้าละหวั่น เพราะโดยไม่มีร่องรอยและการข่าว จู่ๆ ก็มีเฮลิคอปเตอร์บินโฉบลงมาแถวที่พักของเรา ต่อมาได้ความว่าวันก่อนมีการปิดถนนปล้นรถทางไปสะบ้าย้อยโดยฝีมือของกลุ่มติดอาวุธหนึ่ง

ประเด็นที่เป็นอุปสรรคของการสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับรัฐไทยระหว่าง พคท.กับกองกำลังติดอาวุธมลายูมุสลิมนั้นได้แก่ปัญหาทางอัตลักษณ์ทางชนชาติ ขบวนการมลายูมุสลิมเน้นการรักษาอัตลักษณ์มลายูมุสลิม ในขณะที่ พคท.ไม่เน้นหนักในอัตลักษณ์มุสลิมหรือมลายูหากแต่ให้เป็น “มุสลิมไทย” ในอุดมการณ์ทางการเมือง

ขบวนการมลายูมุสลิมมีจุดหมายในการปลดปล่อยเพื่อเอกราชของคนมลายูมุสลิมจากอำนาจรัฐสยาม

ในขณะที่ พคท.เน้นที่การปลดปล่อยจากการกดขี่ทางชนชั้นของศักดินานิยมและจักรพรรดินิยม

การร่วมมือระดับนโยบายจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้นอกจากการช่วยเหลือเฉพาะหน้า (เจริญพงศ์ พรหมศร, “กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย : การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังติดอาวุธมลายูมุสลิมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” 2556)

ดังนั้น ความคิดเรื่องการจัดตั้งกองทหารปลดแอกที่เป็นคนมลายูมุสลิมเองภายใต้การนำของพรรค จึงเป็นนโยบายที่จำเป็นต้องทำ หากจะเดินหน้าทำการปฏิวัติในเขตนี้ต่อไป