คุยกับทูต | ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ การทูตที่ไม่ธรรมดาของเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน (จบ)

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก

“แม้จะได้มาอยู่ในประเทศแห่งการท่องเที่ยวก็จริง แต่สำหรับพ่อซึ่งต้องเดินทางบ่อยมาก มักเป็นเรื่องของภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ซึ่งก็ได้ไปเชียงใหม่ เชียงราย สกลนคร และราชบุรี แต่ยังไม่มีโอกาสไปเยือนเมืองริมฝั่งทะเล”

คนอเมริกันไกลบ้าน คิดถึงอะไรที่บ้านเกิด

“ครอบครัวและเพื่อนๆ แน่นอน เพราะพ่อเติบโตที่นั่น สมัยเรียนอยู่ที่กรุงโรม ก็ต้องรอจดหมายนานหลายสัปดาห์กว่าจะได้รู้ข่าวคราว มาตอนนี้อาศัยเทคโนโลยี ทุกคนสามารถเห็นกัน พูดคุยกันได้ทุกวัน ทุกเวลาที่ต้องการ มันสุดยอดมาก”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูต นครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย มาจากเมืองทูลซา (Tulsa) รัฐโอกลาโอมา (Oklahoma) ประเทศสหรัฐอเมริกา

“แล้วยังคิดถึงฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล เพราะพ่อก็ชอบเล่นกีฬา”

“ส่วนอาหาร มีความคิดถึงอาหารอเมริกันเป็นบางครั้ง ที่ชอบคือ สเต๊ก แต่ตอนนี้สเต๊กก็มีอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับไก่ทอด และแฮมเบอร์เกอร์”

“อาหารไทย สำหรับพ่อคือ อร่อยมาก พ่อเคยไปสกลนคร เลยชอบอาหารอีสาน เช่น ส้มตำ และอย่างอื่นด้วยแต่จำชื่อไม่ได้”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูต นครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

หน้าที่และบทบาทหลักของเอกอัครสมณทูต สถานเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

“เป็นคำถามที่น่าสนใจและเป็นคำถามที่ดีมากๆ เพราะในฐานะเอกอัครสมณทูตวาติกัน หน้าที่และบทบาทส่วนใหญ่นั้น มีความแตกต่างจากนักการทูตคนอื่นๆ”

“เหตุผลก็เนื่องมาจากความแตกต่างในการให้บริการทางการทูตของวาติกัน ซึ่งปัจจุบัน งานส่วนใหญ่ของนักการทูตจากประเทศอื่นๆ คือเรื่องทางเศรษฐกิจ เป็นการทูตเชิงพาณิชย์ แต่งานของเราไม่มีผลประโยชน์ทางการค้า ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องมีทูตพาณิชย์”

“ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้พ่อมีสมาธิในเรื่องที่ถือว่าเป็นการทูตบริสุทธิ์แบบคลาสสิคมากกว่า ซึ่งก็คือการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เราอยู่ที่นี่อย่างมนุษย์ เรามาเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เรามาที่นี่เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอที่สุด เรามาเพื่อช่วยเหลือคนชายขอบ เรามาที่นี่เพื่อทำในสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อคนอื่นๆ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้งานทางการทูตของวาติกันแตกต่างออกไป”

“เนื่องจากพ่อเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสันตะปาปา พระองค์ทรงสนพระทัยในความเป็นไปของโลกและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ดังนั้น พระองค์จึงมุ่งหมายที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับใช้ จึงได้ส่งตัวแทนของพระองค์ออกไปทั่วโลกและมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับผู้แทนทุกคน”

ภายในโบสถ์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฃั้นสองของสถานเอกอัครสมณฑูตวาติกัน กรุงเทพฯ

“บทบาทอย่างแรกคือ การรับฟังในสิ่งที่ผู้คนพูด หรือแสดงออก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามความหวังหรือความปรารถนาของเขา เป็นการช่วยเหลือในลักษณะที่จับต้องได้ และใช้งานได้จริง นั่นคือการช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม”

“การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีสถานสมณทูตประจำอยู่ โดยเฉพาะส่งเสริมกิจกรรมที่จะนำความมั่นคง สันติสุขในการอยู่ร่วมกัน เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการปฏิบัติศาสนกิจ ความยุติธรรมในสังคม และทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องศักดิ์ศรีแห่งการเป็นมนุษย์”

“การเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางความเชื่อระหว่างพระศาสนจักรท้องถิ่นกับพระศาสนจักรสากล หรือพระศาสนจักรแม่แห่งกรุงโรม เป็นสื่อกลางระหว่างพระสันตะปาปากับบรรดาอาร์กบิชอปหรือบิชอป ผู้เป็นประมุขแห่งเขตศาสนปกครองท้องถิ่น หรือแต่ละมิสซัง”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูต นครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

“การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะทูตานุทูต นโยบายทางการทูตของสันตะสำนักมีจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ และสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีร่วมกับประชาคมโลกในนานาชาติ สันตะสำนักคัดค้านเสมอต่อสิ่งที่เป็นภัยคุกคามสันติภาพของโลก หรือสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ (Natural Law) และกฎพระเจ้า (Divine Law)”

“เราจึงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกือบทุกประเทศ โดยมีสถานทูตประจำอยู่ 102 แห่งทั่วโลก”

“จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ทางการทูตเท่านั้น พ่อยังต้องทำหน้าที่ทางด้านคาทอลิกทั้งหมดด้วย การทำหน้าที่ทั้งสองด้านทำให้ยุ่งมาก จึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง นั่นเป็นเพราะเอกอัครสมณทูตวาติกันเป็นการทูตที่ไม่ธรรมดา” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin