ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (2) 4 บุก การศึกษาลาว

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (2)

4 บุก การศึกษาลาว

 

เช้าวันใหม่ คณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ออกจากสบายดีโฮเต็ลมุ่งหน้าสู่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา หน้าประตูทางออก ติดตั้งป้ายผ้า “น้ำใจ วันที่ 7 ตุลา หมั้นยืน” บ่งบอกให้ครูและข้าราชการทกคน ระลึกถึง ให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมงานวันครูแห่งชาติลาว 7 ตุลาคม เช่นทุกปี โดยพร้อมเพรียงกัน ต่อจากวันครูโลก 5 ตุลาคม

ด้านข้างเป็นที่ตั้งห้องว่าการสำนักงานประธานประเทศหรือหอคำ เลยไปไม่ไกลขึงป้ายสูงข้ามสองฝั่งถนนต้อนรับการเสด็จเยือนประเทศลาวของสมเด็จพระราชาธิบดี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ประดับธงชาติสองประเทศคู่กันตลอดทาง

ก่อนเวลานัดหมาย 10.00 น. น.ส.มรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ เข้าร่วมผู้แทนฝ่ายไทย สวัสดียามเช้า รับไหว้ทักทายทุกคนด้วยความยินดี

ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการคอยต้อนรับพาขึ้นห้องรับรองชั้นสอง เชิงบันไดทางขึ้น เห็นป้าย “คณะบริหารงานชาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว สำนักกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา” เขียนข้อความเตือนใจผู้ผ่านไปมา ให้ยึดมั่นปฏิบัติตามแนวทาง 4 ประการ

1.บุกด้านความคิด 2.บุกด้านฝึกฝน หล่อหลอม ร่ำเรียน 3.บุกด้านการงาน การจัดตั้ง 4.บุกด้านวิชาชีพ สร้างงาน หางานทำ

 

คณะผู้แทนฝ่ายเจ้าภาพนำโดย รศ.ดร.พุด สินมาลาวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา รศ.ดร.สิสินทอน สักหล่อคำ อธิบดีกรมร่วมมือกับต่างประเทศ ท่านสุภาพ คุนวิไซ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางเวียงแก้ว พิมมะวง อธิบดีกรมจัดตั้งและพนักงาน นางคำปะเสิด หัวหน้ากรมสามัญศึกษา นางนิตตะยา วิสอนนะวง หัวหน้าแผนก กรมร่วมมือกับต่างประเทศ นายพูโขง พิมบัวทอง และนางเวียงพัน ไชยะลาด พนักงานวิชาการ กรมร่วมมือกับต่างประเทศ

พร้อมด้วยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาว 4 คนได้แก่ นางคำสร้อย วงสัมพัน ปี 2558 นครหลวงเวียงจันทน์ นางคุนวิไล เดนกิติสัก ปี 2560 นครหลวงเวียงจันทน์ นายไพสะนิด ปันยาสะหวัด ปี 2562 แขวงหลวงพระบาง และนางกิมเฟือง เฮืองมะนี ปี 2566 แขวงเซกอง ส่วนครูรางวัลคนที่ 4 ปี 2560 น.ส.แสงเพ็ด คุณปะเสิด แขวงอุดมไชย ติดภารกิจกำลังศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ของไทย โดยการสนับสนุนของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“ท่านกฤษณพงค์ สบายดี แข็งแรงดีนะ ที่คับแคบไปหน่อย” ดร.พุด เอ่ยทันทีที่พบคณะผู้มาเยือน

“แต่ใจกว้าง” ดร.จักพรรดิ วะทา นักสร้างบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองรีบออกตัวแทนเจ้าภาพ ทุกคนหันหน้ามายิ้มให้กัน ก่อนบทสนทนาว่าด้วยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกับการพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศจะเริ่มต้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาลาว (คนที่สามจากขวา) ฮับต้อนประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (คนที่สามจากซ้าย) และเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ (คนกลาง) พร้อมด้วยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาว 4 ท่าน

ดร.พุด จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ปริญญาโทมนุษยศาสตร์ และดุษฎีบัณฑิตด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยฟลิบเบอร์ก ประเทศฝรั่งเศส ผ่านการทำหน้าที่ด้านการศึกมาหลายตำแหน่ง เป็นอาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเวียงจันทน์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ รองประธานฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ก่อนเข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ถึง ค.ศ.2019-2021 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา

ค.ศ.2021 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา มีผลงานวิชาการตีพิมพ์หลายเรื่องในสาขาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่อง พิธีกรรมข้าวและความทันสมัย กรณีศึกษาของประเทศลาว

“ขอบใจมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่ยกคณะมาเยี่ยมยาม สนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา ยินดีกับนโยบายของมูลนิธิ ขอให้พวกเรารับสานต่อ เพื่อเป็นการให้กำลังใจครู ทำให้เห็นคุณค่าของตัวเอง อาชีพครูมีความสำคัญ สังคมเห็น ให้ความสำคัญ” รมต.พุด กล่าว

ดร.กฤษณพงศ์ ประธานมูลนิธิกล่าวตอบ “ขอบคุณท่านรัฐมนตรี คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ท่านเอกอัครราชทูตไทย กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมาตลอด 10 ปี 5 รุ่นแล้ว ได้ครูที่มีคุณสมบัติสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำงานร่วมกัน ครูได้ศึกษาเพิ่มเติม ได้ไปดูงานในที่ต่างๆ รวมทั้งปรเะเทศไทย”

“ครูที่ได้รับคัดเลือกเดินทางไปร่วมพิธีพระราชทานรางวัล วันที่ 17 ตุลาคมนี้ ต่อจากนั้นมีโอกาสได้ดูงานกิจกรรมที่ครูต้องการเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน”

การเดินทางมาของคณะมูลนิธิ ได้เชิญนักธุรกิจและบริษัทที่มาประกอบกิจการในลาวมาร่วมพูดคุย ชักชวนให้ร่วมกิจกรรมสนับสนุนการศึกษา ทำโครงการต่างๆ

เช่น มอบทุนการศึกษา ให้ทุนเรียนจบแล้วได้เข้าทำงานในบริษัท หรือไปศึกษาต่อในประเทศไทย อย่างที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้

“ทุน Tica (Thailand International Cooperation Agency) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้ครูกับครู นักเรียนกับนักเรียน หน่วยงานกับหน่วยงาน รัฐกับรัฐได้ทำงานด้วยกัน อย่างรัฐกลันตัน มาเลเซียอยากมีความร่วมมือกับโรงเรียนในภาคใต้ของไทย ที่ประเทศไทยมีหน่วยงานจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาด้วย” ประธานมูลนิธิเอ่ย ก่อนแนะนำหนึ่งในคณะผู้แทนฝ่ายไทย

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวขอบคุณ และว่า “กสศ.ตั้งมา 4 ปีแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อดูแลเด็กเยาวชนที่ยากจน ขาดแคลน ขาดโอกาส รวมถึงเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการผลิตครูระบบปิด จบแล้วมีงานทำเลย โดยเฉพาะในโรงเรียนตามพื้นที่ห่างไกล”

“ในประเทศลาวมีครูทั้งหมด 72,000 คน” รมต.พุด เล่าต่อ การร่วมมือจากหลายภาคส่วนมีส่วนร่วม รวมถึงด้านการอาชีวศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ครูสมัยนี้สอนเด็กยากขึ้น คุณภาพการศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญ ครู 72,000 คนก็ยังไม่พอ ต้องสอนควบ”

“ผมเองก็ยังเป็นครูอยู่ สอนหนังสือมา 50 ปีแล้ว” ครูกฤษณพงศ์กล่าว

“เป็นอาจารย์ปู่” ครู ดร.พุดกระเซ้า ทุกคนส่งยิ้มให้กัน

“ในประเทศไทยก็ยังมีปัญหานี้อยู่ บางโรงเรียนมีครูคนเดียว สอนทุกห้อง ทุกชั้น ต้องสลับ สอนควบชั้น ควบห้อง ช่วงสถานการณ์โควิด สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถุงยังชีพเพื่อการศึกษา ให้ครูตำรวจตระเวนชายแดนตามโรงเรียนชายแดน อาสาสมัครเอาการบ้านจากครูไปสอนเด็ก เอาการบ้านเด็กมาส่งครู ใช้วิทยุ โทรทัศน์ทางการศึกษาเป็นช่องทางช่วย”

 

ท่านทูตมรกต ได้จังหวะเล่าว่า มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เห็นความดีใจของครู ดูแลนักเรียนได้อย่างน่ายกย่อง นับถือ สถานทูตเคยส่งแม่ครัวไปสอนวิชาการทำอาหารที่โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงไชยะบุรี หลายบริษัทเอกชนไทยให้ทุนนักเรียนจบแล้วมาทำงานที่บริษัท หรือเลือกไปทำงานอื่นๆ ก็ได้ และช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ การฝึกสอนหลายรูปแบบ สถานทูตพยายามส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ดีที่สุด”

หัวหน้าคณะฝ่ายไทยเล่าต่อ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำโครงการส่งเสริมการผลิตครูระบบปิด ให้นักเรียนในพื้นที่มาเรียนครู จบแล้วกลับไปทำงานในพื้นที่ ที่ผ่านมาผลิตได้ปีละ 300 คน 5 ปี 1,500 คนไปประจำตามโรงเรียนห่างไกล 727 แห่งทั่วประเทศ พยายามผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นนโยบายของรัฐ เพราะนอกจากสถาบันผลิตครูแล้ว หน่วยงานใช้ครูต้องสนองตอบ กำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับให้เพียงพอ ถ้าจะให้ได้ผลต้องผลิตเพิ่มให้ได้อีกเป็นสิบๆ เท่า”

“อีกโครงการหนึ่งการพัฒนาครูอาชีวะ ตัวอย่างโมเดลสิงคโปร์มีสถาบันผลิตครูอาชีวะโดยเฉพาะ”

บทสนทนา ถอดถอนบทเรียนระหว่างสองฝ่ายยังดำเนินต่อไปอีกหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะแนวทางการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคมมาส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา โครงการลดอัตราการออกกลางคันของนักเรียนให้เป็นศูนย์ Zero Drop Out โดยการออกหุ้นกู้ของธุรกิจภาคเอกชนไทย นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ ที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ผู้บริหารการศึกษาของลาวทุกระดับ กำลังพยายามลดอัตราการเลิกเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษา อย่างขะมักเขม้นอยู่เช่นกัน