การสร้างสัญลักษณ์ทางการเมือง และสำนึกพลเมือง ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ระบอบเปลี่ยนแปลง สัญลักษณ์เปลี่ยนตาม

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การสร้างสัญลักษณ์ทางการเมือง

และสำนึกพลเมือง

ภายหลังการปฏิวัติ 2475

ระบอบเปลี่ยนแปลง สัญลักษณ์เปลี่ยนตาม

 

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงแล้ว เกิดกระแสการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มอนุรักษนิยมหลายครั้ง และครั้งสำคัญคือการก่อกบฏบวรเดช (2476)

หลังปราบกบฏลงแล้ว รัฐบาลตื่นตัวที่จะใช้สำนักงานโฆษณาการทำการกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ให้กับราษฎรในชนบทแดนไกลให้กว้างขวางด้วยกระบวนการถ่ายทอดแนวคิด ความหมายของวัตถุทางการเมืองไปยังสมาชิกที่อยู่ในสังคมเพื่อให้พวกเขาเกิดความรับรู้ สืบต่อและรักษาบรรทัดฐานและค่านิยมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไปในทิศทางเดียวกัน

สำนักงานโฆษณาการได้จัดทำคู่มือพลเมือง (2479) ขึ้นแจกจ่ายราษฎรอย่างกว้างขวาง ภายในคู่มืออธิบายถึงคณะราษฎรผู้นำการปฏิวัติว่า คณะราษฎรนั้นประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนทั้งที่เป็นข้าราชการและราษฎรธรรมดานั้นเห็นพ้องกันว่า หากปล่อยให้การปกครองเป็นดั่งเดิมประเทศชาติจะตั้งอยู่มิได้จึงเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะราษฎรหวังแต่ให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น หาได้แย่งชิงพระราชสมบัติแต่อย่างใด จึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป (สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 31-32)

นอกจากนี้ คณะปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยนำเสนอและแจกจ่ายสัญลักษณ์ทางการเมือง (Political symbolism) ตามระบอบใหม่ผ่านเอกสาร สิ่งพิมพ์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ราษฎรในแดนไกลได้ชมและฟัง เช่น ภาพพานรัฐธรรมนูญ ธงไตรรงค์ เพลงชาติ เพื่อสื่อสารกับราษฎรถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบใหม่แล้ว ซึ่งเป็นระบอบที่ราษฎรเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538, 28-29; สมบูรณ์ เหล่าวานิช, 2515, 14)

สัญลักษณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่ถูกเผยแพร่ออกไป คือ สิ่งสร้างที่มีความหมายสะท้อนถึงโครงสร้างและการดำเนินการของหน่วยการเมืองอันเชื่อมโยงกับสถาบันการเมือง ค่านิยม ความเชื่ออันก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ความผูกพันร่วมของผู้คนกับหน่วยทางการเมืองนั้นๆ เช่น ธง เพลง เครื่องหมาย รูปภาพ และสี ฯลฯ

ธงชาติสยาม หนังสือแจกของสำนักงานโฆษณาการและขบวนถือธงไตรรงค์ของราษฎรช่วงต้น 2480

รัฐบาลพยายามสื่อสารทางการเมืองทั้งภาพ เสียงและสาระให้กับราษฎรอย่างกว้างขวาง และในคู่มือพลเมืองนำเสนอถึงรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่วางระเบียบและวิธีการปกครอง แทนการยึดถือตัวบุคคลตามแบบเดิม รัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนฯ รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อประเทศ

อีกทั้งยังแบ่งให้ผู้อ่านเห็นว่า รัฐธรรมนูญในโลกนี้ มี 2 แบบ คือ แบบมีและแบบไม่มีพระมหากษัตริย์ สำหรับแบบที่มีพระมหากษัตริย์นั้น พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจตามพระทัยไม่ได้ ต้องใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนแบบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์นั้น ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้ง ตำแหน่งมีกำหนดวาระจำกัดถึงคราวก็ต้องออกจากตำแหน่งและเลือกตั้งประมุขกันใหม่ แบบนี้เรียก เรปุบลิก หรือมหาชนรัฐ (สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 33-34)

ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการกล่อมเกลาเรียนรู้ทางการเมือง เริ่มจากรัฐบาลสร้างการรับรู้ (Cognitive Orientation)ให้ราษฎรเรียนรู้หลักการ ความหมายของสัญลักษณ์ทางการเมืองอันเป็นวัตถุทางการเมือง (political objects) ของหน่วยทางการเมืองนั้น เช่น แผนที่ ธงชาติ เพลงชาติ รัฐธรรมนูญ อันก่อให้เกิดตัวตนทางการเมืองแก่ราษฎรในฐานะสมาชิกของชุมชนทางการเมืองนั้น รวมทั้งสร้างความผูกพันทางอารมณ์ (Effective Orientation) ผ่านการอบรมสั่งสอนให้แก่สมาชิกของชุมชนทางการเมืองให้ตระหนัก เห็นคุณค่าในสิ่งที่มีความหมายทางการเมืองนั้น เช่น ความรู้สึกรักชาติ ภูมิใจในความเป็นมาของชาติและตัวตน

ตลอดจนทำให้สมาชิกประเมินคุณค่าและการกำหนดพฤติกรรม (Evaluative Orientation and Behavior) ทางการเมืองของพวกตนเองได้ และเมื่อสมาชิกต้องประเมินค่าสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีผลทำให้พวกเขารู้สึกหวงแหนระบอบและวัตถุที่มีความหมายทางการเมือง อันนำไปสู่การมีพฤติกรรมปกป้องรักษาหน่วยทางการเมืองหรือชาตินั้นๆ (ลิขิต ธีรเวคิน, 2529)

ไม่แต่เพียงบทบาทรัฐในการกล่อมเกลาทางการเมืองเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีเอกชนร่วมในการดำเนินการด้วย เช่น หากพิจารณาภาพปกสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนที่ห้างร้านผลิตจำหน่ายตามร้านค้าพบว่า หน้าปกสมุดครั้งระบอบเก่าเป็นภาพพระมหากษัตริย์ที่เปรียบดุจนารายณ์ทรงครุฑ ภาพครุฑมีความเกรี้ยวกราดดุดันอันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสมัยระบอบเก่า

ในขณะที่สมุดแบบฝึกหัดในระบอบประชาธิปไตยเปลี่ยนมาเป็นครุฑที่ร่อนถลาลงมาใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมครุฑแลสายตาจับจ้องรัฐธรรมนูญอันเป็นการแสดงความเคารพขณะร่อนลงด้วย

คู่มือพลเมือง (2479) และภาพรัฐธรรมนูญบนปกหนังสือ

สร้างการรับรู้ใหม่ ธงไตรรงค์ คือ ธงชาติ

แม้นธงไตรรงค์จะถือกำเนิดมาแต่ครั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สถานะของธงไตรรงค์มิได้อยู่ในฐานะสูงที่สุด เนื่องจากในระบอบเก่านั้น ธงมหาราชเป็นธงสำคัญที่สุด แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว ระบอบประชาธิปไตยถือว่าราษฎรทั้งปวงนั้นคือชาติ คณะราษฎรจึงให้ธงไตรรงค์เป็นธงที่มีความสำคัญสูงสุดของชาติ ติดตามด้วยรัฐบาลจัดให้ธงไตรรงค์มีความสำคัญสูงสุดตาม พ.ร.บ.ธง (2479)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ธงไตรรงค์กลายมาเป็นธงชาติ อันเป็นธงที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดเกิดขึ้นภายหลังการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ปฏิทินจันทรคติเมื่อปี 2478 นำเสนอภาพกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญให้ราษฎรทั่วไปทราบอย่างกว้างขวาง

“ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย”

ประเทศนี้เป็นของราษฎร

เมื่อระบอบเปลี่ยน ความหมายของชาติที่เคยผูกติดกับผู้ปกครองในระบอบเก่าแต่เดิมเปลี่ยนเป็นประชาชนมีความสำคัญเหนือกว่าตัวบุคคลดังปรากฏในประกาศคณะราษฎรเมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก”

จากประกาศคณะราษฎรข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกที่เปลี่ยนไปว่า การก่อตั้งชุมชนทางการเมืองนี้ เป็นผลงานของราษฎร กล่าวอีกอย่างคือ ความอยู่รอดปลอดภัยของชุมชนทางการเมืองของคนไทยหาได้เกิดจากมหาบุรุษแต่เพียงผู้เดียว แต่เกิดจากความเสียสละทุกหยาดเลือดพลีให้ชาติของราษฎรไทยทุกคน ผู้คนสมัยหลังจึงเคารพนับถือความเสียสละของราษฎรไทย ดังปรากฏความในเพลงชาติฉบับ 2475 ของขุนวิจิตรมาตราว่า

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่ ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา”

ปกสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนที่สะท้อนการปกครองคนละระบอบกัน

“เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา”

ราษฎรคือผู้สละชีพปกป้องชาติ

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ในเพลงชาติยังปรากฏข้อความอันเป็นเนื้อร้องว่า “อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสรเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้ เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เทิดไทยไชโย”

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการนำเนื้อเพลงของขุนวิจิตมาตราและฉันท์ ขำวิไล ปรับเข้าหากันเมื่อ 2477 มีการปรับปรุงข้อความ “ร่วมรักษา เอกราษฎร์ ชนชาติไทย” (2475) เป็น “รวมรักษา สามัคคี ทวีไทย” (2477) และ “เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา” (2475) เป็น “เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา” (2477) คำว่า “เอกราษฎร์” เป็นคำที่หมายถึงชาติไทย และราษฎรผู้เสียสละเพื่อปกป้องอิสรภาพของชาติปรากฏในเพลงชาติช่วง 2475-2482 จวบจนเพลงชาติฉบับ 2482 ของหลวงสารานุประพันธ์

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ทางการเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับระบอบการปกครอง เช่น ธงชาติ เพลงชาติ พานเทิดรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ภายหลังการก่อกบฏบวรเดชแล้ว รัฐบาลเร่งเผยแพร่ความรู้ สัญลักษณ์ทางการเมือง และสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ให้แก่ราษฎรว่า ทุกคนคือส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเจ้าของประเทศและเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประชาธิปไตยนี้

ธงชาติและเพลงชาติในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองแห่งระบอบประชาธิปไตยถูกเผยแพร่โดยรัฐบาล
การจัดลำดับความสำคัญของธงสมัยประชาธิปไตยให้ธงไตรรงค์คือธงชาติ สำคัญสูงสุด
ขุนวิจิตรมาตรา และฉันท์ ขำวิไล