โฉมหน้า ‘แกนนำฮามาส’ ในบัญชีหมายหัวอิสราเอล

อิสมาอิล ฮานิเยห์ REUTERS/Aziz Taher/File Photo

การโจมตีเข้าใส่ฉนวนกาซาอย่างดุเดือดของกองทัพอิสราเอลดำเนินต่อเนื่องมา 3 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่กองกำลังติดอาวุธฮามาสที่หลายชาติตะวันตกขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย ได้เปิด “ปฏิบัติการพายุอัล-อักศอ” บุกเข้าไปถล่มโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบพร้อมกันทั้งทางบก อากาศและทางทะเลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เข่นฆ่าทหารและพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในอิสราเอลแบบไม่เลือกหน้า ไม่เลือกสัญชาติ ไปราว 1,400 คน และยังจับผู้คนไปเป็นตัวประกันอีกนับร้อย ที่มีชาวต่างชาติและคนไทยรวมอยู่ด้วย

ปฏิบัติการโจมตีช็อกโลกครั้งนี้ของกลุ่มฮามาส ทำให้ “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” (ไอดีเอฟ) อันเป็นกองทัพของอิสราเอลปฏิบัติการทางทหารตอบโต้กลับอย่างหนักหน่วงรุนแรงฉับพลันในฉนวนกาซา ภายใต้คำประกาศกร้าวที่จะกวาดล้างขุมข่ายกองกำลังติดอาวุธฮามาสที่มีอยู่ทั้งหมดแบบขุดรากถอนโคน

โดยเฉพาะการมุ่งเด็ดหัวเหล่าแกนนำฮามาสที่บงการแผนการบุกเข้ามาเหยียบจมูกเข่นฆ่าสังหารผู้คนในดินแดนอิสราเอลได้อย่างย่ามใจ โดยที่ฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลไม่มีการระแคะระคายถึงภัยคุกคามร้ายแรงที่มาถึงตัวในครั้งนี้แม้แต่น้อย

ชื่อของ อิสมาอิล ฮานิเยห์ อยู่ในหัวตารางของบัญชีหมายหัวของอิสราเอล

 

ฮานิเยห์ในวัย 60 เป็นผู้นำปีกการเมืองของกลุ่มฮามาสที่ได้รับการนับถืออย่างกว้างขวางในฐานะผู้นำสูงสุด หลังจากเขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าสำนักงานฝ่ายการเมืองของฮามาสในปี 2017

แต่ก่อนหน้านั้น ฮานิเยห์ก็มีบทบาทโดดเด่นอยู่แล้วจากการได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของรัฐปาเลสไตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ในปี 2006 หลังกลุ่มฮามาสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งของชาวปาเลสไตน์

แต่ฮานิเยห์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปีถัดมา หลังกลุ่มฮามาสขับไล่พรรคฟาตาห์ พรรคคู่แข่งภายใต้การนำของนายอับบาส ออกไปจากฉนวนกาซา และกลุ่มฮามาสก็ได้กุมอำนาจปกครองฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จ

ช่วงวัยรุ่นเขาเคยเป็นสมาชิกของนักศึกษากลุ่มภราดรภาพมุสลิมของมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกาซา ก่อนจะมาเข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ขณะเกิด “อินติฟาดา” เหตุการณ์จลาจลลุกฮือขึ้นของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลครั้งแรก

ฮานิเยห์ ผู้ที่พยายามผลักดันให้เกิดการปรองดองกันระหว่างปีกติดอาวุธกับฝ่ายการเมืองของฮามาส ถูกทางการอิสราเอลจับกุมคุมขังเป็นเวลาหลายครั้ง ก่อนที่เขาจะถูกขับออกไปอยู่ในเลบานอน จากนั้นฮานิเยห์ได้ลี้ภัยตัวเองไปใช้ชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศตุรกีสลับกับกาตาร์

การปรากฏตัวครั้งล่าสุดของฮานิเยห์ในหน้าสื่อของกลุ่มฮามาส เผยให้เห็นเขานั่งดูข่าวการระดมยิงจรวดถล่มโจมตีอิสราเอลในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม ก่อนจะร่วมกับผู้นำฮามาสคนอื่นๆ นั่งลงสวดมนต์ขอบคุณพระอัลลอฮ์สำหรับชัยชนะในการบุกย่ำยีอิสราเอลได้ในวันนั้น

ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้ Yahya Sinwar

ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา วัย 61 ปี ซึ่งได้รับเลือกขึ้นเป็นผู้นำปีกติดอาวุธของฮามาสในปี 2017 เป็นที่เลื่องลือในเรื่องความโหดเหี้ยมจากการมุ่งใช้กำลังอาวุธประหัตประหาร หลังเขาก่อตั้ง “มัจด์” หน่วยความมั่นคงฮามาสขึ้นมาควบคุมกิจการความมั่นคงภายในของกลุ่มฮามาส ทำการสืบสวนสายลับอิสราเอลและติดตามรอยหน่วยข่าวกรองและหน่วยรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล

เขาใช้เวลาอยู่ในคุกอิสราเอลนานถึง 25 ปี หลังถูกจับกุม จนกระทั่งพูดภาษาฮิบรูได้และรู้จักอิสราเอลอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2011 พร้อมกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ 1,027 คน เพื่อแลกกับทหารอิสราเอลที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป

ซินวาร์ ยังถูกทางการสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้าย และเป็นหนึ่งบัญชีหัวแถวที่อิสราเอลต้องการปลิดชีพ

โมฮัมเหม็ด เดอีฟ
โมฮัมเหม็ด เดอีฟ

โมฮัมเหม็ด เดอีฟ ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “แมวเก้าชีวิต” เป็นหัวหน้า “กองพันอิซซ์ดีน อัล-กัมซัม” กองกำลังติดอาวุธฮามาส ที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสราเอล

เดอีฟ เก็บซ่อนตัวอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีใครล่วงรู้ ท่ามกลางคำร่ำลือว่าเขาเป็นนักปลอมตัวระดับปรมาจารย์ ที่แทรกตัวอยู่ในหมู่คนได้อย่างเนียนๆ เขาเริ่มเข้าสู่วงจรเคลื่อนไหวของกลุ่มฮามาสในช่วงทศวรรษ 1980 และมีส่วนร่วมในหลายปฏิบัติการ รวมถึงการลักพาตัวทหารอิสราเอลและการก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ

เขาตกเป็นเป้าหมายลอบสังหารของอิสราเอลอย่างน้อย 6 ครั้ง ในความพยายามลอบสังหารครั้งที่ 5 ในกาซา เดอีฟได้รับบาดเจ็บสาหัส และในความพยายามลอบสังหารครั้งที่ 6 ในปี 2014 ด้วยการโจมตีทางอากาศ เดอีฟยังคงความเป็นแมวเก้าชีวิต ที่โกงความตายได้ แต่ไม่ใช่สำหรับภรรยาและลูกอีกหนึ่งคนของเขา

แต่ภายใต้ความมุ่งมั่นของอิสราเอลในการจะกวาดล้างทั้งองคาพยพของกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากไปจากแผ่นดินปาเลสไตน์ครั้งนี้ บรรดาแกนนำฮามาสตัวฉกาจเหล่านี้จะเล็ดลอดไปได้หรือไม่

ต้องรอดูกันต่อไปว่าสงครามนองเลือดอิสราเอล-ฮามาสจะไปสิ้นสุดลงตรงไหน