ผ่าทางตัน-หาทางออก : ปัญหาวังวนเรือดำน้ำไทย! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในปัญหาตกทอดจากการเมืองยุค คสช. ที่กลายเป็น “วิวาทะไม่จบ” จนถึงปัจจุบัน คือ ปัญหาเรือดำน้ำที่ราชนาวีไทยสั่งต่อจากจีน และปัญหานี้กลายเป็น “โจทย์การเมือง-ความมั่นคง” ที่คาราคาซังจากยุครัฐประหาร ซึ่งหนีไม่พ้นที่รัฐบาล และผู้บัญชาการทหารเรือปัจจุบันจะต้องตอบให้ได้ เพราะเป็นกำหนดเวลาที่จะต้องตัดสินใจสุดท้าย และไม่สามารถที่จะปล่อยผ่านไปได้อีกแล้ว

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และนำเสนอเป็นข้อพิจารณาอย่างสังเขป ดังนี้

1) การแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรือดำน้ำที่มีปัญหาเครื่องยนตร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก และต้องยอมรับในความเป็นจริงในปัจจุบันว่า ปัญหานี้ถึง “ทางตัน” แล้ว และต้องการการแก้ปัญหาในระดับรัฐบาล

2) ความคิดที่จะให้ฝ่ายไทยล้มโครงการ และฝ่ายจีนคืนเงินให้ น่าจะเป็นไปได้ยาก แม้ผู้ขายจะไม่สามารถดำเนินการให้ครบตามความตกลงก็ตาม เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไทยไม่ใช่รัฐมหาอำนาจ ที่มีอำนาจการต่อรองมาก จนสามารถบังคับจีนให้กระทำตามที่เราต้องการได้ ประเด็นนี้ต้องคิดด้วยความเป็นจริงในทางการเมืองระหว่างประเทศ

3) ต้องทำความเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไทยจะต้องแตกหักกับจีน หรือจัดการในแบบ “ชนกับจีน” (ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องในสื่อสังคมออนไลน์) เช่นในแบบฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดน ซึ่งปัญหาดังกล่าวแตกต่างอย่างมากกับปัญหาเรือดำน้ำของไทย

4) ขณะเดียวกันไม่ชัดเจนว่า มีประเด็นที่ไทยเป็นฝ่ายละเมิดสัญญาหรือไม่ เช่น ปัญหาการจ่ายเงินช้าในช่วงโควิดดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว และได้รับการผ่อนผันจากจีน ปัญหานี้อาจต้องการการตรวจสอบให้ชัดเจน จะคิดเข้าข้างตัวเองฝ่ายเดียวไม่ได้

5) การจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการซื้อสินค้าตามปกติ แต่เป็นการซื้ออาวุธ ที่มีนัยของการเมืองระหว่างประเทศของความสัมพันธ์ไทย-จีน และหากเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น ย่อมไม่เป็นผลประโยชน์ต่อไทยในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่ใช่การสั่งของจาก “อาลีบาบา” แล้วได้ของไม่ครบตามที่ตกลงไว้ แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมืองในตัวเอง

6) การต่อต้านการแลกเรือแบบไม่เปิดช่องให้มีทางออก จะทำให้ประเด็นถอยกลับไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องของเครื่องยนต์เรือ (เช่นในช่วงต้น และเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก) ซึ่งไม่ใช่ข้อถกเถียงว่า ไทยควรมีเรือดำน้ำหรือไม่ การทำเช่นนี้คือ การเดินย้อนกลับไปสู่ทางตัน

7) การแลกกับเรือฟริเกตอาจจะไม่ตอบปัญหาโดยตรง เพราะปัญหาราคาที่สูงกว่าเรือดำน้ำ การจ่ายเพิ่มจะทำให้สังคมรับไม่ได้ และมีผลกระทบกับรัฐบาลเป็นเหมือนกับการที่รัฐบาลต้อง “จ่ายค่าโง่” เพิ่มจากปัญหาเดิม ที่คนในสังคมไทยมองว่า จีนเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสำหรับไทย การแลกต้องไม่มีการ “จ่ายเพิ่ม” เพื่อไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณแก่รัฐบาล

8) การแลกเช่นนี้จะต้องไม่ใช่การจัดทำโครงการซ้อน ด้วยการทำโครงการจัดหาเรือรบใหม่ซ้อนเข้ามา เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น และควรต้องยุติโครงการเดิมให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดงบประมาณ และต้องไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มแต่ประการใด เพื่อป้องกันปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดตามมา

9) เรือฟริเกตลำใหม่ต่อจากเกาหลีใต้แล้วในปี 2562 คือ “เรือหลวงภูมิพล” กองทัพเรือควรต่อเป็น “เรือคู่แฝด” ไม่ควรเอาเรือฟริเกตลำใหม่จากจีนเข้ามาแทน และควรดำเนินการตามแผนเดิมในการต่อลำที่ 2 คือ “เรือหลวงอานันทมหิดล” กับเกาหลีใต้ต่อไป ซึ่งปัญหาเดิมเกิดจากการโยกงบสำหรับเรือฟริเกตเกาหลีไปใช้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำในปีดังกล่าว และกลายเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

10) เรือคอร์เวตน่าจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาการจัดหาเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัย และอาจแลกเป็นเรือคอร์เวตที่อาจมีขนาดใหญ่กว่าเดิม (เรือสุโขทัยมีระวางขับน้ำประมาณ 900 กว่าตัน เรือมงกุฎราชกุมารประมาณ 2000 ตัน) และการซ่อมบำรุงหลังจากการกู้เรือให้กลับมามีสภาพใช้งานได้เหมือนเก่า อาจจะไม่คุ้มค่า และการสั่งต่อใหม่จากอู่เรือในสหรัฐ อาจทำไม่ได้ด้วยปัญหางบประมาณในปัจจุบัน (เรือชุดนี้สั่งต่อในปี 2526 และเข้าประจำการในปี 2529/2530)

11) กองทัพเรือ/กระทรวงกลาโหมควรจะต้องตอบให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้จ่ายค่าเรือดำน้ำไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด และได้จ่ายในส่วนอื่นใดไปแล้วบ้าง อีกทั้ง หากเกิดการแลกจริง จะต้องมีความชัดเจนว่า เรือที่แลกมามีมูลค่าเท่าใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสังคมได้รับรู้ร่วมกัน

12) ความตกลงในการจัดซื้อ/จัดหายุทโธปกรณ์เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ คือ รัฐเป็นคู่สัญญา และเป็นการดำเนินการโดยรัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญหาของรัฐบาล 2 ฝ่าย การเจรจาเพื่อหาทางออกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ไทยจะต้องแตกหักกับจีนในมุมมองแบบกระแสชาตินิยม เช่นมีการสร้างความเชื่อว่า การยอมแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำของจีน เป็นเหมือนการกระทำที่ “ไม่มีศักดิ์ศรี” ของรัฐบาลไทยที่ “ยอมจีน”

13) หากความตกลงในการจัดซื้อเช่นนี้เกิดปัญหาขึ้น คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงได้ บนเหตุผล (1) การเปลี่ยนแปลงเป็นผลประโยชน์ต่อรัฐ (2) การเปลี่ยนดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของบุคคล/กลุ่มบุคคล และ (3) การเปลี่ยนเช่นนี้มีเหตุผลชัดเจนที่สามารถอธิบายกับสังคมได้

14) รัฐบาลจะต้องระมัดระวังว่า การแลกเรือจะต้องไม่ถูกทำให้เป็นปัญหาทางการเมืองภายในของไทย เพราะอาจมีบางกลุ่ม/บางคนต่อต้านการแลกเรือแบบสุดโต่ง โดยเชื่อว่าการต่อต้านนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบทางการเมืองกับรัฐบาล หรือสำหรับบางกลุ่ม การต่อต้านทางเลือกนี้จะบังคับให้กองทัพเรือและรัฐบาลไทยยังจำต้องอยู่กับโครงการเรือดำน้ำเดิม และเดินหน้าไปสู่การดำเนินการด้านงบประมาณในเรื่องนี้ต่อไป

15) รัฐบาลจะต้องตระหนักและแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจของการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และไม่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลและ/หรือกลุ่มบุคคลใด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาค้างคาที่เกิดขึ้นแบบ “ผ่าทางตัน” และการผ่าทางตันเช่นนี้ได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของชาติในภาพรวมด้วย

 

ทั้งหมดที่กล่าวในข้างต้น เป็นการนำเสนอเพื่อ “ผ่าทางตัน” ให้ปัญหาเรือดำน้ำมีทางออก เพราะถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากปัญหาได้เดินมาถึงจุดสุดท้าย และการประวิงเวลาอาจจะไม่เป็นประโยชน์ทั้งกับกองทัพเรือและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด!