ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เจอกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียที่ปักกิ่งแล้ว
ในโอกาสการประชุมผู้นำโลกว่าด้วย Belt and Road Initiative (BRI) Forum
ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เรือธง” ของนโยบายต่างประเทศของจีนในการสร้างความร่วมมือทางด้านการเมืองที่มีมิติด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงพร้อมๆ กันไป
มีคู่แข่งที่สำคัญคือสหรัฐและยุโรปที่พยายามจะ “ด้อยค่า” จีนในประเด็นนี้
ด้วยการตอกย้ำถึง “กับดักหนี้” ที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศที่ต้องกู้เงินจากปักกิ่งเพื่อทำโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟความเร็วสูง, ทางด่วน, ท่าเรือหรือการก่อสร้างที่โยงกับเรื่องการขนส่ง
จีนตอบโต้ว่าโลกตะวันตกพูดด้วยอคติ (หรือริษยา) เพราะจีนถือว่าความร่วมมือเช่นนี้ทำให้เกิด “วิน-วิน” ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
มิใช่เป็นการเอารัดเอาเปรียบต่อกันแต่ประการใด
ผมเชื่อว่านายกฯ เศรษฐาคงได้ฟังเวอร์ชั่นของจีนในระหว่างไปอยู่ปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนเต็มสองหูแล้ว
จนพอจะเข้าใจว่าสิ่งที่จีนพยายามจะทำนั้นมองจากแง่มุมอะไรได้บ้าง
แถมยังนำเสนอโครงการ Land Bridge ทางใต้ของเราเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการ BRI ของจีนให้เจ้าภาพมีความรู้สึกว่าเรากำลังโอนเอียงคิดตามสูตรของเขาแล้ว
แต่ก่อนจะ “ขายของใหม่” ต้องเคลียร์ “เรื่องเก่า” เสียก่อน
เช่น ลำพังแค่เรื่องรถไฟความเร็วสูงที่ไทยกับจีนได้เคยพูดจากันมาหลายรอบแต่ก็ยังไม่บรรลุข้อตกลงอะไรชัดเจนก็มีความสลับซับซ้อนอยู่ในตัวเองไม่น้อย
ก่อนเดินทางไปจีนครั้งนี้, คุณเศรษฐาถูกถามว่าจะมีการพูดคุยกับผู้นำจีนเรื่องจะทำโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกันหรือไม่
นายกฯ ตอบว่าไม่แน่ใจว่าจะมีการประกาศความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่
แต่จะมีการพูดคุยกับทางการจีนแน่นอน
นายกฯ บอกว่าเรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
ในการประชุม ครม. นัดก่อนการเดินทางไปจีนก็มีการเห็นชอบให้ศึกษาโครงการ “แลนด์บริดจ์” ทางภาคใต้ที่มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดเกือบ 1 ล้านล้านบาท
คุณเศรษฐาบอกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงกับจีนไม่ใช่ทางออกทั้งหมด
เพราะประเทศไทยจะต้องหาคำตอบว่าจะตอบโจทย์เรื่องโลจิสติกส์ที่เป็นแบบ Total Solution ที่จะครอบคลุมภาพรวมทั้งหมดได้อย่างไร
จากปักกิ่ง เดือนหน้านายกฯ ก็จะมีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ซานฟรานซิสโก
เป็นการประชุมสุดยอดของผู้นำโลกของ APEC ที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพปีนี้
รับลูกต่อจากประเทศไทยปีที่แล้ว
เวทีนี้ ผู้นำไทยน่าจะมีโอกาสแสดงความโดดเด่นด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ของไทยที่เชื่อมต่อกับสหรัฐในการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก
เพราะเราเป็นเจ้าภาพ APEC เมื่อปีที่แล้วซึ่งควรจะสามารถส่งไม้ต่อให้สหรัฐ “ต่อยอด” ข้อตกลงทั้งหลายทั้งปวงที่ผู้นำโลกมาตกลง, เสนอแนะและถกแถลงกันไว้ที่กรุงเทพฯ
สิ่งที่เราต้องเกาะติดจากฝั่งสหรัฐก็คือข้อเสนอของวอชิงตันที่มาเป็น “คู่แข่ง” กับจีนในประเด็นเรื่องการส่งเสริมประเทศต่างๆ ให้สร้างระบบขนส่งร่วมกัน
ของจีนเรียก BRI ของอเมริกามีชื่อว่า B3W หรือ Build Back Better World
อันเป็นโครงการจัดหาเงินทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง
เป็นการออกแบบมาเพื่อจะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า “ของตูดีกว่า”
จะว่าไปแล้ว การให้สองยักษ์แข่งกัน “ทำความดี” เพื่อดึงดูดความสนใจและความสนับสนุนจากประเทศปานกลางและเล็กนั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
ดีกว่าการให้มหาอำนาจทั้งสองสู้กันทางด้านอาวุธและการเผชิญหน้าในสมรภูมิรบ
โครงการ “Build Back Better World” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 ในการประชุมสุดยอด G 7 ในเมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ
ทำเนียบขาวอ้างว่าเป็นการขับเคลื่อนที่มี “ค่านิยมสากล โปร่งใส และยั่งยืน”
คนใกล้ชิดโจ ไบเดน บอกว่า “เราเชื่อว่าเราจะเอาชนะ BRI (ของจีน) ได้ด้วยการนำเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่า และเราจะเสนอทางเลือกนั้นด้วยความมั่นใจในตนเองเกี่ยวกับแบบจำลองของเราที่สะท้อนถึงค่านิยมร่วมกันของเรา”
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ของสหรัฐ เพราะเห็นได้ชัดว่าออกแบบมาเพื่อจะประกบจีนอย่างไม่เขินอายแม้แต่น้อย
เพราะ BRI เป็นกลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่ปักกิ่งนำมาใช้ครบ 10 ปีปีนี้พอดี
จีนอ้างว่าถึงวันนี้มี 147 ประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว
ทั้งที่เป็นรูปธรรมแล้ว ลงทุนก่อสร้าง และสร้างเสร็จแล้ว
กับที่ได้ลงชื่อแสดงความสนใจจะเข้าร่วมในเร็วๆ นี้
ส่วนโครงการ “B3W” ของสหรัฐนั้นเนื่องจากมาช้ากว่าจีนมากจึงต้องมองหาอะไรก็ตามที่จะต้องมีความแปลกใหม่และแตกต่าง
เช่น เจ้าหน้าที่สหรัฐแจ้งว่า B3W มีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมภาคเอกชนในการลงทุนและตอบสนองความต้องการทางการเงินด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ในประเทศกำลังพัฒนา
แต่ที่วอชิงตันเน้นเป็นพิเศษเพื่อให้มี “คุณค่า” เพิ่มขึ้นกว่าของจีนคือการให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อ “มาตรฐานด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความโปร่งใส”
แต่ปัญหาก็คือโครงการนี้ของโจ ไบเดน ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ และมีเงื่อนไขที่ผูกพันโยงใยอย่างไร
ฟังดูแล้วเหมือนเพิ่งคิดขึ้นมาได้อย่างเร่งรีบ จึงยังไม่ได้คิดอะไรทะลุปรุโปร่งมากนัก
ถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า B3W จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลา โครงสร้าง และขอบเขตของช่องทางการจัดหาเงินทุน รวมถึงขนาดของเงินทุนจริงที่สหรัฐ จะดำเนินการนั้นเป็นอย่างไรกันแน่
เพียงแค่เกริ่นว่าความหวังก็คือการร่วมมือกับพันธมิตร G 7 ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สหรัฐ
เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน “หลายแสนล้านดอลลาร์” สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง “เร็วๆ นี้”
จึงมีคำถามว่านี่เป็นการระดมทุนใหม่จริงๆ หรือเป็นการสร้างศักยภาพใหม่ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค
หรือเป็นแค่การนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ใหม่และบรรจุหีบห่อใหม่เท่านั้น
แค่เป็นการเอางบประมาณเก่าที่มีอยู่แล้วแต่งหน้าทาปากใหม่กระนั้นหรือ?
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องเดียวที่นายกฯ เศรษฐาต้องวางยุทธศาสตร์ที่จะบอกกล่าวกับปักกิ่งและวอชิงตันแตกต่างกันอย่างไร
คุณเศรษฐามักบอกว่าท่านเป็น Salesman เบอร์หนึ่งของประเทศ
นั่นคือไป “ขาย” ความเป็นประเทศไทยเพื่อดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในไทย
แต่ความจริง บทบาทของผู้นำประเทศในยุคนี้ไม่เพียงแค่เป็น “นักขาย” เท่านั้น
หากแต่ต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ, มีความลุ่มลึกและนำเสนอภาพของประเทศที่เป็นที่น่านับถือในประชาคมโลก
นั่นหมายถึงการเป็น Super Diplomat อันหมายถึงคุณสมบัติของการเป็นนักการทูตชั้นนำที่รู้เท่าทัน, อ่านเกมขาด และจัดวางตำแหน่งของประเทศให้เหมาะเจาะในสมการของโลกที่กำลังผันผวนรวนเรอย่างหนัก
ภาพลักษณ์ของผู้นำไทยคนก่อน พล.อ.ประยุทธธ์ จันทร์โอชา ไม่ใคร่จะน่าประทับใจในเวทีระหว่างประเทศเพราะประวัติเป็นผู้ก่อรัฐประหาร
อีกทั้งความคล่องแคล่วด้านการทูตและเศรษฐกิจก็มีจำกัด
วันนี้ นายกฯ เศรษฐาจะนำเสนอภาพไปเป็น Super Salesman ที่เคยเป็นนักขายอสังหาริมทรัพย์คงจะเหมาะสำหรับบางภารกิจเท่านั้น
แต่เวทีระหว่างประเทศจะประทับใจกับผู้นำที่แสดงวิสัยทัศน์ของโลกปัจจุบันโดยเฉพาะที่โยงกับ Geopolitics และมุมมองเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อประชาคมโลกในทุกมิติ
การทูตนี่แหละครับที่เป็น Soft Power ที่ทรงพลังที่สุดจาก Super Salesman ขยับขึ้นไปเป็น Super Diplomat
และเป้าหมายสุดท้ายคือ Statesman
จะบรรลุถึงขั้นนั้นหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับจะพยายามปรับตัวให้เป็นตัวแทนประเทศไทยที่มีเกียรติ, ศักดิ์ศรีที่เต็มไปด้วยความฉลาด, เฉียบแหลมและสง่างาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022