คุยกับทูต | ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ การทูตที่ไม่ธรรมดา ของเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน (3)

“เอกอัครสมณทูต (Nuncio) คือสมณทูตอันดับหนึ่งที่พระสันตะปาปาทรงแต่งตั้งไปประจําสํานักของประมุขของอีกรัฐหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนทางการทูต รวมทั้งทำหน้าที่ดูแลและประสานงานกับคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา มีฐานะระดับเดียวกับเอกอัครราชทูต”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน ประจำประเทศไทย ชี้แจงเกี่ยวกับลำดับชั้นของคริสตจักรคาทอลิก

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศ

ตำแหน่งของบาทหลวงคาทอลิก

สังฆานุกร (Deacon) มาจากภาษากรีกว่า diakonos แปลว่า ผู้รับใช้ เป็นลำดับแรกของศีลบวชในพระศาสนจักรคาทอลิก มุ่งอยู่กับงานเมตตาจิต (diakonia) เป็นพิเศษ รวมถึงการสอนคำสอน การประกาศพระวรสาร การเทศน์ในพิธีมิสซา และช่วยในระหว่างพิธีกรรม เปรียบเทียบกว้างๆ คือ เณร

บาทหลวง (Priest) คือ นักบวช หรือคุณพ่อ

บิชอป/มุขนายก และอาร์ชบิชอป/อัครมุขนายก (Bishop/Archbishop) เป็นผู้ปกครอง ประเทศไทยมี 11 เขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) มีสองเขตศาสนปกครอง ที่เป็นอัครสังฆมณฑล ซึ่งผู้ปกครองจะมีตำแหน่งเป็นอาร์ชบิชอป แต่โดยสิทธิ์และศักดิ์ศรีแล้ว ถือว่าเทียบเท่ากับมุขนายก

อีกสองตำแหน่งเป็นการแต่งตั้งขึ้น คือ

พระคาร์ดินัล (Cardinal) หรือพระราชาคณะ ในศาสนาโรมันคาทอลิก เป็นตำแหน่งที่พระสันตะปาปาทรงแต่งตั้งขึ้น คล้ายกับคณะรัฐมนตรีในวาติกัน

พระสันตะปาปา (Pope) ตำแหน่งนี้จริงๆ คือ มุขนายกเขตศาสนปกครองแห่งกรุงโรม (Bishop of Rome) นั่นเอง

โดยตำแหน่งนี้จะถือเป็นใหญ่ที่สุดในศาสนจักร จะถูกเลือกจากบรรดาพระคาร์ดินัลด้วยกันเอง

สรุปลำดับจากขั้นล่างไปขั้นสูง

โดยเริ่มจาก สังฆานุกร (เณร-deacon)

บาทหลวง หรือคุณพ่อ (Priest) ประจำโบสถ์คาทอลิก

บิชอป (Bishop) ประจำอยู่ในอาสนวิหาร

อาร์ชบิชอป (Archbishop) ทำงานอยู่ในศูนย์กลางคาทอลิกของเขตปกครองต่างๆ

คาร์ดินัล (Cardinal) เป็นตำแหน่งที่พระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง ประจำที่วาติกันหรือในประเทศต่างๆ

พระสันตะปาปา (Pope) ตำแหน่งสูงสุด ผ่านการเลือกของคาร์ดินัล ทำหน้าที่ปกครองชาวคาทอลิกทั่วโลก

กิจวัตรประจำวันของอาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์

“พ่อตื่นนอนประมาณ 04.00 น. ไปสวนลุมพินี เวลา 05.00 น. เพื่อออกกำลังกายตามปกติ อาจเดินหรือวิ่ง”

“ต่อมา ทำพิธีมิสซา สวดมนต์ร่วมกันเป็นการภายในที่โบสถ์เล็กๆ บนชั้น 2 ของสถานทูต หลังอาหารเช้า เรามีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่”

“เวลา 09.00 น. การทำงานในออฟฟิศเริ่มต้นขึ้น พ่ออาจออกไปประชุมนอกสถานที่หรือมีคนข้างนอกมาร่วมประชุมที่สถานทูต ปกติมักจะใช้เวลากับการประชุม และการสวดมนต์ หรือไปร่วมงานเลี้ยงรับรองในตอนเย็น เป็นต้น”

“ยังไม่นับการเดินทางไปทำภารกิจในต่างจังหวัด”

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระวโรกาสให้ อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เฝ้าถวายพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส แสดงความยินดีถวายสมเด็จพระสังฆราชในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิ.ย. 2566

มองประเทศไทย ผ่านสายตาอาร์ชบิชอป

“ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังมีรัฐบาลใหม่ สิ่งต่างๆ กำลังก้าวไปข้างหน้า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญมากขึ้นหลายระดับอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ พ่อรู้สึกประทับใจกับการจัดสัมมนา การประชุมระดับนานาชาติ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรามีภารกิจมากมายเพราะว่างานการประชุมของศาสนจักรนานาชาติก็ถูกจัดขึ้นที่นี่บ่อยครั้ง เพราะความสะดวกสบายด้านการเดินทาง และเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายง่ายต่อการทำงาน และการจัดประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ก่อนหน้านี้ เรามีการประชุมสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียของ (FABC)โอกาสครบรอบ 50 ปีที่นี่ (ระหว่างวันที่ 12-30 ตุลาคม 2022) การประชุมระดับนานาชาติส่วนใหญ่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่ดีมาก ทำให้มีบทบาทสำคัญทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก”

“เมื่อครั้งที่พ่อทำงานในแอฟริกา ที่นั่นมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากมาย เป็นการผลักดันการพัฒนาครั้งใหญ่ เพราะประเทศที่พ่อไปประจำการล้วนแต่เป็นประเทศที่มุ่งมั่นพัฒนาและพยายามจะก้าวไปข้างหน้า”

“ส่วนที่ประเทศไทย มีระดับการพัฒนาที่สูงกว่า มีการปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปแม้แต่ในระดับทางการทูต เนื่องจากมีกิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศ

การดำเนินโครงการ

“ตอนนี้เป็นโครงการด้านมนุษยธรรม เรามีโครงการกับคนยากจน คนชายขอบ ไม่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในเขตชานเมือง และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ”

“แน่นอนว่าโบสถ์คาทอลิกมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างมากในการพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ตัวอย่างเช่น เรามีส่วนร่วมอย่างมากกับ Caritas Internationalis ซึ่งเทียบเท่ากับสภากาชาดของศาสนจักรคาทอลิก หรือ The Red Crescent ซึ่งเป็นระดับสากล พวกเขาทำงานภาคพื้นดินที่นี่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย รวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้พิการ โครงการให้อาหาร ฯลฯ ช่วยเหลือกิจกรรมด้านการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา นั่นคือประเด็นที่เรามีส่วนร่วมด้วย”

“ตัวอย่าง พรุ่งนี้พ่อจะเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติสำหรับคนทำงานในชนบท เป็นองค์กรระหว่างประเทศสำหรับผู้ใหญ่ชาวคาทอลิกและคริสเตียนที่ทำงานในพื้นที่ชนบท คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เรากังวลมาก”

“พ่อเคยไปเชียงใหม่มาแล้วสามครั้ง ได้ไปเชียงราย สกลนคร และราชบุรี ก็เห็นโบสถ์คาทอลิกที่นั่นด้วย สำหรับประเทศกัมพูชาและลาวก็เคยไปมาแล้วเช่นกัน และมีแผนจะกลับไปทั้งสองประเทศอีกครั้งในเดือนตุลาคม”

เคยคิดบ้างไหมว่าหากไม่ได้เป็นเอกอัครสมณทูตจะมีชีวิตแบบไหน

“พ่อก็อาจเป็นเพียงนักบวชธรรมดาๆ เป็นบาทหลวงที่ทำงานในวัดเหมือนบาทหลวงอื่นๆ นั่นคือสิ่งที่อยากจะเป็นเมื่อตอนบวช แน่ใจว่า ชอบที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้ในตอนแรกอยากเรียนเป็นแพทย์ก่อนที่จะมาเป็นนักบวช”

“การมีความปรารถนาที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้คนมาโดยตลอด จึงมั่นใจว่าจะต้องทำตามที่ใจปรารถนา ดังนั้น พ่อจึงมีความสุขมากที่ได้มาบวช ไม่เคยนึกเสียใจ และไม่โหยหาอดีต” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin