Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ ตอนที่ 7 (จบ) (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 12)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ ตอนที่ 7 (จบ)

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 12)

 

ทางเลือกที่จะนำ Genentech เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ยังติดข้อกังวลหลายอย่าง

ข้อกังวลแรกคือเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว Genentech ต้องเปิดเผยข้อมูลภายในเพิ่มอีกหลายอย่างเพื่อความโปร่งใสตามกฎหมาย

ผู้บริหารอย่าง Swanson กลัวว่าข้อมูลพวกนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับบริษัทคู่แข่ง แถมยังอาจจะเรียกแขกให้โดนถล่มประเด็นเรื่องความปลอดภัยชีวภาพ และผลประโยชน์ทับซ้อนกับมหาวิทยาลัยซึ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนกำลังเพ่งเล็งอยู่

Kleiner & Perkins ทั้งกล่อมทั้งยุ Swanson อยู่นานด้วยเหตุผลว่า Genentech ควรจะได้เป็นสตาร์ตอัพไบโอเทคเจ้าแรกที่ได้จารึกชื่อในประวัติศาสตร์หน้านี้ อีกทั้งการชิงลงมือก่อนแย่งเอาเงินลงทุนมหาศาลระหว่างที่กระแสธุรกิจไบโอเทคกำลังพีกกลับจะยิ่งช่วยให้ Genentech มีงบฯ มาจ้างคนเก่งๆ สร้างห้องแล็บดีๆ ทิ้งห่างคู่แข่งออกไป

ข้อกังวลที่สองคือประเด็นการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมที่ยังคาราคาซัง ย้อนไปเมื่อปี 1972 Ananda Mohan Chakrabarty นักวิจัยของบริษัท General Electric (GE) พัฒนาแบคทีเรีย Pseudomonas สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถย่อยสลายโมเลกุลหลากหลายชนิดน้ำมันดิบ

แบคทีเรียพันธุ์ใหม่นี้ได้จากการถ่ายพลาสมิดหลายๆ ชิ้นที่มียีนย่อยสลายไฮโดรคาร์บอนต่างๆ กันมารวมไว้ในแบคทีเรียตัวเดียว

GE ยื่นจดสิทธิบัตรแบคทีเรียพันธุ์ใหม่แต่ทางสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้

GE ยื่นเรื่องอุทธรณ์จนกลายเป็นเคสต่อสู้กันระหว่าง Sidney a. Diamond กรรมาธิการแห่งสำนักงานสิทธิบัตรและ Chakrabarty จาก GE

เคสนี้ Diamond ปะทะ Chakrabarty (Diamond v. Chakrabarty) กลายเป็นเคสประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้ยาวหลายปีจนถึงศาลสูง (supreme court) และก็พลอยทำให้สิทธิบัตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมรวมทั้งสิทธิบัตรหลักของ Genentech ล่าช้าไปด้วย

ในที่สุดศาลสูงตัดสินให้ Chakrabarty เป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนนโหวตฉิวเฉียด 5-ต่อ-4 ในเดือนมิถุนายนปี 1980

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยสิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมสามารถจดคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรได้

ความคุ้มครองนี้เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ทั้งบริษัทและกลุ่มวิจัยในมหาวิทยาลัยกล้าลงทุนทำวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมและผลักดันให้อุตสาหกรรมไบโอเทคของสหรัฐเติบโตไปอีกไกล

ข้อกังวลก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ Genentech ว่าด้วยเรื่องความลับบริษัท กระแสสังคม สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และกรณีพิพาทกับ UCSF
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

อีกข้อกังวลคือกรณีพิพาทกรณีนักวิจัยจาก UCSF ที่ย้ายค่ายมา Genentech เอาชิ้นส่วนยีนที่เคยทำค้างไว้ในงานอินซูลินและ HGH ติดมาด้วย

เรื่องนี้ UCSF ไม่พอใจอย่างยิ่งและเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก Genentech

ทีมกฎหมายฝ่าย Genentech เดินเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ยและตกลงจะชดใช้เงินจำนวน $350,000 แก่ทาง UCSF ในเดือนมิถุนายน 1980

กรณีพิพาทระหว่าง Genentech และ UCSF ยังไม่จบแค่นี้แต่ลากยาวไปอีกถึงเกือบยี่สิบปีหลังจากนั้น เมื่อเคสนี้สิ้นสุดลงในปี 1999 ทาง Genentech ตกลงจ่ายเงินให้กับ UCSF ถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และแถมด้วยเงินบริจาคอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสร้างอาคารศูนย์วิจัยภายใต้ชื่อ “Genentech Hall”

 

เมื่อเคลียร์ประเด็นข้อกังวลต่างๆ เรียบร้อยกลางปี 1980 และเดินสายโปรโมตบริษัทไปทั่ว Genentech ก็พร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เปิดขายหุ้นสู่สาธารณชนครั้งแรก (Initial Public Offering, IPO) ในวันที่ 14 ตุลาคม 1980

Genentech ปรากฏตัวครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ภายใต้ชื่อย่อ “GENE” หุ้นจำนวนรวม 1.1 ล้านหุ้นถูกตั้งราคาขายเริ่มต้นที่หุ้นละ $35 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นเป็น $80 ภายในหนึ่งนาทีแรกหลังเปิดซื้อขาย รวดเร็วที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์วอลล์สตรีต

ราคาหุ้นเหวี่ยงตัวขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวันไปสูงสุดอยู่ที่ $89 ก่อนจะปิดตลาดที่ $71 Genentech ระดมทุนได้จาก IPO ครั้งนั้น 36 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าประเมินของของทั้งบริษัทขึ้นไปอยู่ที่กว่า 500 ล้านดอลลาร์

Boyer และ Swanson สองผู้ก่อตั้งโกยกำไรไปคนละกว่า 70 ล้านดอลลาร์ สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่าง Boyer เงินจำนวนนี้เยอะกว่ารายได้ทั้งปีของเขาเป็นพันเท่า

มากพอให้เขาถอยรถปอร์เช่มาฉลองความสำเร็จ

แม้แต่นักศึกษา ป.เอกอย่าง Richard Scheller ที่ได้ส่วนแบ่งหุ้นมาแบบงงๆ สองสามปีก่อนก็กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในชั่วข้ามคืน

จะด้วยเหตุบังเอิญหรือจงใจก็ไม่ทราบที่ภายในวันเดียวกันนั้นคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเคมีประกาศชื่อให้ Paul Berg, Walter Gilbert และ Frederick Sanger คว้ารางวัลไปในปีนั้น (1980) จากผลงานวิจัยด้านการตัดต่อและอ่านรหัสดีเอ็นเอ

แต่กลับไร้ชื่อของ Cohen และ Boyer ทั้งที่ผลงานตัดต่อดีเอ็นเอของทั้งคู่ส่งผลสะเทือนวงการกว่ามากในขณะนั้น

นักวิเคราะห์บางท่านให้ความเห็นว่าการที่ Boyer ไปคลุกวงในกับภาคธุรกิจจนน่าหมั่นไส้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะกรรมการโนเบลเขี่ยทั้งคู่ออกจากรายชื่อ

 

IPO ของ Genentech ปักธงสร้างมาตรฐานใหม่ให้วอลล์สตรีต Genentech เป็นตัวอย่างแรกๆ ของสตาร์ตอัพที่กลายเป็นบริษัทมหาชนก่อนจะเริ่มมีผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกวางขายในตลาด (อินซูลินผลิตภัณฑ์ตัวแรกผ่าน FDA ออกมาขายปี 1982)

พูดอีกอย่างคือขายหุ้นก่อนขายสินค้า ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตลาดเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าสตาร์ตอัพจะสามารถผลิตสินค้าสุดล้ำออกตลาดได้จริงและสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนพอจะเติบโตได้ในที่สุด

12 ธันวาคม ปี 1980 ไม่ถึงสองเดือนหลัง IPO ของ Genentech วอลล์สตรีตก็ต้องสะเทือนอีกครั้งด้วย IPO ของอีกสตาร์ตอัพดาวรุ่งต่างวงการที่ชื่อ Apple Computer ระดมทุนไปกว่า 100 ล้านดอลลาร์และสร้างเศรษฐีเงินล้านอีก 300 คนในชั่วข้ามคืน

รวมไปถึง Steve Jobs-Steve Wozniak สองหนุ่มผู้ก่อตั้งในวัยยี่สิบกลางๆ สามสิบต้นๆ ไล่เลี่ยกับ Robert Swanson ผู้อยู่เบื้องหลัง Genentech ยุครุ่งเรืองของผู้ประกอบการสายเทคโนโลยี (Tech Entrepreneur) ทั้งสายไบโอเทคและสายคอมพิวเตอร์เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาที่แทบจะซ้อนทับกัน

อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นโลกสายไบโอเทคและสายคอมพิวเตอร์จะมาเชื่อมโยงถึงกันเต็มตัวผ่านธุรกิจเกิดใหม่จากเทคโนโลยีการสังเคราะห์และอ่านรหัสพันธุกรรม (DNA Synthesis & Sequencing) ติดตามต่อตอนหน้าครับ