อุษาวิถี (51) โครงสร้างและความเปลี่ยนแปลง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (51)

โครงสร้างและความเปลี่ยนแปลง

 

สถาบันทางการเมืองที่อธิบายผ่านชนชั้นต่างๆ ตั้งแต่กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ทาส พระภิกษุ และชาวจีน โดยลำดับนั้น ต่างเป็นกลุ่มชนที่ผูกพันตนเองเข้ากับขนบจารีตที่มาจากอินเดียอย่างเป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

ศาสนาทั้งสองนี้ได้ผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับขนบจารีตเดิมของคนพื้นถิ่นสยามประเทศอย่างกลมกลืน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปรับใช้ขนบจารีตต่างๆ ให้เอื้อต่อประโยชน์ของแต่ละฝ่าย

จากพื้นฐานความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีพัฒนาการ และจากเวลาที่ผ่านไปเป็นเวลานับร้อยปีหรืออาจจะร่วมๆ พันปีนั้น พัฒนาการในสมัยรัฐอยุธยาถือได้ว่าสถาบันทางการเมืองและขนบจารีตได้ก้าวมาถึงขีดสุดของโครงสร้างของสังคมสยามประเทศ

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นโครงสร้างของ “สังคมฐานันดร” อย่างแท้จริง

สังคมฐานันดรนี้ถูกพยุงเอาไว้ด้วยขนบจารีตจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธอย่างเป็นด้านหลัก

กล่าวคือ ในขณะที่ขนบจารีตของศาสนาพราหมณ์ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง โดยให้เป็นระบบระเบียบที่ชัดเจนนั้น ขนบจารีตของศาสนาพุทธกลับถูกนำมาใช้ในการจรรโลงจิตใจหรือจิตวิญญาณแก่สังคม เพื่อให้ลดความตึงเครียดที่ได้รับจากระบบการเมืองนั้นๆ

ฐานะของขนบจารีตทั้งสองจึงมีพลังที่ทัดเทียมเสมอกัน

 

สิ่งที่อยู่ในฐานะพิเศษในโครงสร้างสังคมฐานันดรนี้ก็คือ ชาวจีน ซึ่งมีอิสระค่อนข้างสูงในสยามประเทศ นั่นคือ เป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่น้อยก็จริง แต่ก็ไม่ถูกจัดเข้าไปในระบบไพร่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีฐานะทัดเทียมกับมูลนาย

ฐานะเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากที่ชาวจีนมีบทบาททางการค้าระบบบรรณาการระหว่างจีนกับสยาม ซึ่งสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐสยามอย่างมากมาย เมื่อเปรียบเทียบการค้าที่มีกับชาติอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน อิสระของชาวจีนเหล่านี้ในด้านหนึ่งจึงอิสระจากขนบจารีตที่สยามรับมาจากอินเดียไปด้วยในตัว

อย่างไรก็ตาม สังคมฐานันดรตามโครงสร้างดังกล่าว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพุทธศตวรรษที่ 22-23 สาเหตุการเปลี่ยนแปลงในประการแรกก็คือ ความจำเป็นในการสร้างอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่ในรูปของรัฐกรุงเทพฯ หลังการล่มสลายของรัฐธนบุรี

การสร้างนี้จะต้องใช้แรงงานไพร่จำนวนมาก จนนำมาสู่การหนีการเกณฑ์แรงงานไพร่

ประการต่อมา การค่อยๆ ก่อตัวขึ้นของเศรษฐกิจการตลาด เมื่อเศรษฐกิจการค้าเพื่อการส่งออกเริ่มเข้ามาแทนที่เศรษฐกิจเพื่อการยังชีพ

และประการสุดท้าย คือ ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างไพร่สมกับไพร่หลวงที่มีเวลาทำงานที่ไม่เท่ากัน จนนำมาซึ่งการเบียดบังไพร่และหรือการกดขี่ขูดรีดไพร่ของบรรดามูลนายจำนวนหนึ่ง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้รัฐกรุงเทพฯ จำต้องแก้ไขปัญหาด้วยการลดเวลาการเข้าเดือนเพื่อใช้แรงงานของไพร่ลง โดยเริ่มลดจากเดิมที่คิดเป็นเวลา 6 เดือนต่อปีเป็น 4 เดือนต่อปี 3 เดือนต่อปี และสันนิษฐานว่าเหลือเพียง 1 เดือนต่อปีในสมัยรัชกาลที่ 4

นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนให้ไพร่ที่หนีการเกณฑ์แรงงานให้ไม่ต้องรับโทษบ้าง ให้มีสิทธิในการเลือกสังกัดมูลนายใหม่ได้บ้าง ให้สามารถย้ายถิ่นที่อยู่ได้บ้าง ให้สามารถพักงานในยามป่วยไข้จนกว่าจะหายบ้าง เป็นต้น

แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาระบบไพร่ได้อยู่ดี

 

จนเมื่อเศรษฐกิจการค้าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นตลอดต้นรัฐกรุงเทพฯ ที่ทำให้เงินตราทวีความสำคัญมากขึ้น และการเข้ามาใช้แรงงานของชาวจีนเพิ่มจำนวนสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ก็ตามอีกระลอกหนึ่ง

นั่นคือ รัฐกรุงเทพฯ เริ่มตระหนักว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองที่เป็นรายได้จากภาษีอากรนั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าการมีกำลังไพร่ในสังกัดเสียอีก การปล่อยให้ไพร่ได้มีช่องทางในการประกอบอาชีพแล้วเสียเงินทอง (ภาษี) ให้รัฐจึงค่อยๆ เข้ามาแทนที่การเกณฑ์แรงงาน

ประกอบกับการว่าจ้างแรงงานชาวจีนอพยพยังมี “ต้นทุน” ที่ถูกกว่าไพร่มากต่อมาก ชนชั้นปกครองในรัฐกรุงเทพฯ จึงไม่มีทางเลือกใดที่จะดีไปกว่าการใช้แรงงานชาวจีน

และภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ทำกับอังกฤษในปี ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) ไปแล้ว การค้าเสรีที่ก่อตัวมาก่อนหน้านั้นก็นำให้รัฐกรุงเทพฯ ก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดและการผลิตเพื่อการค้าเต็มรูปมากยิ่งขึ้น

ตราบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ระบบไพร่ที่สร้างปัญหาให้ชนชั้นปกครองของรัฐกรุงเทพฯมาแต่เดิมก็เป็นอันถูกยกเลิกไปในที่สุด

ถึงเวลานั้น ชาวจีนที่เข้ามายังสยามประเทศซึ่งทวีจำนวนมากขึ้นเป็นแสน ก็มิใช่กลุ่มชนที่ใช้แรงงานเข้มข้นแต่ถ่ายเดียวอีกต่อไป หากแต่เป็นกลุ่มชนที่เป็นช่างฝีมือหรือช่างหัตถกรรมอันหลากหลาย และอีกไม่น้อยที่มีอาชีพในทางเกษตรด้วยการทำนาเกลือ การประมง

ที่สำคัญ อีกจำนวนหนึ่งรับราชการ ดำเนินการค้าสำเภากับกษัตริย์และมูลนาย ในขณะที่บางคนเป็นเจ้าภาษีนายอากรให้แก่รัฐอย่างผูกขาด

 

ความเปลี่ยนแปลงจากที่กล่าวมานี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างฐานันดรเดิมอยู่ไม่น้อย ผู้ที่เป็นไพร่ ณ ที่ซึ่งถูกแปรสถานภาพไปเป็นประชาชนคนธรรมดาหรือสามัญชนที่ไม่ต้องสังกัดมูลนายอีกต่อไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าอิสระที่ได้มาจะส่งผลให้ชีวิตดีขึ้นไปด้วยไม่

ที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่อดีตไพร่เหล่านี้ไม่มีหลักประกันในการดูแลจากมูลนายอีกต่อไป แล้ว และต้องขวนขวายหักล้างถางพงบุกเบิกที่ทำกินของตนขึ้นมาเอง เป็นชีวิตที่หลักประกันแทบทั้งหมดถูกฝากเอาไว้กับกฎหมายอย่างเป็นด้านหลัก

ส่วนอีกด้านหนึ่งของโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ การก้าวขึ้นมามีสถานะที่ดีขึ้นของกลุ่มชาวจีน ผู้ซึ่งมีธุรกรรม 2 ด้านหลักๆ คือ หากไม่เป็นแรงงานกุลีให้แก่รัฐโดยเสียเฉพาะค่าผูกปี้ โดยที่เหลือนอกนั้นมีความอิสระอย่างที่แม้แต่ไพร่เองก็ไม่เคยได้รับแล้ว ก็จะเป็นพ่อค้าหรือขุนนางในราชสำนักผู้มั่งคั่งที่มีอำนาจในระดับหนึ่ง

อย่างน้อยก็เหนือกว่าอดีตไพร่และหมู่ชาวจีนที่เป็นแรงงานกุลีอย่างเห็นได้ชัด